xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นดัชนีหุ้นหลุด 400 จุด หวั่นจ้างงานสหรัฐฯวูบหนัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตลาดหุ้นไทย รับผลกระทบปัญหาการเงินสหรัฐฯ ต่อเนื่อง ส่งผลแรงขายหุ้นกลุ่มการเงินออกมาทั่วโลก นักวิเคราะห์คาดเศรษฐกิจโลกดิ่งนานกว่าคาด จากเดิมที่ประเมินจะฟื้นไตรมาส 3/52 ด้านบล.ยูโอบีฯคาด ตัวเลขจ้างงานสหรัฐฯ แย่กดดันดัชนีตลาดหุ้นไทยหลุด 400 จุด สัปดาห์นี้ แนะนักลงทุนขายทำกำไร ถือเงินสด ขณะที่ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าเล็กน้อย จากต้นปีอ่อนค่าไปแล้ว 3% ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดใกล้แตะ 37 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยวานนี้ (3 มี.ค.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากความกังวลในเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยต้องใช้เวลาฟื้นตัวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ จากปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติม กดดันแรงขายหุ้นกลุ่มการเงินออกมาทั่วโลก แม้จะมีแรงซื้อเข้ามาในช่วงบ่าย โดยดัชนีปรับตัวแตะระดับสูงสุดที่ 414.54 จุด ต่ำสุด 408.78 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ระดับ 413 จุด ลดลง 3.43 จุด หรือคิดเป็น 0.82% มูลค่าการซื้อขายรวม 8,043.98 ล้านบาท

นายโกสินทร์ ศรีไพบูลย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ UOBKH กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยวานนี้ (3 มี.ค.) ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จากความกังวลเรื่องการแก้ไขปัญหาภาคสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่รัฐบาลต้องใช้เงินช่วยเหลือเพิ่มขึ้น และยังไม่ทราบปัญหาจะจบลงเมื่อใด ทำให้นักลงทุนเทขายหุ้นในกลุ่มภาคการเงินออกมามาก บวกกับแรงเทขายหุ้นกลุ่มพลังงาน หลังราคาน้ำมันดิบวสท์แท็กซัส ปรับตัวลดลงค่อนแรงจาก 44.7 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ลดลง 4.61 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เหลือ 40.1 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล

“ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงไม่แรงมากจากตลาดหุ้นภูมิภาคได้ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ฟิวเจอร์สดาวโจนส์ยังคงบวกซึ่งเป็นการรีบาวว์จากที่มีปรับตัวลดลงมา 4 วัน ทำให้มีแรงขายทำกำไรระยะสั้น” นายโกสินทร์กล่าว

สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหุ้นไทยวันนี้ ดัชนีคงไม่ปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลงมากนักจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 404-402 จุด แนวต้านที่ระดับ 416 จุด แต่จากการที่จะมีการประกาศตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ออกมาในสัปดาห์นี้ โดยคาดว่าจะมีการจ้างงานที่ลดลงส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยจะหลุด 400 จุด โดยบริษัทแนะนำให้นักลงทุนมีการขายทำกำไรออกมา

เตือนระวังแรงขายหุ้นกลุ่มแบงก์

นายอดิศักดิ์ คำมูล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.เคจีไอ กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากกังวลปัญหาเศรษฐกิจโลกถดถอย และปัญหาสถาบันการเงินสหรัฐที่จะต้องมีการใส่เงินเพิ่มทุนเข้าไปเพิ่มอีก จึงทำให้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าปัญหาดังกล่าวจะจบได้เมื่อไร และจากการที่ราคาน้ำมันมีการปรับตัวลดลงแรงในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมาทำให้มีแรงขายในหุ้นพลังงาน

