xs
xsm
sm
md
lg

มอเตอร์ไซค์ไทเกอร์ “เทือก-ป๊อด-จุ๋ม”ขว้างงูไม่พ้นคอ “พงศ์พัฒน์” รับงานใคร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลักฐานแสดงคำสั่งอนุมัติให้จ่ายเงินงวดสุดท้ายในการซื้อรถจักรยานยนต์ไทเกอร์ที่ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ และ พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย เป็นผู้ลงนาม
ในที่สุดความจริงเรื่องข้อกล่าวหาในคดีความผิดฐานฉ้อโกงจากโครงการจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจยี่ห้อ “ไทเกอร์” จำนวน 19,147 คัน มูลค่ากว่า 1,144 ล้านบาทก็ปรากฏออกมาชัดเจนว่า เรื่องนี้มีเงื่อนงำที่ไม่ธรรมดา และเป็นคดีที่เกี่ยวโยงกับการแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็น “คดีการเมือง” ที่ตำรวจผู้ทำคดีส่อที่จะ “รับงาน” มา เพราะมีเจตนาที่จะเลือกกล่าวหาผู้ที่อยู่ฝ่ายตรงข้าม และละเว้นความผิดกับผู้ที่อยู่ในก๊วนเดียวกัน

เนื่องจากมีเอกสารสำคัญมัดตัวนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่และนักการเมืองว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเบิกจ่ายเงินงวดสุดท้ายกว่า 429 ล้านบาทให้แก่ “บริษัทคาร์แทรคกิ้ง จำกัด” แต่นายตำรวจผู้ทำคดีกลับนิ่งเฉยเลยผ่าน ทั้งๆ ที่เป็นจุดสำคัญของการทำคดีที่จะต้องถูกหยิบยกมาพิจารณาเป็นลำดับแรกๆ

ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดูปฏิบัติการปูพรมจู่โจมเพื่อตรวจหาหลักฐานเมื่อวันที่ 25 พ.ย.ภายใต้การนำของ “พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์” รักษาราชการรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และ “พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนารถ” รักษาการผู้บังคับการกองปราบปราม ก็จะพบว่ามีความผิดปกติและชวนให้สงสัย เพราะเป็นการปฏิบัติการที่เบอร์ 1 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในขณะนี้คือ “พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ” รักษาราชการ ผบ.ตร.ไม่รู้เรื่องหรือไม่ได้รับรายงานมาก่อน แถมยังนำกำลังไปตรวจค้นโดยไม่ได้มีการรายงานต่อ พล.ต.ท.ไถง ปราศจากศัตรู ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางอีกต่างหาก

ดังนั้น จึงทำให้ถูกตีความทันทีว่าเป็นเกมสกัดมิให้ พล.ต.อ.ปทีปขึ้นนั่งเก้าอี้สูงสุดของกรมปทุมวัน เนื่องจาก พล.ต.อ.ปทีปคือหนึ่งในผู้ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ที่อยู่ในข่ายของการกระทำผิด

แต่เมื่อปรากฏหลักฐานชิ้นใหม่ ภาพดังกล่าวจึงมีความชัดเจนยิ่งขึ้น

สำหรับหลักฐานใหม่ที่ปรากฏก็คือ การที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้มีบันทึกข้อความที่ 009.22/493 ลงวันที่ 10 มี.ค.52 เรื่องการเบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อรถจักรยานยนต์สายตรวจขนาด 200 ซีซีพร้อมอุปกรณ์จำนวน 19,147 คันแก่บริษัท คาร์แทร็คกิ้ง จำกัด มีเนื้อหาอ้างถึงความเห็นผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุดว่า กรณีดังกล่าวไม่เข้าข่ายการฉ้อโกง จึงขอให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเบิกจ่ายเงินให้บริษัทตั้งแต่งวดที่ 23-38 ซึ่งได้มีการส่งมอบรถแล้วแต่ยังไม่มีการเบิกจ่ายเงิน รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 429,361,010 บาท พร้อมอ้างว่า หากไม่ดำเนินการ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติอาจถูกบริษัทเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 7.5

