xs
xsm
sm
md
lg

เล็งใช้"หยวน"ค้าขายไทย-จีนธปท.เร่งหลังถูกโวยบาทแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แบงก์ชาติสนใจรับเงินสกุลหยวนของจีนในค้าขายสินค้า ผู้ว่าฯเผยกำลังพิจารณาตัวเลขสำคัญๆ เช่น มูลค่าซื้อขายพร้อมสำรวจความเห็นภาคธุรกิจก่อนดูข้อกฎหมายและนำเข้าสภาต่อไป ส่วนตอนนี้ ผู้ส่งออกต้องซื้อประกันความเสี่ยงค่าเงิน เผยการซื้อขายเงินบาทช่วงนี้ เป็นของนักธุรกิจจริงไม่ใช่เก็งกำไร ขณะที่การประชุมหารือร่วมเอกชน โดนโวยบาทแข็ง แฉแข็งกว่าคู่แข่งแล้ว 1%

วานนี้ (19 มิ.ย.) ผู้บริหารธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำโดยนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท.พบปะผู้บริหารภาคเอกชนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หอการค้าไทย สมาคมไทยธุรกิจท่องเที่ยว และสมาคมผู้นำเข้าและผู้ส่งออกระดับบัตรทองเข้าหารือ ซึ่งประเด็นหลักที่หารือ คือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นและสภาพคล่องในระบบที่ส่งผลกระทบกับภาคธุรกิจ
ผู้ว่าการธปท.เปิดเผยว่า ภาคธุรกิจและธปท.มีความเห็นตรงกัน ที่ต้องการเห็นเงินบาทมีการเคลื่อนไหวอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ ธปท.ทำอยู่ คือ ดูแลเงินบาทให้มีความผันผวนน้อย และการซื้อขายเงินต่างประเทศของภาคธุรกิจทั้งผู้ส่งออกและผู้นำเข้าส่วนใหญ่ แต่ยอมรับว่าการเข้าไปเก็งกำไรเงินบาทผ่านตลาดหุ้นและตราสารหนี้บ้างในช่วงสั้นๆ ดังนั้น อยากให้ภาคเอกชนใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนให้มากกว่านี้ เพื่อลดผลกระทบต่อรายได้จากการส่งออกนำเข้า
“ การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในปัจจุบัน มีผลจากปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีการเคลื่อนไหวตามทิศทางข่าว ถือเป็นเรื่องปกติในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังมีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ทุกสกุลเงินมีความผันผวนเยอะ และการควบคุมค่าเงินเป็นเรื่องที่ยาก” ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

เล็งรับเงิน "หยวน" ค้าขายสินค้า
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน ธปท.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาความจำเป็น ถึงแนวทางการนำเงินหยวนมาค้าขายสินค้าและบริการระหว่างกัน หลังจากจีนได้เซ็นสัญญาแลกเปลี่ยนทวีภาคีกับประเทศอื่นไปแล้ว 4-5 ประเทศ ซึ่งเป็นการตกลงการค้าที่แลกเปลี่ยนเป็นเงินระหว่างสกุลเงินหยวนกับสกุลเงินท้องถิ่นประเทศนั้น โดย ธปท.จะพิจารณาว่าในการค้าขายของไทยกับประเทศจีนมีมูลค่ามากน้อยแค่ไหน ปริมาณเงินจำนวนเท่าใดและควรตกลงวงเงินที่เซ็นสัญญาจำนวนเท่าใด อย่างไรก็ตาม ต้องสอบถามภาคธุรกิจต่างๆ ซึ่งต้องมีการเตรียมขั้นตอนต่างๆ ทั้งด้านกฎหมายและการนำเรื่องเข้าสภาผู้แทนราษฎรด้วย
สำหรับประเด็นที่หลายฝ่ายคาดว่าเงินหยวน จะกลายเป็นสกุลเงินหลักสากลเหมือนดอลลาร์สหรัฐหรือทดแทนนั้น นางธาริษามองว่าแม้แนวโน้มที่จะใช้เงินหยวนจีนมากขึ้น แต่ขณะนี้ไม่ถึงขั้นทดแทนเงินดอลลาร์สหรัฐหรือเยน คงเป็นเรื่องยากในขณะนี้ เนื่องจากการยอมรับยังน้อย จึงเชื่อว่าต้องใช้เวลาอีกหลายปี

