xs
xsm
sm
md
lg

คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภาสัมมนา “หยุดวิกฤตปัญหาคอร์รัปชัน”

เผยแพร่:   โดย: แสงแดด

“คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา” เป็นองค์คณะที่มุ่งเน้นด้านวิชาการที่สังคมอาจจะไม่รู้ หรือไม่รู้เลยว่ามีคณะกรรมการลักษณะเช่นนี้ในวุฒิสภา หรืออาจกล่าวเลยไปจนถึง “สถาบันรัฐสภา”

ว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว จากข้อมูลที่ได้ระดมถามความคิดเห็นด้วยการสัมภาษณ์สนทนาพูดคุยกับบรรดาสมาชิกรัฐสภา ทั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า “รู้จักคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภาหรือไม่?” คำตอบที่ได้นั้นว่า “อะไรนะ!” ซึ่งส่อนัยว่า “อาจเคยได้ยิน” และ/หรือ “อาจไม่รู้จัก-ไม่เคยไม่ยิน”

ประวัติความเป็นมาของคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภานั้น มีที่มาที่ไปดังต่อไปนี้ กล่าวคือ ด้วยการเล็งเห็นความสำคัญของการนำงานวิจัย และงานทางวิชาการมาใช้ในการสนับสนุนการดำเนินบทบาทหน้าที่ของวุฒิสภา รวมทั้งเสริมสร้างงานของวุฒิสภาให้เป็นที่ยอมรับและสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินบทบาทของวุฒิสภาต่อสาธารณชนและแวดวงทางวิชาการ ประธานวุฒิสภาจึงได้ตั้ง “คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา” ขึ้นในปี 2544 เพื่อทำหน้าที่กำหนดนโยบายและวางหลักเกณฑ์ต่างๆ ด้านการวิจัยและพัฒนา ตลอดจนคัดเลือกโครงการวิจัย ตามที่สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมาธิการต่างๆ และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเสนอ เพื่อพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัย

“องค์ประกอบคณะกรรมการวิจัยฯ” คณะกรรมการวิจัยฯ ตามระเบียบวุฒิสภาว่าด้วยการวิจัยและพัฒนา พ.ศ. 2545 ประกอบด้วย สมาชิกวุฒิสภาที่ประธานวุฒิสภาแต่งตั้ง เป็นประธานกรรมการหนึ่งคนและกรรมการอีกไม่เกินสามคน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ประธานวุฒิสภาแต่งตั้งจำนวนไม่เกินสามคน รองเลขาธิการวุฒิสภาที่เลขาธิการวุฒิสภามอบหมาย ผู้อำนวยการสำนักการคลังและงบประมาณ เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักวิชาการเป็นกรรมการและเลขานุการ โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มงานวิจัยและข้อมูลเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ทั้งนี้ ประธานวุฒิสภาอาจแต่งตั้งบุคคลที่คณะกรรมการเสนอ เป็นกรรมการที่ปรึกษา ไม่เกินสองคน ก็ได้

คณะกรรมการวิจัยฯ ชุดปัจจุบันจะมีท่านรองประธานวุฒิสภา รองศาสตราจารย์ ทัศนา บุญทอง เป็นประธานคณะกรรมการฯ และสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 3 ท่าน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 3 ท่าน ตลอดจนข้าราชการสังกัดสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ระดับรองเลขาธิการวุฒิสภาอีก 4 ท่าน และกรรมการที่ปรึกษาอีก 2 ท่าน ซึ่งคณะกรรมการชุดปัจจุบันเป็นชุดที่ 7 เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2551

นับตั้งแต่มีการจัดตั้งคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภาเมื่อปี 2544 เป็นต้นมา บทบาทของคณะกรรมการฯ ไม่ค่อยได้รับการดำเนินงานและตอบสนองมากมายนัก เนื่องด้วยขาดความต่อเนื่อง จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเรื่อยมา จึงทำให้คณะกรรมการวิจัยฯ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มสูบ จนคณะกรรมการวิจัยฯ ชุดปัจจุบันได้วางกรอบการทำงานเพื่อสนองตอบต่อการดำเนินบทบาทตามอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา โดยมุ่งมองถึงการได้มาซึ่งข้อเท็จจริงที่สามารถพิสูจน์ได้ และผลเชิงประจักษ์เพื่อประโยชน์ต่อการสนับสนุนการดำเนินบทบาททั้งในภาพรวมของวุฒิสภา บทบาทของคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา และการดำเนินงานของสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ผ่านกระบวนการของการศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้มาซึ่งองค์ความรู้ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการและเกิดการบริหารจัดการงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะยึดหลักการสำคัญ คือ

1) เพื่อตอบสนองหัวข้อการวิจัยที่วุฒิสภาเสนอมา และคณะกรรมการวิจัยฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว

