xs
xsm
sm
md
lg

CIMBไทยทุ่มงบพัฒนาระบบไอที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - "ดาโต๊ะ ศรีฯ" นำทีมแถลงเปิดตัวซีไอเอ็มบีอย่างเป็นทางการ ประกาศทุ่ม 180 ล้านเหรียญ หรือ 6 พันล้านบาท พัฒนาระบบไอทีเชื่อมเครือข่ายทั่วอาเซียน ส่วนในไทยต้อง "ลดจำนวนตู้เอทีเอ็ม-เพิ่มพนักงาน-ขายตึกสาทร" กระชับองค์กร "สุภัค" เผยเตรียมลดดอกเบี้ยเงินฝาก พร้อมลุยปล่อยสินเชื่อให้ได้ 1.2 หมื่นล้าน แม้ยังห่างเป้า วอน กนง.คงดอกเบี้ยไว้ก่อน เหตุการขยายตัวของสินเชื่อต้องระวังหนี้เสีย

วานนี้ (18 พ.ค.) ดาโต๊ะ ศรี นาซีร์ ราซัค ประธานบริหารกลุ่มซีไอเอ็มบี เปิดเผยว่าทางกลุ่มซีไอเอ็มบีได้เตรียมงบประมาณในการพัฒนาระบบไอทีจำนวน 180 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 6,000 ล้านบาท) เพื่อพัฒนาระบบไอทีของกลุ่มซีไอเอ็มบีทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกัน และเพื่อปรับปรุงเสถียรภาพของซีไอเอ็มบีทั่วทั้งอาเซียน อย่างไรก็ตามตู้เอทีเอ็มในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน มีมากกว่าจำนวนลูกค้า จึงลดตู้เอทีเอ็มในไทยและจะไปเพิ่มตู้เอทีเอ็มที่สิงคโปร์และอินโดนีเซียแทน
สำหรับผลประกอบการในปีนี้ของซีไอเอ็มบีไทย ในปีนี้คาดว่าจะไม่สูงมากนัก อาจจะเท่ากับปีที่ผ่านมา ซึ่งทางกลุ่มไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องนี้เพราะถือว่าเป็นการลงทุนระยยาว และการได้ผลตอบแทนก็ต้องใช้เวลา โดยในแผนผลตอบแทนจากส่วนของผู้ถือหุ้นหรือ ROE ภายใน 5 ปีต้องขึ้นไปอยู่ 1ใน 3ซึ่งมาตรฐานของสากลจะตั้งไว้ที่
16%
นอกจากนี้ยอดหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ก่อนหักสำรองของซีไอเอ็มบีไทย ณ ปัจจุบันมีอยู่ 7-8% แต่มียอดเอ็นพีแอลหลังหักสำรองอยู่ที่ 4% หากเศรษฐกิจโดยรวมไม่กระทบต่อเอ็นพีแอล ธนาคารก็เชื่อว่าจะสามารถรักษารายได้เอาไว้ได้ ซึ่งไตรมาสแรกรายได้เติบโตกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้
ประธานบริหารกลุ่มซีไอเอ็มบียังกล่าวถึงการรวมกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ซีไอเอ็มบีจีเคในประเทศไทย กับ บล.บีที ว่า จะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในไตรมาสสามของปีนี้ และต้องการเพิ่มส่วนแบ่งการครองตลาด ส่วนพนักงานนั้นในขณะนี้ทางซีไอเอ็มบีไทยมีแผนที่จะเพิ่มจำนวนพนักงานที่จะดูแลในส่วนของรายย่อยธุรกิจประกัน รวมถึงในส่วนของวาณิชธนกิจก็มีแผนที่รับคนเพิ่มเข้ามาเสริมการทำงานด้วยเช่นกัน
"เราจะขายอาคารสำนักงานใหญ่สาทร เพื่อให้มีสำนักงานใหญ่เหลือเพียง1 แห่ง คือที่ถนนหลังสวนเท่านั้นเพราะมีพื้นที่ใช้สอยเพียงพอรองรับกับพนักงาน" นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวเสริม
นายสุภัคเปิดเผยเป้าสินเชื่อว่า ปีนี้ธนาคารตั้งเป้าหมายไว้ที่ 12,000 ล้านบาท แต่ในช่วงกว่า 4 เดือนที่ผ่านมาสินเชื่อของธนาคารยังคงติดลบอยู่ จะมีการทบทวนสินเชื่อหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้สินเชื่อคงค้างสิ้นปีอยู่ที่ 90,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่เกือบ 80,000 ล้านบาท
