“มาร์ค” ลั่นพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อฟื้นฟู ศก.ไทย โดยไม่เลือกวิธีใช้ แม้จะถูกฝ่ายค้านโจมตีว่าเดินตามรอยประชานิยมทักษิณ ชี้ การพลิกฟื้น ศก.ไทย ต้องให้ความจริงกับประชาชนมากที่สุด โดยกำหนดเป้าหมายและวิธีการที่ชัดเจน ไม่ทำให้เสียวิสัยทัศน์ในอนาคต พร้อมยืนยัน ไม่ได้แทรกแซงค่าเงินบาท เผย การอัดฉีด 2 พันเข้าระบบ ไม่ทำให้เสียวินัยการคลัง ระบุ ต้องอัดฉีดเร่งด่วนที่สุด เพราะวิกฤตรอบนี้สาหัสจริง
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “ฟื้นเศรษฐกิจไทย ใต้เงาวิกฤติเศรษฐกิจโลก” ที่โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คอง คอร์ด โดยระบุว่า การฟื้นเศรษฐกิจไทยนั้นรัฐบาลต้องการให้ความจริงกับประชาชนมากที่สุด โดยกำหนดเป้าหมายและวิธีการชัดเจน ด้วยการประคองสถานการณ์และบรรเทาปัญหา โดยไม่ทำให้เสียวิสัยทัศน์ในอนาคต
ทั้งนี้ จากการทำงาน 1 เดือน ได้กำหนดหลักการชัดเจนในการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อติดตามสถานการณ์และตัดสินใจแก้ปัญหาในทันที รวมถึงการประชุมร่วมภาครัฐและเอกชน (กรอ.) จึงทำให้กำหนดเป้าหมายและผลักดันแนวทางต่างๆ เป็นรูปธรรมได้
อย่างไรก็ตาม คาดว่า ไตรมาสที่ 3 และ 4 จะกลับมาเป็นบวกได้ ส่วนที่ถูกโจมตีในการใช้นโยบายประชานิยมนั้น ขอชี้แจงว่าต้องการให้เงินถึงมือประชาชนมากที่สุดโดยเร็วในคนทุกกลุ่ม รวมถึงนโยบายเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ซึ่งมาตรการต่างๆ ได้อนุมัติหมดแล้ว จะเริ่มต้นได้ในเดือนมีนาคม 2552 นี้
“หากมาตรการทั้งหมดแก้ปัญหาไม่ได้ อาจต้องกู้ยืมเงินจากต่างประเทศ ซึ่งได้ให้กระทรวงการคลังทำกรอบการเจรจากับสถาบันการเงินแล้ว หากมีความจำเป็นในช่วงเดือนมิถุนายน 2552 นี้ และจะนำกรอบดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันพรุ่งนี้ ขณะเดียวกัน ยืนยันว่า ไม่ได้แทรกแซงค่าเงินบาท และพร้อมเดินหน้าสร้างประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมอาหารและเกษตรโลก”
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวเสริมว่า รัฐบาลไม่รู้สึกวิตกกังวลที่จะมีคำครหาว่ารัฐบาลเดินตามรอยระบบประชานิยมดังเช่นรัฐบาลชุดก่อน เนื่องมาจากในช่วงเศรษฐกิจทั่วโลกตกต่ำอย่างหนักส่งผลให้รายได้หลักของประเทศจากการส่งออกและท่องเที่ยวสูญหายไปมาก ซึ่งมีผลกระทบต่อภาวะการจ้างงานและปัญหาความเชื่อมั่น โดยทั้งหมดเหล่านี้นำไปสู่ภาวะชะงักงันในการบริโภค ระบบเศรษฐกิจจึงไม่เดินหน้า
นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า สิ่งที่รัฐบาลต้องทำเป็นอย่างแรก คือ อัดฉีดเม็ดเงินกระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะเมื่อเกิดการใช้จ่ายของประชาชนกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะหมุนเวียนและเติบโต รัฐบาลจึงพร้อมทำทุกวิถีทางเพื่อที่จะฟื้นฟูสภาพเศรษฐกิจในประเทศ
การจัดสรรงบประมาณกลางปีมูลค่า 111,700 ล้านบาท ที่ล่าสุดผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรแล้ว และจะนำเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในสัปดาห์หน้า ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2552 นั้น เพื่อมุ่งเน้นกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อวินัยทางการคลังอย่างที่หลายฝ่ายกังวล เพราะมีจำนวนที่ไม่เกินระดับของการขาดดุลงบประมาณ
ทั้งนี้ รัฐบาลชุดที่ผ่านมามีตั้งงบขาดดุลอยู่ที่ประมาณ 330,000 ล้านบาท ซึ่งตามกฎหมายงบประมาณรัฐบาลจะขาดดุลได้ถึง 480,000 ล้านบาท ดังนั้น งบประมาณมูลค่า 110,000 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ถือว่ากระทบวินัยทางการคลังแต่อย่างใด
**เตือนเอกชนรับมือ ศก.รอบนี้ รุนแรงที่สุด
นายอภิสิทธิ์ ยังยอมรับว่า ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจรอบนี้มีระดับความรุนแรงมากที่สุดนับตั้งแต่โลกเคยเผชิญมา เนื่องจากหากมองย้อนไปในอดีตไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดวิกฤตขึ้นในแม็กซิโก อเมริกาใต้ หรือแม้แต่วิกฤตต้มยำกุ้งของประเทศไทย ทุกคนยังหวังที่จะพึ่งเม็ดเงินจากชาติมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ยุโรป และในญี่ปุ่น ที่ยังมีโครงสร้างเศรษฐกิจและเม็ดเงินที่แข็งแรง แต่วิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบันมีจุดกำเนิดจากสหรัฐฯ ซึ่งเป็นชาติมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจที่เป็นศูนย์กลางของระบบเศรษฐกิจโลก ทั้งยังเป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับต้นๆ จึงมีผลกระทบเป็นลูกโซ่ให้เศรษฐกิจทั่วโลกถดถอยลงตามกัน
ทั้งนี้ รัฐบาลจึงต้องติดตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในประเทศใหญ่ต่างๆ เพื่อดูว่าจะมีส่วนที่พอจะเปิดช่องในการเอื้อประโยชน์ต่อการค้าการลงทุนและการส่งออกของไทยหรือไม่ อีกทั้งจะเน้นกระตุ้นการใช้จ่ายการลงทุนในประเทศให้มากที่สุด เพื่อทำให้ความเชื่อมั่นและสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจของประเทศกลับคืนมาโดยเร็ว
สำหรับแนวทางการวางแผนฟื้นฟูระยะยาว รัฐบาลได้มีการหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อกำหนดแผนที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยมีการปรับมาตรการระยะสั้นให้เป็นมาตรการระยะยาวในอนาคต คาดว่า กรอบในเรื่องดังกล่าวจะเสร็จภายในเดือนหน้า โดยทั้งหมดจะช่วยป้องกันไม่ให้วิกฤตเศรษฐกิจกลายเป็นวิกฤตทางสังคม