xs
xsm
sm
md
lg

2552 : ปีแห่งการเร่งรัดการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบจากภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจโลกอย่างชัดเจนในปี 2552 เนื่องจากการถดถอยทางเศรษฐกิจของตลาดหลักของโลกที่ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดใหม่ทั้งในเอเซีย (เช่น จีน และอาเซียน) และยุโรปตะวันออก ทำให้กำลังซื้อทั่วโลกลดลงอย่างมาก เป็นผลให้ความต้องการสินส่งออกและจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะมาไทยลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 70 ของรายได้ประชาชาติ

ทั้งนี้ อุปสงค์ภายในประเทศลดลงมาก โดยเฉพาะในการลงทุนของภาครัฐ ซึ่งหดตัวร้อยละ 5.5 สืบเนื่องมาจากความล่าช้าในการลงทุนโครงการขนาดใหญ่และโครงการลงทุนปกติ และที่สำคัญ คือ ปัญหาทางการเมืองที่ยืดเยื้อทำให้ขาดความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดิน

ดังนั้น เพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่องในปี 2552 และพยุงให้เศรษฐกิจเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 4 เพื่อป้องกันปัญหาการว่างงาน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการลงทุนของภาครัฐให้เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ให้มีความคืบหน้ามากขึ้น เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุนภายในประเทศ เพราะเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มความเชื่อมั่นของภาคเอกชนทั้งในระยะสั้นและระยะปานกลาง ซึ่งจะส่งผลให้มีการลงทุนขยายตัวตามมาโดยเฉพาะธุรกิจต่อเนื่อง เช่น ก่อสร้าง เหล็ก และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น

งบลงทุนโครงการก่อสร้างใหม่ในงบประมาณปี 2552 : วงเงินกว่า 99.01 พันล้านบาท

วงเงินลงทุนในโครงการใหม่ที่เป็นการก่อสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานในปีงบประมาณ 2552 มีความเป็นไปได้ที่จะมีความคืบหน้ามากกว่าในช่วงปีงบประมาณ 2551 เนื่องจากมีการอนุมัติการปรับค่า K ใหม่ ซึ่งจะประกาศใช้ในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้ต้นทุนก่อสร้างใกล้เคียงกับความเป็นจริง ประกอบกับต้นทุนปรับลดลงตามราคาวัสดุก่อสร้าง และราคาน้ำมัน ดังนั้นมีวงเงิน 99,006 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 24.3 ของ GDP สูงขึ้นจากร้อยละ 14.9 ของปีนี้ที่ มีจำนวน 1,147 โครงการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการลงทุนก่อสร้างถนน อาคาร และเกี่ยวกับแหล่งน้ำ โดยพบว่า กทม. ยังคงเป็นเขตพื้นที่ที่มีการจัดสรรวงเงินลงทุนสูงที่สุดถึง 13,341 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 14 ของวงเงินลงทุนรวม

นอกจากนี้ มีการเพิ่มงบลงทุนในเขตจังหวัดที่เป็นจุดเชื่อมต่อเส้นทางคมนาคมในอนุภูมิภาค เช่น อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี และพิษณุโลก เป็นต้น เพื่อให้สอดประสานกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของโครงการพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion)

โครงการลงทุนขนาดใหญ่ในงบประมาณปี 2552 : วงกว่า 3.57 แสนล้านบาท

แผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐในช่วงปีงบประมาณ 2552-2555มีกรอบลงทุนรวมทั้งสิ้น 1.87 ล้านล้านบาท รวม 7 สาขา ประกอบด้วย แผนการลงทุนที่รัฐบาลรับภาระ 1.26 ล้านล้านบาท และแผนการลงทุนที่รัฐวิสาหกิจรับภาระ 0.61 ล้านล้านบาท แบ่งออกมาได้เป็น

(1) สาขาขนส่ง เป็นสาขาที่มีวงเงินลงทุนสูงสุด ประมาณร้อยละ 50.9 โดยมีวงเงินลงทุน 948.9 พันล้านบาท ประกอบด้วย โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 5 สายทาง โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิระยะที่ 2 (Airport Link) เป็นต้น
 
(2) สาขาพลังงาน มีวงเงิน 444.6 พันล้านบาท เป็นโครงการของรัฐวิสาหกิจเกือบทั้งหมด โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า โครงการพัฒนาของบริษัท ปตท. และโครงการพลังงานทดแทน เป็นต้น (3) สาขาโทรคมนาคม วงเงิน 43.4 พันล้านบาท เป็นโครงการของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ได้แก่ โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3

(4) สาขาที่อยู่อาศัย วงเงินลงทุน 81.1 พันล้านบาท เช่น โครงการบ้านเอื้ออาทร
(5) สาขาทรัพยากรน้ำและการชลประทาน มีวงเงินลงทุน 184.1 พันล้านบาท ประกอบด้วย แผนการปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำขนาดเล็ก แผนการพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน (6) สาขาสาธารณสุข วงเงิน 39.9 พันล้านบาท ได้แก่ แผนงานด้านการพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข แผนงานลดปัจจัยเสี่ยงและคุ้มครองผู้บริโภค และ(7) สาขาการศึกษา มีวงเงิน 124.1 พันล้านบาท ได้แก่ แผนงาน/โครงการยกระดับคุณภาพการศึกษาด้วยนวัตกรรมและสื่อทันสมัย

