“อัมมาร” ห่วงคนตกงาน คาดสิ้นปี 2552 ว่างงาน 2 ล้าน ชี้วิกฤตเศรษฐกิจ ปี 2551 แก้ไม่ยากเท่า ปี 2540 แนะรัฐบาลกระตุ้นใช้จ่าย โปรยเงินแบบประชานิยมได้ แต่ต้องระวังอย่าชุ่ย ให้เงินไปถึงรากหญ้าช่วยระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ไม่วิจารณ์ทีมเศรษฐกิจ “มาร์ค 1” ถือว่าให้เกียรติ “อภิสิทธิ์” รอดูผลงานไม่ดีค่อยด่า ด้านสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเสนอครม.ใหม่ หาทางรับมือวิกฤตเศรษฐกิจ ห่วงกระทบด้านสุขภาพ ของบเหมาจ่ายรายหัวหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเพิ่ม
เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 ธันวาคม สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) จัดแถลงข่าวเรื่อง วิกฤตเศรษฐกิจ กับการปกป้องสุขภาพคนไทย โดยศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจไทยในครั้งนี้ เกิดจากแรงกระแทกภายนอกคือเศรษฐกิจโลก และจะส่งผลกระทบต่อภาคเศรษฐกิจที่แท้จริง ก่อนที่จะลุกลามไปที่ภาคการเงินไทย ซึ่งจากการที่ประเทศไทยเกิดปัญหาวิกฤตการเมืองและความขัดแย้งอย่างรุนแรง จนมาถึงการปิดสนามบิน ทำให้ส่งผลต่อภาคการท่องเที่ยว ที่เป็นตลาดใหญ่ของประเทศ เป็นการซ้ำเติมเรื่องการว่างงานมากขึ้น
“ในไตรมาสแรกปี 2552 การเติบโตทางเศรษฐกิจะเท่ากับ ร้อยละ 0.1 ซึ่งส่งผลต่อความต้องการแรงงานที่ลดลง ดังนั้น ปัญหาใหญ่ คือ เรื่องแรงงาน โดยคาดว่าจะมีผู้ว่างงานประมาณ 8.8 แสนคน หรืออัตราการว่างงานเท่ากับ 2.34 ของจำนวนแรงงานทั้งประเทศ โดยสถานประกอบการเอกชนจะลดการจ้างงานประมาณ 5 แสนคน มีผู้ถูกเลิกจ้างประมาณ 2.5 แสนคน ซึ่งเป็นคนที่มีสิทธิรับเงินประกันการว่างงาน และสิ้นปี 2552 จะมีผู้ว่างงานสูงถึง 2 ล้านคน”ศ.ดร.อัมมารกล่าว
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการช่วยเหลือผู้ว่างงาน เสนอว่า ควรขยายระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนเพิ่มมากกว่าการเพิ่มเงินสิทธิประโยชน์ทดแทน หรืออาจจะขยายให้แรงงานที่อายุเกิน 60 ปี เพราะหางานใหม่ยากกว่าแรงงานหนุ่มสาว นอกจากนี้เสนอให้ลดเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมชั่วคราว โดยรัฐบาลเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายแทนในส่วนของนายจ้างและลูกจ้างซึ่งรัฐต้องจ่ายเพิ่มประมาณอีก 2.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เพื่อไม่ให้เกิดความกระทบต่อกองทุนในระยะยาว แต่ไม่ควรนำเงินกองทุนประกันสังคมมาใช้ในนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานโดยสนองความต้องการของสถานประกอบการและแรงงานเป็นสำคัญ และไม่ควรสร้างงานชั่วคราวในลักษณะโครงการมิยาซาวา เพราะที่ผ่านมาทำให้เงินรั่วไหลและไม่ก่อให้เกิดการสร้างรากฐานการพัฒนาในระยะยาว
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์แบบนี้เป็นไปได้ยากที่รัฐบาลจะอ้างว่าไม่มีเงิน รัฐบาลสามารถนำเงินมาใช้จ่ายได้เพราะการบริหารแบบขาดดุลงบประมาณสามารถนำเงินมาใช้ได้ไม่เกิน 4 แสนล้านบาท ขณะนี้ รายได้ตกลงไป 1 แสนล้านบาท ยังเหลืออยู่ 3 แสนล้านบาท หากรัฐบาลนี้สานต่องานจากรัฐบาลเดิมต่อ และเติมโครงการใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ก็เชื่อว่ายังมีงบประมาณที่พอเพียงที่จะนำมาจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่แรงงานที่ว่างงาน
“รัฐบาลจะต้องใส่เงินชดเชยเพิ่มเข้าไปในระบบทดแทนกำลังซื้อที่หายไป มีนโยบายทางการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งการใช้เงินของภาครัฐมีผลต่อมหภาพทางเศรษฐกิจ เชื่อว่านายอภิสิทธิ์ ทำงานได้ง่ายกว่าวิกฤต ปี 2540 โดยประชาธิปัตย์สามารถใช้นโยบายประชานิยมได้ ไม่ใช่เรื่องที่ไม่ดี เพราะทำให้เงินเข้าถึงประชาชนรากหญ้ามากที่สุด ซึ่งคนกลุ่มนี้จะทำให้เกิดการหมุนเวียนของเงินในระบบ และเกิดการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจ” ศ.ดร.อัมมารกล่าว