"สินเชื่อมีการลดลง เนื่องจากมีลูกค้าชำระคืนหนี้ อีกทั้งเราเพิ่งดำเนินการเรื่องของการเพิ่มทุนเสร็จและได้เดินหน้าการทำธุรกิจอย่างจริงจังเพียงไม่นาน
แต่ในตอนนี้เราก็มีความพร้อมที่จะขยายสินเชื่อเต็มตัวแล้ว" นายสุภัคกล่าวและว่า ธนาคารก็มีแผนที่จะลดดอกเบี้ยเงินฝากลง 0.25-0.5% เพื่อให้เท่ากับธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่และให้สัดส่วนเงินฝากลงมาอยู่ที่ 1.1แสนล้านบาท จากปัจจุบัน 1.4 แสนล้านบาท เพื่อให้เหมาะสมกับฐานสินเชื่อ
นายสุภัคกกล่าวว่า เข้าใจธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ทำการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ซึ่งน่าจะมาจาก 2 เหตุผลคือ การขยายสินเชื่อและการลดภาระของผู้กู้ แต่การมุ่งเน้นให้เกิดการขยายสินเชื่อนั้น ตัวแปรที่สำคัญไม่ได้อยู่ที่อัตราดอกเบี้ย แต่เป็นความเชื่อมั่นมากกว่า ซึ่งสิ่งที่เห็นชัดเจนในขณะนี้คือสภาพคล่องที่ไม่สมดุล เนื่องจากสินเชื่อปล่อยไม่ได้
"ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะประชุมในวันที่ 20 พ.ค.นี้ น่าจะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ก่อนเพื่อให้โอกาสนโยบายการคลังดำเนินการได้เต็มที่
สำหรับสภาพคล่องในระบบตอนนี้ค่อนข้างสูงโดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของระบบอยู่ที่ 120%"
เขาย้ำว่า ธนาคารต้องให้ความระมัดระวังก็คือแนวโน้มของเอ็นพีแอล ที่แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่ปรับเพิ่มขึ้นจนน่าเป็นห่วง แต่จากการที่ไม่สามารถจะประเมินถึงผลกระทบในระลอกต่อจากนี้ว่าจะเป็นอย่างไรและไม่รู้ว่าจะถึงจุดต่ำสุดเมื่อไหร่ทำให้ธนาคารต่างๆ ได้มีการตั้งสำรองรองรับความเสี่ยงไว้แล้ว
สำหรับธุรกิจที่ธนาคารจะเน้นให้บริการนั้น จะเน้นทั้งรายย่อย รายกลางและรายใหญ่ เนื่องจากในขณะนี้ธนาคารได้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มซีไอเอ็มบีซึ่งทำให้ธนาคารมีความพร้อมในการทำธุรกิจทุกด้าน โดยในส่วนของรายย่อยนั้นธนาคารจะมุ่งเน้นไปยังสินเชื่อบุคคล สินเชื่อเคหะ ส่วนของเอสเอ็มอีขณะนี้ก็มีความพร้อมเช่นกันเนื่องจากธนาคารมีศูนย์ธุรกิจอยู่ทั่วประเทศถึง 39 แห่ง ส่วนของรายใหญ่ก็ยังคงจะขยายตัวได้ดี เช่น ในธุรกิจบริหารจัดการเงินสด เป็นต้น นอกจากนี้ธนาคารยังมีแผนที่จะทำธุรกิจบัตรเครดิตในอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ งบการเงินของธนาคารซีไอเอ็มบีในไตรมาส 1 มีผลขาดทุนสุทธิ 268 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนจำนวน 1,918 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลลดลง 816 ล้านบาท หรือ 27% ขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย ลดลง 48 ล้านบาท หรือ 4% ขณะที่หนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญลดลง 283 ล้านบาท หรือ 50% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย เพิ่มขึ้น 2,359 ล้านบาท เป็นผลจากการปรับมูลค่ายุติธรรมเงินลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศประเภท (CDOs) ที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจำนวน 2,415 ล้านบาทในงวดเดียวกันของปีก่อน.
กำลังโหลดความคิดเห็น