เอกชนห่วงบาทแข็งกว่าคู่แข่ง 1%
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในที่ประชุมมีการหารือกันในเรื่องภาวะเศรษฐกิจไทย ภาคการเงิน และภาวะการทำธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงค่าเงินบาท สภาพคล่อง และการป้องกันความเสี่ยงของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งทาง
ส.อ.ท.ได้เสนอไปหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องที่ต้องการให้ ธปท.ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งเกินคู่ค้าคู่แข่ง ซึ่งปัจจุบันค่าเงินบาทไทยแข็งกว่าประเทศคู่ค้ากว่า 1%
นอกจากนี้ การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดย่อมและขนาดกลาง (เอสเอ็มอี) ในต่างจังหวัด และปัญหาที่สำคัญคือ หลักประกันไม่เพียงพอ ซึ่งส่วนนี้ ธปท.แนะนำให้ไปคุยกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) หรือภาคธุรกิจจะใช้วิธีการจับกลุ่มกันเอง เพื่อให้หลักประกันเพิ่มขึ้น หรือลดกฎโดยหันมาประกันกันเองจากเดิมที่ใช้แค่หลักทรัพย์มาค้ำประกันเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ธปท.รับปากจะเจรจากับธนาคารพาณิชย์ให้
“สำหรับประเด็นที่ว่าให้แบงก์ชาติช่วยเก็บภาษีเงินทุนระยะสั้นที่เข้ามาในช่วง 30 วัน เพื่อสกัดการเก็งกำไรค่าเงินบาทในช่วงที่ทิศทางบาทแข็งนั้น เรื่องนี้ธปท.ได้อธิบายให้ฟังว่า เงินลงทุนเข้ามาในช่วงนี้เข้ามาซื้อหุ้นเท่านั้น แต่ไม่มีเหมือนสมัยก่อนที่เคยออกมาตรการ 30% เพื่อสกัดเงินทุนระยะสั้น อย่างไรก็ตามแบงก์ชาติจะช่วยดูแลเรื่องนี้ให้เป็นอย่างดี” นายสันติกล่าว
นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และในฐานะประธานคณะกรรมการทำงานแก้ไขปัญหาการส่งออก คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า หอการค้าไม่ได้ต้องการเห็นว่าเงินบาทควรอยู่ระดับใด แต่ต้องการให้เงินบาทมีการเคลื่อนไหวทัดเทียมกับคู่ค้า แต่ตอนนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น โดยเฉพาะในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ดัชนีค่าเงินบาทแท้จริง (REER) ระดับ 3.3% จากช่วงต้นปีแค่ 1.8% ซึ่งเกิดจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัด 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาบางส่วนด้วย
นอกจากนี้ ต้องการให้ ธปท.เป็นคนกลางเจรจากับธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) ให้ช่วยประกันความเสี่ยง หลังจากในช่วงหลังผู้ส่งออกส่วนใหญ่ได้รับแค่ใบซื้อสินค้า (Purchasing Order) จากเดิมที่ได้เป็นหนังสือค้ำประกันสินเชื่อเผื่อการค้า (L/C) ซึ่งสามารถนำไปขึ้นเงินกับธนาคารพาณิชย์ได้ทันที และผู้ค้าขายขยายระยะเวลาในการชำระเงิน ทำให้ผู้ส่งออกได้เงินล่าช้า โดยอาจมีปัญหาไม่มีเงินซื้อวัตถุดิบหรือค่าแรงได้ จึงต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือให้ผู้ส่งออกสามารถเอาใบซื้อสินค้าไปประกันความเสี่ยงจากEXIM Bank และไปขึ้นเงินกับธนาคารพาณิชย์ได้ทันที

เงินบาทปิดตลาด 34.15/17
นักบริหารเงิน ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดวานนี้ (19 มิ.ย.) ที่ระดับ 34.15/17 บาท/ดอลลาร์ ทรงตัวอัตราเดียวกับเปิดตลาดช่วงเช้า การซื้อขายเงินบาทในตลาดค่อนข้างเงียบเหงา ไม่มีปัจจัยใหม่ๆ หนุนตลาด แม้นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ออกมาระบุว่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางเดียวกับค่าเงินภูมิภาคและพร้อมปรับลดดอกเบี้ยนโยบายหากมีความจำเป็น แต่ก็ไม่ได้มีผลใดๆ กับค่าเงินบาท
"ตลาดหุ้นบวกไปกว่า 18 จุด จริงๆ แล้วน่าจะทำให้เงินบาทแข็งค่า แต่ก็เงียบไม่ไปไหน" นักบริหารเงินกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น