บันทึกฉบับนี้ ลงนามโดย พล.ต.ต.ภูวดล วุฒกนก ผบก.พธ.และในท้ายบันทึกดังกล่าวก็มีข้อความเด็ดที่เขียนถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น ผ่านทาง พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เพื่อให้เร่งรัดการเบิกจ่ายเงิน พร้อมกับอ้างถึงบันทึกของนายสุเทพ เทือกสุบรรณที่สั่งการให้ดำเนินการในเรื่องนี้

จากนั้น พล.ต.อ.จุมพลได้ทำหนังสือถึง พล.ต.อ.พัชรวาทในอีก 2 วันถัดมาคือวันที่ 12 มี.ค.52เพื่อยืนยันให้มีการเร่งรัดการจ่ายเงินตามที่ได้มีการเสนอมา และหนังสือของพล.ต.อ.จุมพลก็อ้างถึงบันทึกของนายสุเทพที่เร่งรัดให้มีการเบิกจ่ายเงินเช่นเดียวกัน

และไม่นานนักคือในวันที่ 19 มีนาคม 2552 พล.ต.อ.พัชรวาทก็ได้อนุมัติให้จ่ายเงินค่ารถจักรยานยนต์งวดที่ 23-28 รวม 16 งวดคิดเป็นเงิน 429,361,010 บาท ให้แก่บริษัท คาร์แทร็คกิ้ง จำกัด ซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นขั้นตอนการดำเนินการที่เป็นไปด้วยความรวดเร็วมาก

จากหลักฐานเอกสารทั้งหมดแสดงให้เห็นว่า นายสุเทพ พล.ต.อ.พัชรวาทและพล.ต.อ.จุมพล มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดซื้อรถจักรยานยนต์ไทเกอร์อย่างไม่อาจปฏิเสธได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนายสุเทพนั้น แม้เจ้าตัวจะปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ความจริงก็ย่อมเป็นความจริงเนื่องเพราะมีนายตำรวจถึง 2 คนลงลายมือชื่อยืนยันว่านายสุเทพรู้เรื่อง นั่นก็คือ พล.ต.อ.จุมพลและพล.ต.ท.พงศพัศ

แต่พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์และพ.ต.อ.สุพิศาลกลับละเลยที่จะสืบค้นหลักฐานแห่งคดีดังกล่าว

และที่น่าแปลกใจก็คือ เรื่องที่เกิดขึ้นมี พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ เป็นนายตำรวจเพียงคนเดียวที่ออกมาให้สัมภาษณ์ โดยกล่าวหาว่ามีการกระทำความผิดเป็นกระบวนการรูปแบบองค์กรอาชญากรรมที่แทรกซึมใน สตช. ทั้งที่คดียังอยู่ขั้นตอนการรวบรวมพยานเอกสารหลักฐานและยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้ใด

นอกจากนี้ อีกประเด็นหนึ่งที่ก่อให้เกิดคำถามก็คือ มีการเปิดเผยข้อมูลออกมาจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) โดยตั้งข้อสังเกตุว่า การกระทำของชุดสืบสวนที่บุกเข้าตรวจค้นว่าเข้าข่ายเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ หรือหมายความว่าคดีนี้กองปราบปรามไม่มีอำนาจที่จะดำเนินการ เพราะก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 52 พ.ต.อ.ประยนต์ ลาเสือ รองผู้บังคับการกองปราบปราม ปฏิบัติราชการแทนผู้บังคับการกองปราบปราม ได้ส่งสำนวนให้ดีเอสไอดำเนินการ โดยหลังจากดีเอสไอสอบสวนแล้วก็ได้มีการสรุปสำนวนส่งต่อให้ ป.ป.ช.ไปพิจารณา เนื่องจากเห็นว่าเป็นการกล่าวหาเจ้าหน้าที่ของรัฐ จึงอยู่ในอำนาจการไต่สวนของ ป.ป.ช.

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจหนีพ้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเกมทำลายล้างเพื่อโค่นเก้าอี้ของ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐที่จะก้าวขึ้นมาเป็น ผบ.ตร.คนต่อไป เพราะถ้าหากมีความบริสุทธิ์ใจจริงก็ควรเรียกบุคคลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาให้ปากคำ รวมทั้งจะต้องสั่งให้กองปราบปรามทำการบุกค้นหาหลักฐานโยงใยบ้านของบุคคลทั้ง 3 คนด้วยเพื่อให้มีความเป็นธรรม
พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย - นายสุเทพ เทือกสุบรรณ - พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
กำลังโหลดความคิดเห็น