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวด้วยว่า การโปรยเงินสามารถทำได้ แต่ให้ระมัดระวัง ให้ใช้เงินอย่างฉลาด ไม่ใช่ชุ่ย มั่วแจกให้แต่เฉพาะพรรคพวกพี่น้องตนเอง การสร้างหนี้ถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องทำ แต่ต้องไม่จ่ายแบบอีลุ่ยฉุยแฉก แต่ควรสร้างกำลังการผลิตที่สามารถจ่ายหนี้คืนได้ในอนาคต ส่วนการคอรัปชั่นในสภาวะเช่นนี้ หากใครทำคงเป็นบาป คงเสนอได้แต่อย่าทำให้มันเกิดขึ้น เพราะหากใครทำในช่วงสถานการณ์แบบนี้ก็ถือว่าเป็นการทำบาป เพราะเป็นการเอาเปรียบคนจน ถือเป็นการทำร้ายประชาชนอย่างมาก
รศ.ดร.อัมมาร กล่าวด้วยว่า ส่วนทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลนายอภิสิทธินั้น ไม่ขอวิจารณ์ตัวบุคคล แต่จะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายมากกว่า เพราะตนไม่รู้จักผู้ที่เป็นรัฐมนตรีนัก ไม่ทราบว่าขีดความสามารถของแต่ละคนมีมากน้อยแค่ไหน แต่เมื่อนายอภิสิทธิ์เลือกมาแล้วก็ให้เกียรติ ให้โอกาสทำงาน โดยจะรอดูผลงานหลังจากนั้นจึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ในวันที่ 5 ม.ค.2552 คณะอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลังที่มีตนเองเป็นประธานจะหารือกันในประเด็นเรื่องที่ สปสช.จะเสนอของบรายหัวในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในปี 2553 เพิ่มเติม เพื่อรองรับกับผู้ใช้แรงงานที่เปลี่ยนสิทธิการรักษาพยาบาลจากสิทธิประกันสังคมมาเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวว่า ทั้งนี้ภายหลังจากที่สรุปข้อมูลได้จะนำเสนอคณะกรรมการบริหารหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มี รมว.สธ.เป็นประธานพิจารณาอนุมัติ และนำเสนอสำนักงบประมาณเพื่อพิจารณาอนุมัติภายใน ม.ค.นี้ โดยงบเหมาจ่ายรายหัวในปี 2553 จะคำนวณคนที่ใช้สิทธิเพิ่มเติมคูณกับงบประมาณรายหัวต่อคน และกลุ่มของผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่จะหันมาใช้บริการบัตรทองเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่เสียค่าใช้จ่ายเอง
ศ.ดร.อัมมาร กล่าวว่า การคำนวณงบประมาณรายหัวหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คำนวณจากฐานความคิดว่า ผู้ใช้สิทธิหากผู้มิสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งสิ้น 46 ล้านคนไม่ได้มาใช้บริการทุกคน ก็ทำให้งบประมาณรายหัวปี 2552 จำนวน 2,202 บาทต่อคนต่อปีนั้น ไม่เพียงพอ ทั้งนี้หากผู้มีสิทธิหันมาใช้บริการทุกคนงบประมาณรายหัวอาจเพิ่มขึ้นไปถึง 3,000-4,000 บาทต่อคนต่อปีด้วยซ้ำ
ด้านนพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการประชุมสมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11-13 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการเสนอมาตรการเร่งด่วนในการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ โดยแบ่งเป็น 3 มาตรการเร่งด่วน คือ 1.การบรรเทาผลกระทบผู้ตกงาน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้ตกงานจากวิกฤตครั้งนี้สูงถึง 1-2 ล้านคน แม้ว่าสำนักงานประกันสังคม (สปส.) จะขยายสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลจาก 6 เดือน เป็น 8 เดือน แล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่ครอบคลุมการดูแลสุขภาพประชาชนทั้งหมด จึงเสนอให้ ผู้ตกงานที่ย้ายภูมิลำเนาสามารถเปลี่ยนสถานพยาบาลคู่สัญญาของสปส.ในสังกัดรัฐได้ทุกที่ โดยให้ ทั้ง สปส. และ สปสช.เร่งแก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ปฏิบัติได้จริงในเดือนมกราคม ปี 2552 พร้อมทั้ง ประชาสัมพันธ์สิทธิประโยชน์ให้ผู้ตกงานรับทราบ ขณะเดียวกันรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมให้กับ สปสช.ในปี 2552 และปี 2553 เพื่อรองรับผู้ตกงานที่จะย้ายสิทธิมาใช้บัตรทองมากขึ้น
