บทความนี้เป็นฉบับแรกใน 2 ตอน ที่จะพยายามตอบคำถามว่า ทำไมธนาคารพาณิชย์จึงปรับลดดอกเบี้ยเงินกู้ (แทนโดยอัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมแก่ลูกค้าชั้นดีแบบมีระยะเวลาหรือ Minimum Loan Rate :MLR) น้อยกว่าการลดลงของดอกเบี้ยนโยบาย (R/P 1 วัน) และดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งทำให้หลายฝ่ายในสังคมตั้งข้อสังเกตว่าการที่ธนาคารทำเช่นนั้นอาจจะเอาเปรียบสังคมเนื่องจากจะได้กำไรมากขึ้น และธนาคารไม่แข่งขันกันจริงแต่ร่วมมือกันกอบโกยกำไร จึงได้มีความพยายามที่จะกดดันให้ธนาคารลดดอกเบี้ย MLR ลงอีก บทความ 2 ฉบับนี้จะชี้ให้เห็นว่าความคิดดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยังคลาดเคลื่อน และการบังคับให้ธนาคารลดดอกเบี้ย MLR ลงอีกเป็นการกระทำที่ฝืนกลไกตลาดและความเป็นจริง ซึ่งอาจจะสร้างปัญหาความมั่นคงและความน่าเชื่อถือให้แก่ระบบการเงินของประเทศได้
บทความแรกนี้จะแสดงว่า สิ่งที่หลายคนคิดว่าธนาคารร่วมมือกันกำหนดอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะโครงสร้างตลาดของธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนไปจากในอดีตที่มีการแข่งขันไม่รุนแรงมาสู่การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ส่วนฉบับหน้า ผมจะแสดงให้เห็นว่าการที่ดอกเบี้ย MLR ลดลงน้อย เกิดจากการที่ต้นทุนทางการเงินลดลงช้ากว่าดอกเบี้ยรับ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารได้รับลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างที่เข้าใจกัน
โครงสร้างตลาดของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงและไม่สามารถที่จะร่วมมือกันหรือพูดง่ายๆ แบบชาวบ้านว่าฮั้วกันไม่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตได้ ผมมีเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ ที่เชื่อเช่นนี้ เหตุผลแรก คือ ระบบธนาคารของไทยเปิดเสรีค่อนข้างมาก อาจจะมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกด้วยซ้ำไป สาเหตุมาจากวิกฤติการเงินในช่วงปี 2540/41 ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนจำนวนมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุนให้กับธนาคารของไทยหรือขายธนาคารไทยให้กับต่างประเทศ โดยในปัจจุบันสถาบันการเงินต่างประเทศถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ไทยในสัดส่วนค่อนข้างสูงหลายแห่ง กรณีธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 4 แห่ง มี 2 แห่ง คือธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ที่ต่างชาติถือหุ้นสูงกว่าร้อยละ 45 ส่วนธนาคารขนาดกลางอีก 2 แห่งคือ ธนาคารทหารไทยและธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็ถือหุ้นใหญ่โดยสถาบันการเงินต่างชาติ และยังมีธนาคารขนาดเล็กอีก 2 แห่งคือ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดและธนาคารยูโอบี ที่มีต่างประเทศถือหุ้นทั้งหมด ขณะที่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ก็มีสถาบันการเงินต่างประเทศถือหุ้นกว่าร้อยละ 92 นอกจากนี้ ธนาคารอื่นๆ เกือบทุกแห่งก็พยายามหาหุ้นส่วนยุทธ์ศาสตร์ที่เป็นต่างประเทศ โดยให้ธนาคารต่างประเทศถือหุ้นในสัดส่วนที่มากขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่มีการแข่งขันสูงและมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคต การเข้ามามีบทบาทดังกล่าวทำให้สถาบันการเงินต่างประเทศ เข้ามามีส่วนกำกับดูแลด้านนโยบายและการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งการที่มีสถาบันการเงินต่างประเทศหลายแห่งที่มาจากหลากหลายประเทศในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ทำให้การร่วมมือกันในการกำหนดราคาแทบจะเป็นไปไม่ได้
