xs
xsm
sm
md
lg

คลังต่ออายุ6มาตรการ ยกเว้นน้ำมัน-เพิ่มงบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ขุนคลังคนใหม่เข้าทำงานวันแรกแถลงนโยบายต่ออายุ 6 มาตรการ 6 เดือนของรัฐบาลชุดเก่า ยกเว้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันให้นายกฯ ตัดสินใจอีกครั้ง เหตุราคาน้ำมันต่ำมากแล้ว พร้อมชงเพิ่มงบกลางปีอยู่ระหว่าง 1-1.8 แสนล้าน

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า คลังจะเร่งพิจารณามาตรการเยียวยาค่าครองชีพของประชาชน ส่วนหนึ่งจะพิจารณาอายุ 6 มาตรการ 6 เดือน ที่จะสิ้นสุดในเดือน ม.ค. 2552 ออกไปอีก แต่จะมีการปรับมาตรการใหม่ที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณมากนัก แต่ประชาชนได้ประโยชน์ เช่น ให้ใช้ น้ำ ไฟฟ้า ฟรี อย่างไรก็ตาม การลดภาษีน้ำมัน ซึ่งเป็น 1 ใน 6 มาตรการ ตอนนี้ราคาน้ำมันลดไปมาก เทียบกับวันที่ออกมาตรการ 147 เหรียญต่อบาเรล ปัจจุบันต่ำกว่า 40 เหรียญต่อบาร์เรล ก็เป็นคำตอบอยู่ในตัวว่าต้องขึ้นภาษี ส่วนจะขึ้นทั้งจำนวนหรือไม่ จะหารือกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ภายในสัปดาห์นี้

นอกจากนี้ได้ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ไปประเมินผลของการใช้ 6 มาตรการ 6 เดือน ว่า ประชาชนได้ประโยชน์หรือ มีผลต่อภาระงบประมาณมากเพียง ซึ่งยืนยันไม่ว่าจะเป็นมาตรการของพรรคการเมืองไหน หากมีประโยชน์กับประชาชนและไม่เป็นภาระงบประมาณมากเกินไป ก็จะคงไว้แต่จะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้น

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า จะได้ผลสรุปของ 6 มาตรการ ที่ปรับใหม่ภายในเดือน ม.ค. ซึ่งจะทำควบคู่กับมาตรการอื่นๆ ตอนนี้ รมว.คลัง ให้ทาง สศค. กับ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ไปดูแหล่งเงินที่จะนำมาใช้

"ผลประเมิน 6 มาตรการ 6 เดือน ถือว่าส่งผลดีกับเศรษฐกิจส่วนรวมทำให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น จากส่วนที่จากการลดค่าใช้จ่าย สามารถนำไปดำรงชีวิตด้านอื่นได้ ส่งผลต่อการบริโภคเพิ่มขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ และยังเป็นการรักษาไม่ให้เงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างที่ควรเป็น ซึ่งการดำเนินการ 6 มาตรการ ไม่กระทบกับวินัยการคลัง"

ทั้งนี้ 6 มาตรการ ประกอบด้วย การลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันประมาณลิตรละ 2-4 บาทต่อลิตร ชะลอปรับราคาก๊าซหุ้งต้มภาคครัวเรือน ให้ใช้น้ำประปาฟรี 50 หน่วยแรก ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี 80 หน่วยแรก และไม่เกิน 150 หน่วย จ่ายครึ่งหนึ่ง ให้ขึ้นรถโดยสารประจำทาง รถไฟชั้น 3 ฟรี โดยใช้งบประมาณสนับสนุน 4.6 หมื่นล้านบาท

เพิ่มงบกลางปีระหว่าง 1-1.8 แสนล.

นายกรณ์เปิดเผยว่า คลังจะพิจารณาเพิ่มงบประมาณกลางปี 2552 เพิ่มเติมไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท แต่ไม่เกินเพดานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ที่ 1.8 แสนล้านบาท โดยจะมีการพิจารณาเงินตามความจำเป็น เพื่อช่วยลดภาระของประชาชน ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว

"การทำงบประมาณขาดดุลเพิ่มเติม จะพิจารณาใช้เงินสำหรับโครงการที่มีความจำเป็น ซึ่งต่างจากรัฐบาลชุดก่อนที่หยิบยกตัวเลขมาก้อนหนึ่ง และถามว่าใครจะเอาบ้าง แต่เรามีโครงการที่ชัดเจนว่าจะทำอะไร ใช้เงินเท่าใด"

