xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจการเงินยุคใหม่:เป้าหมายนโยบายการเงินที่ร้อยละ 0.5-3.0

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ทั้งนี้กำหนดให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสอยู่ที่ร้อยละ 0.5-3.0 ต่อปี จากเดิมที่ร้อยละ 0-3.5 ต่อปี โดยวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายการเงิน และชี้นำการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของสาธารณชนในระยะยาว ทั้งนี้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ยรายไตรมาสที่ร้อยละ 0-3.5 ต่อปี นั้นได้เป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินของไทยมาตั้งแต่ปี 2543 อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าเมื่อพูดถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อพูดถึงเป้าหมาย ของนโยบายการเงินและเมื่อพูดถึงความเกี่ยวข้องกับเราๆท่านๆก็ยังคงเป็นที่สงสัยกันอยู่บ้าง โดยเฉพาะท่านที่ไม่ได้ติดตามเรื่องการดำเนินนโยบายการเงินเชิงลึกในหลักการ แม้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้พยายามประชาสัมพันธ์เรื่องดังกล่าวอยู่บ่อยๆ หัวข้อดังกล่าวจึงเป็นเรื่องที่ผมจะเขียนถึงในครั้งนี้

อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคืออะไร ก่อนที่จะกล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานขอกล่าวถึงอัตราเงินเฟ้อทั่วไปก่อน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคำนวณจากดัชนีราคาสินค้าที่สำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศจำนวน 417 รายการ ครอบคลุมสินค้าที่ครัวเรือนปกติซื้อหา เช่น อาหารและเครื่องดื่ม เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า การตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล และอื่นๆ ในขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานนั้นคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานโดยมีรายการสินค้าและบริการประมาณ 300 รายการ จากตะกร้าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศ (417 รายการ) แต่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสด และกลุ่มพลังงานจำนวน 117 รายการ ที่คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของสัดส่วนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ดังนั้นจุดเด่นโดยทั่วไปของดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานก็คือจะมีความผันผวนน้อยกว่าดัชนีราคาสินค้าทั่วไป เพราะรายการที่หักออกนั้นเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความผันผวนสูง โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาที่ราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆมีการเปลี่ยนแปลงมาก

เป้าหมายนโยบายการเงินคืออะไรคำตอบ คือเป็นเป้าหมายในการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยของธนาคารกลางและเป็นเป้าหมายที่ทำให้เกิดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ในกรอบการดำเนินนโยบายการเงินแบบตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อ (Inflation Targeting) จะมีการกำหนดเป้าหมายเพื่อเป็นหลักยึดในการดำเนินธุรกิจของประชาชนและเป็นการวัดการดำเนินการของธนาคารกลาง ทั้งนี้เป้าหมายอัตราเงินเฟ้อของนโยบายการเงินที่ดี 1) ต้องไม่ต่ำเกินไปจนไม่ช่วยสนับสนุนการจ้างงานและการผลิต 2) ต้องไม่สูงเกินไปจนกระทั่งก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้อำนาจการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลง และ 3) ต้องสนับสนุนการแข่งขันทางการค้าของประเทศกับประเทศคู่แข่งทางการค้าได้ กล่าวคือ อัตราเงินเฟ้อของประเทศไม่ควรสูงกว่าคู่แข่ง โดยสรุปก็คือ เป้าหมายเงินเฟ้อของนโยบายการเงินที่ดีจะ ต้องเอื้อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาวนั่นเอง โดยเป้าหมายนี้ หากธนาคารกลางดูแลได้อย่างเคร่งครัดก็จะเป็นหลักยึดในการทำธุรกิจหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆของคนในประเทศ เช่น หาก ครม. อนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงินที่ร้อยละ 0.5-3.0 ในปีนี้ ก็จะทำให้ประชาชนและผู้ทำธุรกิจต่างๆในประเทศคาดการณ์ว่าราคาสินค้าและบริการต่างๆจะเปลี่ยนแปลงในอัตราดังกล่าว ในขณะที่ผู้ทำธุรกิจเองก็จะปรับราคาสินค้าและบริการขึ้นลงในช่วงอัตราดังกล่าวด้วย (แม้กระทั่งการขึ้นเงินเดือนในบริษัทต่างๆ ก็ต้องอาศัยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์เป็นตัวกำหนด) เมื่อกระบวนการนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วในที่สุดอัตราเงินเฟ้อของประเทศก็จะสามารถเป็นไปตามอัตราเป้าหมายโดยปริยาย ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การกำหนดเป้าหมายดังกล่าวนั้นไม่เกี่ยวข้องกับเราๆ ท่านๆ

สำหรับเป้าหมายที่ครม.ได้มีมติอนุมัตินี้ ผมมีข้อสังเกตอยู่บ้าง ดังนี้ 1) เป้าหมายที่ประกาศยังคงเป็นอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน แม้ได้รับการวิจารณ์บ้างพอสมควรว่าเข้าใจยาก แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนี้กระทรวงพาณิชย์ก็ประกาศอัตราเงินเฟ้อของทั้งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ 1 กันยายน 2552 กระทรวงพาณิชย์ได้แถลงอัตราเงินเฟ้อของเดือนสิงหาคม 2552 ว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัวร้อยละ 1 และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานหดตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับเดือนสิงหาคม 2551 นอกจากนี้ หลายๆประเทศที่ใช้กรอบนโยบายการเงินแบบการตั้งเป้าเงินเฟ้อได้ปรับมาใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปแล้ว เช่นในประเทศอังกฤษและแคนาดา 2)เป้าหมายยังคงเป็นเป้าหมายเฉลี่ยรายไตรมาส ซึ่งในหลายๆประเทศได้กำหนดเป็นเป้าเงินเฟ้อในระยะปานกลาง (2-3 ปีข้างหน้า) เช่นในประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย 3)หากดูค่ากลางของเป้าหมายเก่าและใหม่มีค่าเท่ากันคือ ร้อยละ 1.75 ซึ่งก็จะทำให้ไม่มีแรงกดดันต่อทิศทางของนโยบายการเงินในปัจจุบัน กล่าวคือ หากค่ากลางของเป้าหมายใหม่เปลี่ยนเป็นร้อยละ 2.5 ก็อาจจะมีคนคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายจะลดลงอีกเร็วๆนี้ หรือหากค่ากลางลดลงเป็นร้อยละ 1 ก็จะมีคนคาดว่าดอกเบี้ยจะขึ้นเร็วขึ้น และ 4) ผมเข้าใจว่าเป้าหมายที่ประกาศนี้เป็นเป้าหมายที่จะเป็นกรอบในการดำเนินนโยบายการเงินในปี 2552-2553 จนกว่าจะมีการทบทวนอีกครั้งในปีถัดไป ทั้งนี้ผมคิดว่าหากมีการประกาศเป้าหมายระยะปานกลางล่วงหน้าด้วย ก็น่าจะช่วยเสริมประสิทธิภาพของนโยบายการเงินตามที่คาดหวังครับ

                                                                  surachit@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น