เหตุผลที่ 2 คือ ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540/41 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีการเกินดุลมากเกือบทุกปี โดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดหมายความว่าอุปทานหรือปริมาณเงินออมของประเทศสูงกว่าอุปสงค์หรือความต้องการเงินออมเพื่อการลงทุน โดยปกติในสถานการณ์ที่อุปทานมากกว่าอุปสงค์ บริษัทในตลาดดังกล่าวต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งอุปสงค์ที่มีจำกัด ดังนั้นในภาวะที่อุปทานเงินออมมากกว่าอุปสงค์เงินออม ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อเพื่อแย่งชิงผู้กู้ที่มีจำนวนจำกัด สถานการณ์ปัจจุบันจึงตรงข้ามกับในอดีตโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเมื่อก่อนวิกฤติ ประเทศไทยมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดโดยตลอด การขาดดุลดังกล่าวแสดงว่าอุปทานของเงินออมน้อยกว่าอุปสงค์ ทำให้ธนาคารพาณิชย์เกือบทั้งหมดไม่ต้องแข่งขันกันมากเพื่อแย่งลูกค้า โดยเฉพาะช่วงก่อนปี 2535 ที่มีการควบคุมการไหลเข้าของเงิน ธุรกิจต่างๆต้องพึ่งเงินออมในประเทศเพียงอย่างเดียว ธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่สามารถมีอำนาจเหนือตลาดได้ เนื่องจากผู้กู้ไม่มีทางเลือกอื่นและต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งเงินออมที่มีอยู่อย่างจำกัด ทว่าในปัจจุบันนั้น ผลจากการเปิดเสรีมากขึ้นทำให้ระบบธนาคารมีการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับการที่มีอุปทานเงินออมมากกว่าอุปสงค์ จึงเป็นไปได้ยากที่ธนาคารจะร่วมมือกันไม่ลดดอกเบี้ยเงินกู้
เหตุผลที่ 3 ก็คือ โครงสร้างตลาดของธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนแปลงไปมาก จากในอดีตมีธนาคารใหญ่เพียงแห่งเดียวคือธนาคารกรุงเทพที่มีส่วนแบ่งตลาดของเงินกู้และเงินฝากสูงกว่าร้อยละ 30 ทั้งคู่ ดังนั้นลักษณะของการกำหนดราคาหรืออัตราดอกเบี้ยจึงเป็นแบบมีผู้นำตลาดรายเดียว โดยธนาคารอื่นจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารกรุงเทพที่เป็นผู้นำของธุรกิจธนาคารในขณะนั้น ปัจจุบันมีธนาคารขนาดใหญ่ 4 รายที่มีขนาดทรัพย์สินไม่แตกต่างกันมาก ดังนั้นโครงสร้างการแข่งขันจึงเปลี่ยนจากแบบมีผู้นำตลาดรายเดียวเป็นแบบที่มีผู้นำตลาดน้อยราย (Oligopoly) การเปลี่ยนแปลงราคาหรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากทำได้ไม่ง่าย เนื่องจากไม่รู้ว่าคู่แข่งจะตอบโต้อย่างไร เช่น ถ้าธนาคารหนึ่งเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารคู่แข่งอาจจะคงดอกเบี้ยไว้เหมือนเดิมทำให้ลูกค้าหันไปใช้บริการกับธนาคารคู่แข่งได้ ในตลาดเช่นนี้จะไม่ค่อยมีการการเปลี่ยนแปลงราคาหรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากนอกจากมีความจำเป็นจริงๆ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากในปัจจุบันจึงมีค่อนข้างน้อยโดยมีสาเหตุหลักมาจากความไม่แน่นอนว่าธนาคารอื่นจะทำอย่างไร ไม่ได้เกิดจากการร่วมมือกันในการกำหนดราคา
