xs
xsm
sm
md
lg

"อัมมาร"คาดปี52คนตกงาน2ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน -“อัมมาร” ห่วงคนตกงาน คาดสิ้นปี 52 ว่างงาน 2 ล้าน ชี้วิกฤตเศรษฐกิจปี51 แก้ไม่ยากเท่า ปี40 แนะรัฐบาลกระตุ้นใช้จ่าย โปรยเงินแบบประชานิยมได้ แต่ต้องระวังอย่าชุ่ย เสนอลดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมชั่วคราวจากนายจ้าง-ลูกจ้าง คาดรัฐต้องจ่ายเพิ่มประมาณอีก 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี ด้านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เสนอครม.ใหม่ เพิ่มงบรายหัวหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

วานนี้ (23 ธ.ค.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดแถลงข่าวเรื่อง “วิกฤตเศรษฐกิจกับการปกป้องสุขภาพคนไทย” โดย ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้ เกิดจากแรงกระแทกภายนอกคือเศรษฐกิจโลก และจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ก่อนที่จะลุกลามไปที่ภาคการเงินไทย ซึ่งจากการที่ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤตการเมืองและความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนมาถึงการปิดสนามบิน ทำให้ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นตลาดใหญ่ของประเทศ เป็นการซ้ำเติมเรื่องการว่างงานมากขึ้น
“ในไตรมาสแรกปี 2552 การเติบโตทางเศรษฐกิจจะเท่ากับ ร้อยละ 0.1 ซึ่งส่งผลต่อความต้องการแรงงานที่ลดลง ดังนั้น ปัญหาใหญ่คือเรื่องแรงงาน โดยคาดว่าจะมีผู้ว่างงานประมาณ 8.8 แสนคน หรืออัตราการว่างงานเท่ากับ 2.34 ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ โดยสถานประกอบการเอกชนจะลดการจ้างงานประมาณ 5 แสนคน มีผู้ถูกเลิกจ้างประมาณ 2.5 แสนคน ซึ่งเป็นคนที่มีสิทธิรับเงินประกันการว่างงาน และสิ้นปี 2552 จะมีผู้ว่างงานสูงถึง 2 ล้านคน”ศ.ดร.อัมมารกล่าว
ศ.ดร.อัมมารกล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงาน เสนอว่า ควรขยายระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนเพิ่มมากกว่าการเพิ่มเงินสิทธิประโยชน์ทดแทน หรืออาจจะขยายให้แรงงานที่อายุเกิน 60 ปี เพราะหางานใหม่ยากกว่าแรงงานหนุ่มสาว นอกจากนี้เสนอให้ลดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมชั่วคราว โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายแทนในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างซึ่งรัฐต้องจ่ายเพิ่มประมาณอีก 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อไม่ให้เกิดความกระทบต่อกองทุนในระยะยาว แต่ไม่ควรนำเงินกองทุนประกันสังคมมาใช้ในนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยสนองความต้องการของสถานประกอบการและแรงงานเป็นสำคัญ และไม่ควรสร้างงานชั่วคราวในลักษณะโครงการมิยาซ่าว่า เพราะที่ผ่านมาทำให้เงินรั่วไหลและไม่ก่อให้เกิดการสร้างรากฐานการพัฒนาในระยะยาว
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์แบบนี้ เป็นไปได้ยากที่รัฐบาลจะอ้างว่าไม่มีเงิน รัฐบาลสามารถนำเงินมาใช้จ่ายได้เพราะการบริหารแบบขาดดุลงบประมาณสามารถนำเงินมาใช้ได้ไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ขณะนี้รายได้ตกลงไป 1 แสนล้านบาท ยังเหลืออยู่ 3 แสนล้านบาท หากรัฐบาลนี้สานต่องานจากรัฐบาลเดิมต่อ และเติมโครงการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ก็เชื่อว่ายังมีงบประมาณที่พอเพียงที่จะนำมาจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่แรงงานที่ว่างงาน
“รัฐบาลจะต้องใส่เงินชดเชยเพิ่มเข้าไปในระบบทดแทนกำลังซื้อที่หายไป มีนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งการใช้เงินของภาครัฐมีผลต่อมหภาคทางเศรษฐกิจ เชื่อว่านายอภิสิทธิ์ ทำงานได้ง่ายกว่าวิกฤต ปี 2540 โดยประชาธิปัตย์สามารถใช้นโยบายประชานิยมได้ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพราะทำให้เงินเข้าถึงประชาชนรากหญ้ามากที่สุด ซึ่งคนกลุ่มนี้ จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ และเกิดการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ” ศ.ดร.อัมมารกล่าว
ศ.ดร. อัมมาร กล่าวด้วยว่า การโปรยเงินสามารถทำได้ แต่ให้ระมัดระวัง ให้ใช้เงินอย่างฉลาด ไม่ใช่ชุ่ย มั่วแจกให้แต่เฉพาะพรรคพวก พี่น้อง ตนเอง การสร้างหนี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ แต่ต้องไม่จ่ายแบบอีลุ่ยฉุยแฉก แต่ควรสร้างกำลังการผลิตที่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ในอนาคต ส่วนการคอรัปชั่นในสภาวะเช่นนี้ หากใครทำคงเป็นบาป คงเสนอได้แต่อย่าทำให้มันเกิดขึ้น เพราะหากใครทำในช่วงสถานการณ์แบบนี้ก็ถือว่าเป็นการทำบาป เพราะเป็นการเอาเปรียบคนจน ถือเป็นการทำร้ายประชาชนอย่างมาก
