xs
xsm
sm
md
lg

สินเชื่อแบงก์เม.ย.ยังหดหมื่นล. สวนเงินฝากพุ่ง-สภาพคล่องล้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยสินเชื่อคงค้างธนาคารพาณิชย์เดือนเม.ย.ยังหดตัวต่อเนื่อง ลดลงจากเดือนก่อนหน้ากว่า 1 หมื่นล้าน คิดเป็น 0.18% นำโดยแบงก์ขนาดใหญ่ 3 แห่ง"กรุงเทพ-กสิกรฯ-ไทยพาณิชย์" สวนทางเงินฝากที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉียด 8 พันล้าน คิดเป็น 0.12% ด้านสินทรัพย์สภาพคล่องยังปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน มีจำนวน 2.31 ล้านล้านบาทในเดือนเม.ย.จากเดือนมี.ค.ที่อยู่ในระดับ 2.27 ล้านล้านบาท หวังเศรษฐกิจฟื้นช่วยระบายสภาพคล่อง

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานยอดสินเชื่อคงค้างในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่า มีจำนวน 5,667,600 ล้านบาท ลดลงจากเดือนที่แล้ว 10,210 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดร้อยละ 0.18 แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.38 โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีสินเชื่อปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 11,441 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.30 ตามการลดลงของธนาคารกรุงเทพจำนวน 17,945 ล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารกสิกรไทย และไทยพาณิชย์ ลดลงจำนวน 9,690 และ 2,233 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ ธนาคารกรุงไทย มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นจำนวน 18,427 ล้านบาท

กลุ่มธนาคารขนาดกลาง 4 แห่ง มีสินเชื่อรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า 7,905 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มร้อยละ 0.58 นำโดยธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 10,809 ล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารนครหลวงไทย และธนชาต มีสินเชื่อเพิ่มขึ้น 1,075 และ 724 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนธนาคารทหารไทย มีสินเชื่อลดลงจำนวน 4,703 ล้านบาท

และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 6 แห่ง มีสินเชื่อลดลงจากเดือนที่แล้ว 6,674 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 1.26 ตามการลดลงของสินเชื่อธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย สินเอเซีย ยูโอบี และซีไอเอ็มบีไทย (ธนาคารไทยธนาคารเดิม) จำนวน 3,663 2,311 2,088 และ 603 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนธนาคารทิสโก้ และเกียรตินาคิน มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นจำนวน 1,906 และ 85 ล้านบาท ตามลำดับ

**เงินฝากยังเพิ่มเฉียด 8 พันล.**
ด้านเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนเมษายน 2552 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 6,552,431 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 7,959 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการเพิ่มร้อยละ 0.12 และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.18 โดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง มีเงินฝากปรับตัวเพิ่มขึ้น 41,542 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.96 ตามการเพิ่มขึ้นของเงินฝากของธนาคารขนาดใหญ่ 3 แห่ง ยกเว้นธนาคารกสิกรไทย นำโดยธนาคารกรุงไทย มีเงินฝากเพิ่มขึ้น 45,861 ล้านบาท ตามมาด้วยธนาคารไทยพาณิชย์ และกรุงเทพ เพิ่มขึ้นจำนวน 12,790 และ 7,986 ล้านบาท ตามลำดับ

กลุ่มธนาคารขนาดกลาง 4 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนก่อนหน้า 14,220 ล้านบาท หรือลดลงร้อยละ 0.90 ตามการลดลงของเงินฝากธนาคารกรุงศรีอยุธยา และทหารไทย จำนวน 16,175 และ 12,984 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่เงินฝากธนาคารนครหลวงไทย และธนชาต ปรับตัวเพิ่มขึ้นจำนวน 9,291 และ 5,648 ล้านบาท ตามลำดับ

และกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 6 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนที่แล้วจำนวน 19,363 ล้านบาท คิดเป็นอัตราการลดลงร้อยละ 3.14 จากการลดลงของเงินฝากธนาคารซีไอเอ็มบีไทย และสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย เป็นหลัก จำนวน 8,615 และ 8,581 ล้านบาท ตามลำดับ ตามมาด้วยธนาคารสินเอเซีย และยูโอบี เงินฝากลดลง 2,469 และ 1,462 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนธนาคารทิสโก้ มีเงินฝากเพิ่มขึ้น 2,118 ล้านบาท

**สภาพคล่องแบงก์ยังล้น**
นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังได้รวบรวมข้อมูลสินทรัพย์สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยทั้ง 14 แห่ง ณ สิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา เปรียบเทียบกับสิ้นเดือนก่อนหน้าพบว่า มียอดปรับขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดย ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 สินทรัพย์สภาพคล่องดังกล่าว มีจำนวน 2.31 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.47 หมื่นล้านบาท จาก 2.27 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2552 อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในองค์ประกอบหลักอย่างเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ ตามมาด้วยเงินสด ขณะที่เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้นลดลง

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่อง(รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์) ในเดือนเมษายน เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของยอดเงินฝากประมาณ 7.96 พันล้านบาทจากเดือนก่อนหน้า ซึ่งสวนทางกับยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (จากค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ที่ลดลง 1.02 หมื่นล้านบาท

โดยการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สภาพคล่องในความหมายกว้างเกิดขึ้นในกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ เป็นหลัก โดยสินทรัพย์สภาพคล่องของกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 6.55 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 1.47 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดเล็กมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น 433 ล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 2.99 แสนล้านบาท ขณะที่กลุ่มธนาคารขนาดกลางมีสภาพคล่องลดลง 2.13 หมื่นล้านบาท มามียอดคงค้างที่ 5.45 แสนล้านบาท

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า สินทรัพย์สภาพคล่องตามความหมายกว้างของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ยังมีอยู่สูงกว่า 2 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนเมษายน 2552 น่าจะยังคงเป็นระดับที่มากพอสำหรับรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปีนี้ได้ ซึ่งรวมถึงความต้องการใช้เงินจากภาครัฐเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนในโครงการต่างๆ ด้วย ทั้งนี้ คงจะต้องติดตามประเด็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจว่าการชะลอตัวของเครื่องชี้เศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่เริ่มลดระดับความรุนแรงลง จะมีความยั่งยืนเพียงใด โดยหากการฟื้นตัวเป็นไปตามความคาดหวังจริง ก็น่าที่จะเป็นทิศทางที่ส่งผลดีต่อการขยายตัวของสินเชื่อ ซึ่งก็คงจะทำให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีแนวโน้มทยอยปรับลดลงในระยะถัดไป
 
**แนวโน้มดบ.ทรงตัว**
สำหรับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในระบบการเงินไทยน่าจะยังมีแนวโน้มทรงตัวต่ำอย่างต่อเนื่องต่อไปจนกว่าสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนมากขึ้น ซึ่งแม้ว่าอาจต้องใช้เวลา แต่ถ้าสัญญาณการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเริ่มปรากฏชัดเจนและมีเสถียรภาพอย่างแท้จริง ก็อาจทำให้สภาพคล่องส่วนเกินมีแนวโน้มถูกระบายออกไปผ่านการขยายตัวของสินเชื่อ ประกอบกับอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์สภาพคล่องที่อาจเริ่มขยับตัวสูงขึ้น อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดังกล่าว ท้ายที่สุดแล้วก็อาจทำให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นใจมากพอที่จะกลับมาแข่งขันกันระดมเงินด้วยการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากแบบพิเศษหรือผลิตภัณฑ์เงินฝากประจำระยะยาวที่อัตราดอกเบี้ยจูงใจอีกหลังจากนั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น