บทความฉบับนี้คงจะพอทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงโครงสร้างตลาดของระบบธนาคารพาณิชย์และการเปลี่ยนแปลงหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ฉบับหน้าผมจะชี้ว่าที่จริงแล้วธนาคารพาณิชย์มีส่วนต่างดอกเบี้ยลดลง และการที่นำการลดลงของดอกเบี้ยเงินกู้หรือ MLR มาเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากแล้วสรุปว่าธนาคารมีกำไรมากขึ้นเป็นข้อสรุปที่คลาดเคลื่อนอย่างไร
bunluasak.p@cimbthai.com
บทความแรกนี้จะแสดงว่า สิ่งที่หลายคนคิดว่าธนาคารร่วมมือกันกำหนดอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะโครงสร้างตลาดของธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนไปจากในอดีตที่มีการแข่งขันไม่รุนแรงมาสู่การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ส่วนฉบับหน้า ผมจะแสดงให้เห็นว่าการที่ดอกเบี้ย MLR ลดลงน้อย เกิดจากการที่ต้นทุนทางการเงินลดลงช้ากว่าดอกเบี้ยรับ ทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารได้รับลดลงแทนที่จะเพิ่มขึ้นอย่างที่เข้าใจกัน
โครงสร้างตลาดของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงและไม่สามารถที่จะร่วมมือกันหรือพูดง่ายๆ แบบชาวบ้านว่าฮั้วกันไม่ลดดอกเบี้ยเงินกู้ตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตได้ ผมมีเหตุผลอย่างน้อย 3 ประการ ที่เชื่อเช่นนี้ เหตุผลแรก คือ ระบบธนาคารของไทยเปิดเสรีค่อนข้างมาก อาจจะมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกด้วยซ้ำไป สาเหตุมาจากวิกฤติการเงินในช่วงปี 2540/41 ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยมีความจำเป็นต้องเพิ่มทุนจำนวนมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินต่างประเทศเข้ามาถือหุ้นเพิ่มทุนให้กับธนาคารของไทยหรือขายธนาคารไทยให้กับต่างประเทศ โดยในปัจจุบันสถาบันการเงินต่างประเทศถือหุ้นในธนาคารพาณิชย์ไทยในสัดส่วนค่อนข้างสูงหลายแห่ง กรณีธนาคารพาณิชย์ใหญ่ 4 แห่ง มี 2 แห่ง คือธนาคารกสิกรไทยและธนาคารไทยพาณิชย์ที่ต่างชาติถือหุ้นสูงกว่าร้อยละ 45 ส่วนธนาคารขนาดกลางอีก 2 แห่งคือ ธนาคารทหารไทยและธนาคารกรุงศรีอยุธยาก็ถือหุ้นใหญ่โดยสถาบันการเงินต่างชาติ และยังมีธนาคารขนาดเล็กอีก 2 แห่งคือ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดและธนาคารยูโอบี ที่มีต่างประเทศถือหุ้นทั้งหมด ขณะที่ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย ก็มีสถาบันการเงินต่างประเทศถือหุ้นกว่าร้อยละ 92 นอกจากนี้ ธนาคารอื่นๆ เกือบทุกแห่งก็พยายามหาหุ้นส่วนยุทธ์ศาสตร์ที่เป็นต่างประเทศ โดยให้ธนาคารต่างประเทศถือหุ้นในสัดส่วนที่มากขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดที่มีการแข่งขันสูงและมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆในอนาคต การเข้ามามีบทบาทดังกล่าวทำให้สถาบันการเงินต่างประเทศ เข้ามามีส่วนกำกับดูแลด้านนโยบายและการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างใกล้ชิด อีกทั้งการที่มีสถาบันการเงินต่างประเทศหลายแห่งที่มาจากหลากหลายประเทศในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ทำให้การร่วมมือกันในการกำหนดราคาแทบจะเป็นไปไม่ได้