นพ.วิโรจน์ กล่าวต่อว่า 2.เพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรด้านสาธารณสุข ให้ทบทวนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านสาธารณสุข โดยเปลี่ยนการลงทุนโครงสร้างและการจัดการบริการในระดับชุมชน เพื่อยกระดับความสามารถของสถานพยาบาลในชนบท และยังเป็นการเพิ่มบุคคลากรทางการแพทย์ในชนบทมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการสร้างงานในชนบท ส่วนการลงทุนในระดับการแพทย์ชั้นสูงให้กระจายไปในพื้นที่ที่มีความขาดแคลนแทน ให้เข้มงวดให้สถานพยาบาลภาครัฐใช้ยาตามบัญชียาหลักแห่งชาติ เพื่อประหยัดงบประมาณ
นพ.วิโรจน์ กล่าวอีกว่า และ 3.ลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประชาชน ซึ่งปัจจุบันรายได้ครัวเรือนหมดไปกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึงร้อยละ 6 ของรายได้ครัวเรือน ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายด้านอาหารลดลงร้อยละ 5 สะท้อนว่า คนไทยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก ขอเสนอให้เร่งรัดออกมาตรการบังคับใช้ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2551 พร้อมทั้ง ปรับปรุงระบบภาษีสรรพสามิตสุรา ให้มีความคุ้มค่ามากขึ้น ทั้งนี้ ข้อเสนอทั้งหมดจะนำเข้าสู่คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ในวันที่ 26 ธันวาคมนี้ โดยนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก่อนนำเข้าที่ประชุมครม.กำหนดเป็นนโยบายต่อไป
พญ.จงกล เลิศเธียรธำรง สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่า จากการศึกษาผลกระทบด้านสุขภาพคนไทยจากวิกฤตเศรษฐกิจเมื่อปี 2540 เพื่อนำมาเทียบเคียงกับภาวะเศรษฐกิจในปีนี้ เพื่อหาสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น พบว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งก่อน มีผลกระทบต่อภาวะสุขภาพ ต่อการใช้บริการสุขภาพ ค่าใช้จ่ายและงบประมาณด้านสุขภาพ และ สถานบริการภาคเอกชน โดยผลกระทบทางลบ พบว่า ความชุกของเด็กประถมที่มีน้ำหนักต่ำกว่ามาตรฐานเพิ่มขึ้น เด็กทารกน้ำหนักต่ำกว่า 2,500 กรัมเพิ่มขึ้น โรคติดเชื้อมากขึ้น อัตราการตายเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตมากขึ้น อัตราการฆ่าตัวตายเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีอุบัติการณ์ทางบวกด้วย เช่น อัตราการเกิดอุบัติเหตุ สูบบุหรี่ และดื่มแอลกอฮอล์ แต่เมื่อพ้นภาวะวิกฤตอัตราก็กลับเพิ่มขึ้น ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพ เช่น ซื้อยากินเอง เปลี่ยนการใช้บริการด้านสุขภาพ
“จากวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และ ปี 2552 ผลกระทบด้านสุขภาพมีสิ่งที่เหมือนและต่าง คือ เหมือนกันที่จะมีคนตกงานเพิ่งขึ้น รายได้ลด กำลังซื้อน้อย การใช้บริการภาครัฐเพิ่งขึ้น ความเครียด การเจ็บป่วยทางจิตจะเพิ่มขึ้น กลุ่มเสี่ยงคือ คนยากจน ตกงาน ผู้สูงอายุและเด็กจะได้รับผลกระทบค่อยข้างมาก แต่ความแตกต่างคือ การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ไทยเป็นศูนย์กลางจึงได้รับผลกระทบแรงและเร็ว และอัตราแลกเปลี่ยนกระทบต่อการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการให้บริการ ส่วนปี 2550 การประกันสุขภาพเป็นระบบมากขึ้น ค่ารักษาพยาบาลที่ครัวเรือนจ่ายโดยตรงน้อยลง”พญ.จงงกล กล่าว
นพ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า สวรส.ร่วมกับสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข มีมติจัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังและติดตามผลกระทบของวิกฤติเศรษฐกิจ ต่อสุขภาพคนไทย ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในและนอกกระทรวงสาธารณสุข เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์สถานการณ์ และประสานข้อมูลให้สำนักงานสถิติแห่งชาติ เพื่อนำไปทำการสำรวจครัวเรือนต่อไป ซึ่งในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 ได้มีการจัดตั้งหน่วยเฝ้าระวังฯ เช่นนี้ขึ้นเหมือนกัน และมีการายงานผลให้ผู้บริหารกระทรวงเป็นรายเดือนเพื่อนำไปใช้ในการออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนต่อไป