xs
xsm
sm
md
lg

คอลัมน์ Money Guru นโยบายการเงินตามกฎเกณฑ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


การดำเนินนโยบายการเงินหมายถึงการกำหนดและดำเนินให้บรรลุความสำเร็จในการตัดสินใจเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการดำเนินนโยบายการเงินให้ดีที่สุด โดยหน่วยราชการที่รับผิดชอบคือธนาคารกลาง วัตถุประสงค์ของการดำเนินนโยบายการเงินโดยทั่วไปได้แก่ การมีเสถียรภาพทางราคา (Price Stability) และการจ้างงานเต็มที่ (Full Employment)  เป็นต้น การดำเนินนโยบายการเงินในระยะหลังได้มุ่งไปที่นโยบายที่เป็นระบบและเป็นขบวนการ (Systematic Policy) บนพื้นฐานของกฎเกณฑ์ (Policy Rule)

 Athanasios Orphanides (2007) นักเศรษฐศาสตร์ชาวไซปรัส ได้กล่าวถึงข้อดีของการดำเนินนโยบายการเงินตามกฎเกณฑ์ไว้ว่า 

 1.ปลอดจากปัญหาความไม่สม่ำเสมอ และมีประสิทธิภาพมากกว่าการดำเนินนโยบายโดยเจ้าหน้าที่ของธนาคารกลางเอง (Discretionary Policy)


2.เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสามารถสื่อสารและอธิบายการตัดสินใจในการดำเนินการต่างๆ ของนโยบายการเงินตามกฎเกณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิผล 

3.การดำเนินนโยบายการเงินตามกฎเกณฑ์ซึ่งประชาชนจะเข้าใจได้ดีกว่าย่อมก่อให้เกิดผลดีต่อภาระและความรับผิดชอบ (Accountability) ของธนาคารกลางและต่อความน่าเชื่อถือ (Credibility) ของนโยบายการเงินที่จะนำมาดำเนินการในอนาคต 

 4.กฎเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดนโยบายการเงินที่สามารถลดความไม่แน่นอนได้ โดยบุคคลในวงการเงินและธุรกิจและภาคครัวเรือนได้ในระดับหนึ่ง 
 

กฎเกณฑ์ต่างๆ ของนโยบายการเงินที่นักเศรษฐ์ศาสตร์ได้คิดขึ้นมาที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวางคือ Milton Friedman’s k-percentage rule (Friedman, 1960) และ Taylor Rule โดย John B. Taylor (1993) โดยกฎเกณฑ์แรกแนะนำให้ธนาคารกลางรักษาระดับการขยายตัวของอุปทานของเงินให้คงที่ ในขณะที่กฎเกณฑ์ที่สองเน้นการปรับดอกเบี้ยนโยบายตอบสนองต่อสภาวะและการพัฒนาของอัตราเงินเฟ้อและของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 โดยทั่วไป Taylor Rule แนะให้ธนาคารกลางปรับดอกเบี้ยในราคาปัจจุบัน (Nominal Interest Rate) ตามส่วนต่างอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงจากอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย และส่วนต่างผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ที่เกิดขึ้นจริงจากจีดีพีที่สามารถเกิดได้ (Potential GDP) ทั้งนี้ John B Taylor ซึ่งเป็นนักเศรษฐ์ศาสตร์คนแรกที่แนะนำกฎเกณฑ์นี้ในปี ค.ศ. 1993 ได้กำหนดให้ค่าสัมประสิทธิ์ (Coefficient)ของส่วนต่างในอัตราเงินเฟ้อ และส่วนต่างในจีดีพีเป็นบวกและมีค่าเท่ากันที่ 0.5 กฎเกณฑ์นี้แนะนำให้ธนาคารกลางดำเนินนโยบายดอกเบี้ยสูง หรือนโยบายเข้มงวด

เมื่ออัตราเงินเฟ้อสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ระดับเป้าหมาย หรือเมื่อปริมาณสินค้าและบริการ (Output) สูงกว่าระดับที่มีการจ้างงานเต็มที่เพื่อลดแรงกดดันของเงินเฟ้อ ในทางตรงกันข้ามกฎเกณฑ์แนะนำให้ใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำหรือนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นการผลิต เมื่ออัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อที่ระดับเป้าหมาย หรือเมื่อปริมาณสินค้าและบริการ (Output) ต่ำกว่าระดับที่มีการจ้างงานเต็มที่ ในบางกรณีเป้าหมายของนโยบายการเงินอาจขัดกัน

 เช่นอัตราเงินเฟ้อสูงกว่าระดับเป้าหมาย ในขณะที่ปริมาณสินค้าและบริการต่ำกว่าระดับที่มีการจ้างงานเต็มที่ หรือ Stagflation กฎเกณฑ์จะแนะนำให้ธนาคารกลางให้น้ำหนักในการลดเงินเฟ้อมากกว่าการเพิ่มปริมาณสินค้าและบริการ เป็นต้น
อย่างไรก็ตามแม้ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed จะไม่ได้ดำเนินนโยบายการเงินตามกฎ Taylor แต่งานวิจัยหลายชิ้นสรุปว่า Taylor Rule สามารถอธิบายนโยบายการเงินในสหรัฐภายใต้การบริหารของนาย อลัน กรีนสแปนเป็นอย่างดี เช่นเดียวกับประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น ประเทศแคนาดาและประเทศนิวซีแลนด์ ที่ดำเนินนโยบายการเงินตามอัตราเงินเฟ้อเป้าหมาย หรือ Inflation Targeting Policy ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์หลายคนสรุปว่า Taylor Rule นี้ส่งผลให้ธนาคารกลางในประเทศพัฒนาแล้วสามารถควบคุมอัตราเงินเฟ้อได้ในปี ค.ศ. 1980 ถึง 2000 กว่าๆ อย่างไรก็ตาม Taylor Rule เป็นกฎเกณฑ์ง่ายๆและสั้นที่โปรงใสที่ก่อให้เกิดการประสานกันระหว่างการดำเนินนโยบายการเงิน และงานวิจัยนโยบายการเงินครั้งสำคัญครั้งหนึ่ง
 
บทความ
สุภานิกา เจริญผล (suphanika@mfcfund.com)
 ความคิดเห็นและข้อความต่างๆในบทความนี้เป็นทัศนะของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น