โครงการที่มีศักยภาพสูงที่จะเริ่มก่อสร้างในปี 2552

ในงบฯ ปี 2552 มีวงเงินลงทุนในโครงการขนาดใหญ่รวม 357.1 พันล้านบาท โดยเม็ดเงินส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการพลังงานและระบบขนส่งมวลชน และโครงการที่มีโอกาสที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2552 ได้คือ A.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ระยะทาง 23 กม อายุโครงการ 7 ปี (2550-2556) วงเงินลงทุนรวม 59,856 ล้านบาท ปัจจุบันมีความคืบหน้าในการดำเนินงานค่อนข้างมาก โดยในเบื้องต้นได้กำหนดการลงนามจัดจ้างผู้รับเหมาในมกราคม 2552 และกำหนดก่อสร้างต้นปี 2552

B.โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน วงเงินลงทุน 13,133 ล้านบาท จะมีการลงนามจัดจ้างผู้รับเหมาในเดือนธันวาคม ศกนี้ และเริ่มก่อสร้างกุมภาพันธ์ 2552 กำหนดใช้เวลาก่อสร้าง 1,100 วัน ส่วนช่วงบางซื่อ-รังสิต ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรเนื่องจากอยู่ระหว่างการขอยื่นอนุมัติกรอบวงเงินใหม่ ซึ่งต้องรอรัฐบาลชุดใหม่อนุมัติ

โครงการที่มีโอกาสปานกลางที่จะดำเนินการในปี 2552

A.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย BTS เป็นโครงการใหม่ ประกอบด้วย 2 ช่วง คือ ช่วงหมอชิต-พหลโยธิน-สะพานใหม่ (สายสีเขียวเข้ม) และช่วงแบริ่ง-สำโรง-สมุทรปราการ (สายสีเขียวอ่อน) อายุโครงการ 6 ปี (2552-2557) มีโอกาสที่จะมีการดำเนินการในปี 2552 เนื่องจากเป็นโครงการเร่งด่วนที่ใช้เงินลงทุนไม่มากนักประมาณ 64,000 ล้านบาท

B.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน เป็นโครงการที่ภาครัฐมีการเร่งรัดการดำเนินการ ซึ่งเป็นส่วนต่อขยาย 2 ช่วง คือ ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค อายุโครงการ 7 ปี (2552-2558) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการทาบทามขอกู้เงินจาก JBICใช้เวลาในการพิจารณาประมาณ 4 เดือน (ถึง ก.พ. 2552) และหากได้รับอนุมัติเงินกู้ จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2552 เช่นกัน

สรุป

ความคืบหน้าในการลงทุนของภาครัฐโดยเฉพาะการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางการเมืองเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ฐานะการคลังของประเทศในปัจจุบันอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องระมัดระวัง เนื่องจาก (1) มีการดำเนินนโยบายขาดดุลงบประมาณติดต่อกันเป็นปีที่ 2 โดยในงบประมาณปี 2552 ได้ปรับเพิ่มการขาดดุลงบประมาณจาก 249.50 พันล้านบาท เป็น 349.50 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.5 ของ GDP ซึ่งเกินเพดานความมั่นคงทางการคลัง (ร้อยละ 2.5-3.0 ของ GDP)
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ 1 แสนล้านบาท ยังไม่มีความแน่ชัด เนื่องจากมีการปรับรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งอาจทำให้มีการปรับเปลี่ยนวงเงินขาดดุลได้ และวงเงินดังกล่าวจะต้องผ่านรัฐสภา (ประมาณเดือนเมษายน 2552) ก่อน จึงจะสามารถนำเงินดังกล่าวมาใช้บริหารแผ่นดินได้

(2)มีการขาดดุลเงินสดต่อเนื่อง โดยปีงบประมาณ 2551 ขาดดุลเงินสด (ก่อนกู้) 7.87 หมื่นล้านบาท จากที่ขาดดุลเงินสดในปีงบประมาณ 2550 จำนวน 4.87 แสนล้านบาท

(3) การจัดเก็บรายได้อาจไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ประมาณการไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจมีความเสี่ยงสูงที่จะชะลอตัว โดยหากในปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 3-4 จะทำให้ระดับหนี้สาธารณะปรับสูงขึ้นเป็นร้อยละ 40 ของ GDP และอาจเพิ่มมากขึ้นหากรัฐบาลมีความจำเป็นต้องใช้เงินกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้น

นอกจากนี้ ในระยะยาวรัฐบาลต้องใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมาก และเงินลงทุนส่วนใหญ่จำเป็นต้องกู้ ซึ่งจะเพิ่มภาระทางการคลังของประเทศมากขึ้น ดังนั้น รัฐบาลจำเป็นต้องคำนึงถึงการจัดลำดับความสำคัญในการลงทุน ที่เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของประเทศโดยรวม และมีความสมดุลกันทั้งในด้านกายภาพ และด้านสังคม เพื่อสร้างฐานในการสร้างรายได้ในระยะยาว ขณะเดียวกันประสิทธิภาพในการใช้งบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริง และการเพิ่มฐานรายได้ใหม่ๆ มากขึ้น เช่น การปรับปรุงโครงสร้างภาษี และโครงสร้างการจัดเก็บรายได้จากแหล่งอื่นที่ไม่ใช่ภาษี เก็บภาษีทรัพย์สิน เป็นต้น

ที่มา: ฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)
กำลังโหลดความคิดเห็น