ขณะที่แนวโน้มตลาดหุ้นไทย หากดัชนีสามารถปรับตัวอยู่ที่ระดับ 415 จุดได้ จะทำให้มีแรงซื้อกลับขึ้นมาทำดัชนีสามารถอยู่ที่ระดับ 425 จุดได้ แต่หากดัชนีไม่สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 415 จุด ได้ จะมีแรงขายออกมากดดันให้ดัชนีปรับตัวลดลงแตะ 395 จุด โดยนักลงทุนจะต้องระมัดระวังจะมีแรงขายหุ้นในกลุ่มธนาคารออกมา จากในช่วงที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มธนาคารยังปรับตัวลดลงไม่มาก หากดัชนีปรับตัวลดลงแรงจะทำให้มีแรงขายหุ้นในกลุ่มดังกล่าวออกมา

ฮั่งเส็งร่วงแรงเหตุมีหุ้นการเงินมาก

นายธวัชชัย อัศวพรไชย ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า การที่กลุ่มเอไอจี ประสบปัญหาขาดทุนไตรมาส 4 กว่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ทั้งปีขาดทุนถึง 9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้รัฐบาลต้องเข้าไปช่วยเหลือสถาบันการเงินเพิ่มเติมนั้น ทำให้คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะไม่สามารถฟื้นตัวได้เร็วๆ นี้ จากเดิมที่คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะเริ่มฟื้นตัวในไตรมาส 3/52 ทำให้มีแรงขายหุ้นออกมาทั่วภูมิภาคเอเชีย

“ดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง จะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในวันนี้ (4 มี.ค.) โดยประเมินแนวรับที่ระดับ 400-410 จุด แนวต้าน 424-425 จุด แนะนำให้นักลงทุนมีการขายหุ้นออกมาหากดัชนีมีปรับตัวเพิ่มขึ้น และนักลงทุนควรที่จะถือเงินสดในสัดส่วนที่สูง จากประเมินว่ายังไม่ใช่จังหวะที่จะเข้าไปลงทุน”

คาดค่าเงินใกล้แตะ37บาทต่อดอลล์

นางสุชาดา กิระกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงในขณะนี้เป็นไปตามทิศทางเดียวกับค่าเงินในภูมิภาคเอเชีย โดยสาเหตุสำคัญเกิดจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐปรับตัวแข็งค่าขึ้น โดยนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าประมาณ 3% ขณะที่เงินริงกิตของประเทศมาเลเซียอ่อนค่ามากกว่าถึง 6% แต่ค่าเงินยูโรอ่อนค่า 1.5% อย่างไรก็ตาม เมื่อเกิดปัญหาความผันผวนรุนแรง ธปท.จะเข้าไปดูแลเงินบาทของไทยตามความจำเป็น

ต่อข้อซักถามที่ว่าค่าเงินบาทในขณะนี้ที่อยู่ที่ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเช้าของวันที่ 3 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น อ่อนค่าเกินไปหรือไม่ นางสุชาดา กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ถ้าเป็นผู้ส่งออก หากเงินบาทอ่อนก็เห็นว่าเป็นเรื่องที่ดี

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินแนวโน้มค่าเงินบาทในระยะอันใกล้ มีความเป็นไปได้ที่เงินบาทอาจจะอ่อนค่าไปทดสอบระดับประมาณ 36.50-37.00 บาทต่อดอลลาร์ ตามความเคลื่อนไหวของสกุลเงินส่วนใหญ่ในภูมิภาค ในขณะที่เงินดอลลาร์ ยังอาจได้รับแรงหนุนต่อเนื่องท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สำคัญของการอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้นั้น มีความแตกต่างไปจากการอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงปี 2540 โดยสิ้นเชิง เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาทในรอบนี้ไม่ได้เกิดจากความอ่อนแอของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย หากแต่เป็นการอ่อนค่าตามกระแสของสกุลเงินในภูมิภาค ในขณะที่สถานะของปัจจัยพื้นฐานของไทยในรอบนี้ มีความแข็งแกร่งกว่าปี 2540 มาก โดยฐานะภาคต่างประเทศทั้งดุลการชำระเงินและดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยมีแนวโน้มที่จะบันทึกยอดเกินดุลในปีนี้ ขณะที่ ภาระหนี้ต่างประเทศของไทยยังคงอยู่ในระดับที่ต่ำ โดยมีทุนสำรองระหว่างประเทศในระดับเกินแสนล้านดอลลาร์ฯ รองรับ