เหตุผลที่ 2 คือ ภายหลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540/41 ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีการเกินดุลมากเกือบทุกปี โดยทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดหมายความว่าอุปทานหรือปริมาณเงินออมของประเทศสูงกว่าอุปสงค์หรือความต้องการเงินออมเพื่อการลงทุน โดยปกติในสถานการณ์ที่อุปทานมากกว่าอุปสงค์ บริษัทในตลาดดังกล่าวต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งอุปสงค์ที่มีจำกัด ดังนั้นในภาวะที่อุปทานเงินออมมากกว่าอุปสงค์เงินออม ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งต้องแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อเพื่อแย่งชิงผู้กู้ที่มีจำนวนจำกัด สถานการณ์ปัจจุบันจึงตรงข้ามกับในอดีตโดยสิ้นเชิง เนื่องจากเมื่อก่อนวิกฤติ ประเทศไทยมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดโดยตลอด การขาดดุลดังกล่าวแสดงว่าอุปทานของเงินออมน้อยกว่าอุปสงค์ ทำให้ธนาคารพาณิชย์เกือบทั้งหมดไม่ต้องแข่งขันกันมากเพื่อแย่งลูกค้า โดยเฉพาะช่วงก่อนปี 2535 ที่มีการควบคุมการไหลเข้าของเงิน ธุรกิจต่างๆต้องพึ่งเงินออมในประเทศเพียงอย่างเดียว ธนาคารพาณิชย์โดยเฉพาะธนาคารขนาดใหญ่สามารถมีอำนาจเหนือตลาดได้ เนื่องจากผู้กู้ไม่มีทางเลือกอื่นและต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งเงินออมที่มีอยู่อย่างจำกัด ทว่าในปัจจุบันนั้น ผลจากการเปิดเสรีมากขึ้นทำให้ระบบธนาคารมีการแข่งขันที่รุนแรง ประกอบกับการที่มีอุปทานเงินออมมากกว่าอุปสงค์ จึงเป็นไปได้ยากที่ธนาคารจะร่วมมือกันไม่ลดดอกเบี้ยเงินกู้
เหตุผลที่ 3 ก็คือ โครงสร้างตลาดของธนาคารพาณิชย์เปลี่ยนแปลงไปมาก จากในอดีตมีธนาคารใหญ่เพียงแห่งเดียวคือธนาคารกรุงเทพที่มีส่วนแบ่งตลาดของเงินกู้และเงินฝากสูงกว่าร้อยละ 30 ทั้งคู่ ดังนั้นลักษณะของการกำหนดราคาหรืออัตราดอกเบี้ยจึงเป็นแบบมีผู้นำตลาดรายเดียว โดยธนาคารอื่นจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยตามธนาคารกรุงเทพที่เป็นผู้นำของธุรกิจธนาคารในขณะนั้น ปัจจุบันมีธนาคารขนาดใหญ่ 4 รายที่มีขนาดทรัพย์สินไม่แตกต่างกันมาก ดังนั้นโครงสร้างการแข่งขันจึงเปลี่ยนจากแบบมีผู้นำตลาดรายเดียวเป็นแบบที่มีผู้นำตลาดน้อยราย (Oligopoly) การเปลี่ยนแปลงราคาหรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากทำได้ไม่ง่าย เนื่องจากไม่รู้ว่าคู่แข่งจะตอบโต้อย่างไร เช่น ถ้าธนาคารหนึ่งเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ ธนาคารคู่แข่งอาจจะคงดอกเบี้ยไว้เหมือนเดิมทำให้ลูกค้าหันไปใช้บริการกับธนาคารคู่แข่งได้ ในตลาดเช่นนี้จะไม่ค่อยมีการการเปลี่ยนแปลงราคาหรืออัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากนอกจากมีความจำเป็นจริงๆ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝากในปัจจุบันจึงมีค่อนข้างน้อยโดยมีสาเหตุหลักมาจากความไม่แน่นอนว่าธนาคารอื่นจะทำอย่างไร ไม่ได้เกิดจากการร่วมมือกันในการกำหนดราคา
บทความฉบับนี้คงจะพอทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงโครงสร้างตลาดของระบบธนาคารพาณิชย์และการเปลี่ยนแปลงหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจ ฉบับหน้าผมจะชี้ว่าที่จริงแล้วธนาคารพาณิชย์มีส่วนต่างดอกเบี้ยลดลง และการที่นำการลดลงของดอกเบี้ยเงินกู้หรือ MLR มาเทียบกับดอกเบี้ยเงินฝากแล้วสรุปว่าธนาคารมีกำไรมากขึ้นเป็นข้อสรุปที่คลาดเคลื่อนอย่างไร
bunluasak.p@cimbthai.com