2) เพื่อตอบสนองหัวข้อการวิจัยที่บุคคลภายนอกเสนอมา โดยหัวข้อนั้นต้องเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของวุฒิสภาและสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา และคณะกรรมการวิจัยฯ ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว

วัตถุประสงค์หลักของคณะกรรมการวิจัยและพัฒนาเพื่อการบริการงานด้านวิจัยสู่สังคมจากคณะกรรมาธิการต่างๆ ในวุฒิสภา ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยต่างๆ และนักวิชาการ ซึ่งว่ากันตามความเป็นจริงแล้ว นับว่าสร้างคุณประโยชน์อย่างอเนกอนันต์ในแวดวงวิชาการ และที่สำคัญที่สุดคือ “การจัดสรรงบประมาณ” เพื่องานวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะจากงบประมาณของวุฒิสภา

ถามว่า สมาชิกรัฐสภา สถาบันการศึกษา สื่อสารมวลชน นักวิชาการ และประชาชนทั่วไป รับทราบหรือไม่เกี่ยวกับบทบาทและภารกิจของคณะกรรมการวิจัยฯ นี้ ก็ต้องตอบว่า “แทบจะไม่มีข้อมูล” แต่ประการใด ดังนั้น ในช่วงระยะเวลาประมาณเกือบ 2 ปี กล่าวคือ ตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปี 2552 ที่ผ่านมา คณะกรรมการฯ ได้สร้างผลงานทางด้านวิจัยจากการนำเสนอของคณะกรรมาธิการต่างๆ รวมเวลาประมาณ 23-24 โครงการด้วยกัน

วันนี้เช่นเดียวกัน เป็นวันที่คณะกรรมการฯ ได้จัดสัมมนาทางวิชาการเป็นครั้งที่ 3 ของปี 2552 ในหัวข้อเรื่อง “หยุดวิกฤตปัญหาคอร์รัปชัน” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการฯ ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา

การเปิดการสัมมนาโดยประธานวุฒิสภา ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ประสพสุข บุญเดช และกล่าวรายงานวัตถุประสงค์ของการสัมมนาในครั้งนี้คือ รองประธานวุฒิสภา รองศาสตราจารย์ ดร.ทัศนา บุญทอง

ต่อด้วย องค์ปาฐกสำคัญที่มุ่งแก้ปัญหาทุจริตฯ มาโดยตลอด ถือว่าเป็น “หัวหอก” ก็น่าจะไม่ผิดนัก คือ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) วิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ในหัวข้อเรื่อง “วิกฤตปัญหาคอร์รัปชัน”

นอกจากนั้นจะมีการอภิปราย เรื่อง “ตีแผ่ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย” โดยคุณหญิง จารุวรรณ เมณฑกา ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน รองศาสตราจารย์ ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ และช่วงบ่าย “หน้าที่วุฒิสภากับปัญหาคอร์รัปชัน” โดยสมาชิกวุฒิสภา รสนา โตสิตระกูล กับนักหนังสือพิมพ์บรรณาธิการอาวุโสของหนังสือพิมพ์มติชน คุณบุญเลิศ คชายุทธเดช (ช้างใหญ่)

และปิดช่วงสุดท้ายด้วยการระดมความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนาและวิทยากรนักวิชาการและสื่อมวลชน

ความจริงที่ต้องยอมรับว่า “ปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน” ที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองเรานั้น เกิดขึ้นตลอดเวลาจนเป็นปัญหาของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ทั้งนี้การทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงนั้น มิใช่เกิดแต่เฉพาะแวดวงการเมือง แต่เกิดขึ้นกับทุกวงการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “วงการราชการ” ที่ฝังรากลึกทุจริตคดโกงมายาวนาน

อย่างไรก็ตาม “การทุจริตฯ” จะเกิดขึ้นแต่เพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้ หรือ “ตบมือข้างเดียวไม่ดัง!” กล่าวคือ ต้องเกิดจากความร่วมมือของ “ข้าราชการภาครัฐ” กับ “นักธุรกิจภาคเอกชน”

การจัดสัมมนาในครั้งนี้ “คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาของวุฒิสภา” ตั้งใจที่สุดที่จะจัดการระดมความคิด เผยแพร่และตอกย้ำปัญหาของชาติบ้านเมืองที่เกิดขึ้นมายาวนาน

สถานที่จัดเป็นโรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค ถนนราชปรารภ ย่านมักกะสัน-ดินแดง เริ่มตั้งแต่เวลา 9.00-16.00 น. เข้าร่วมฟังฟรี รับประทานอาหารกลางวันฟรี ของว่างฟรี แต่ที่สำคัญที่สุดคือ “ร่วมระดมปราบปรามทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง” ที่เราคนไทยต้องลงแรงลงใจทำให้ชาติบ้านเมืองฟรีเช่นเดียวกัน!
กำลังโหลดความคิดเห็น