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพิจารณาปรับกรอบการขาดดุลงบประมาณที่ พ.ร.บ.งบประมาณกำหนดไว้ว่าสามารถตั้งได้ไม่เกิน 20% ของวงเงินงบประมาณรายจ่าย บวกกับการตั้งงบชำระต้นเงินกู้อีก 80% ของงบชำระเงินกู้ หรือประมาณ 4.3 แสนล้านบาท ซึ่งปัจจุบันมีการตั้งงบประมาณขาดดุลไปแล้วกว่า 2.495 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.4% ของอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)

ทั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่าจำนวนเงินแสนล้านบาทถือว่าไม่น้อย หากเทียบกับขนาดเศรษฐกิจของประเทศ สูงกว่า 1% ของจีดีพี นอกจากนี้ ยังใกล้การจัดทำงบประมาณประจำปี 2553 ซึ่งสามารถตั้งงบประมาณขาดดุลได้อีก โดยกรอบเดิมก็มีความสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพ ถ้ายังไม่จำเป็นก็ไม่ควรพิจารณาปรับเปลี่ยน

สำหรับการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปีงบประมาณ 2552 ค่อนข้างมีปัญหา โดยสรรพากรรายงานว่าจะจัดเก็บได้ต่ำกว่าเป้าประมาณ 1 แสนล้านบาท หากรวมกับการนำส่งรายได้ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ จะทำให้การจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 2552 ต่ำกว่าเป้าประมาณ 10% หรือประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท จากเป้าที่ตั้งไว้ที่ 1.5 ล้านล้านบาท

ไม่ลดภาษีหลังสถานการณ์เปลี่ยน

นายกรณ์กล่าวว่า การปรับลดภาษีจะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบ เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ซึ่งเดิมคณะรัฐมนตรีเงาก็มีนโยบายที่จะปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ภาวการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปมาก หากรัฐบาลยังคงใช้แนวคิดเดิมก็จะไม่เป็นประโยชน์สูงสุด ดังนั้น รัฐบาลจึงเลือกที่จะให้น้ำหนักการใช้งบประมาณเพื่อลดภาระประชาชน มากกว่าการปรับลดภาษี อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวก็จะต้องมีการปรับโครงสร้างภาษีเพื่อให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้

ส่วนกรณีที่หลายสถาบันคาดการณ์ขยายตัวจีดีพีต่ำ หรือ ติดลบ ส่วนตัวที่ผ่านมาไม่เคยหยิบยก จีดีพี เป็นเป้าหมายเดียว รัฐบาลต้องหยิบยกผลประโยชน์ประชาชนเป็นหลัก มีตัวชี้วัดกำหนดได้ว่าความเป็นอยู่ประชาชนดีขึ้น แต่หากจีดีพีขยายตัวต่ำกว่า 4% ก็จะมีการปัญหาต่อการว่างงานที่เพิ่มขึ้น คลังก็ต้องคอยจับตาดูตัวเลขจีดีพี เป็นตัวเลขที่สำคัญตัวหนึ่ง

"วิกฤตการณ์เศรษฐกิจขณะนี้ หนักหน่วงมาก ทั้งในส่วนของต่างประเทศ ประเทศคู่ค้า ส่งผลต่อปริมาณความต้องการสินค้า สภาพคล่อง การเข้าถึงแหล่งเงินแหล่งทุนของผู้ประกอบการและประชาชน ทั้งหมดเป็นภาระสำคัญของกระทรวงคลังที่ต้องเข้ามาเยียวยา"

สำหรับนโยบายการเงิน นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีคลัง จะเข้าไปหารือกับธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) หรือแบงก์ชาติ โดยแนวคิดหรือทิศทางในการบริหารของ ธปท. สะท้อนให้เห็นว่าแบงก์ชาติประเมินความเสี่ยงการขยายตัวเศรษฐกิจว่าเป็นปัญหา จากเดิมที่ประเมินความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก และจากมติการปรับลดดอกเบี้ยของ ธปท.ครั้งที่ผ่านมา เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าแบงก์ชาติมีความกังวล ก็สอดคล้องกับความคิดของคลัง โดยมั่นใจว่าจะประสานนโยบายการเงินและการคลังได้อย่างดี
กำลังโหลดความคิดเห็น