ส่วนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนายอภิสิทธินั้น ไม่ขอวิจารณ์ตัวบุคคล แต่จะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายมากกว่า เพราะตนไม่รู้จักผู้ที่เป็นรัฐมนตรีนัก ไม่ทราบว่าขีดความสามารถของแต่ละคนมีมากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์เลือกมาแล้ว ก็ให้เกียรติ ให้โอกาสทำงาน โดยจะรอดูผลงานหลังจากนั้นจึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
นอกจากนี้ ในวันที่ 5 ม.ค.2552 คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังที่มีตนเองเป็นประธานจะหารือกันในประเด็นเรื่องที่สปสช.จะเสนอของบรายหัวในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2553 เพิ่มเติม เพื่อรองรับกับผู้ใช้แรงงานที่เปลี่ยนสิทธิการรักษาพยาบาลจากสิทธิประกันสังคมมาเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งนี้ภายหลังจากที่สรุปข้อมูลได้จะนำเสนอคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีรมว.สธ.เป็นประธานพิจารณาอนุมัติ และนำเสนอสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาอนุมัติภายในม.ค.นี้ โดยงบเหมาจ่ายรายหัวในปี 2553 จะคำนวณคนที่ใช้สิทธิเพิ่มเติมคูณกับงบประมาณรายหัวต่อคน และกลุ่มของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะหันมาใช้บริการบัตรทองเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เสียค่าใช้จ่ายเอง
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวว่า การคำนวณงบประมาณรายหัวหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คำนวณจากฐานความคิดว่า ผู้ใช้สิทธิหากผู้มิสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งสิ้น 46 ล้านคนไม่ได้มาใช้บริการทุกคน ก็ทำให้งบประมาณรายหัวปี 2552 จำนวน 2,202 บาทต่อคนต่อปีนั้น ไม่เพียงพอ ทั้งนี้หากผู้มีสิทธิหันมาใช้บริการทุกคนงบประมาณรายหัวอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 3,000-4,000 บาทต่อคนต่อปีด้วยซ้ำ
ด้าน นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11-13 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการเสนอมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการเร่งด่วน คือ 1.การบรรเทาผลกระทบผู้ตกงาน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ตกงานจากวิกฤตครั้งนี้สูงถึง 1-2 ล้านคน แม้ว่าสำนักงานประกันสังคม(สปส.) จะขยายสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลจาก 6 เดือน เป็น 8 เดือน แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพประชาชนทั้งหมด จึงเสนอให้ผู้ตกงานที่ย้ายภูมิลำเนาสามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลคู่สัญญาของสปส.ในสังกัดรัฐได้ทุกที่ โดยให้ ทั้ง สปส. และ สปสช. เร่งแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ปฏิบัติได้จริงในเดือนม.ค.ปี 2552 พร้อมทั้ง ประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ให้ผู้ตกงานรับทราบ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับสปสช. ในปี 2552 และปี 2553 เพื่อรองรับผู้ตกงานที่จะย้ายสิทธิมาใช้บัตรทองมากขึ้น
2.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุข ให้ทบทวนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านสาธารณสุข โดยเปลี่ยนการลงทุนโครงสร้างและการจัดการบริการ ในระดับชุมชน เพื่อยกระดับความสามารถของสถานพยาบาลในชนบท และยังเป็นการเพิ่มบุคคลากรทางการแพทย์ในชนบทมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการสร้างงานในชนบท ส่วนการลงทุนในระดับการแพทย์ชั้นสูงให้กระจายไปในพื้นที่ที่มีความขาดแคลนแทน ให้เข้มงวดให้สถานพยาบาลภาครัฐใช้ยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อประหยัดงบประมาณ
3.ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน ซึ่งปัจจุบันรายได้ครัวเรือนหมดไปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง ร้อยละ 6 ของรายได้ครัวเรือน ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายด้านอาหารลดลงร้อยละ 5 สะท้อนว่า คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก ขอเสนอให้เร่งรัดออกมาตรการบังคับใช้ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 พร้อมทั้ง ปรับปรุงระบบภาษีสรรพสามิตสุรา ให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้งหมดจะนำเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในวันที่ 26 ธ.ค.นี้ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก่อนนำเข้าที่ประชุมครม.กำหนดเป็นนโยบายต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น