ขณะที่แนวโน้มที่ยังคงแข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์ ในช่วงเริ่มต้นของปี 2552 ได้รับแรงหนุนที่สำคัญมาจากสถานะของเงินดอลลาร์ ที่ถูกประเมินว่า เป็นสกุลเงินที่มีความปลอดภัยท่ามกลางกระแสการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงของนักลงทุนท่ามกลางข่าวเชิงลบของภาคการเงินและความกังวลต่อความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจทั่วโลกจะต้องเผชิญกับภาวะทรุดตัวลงอย่างรุนแรงครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ตาม แม้มีสัญญาณที่บ่งชี้ว่า ธนาคารกลางของหลายๆ ประเทศในแถบเอเชีย อาจเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ เพื่อชะลอการอ่อนค่าอย่างรุนแรงของสกุลเงินภายในประเทศ อย่างไรก็ตาม กระแสการอ่อนค่าของสกุลเงินในภูมิภาคในช่วงต้นปี 2552 ยังคงเป็นไปอย่างเข้มข้น ท่ามกลางความแข็งแกร่งของค่าเงินดอลลาร์ฯ และทิศทางที่ไม่สดใสของเศรษฐกิจในเอเชีย โดยเมื่อพิจารณาภาพรวมความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคโดยรวมจะพบว่า การอ่อนค่าของเงินบาทนั้น ยังคงเป็นไปตามปรากฏการณ์ในภูมิภาค ซึ่งด้านหนึ่งก็อาจสะท้อนให้เห็นถึงการรักษาระดับความสามารถทางการแข่งขันของเงินบาท แม้ว่าการเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าของเงินบาทจะยังคงน้อยกว่าสกุลเงินในภูมิภาคบางสกุลก็ตาม

สำหรับการฟื้นตัวขึ้นจากระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 2 ปีที่ระดับประมาณ 36.30 บาทต่อดอลลาร์ฯ ที่ทำไว้ในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2552 ตามแรงขายเงินดอลลาร์ฯนั้น ตลาดคาดการณ์ว่า เป็นการเข้ารักษาเสถียรภาพค่าเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ซึ่งได้ดำเนินการในทิศทางที่สอดคล้องกับธนาคารกลางทั่วภูมิภาคเอเชียที่เข้าดูแลตลาดไม่ให้เคลื่อนไหวผันผวนมากนักหลังจากค่าเงินในภูมิภาคหลายสกุลร่วงลงทุบสถิติอ่อนค่าสุดในรอบหลายปี

บาทดีดแข็งขายดอลล์ทำกำไร

ส่วนความเคลื่อนไหวของเงินบาทวานนี้นักบริหารเงิน ธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทปิดตลาดวันนี้ที่ระดับ 36.15-35.17 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากเปิดตลาดช่วงเช้าที่อยู่ระดับ 36.28-36.30 บาทต่อดอลลาร์ เป็นผลมาจากนักลงทุนเริ่มมีการเทขายดอลลาร์ทำกำไรกันบ้างแล้ว หลังจากที่เงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงมาค่อนข้างมาก ส่วนเงินดอลลาร์เริ่มมีแนวโน้มอ่อนค่าลงเช่นกัน ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศช่วงนี้คงต้องติดตามดูตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐ รวมถึงผลประกอบการของสถาบันการเงินในต่างประเทศว่าจะยังคงจำเป็นต้องขอรับความช่วยเหลือจากทางการเพิ่มอีกหรือไม่

"วันนี้เงินบาทเริ่มแข็งค่าขึ้นตั้งแต่ช่วงเช้า หลังจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เริ่มเทขายดอลลาร์ทำกำไร ซึ่งเป็นไปตามภูมิภาคเช่นกัน"
กำลังโหลดความคิดเห็น