จากกรณีที่ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ หรือ ก.ตร. ได้ทำหนังสือเวียนถึงกรรมการ ก.ตร.เพื่อขอยกเว้นระเบียบของ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ พ.ศ.2549 ซึ่งกำหนดว่านายตำรวจระดับผู้บังคับการที่จะเลื่อนตำแหน่งเป็นระดับรองผู้บัญชาการจะต้องอยู่ในตำแหน่งเดิมเป็นเวลา 3 ปี เว้นแต่จะได้รับการยกเว้นระเบียบดังกล่าว โดยมีจุดประสงค์เพื่อแต่งตั้ง พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ อดีตผู้บังคับกองปราบปราม ในฐานะรักษาการรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางขึ้นเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางเต็มตัว โดยได้ทำเป็นหนังสือด่วนที่สุด เพื่อให้กรรมการ ก.ตร.ได้มีความเห็นกลับมายังนายสุเทพ โดยไม่มีการเรียกประชุมคณะกรรมการ ก.ตร.เพื่อพิจารณาข้อยกเว้นดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวไปสืบค้นตรวจสอบ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ พบว่าได้มีความลักลั่นเกิดขึ้นหลายครั้ง เหตุเพราะนั่นหลายคนยังไม่ครบหลักเกณฑ์ในการครองตำแหน่งตาม กฎ ก.ตร.ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ สารวัตร ถึง จเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2549 แต่กลับได้รับการแต่งตั้งให้เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น โดยใช้วิธีให้ไปนั่งรักษาราชการแทนในตำแหน่งนั้นไปก่อน เสมือนเป็นการจองเก้าอี้ไว้ให้ “เด็กโตเร็ว” เหล่านี้
หากยังจำกันได้ วันที่ 18 เม.ย.2550 “เดอะกิ๊ก” พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ฉายาพันธุ์ สมัยที่ถูกวางตัวให้มาคุมกองบังคับการกองปราบปราม ขณะนั้นยังไม่ครบหลักเกณฑ์ เนื่องจากครองตำแหน่งรอง ผบก.ไม่ครบ 4 ปี กระทั่งการประชุม ก.ตร.ในวันที่ 30 ส.ค.50 จึงได้รับการอนุมัติให้นั่งเก้าอี้ ผบก.ป.เต็มก้น มิหนำซ้ำพบว่าขณะนั้น พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ยังไม่ได้เข้าโรงเรียนผู้บังคับการด้วยซ้ำ ล่าสุดในการประชุม ก.ตร.ครั้งที่ผ่านมา พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ได้รับแต่งตั้งให้ขึ้น รรท.รอง ผบช.ก.ไว้ก่อนเนื่องจากยังครองตำแหน่ง ผบก.ไม่ครบ 3 ปี
นอกจากนั้นตรวจสอบพบว่า มีนายตำรวจที่ใช้วิธีดังกล่าวอีก อาทิ วันที่ 2 มิ.ย.52 พ.ต.อ.สมยศ พรหมนิ่ม สมัยที่เป็นรอง ผบก.ป.แต่ขึ้นรักษาราชการแทน ผบก.ทล.ครองตำแหน่งรอง ผบก.ได้เพียง 3 ปี เท่านั้น รวมทั้ง พ.ต.อ.สุพิศาล ภักดีนฤนาท รรท.ผบก.ป.ก็ครองตำแหน่งไม่ครบตามหลักเกณฑ์เช่นกัน
ขณะอีกรายจากค่ายสีน้ำเงิน พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบช.น.ที่ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผบช.ประจำ สง.ผบ.ตร.ทั้งที่ไม่ครบหลักเกณฑ์ เนื่องจากครองตำแหน่งรอง ผบช.ไม่ครบ 2 ปี
สำหรับกฎ ก.ตร.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและโยกย้ายข้าราชการตำรวจระดับ สารวัตร ถึง จเรตำรวจแห่งชาติและรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2549 หลักเกณฑ์การเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ระดับ ผู้ช่วย ผบ.ตร.เลื่อนเป็น จเรตำรวจแห่งชาติ หรือ รอง ผบ.ตร.ต้องเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี ผู้บัญชาการ (ผบช.) เลื่อนเป็น ผู้ช่วย ผบ.ตร. ต้องเป็น ผบช.มาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี รอง ผบช. เลื่อนเป็น ผบช. ต้องเป็น รอง ผบช. มาแล้วไม่น้อยกว่า 2 ปี และนับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ รอง สว.มาไม่น้อยกว่า 28 ปี ผู้บังคับการ (ผบก.)เลื่อนเป็น รอง ผบช.ต้องเป็น ผบก.มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ รอง สว.มาไม่น้อยกว่า 26 ปี รอง ผบก. เลื่อนเป็น ผบก. ต้องเป็น รอง ผบก.ไม่น้อยกว่า 4 ปี ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับรอง สว.มาไม่น้อยกว่า 23 ปี ผู้กำกับการ(ผกก.)เลื่อนเป็น รอง ผบก. ต้องเป็น ผกก.มาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับรอง สว.มาไม่น้อยกว่า 19 ปี รอง ผกก.เลื่อนเป็น ผกก.ต้องเป็น รอง ผกก.ไม่น้อยกว่า 3 ปี นับระยะเวลาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ระดับรอง สว.มาไม่น้อยกว่า 15 ปี สว.เลื่อนเป็น รอง ผกก. ต้องเป็น สว.มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับระยะเวลาดำรงตำแหน่งตั้งแต่ รอง สว.มาไม่น้อยกว่า 12 ปี รอง สว.เลื่อนเป็น สว. ต้องเป็น รอง สว.ไม่น้อยกว่า 7 ปี การแต่งตั้งเลื่อนตำแหน่งสูงขึ้น ตั้งแต่ระดับ รอง ผบก.ลงมา ต้องแต่งตั้งจากผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ปี เว้นแต่แต่งตั้งนายเวร ผู้ช่วยนายเวร หรือ นายตำรวจราชสำนักประจำ
ก่อนหน้านี้ พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ได้แสดงบทบาทในฐานะหัวหน้าชุดเข้าบุกค้น 4 จุดในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล เพื่อหาหลักฐานกรณีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างรถมอเตอร์ไซค์ไทเกอร์ วงเงินกว่าพันล้านบาท ทั้งๆ ที่พ้นจากตำแหน่งผู้บังคับการกองปราบปรามไปรักษาการรองผู้บัญชาการสอบสวนกลาง อีกทั้งยังไม่ได้รับการแบ่งงานให้รับผิดชอบงานในส่วนของกองปราบ แต่กลับนำกำลังของกองปราบออกไปปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าว โดยไม่มีการรายงานต่อผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางในฐานะผู้บังคับบัญชา รวมทั้ง พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รรท.ผบ.ตร.ก็ไม่ทราบเรื่อง
ประกอบกับการให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ต่อคดีดังกล่าว เปรียบเหมือนกับว่า มีการแจ้งข้อกล่าวหากับผู้กระทำความผิด มีการดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะที่บอกว่า คดีนี้ทำเป็นขบวนการ สิ่งที่พบน่าตกใจ เพราะไปพบกลุ่มองค์กรอาชญากรรม กำลังดำเนินการต่างๆในองค์กรต่างๆของทางราชการ รวมทั้ง องค์กรตำรวจด้วย
นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ เป็นนายตำรวจที่มีความใกลิชิดกับฝ่ายการเมืองสีน้ำเงิน โดยในการประชุม ก.ตร.ครั้งที่ผ่านมามีความพยายามจะให้ยกเว้นกฎ 3 ปี เพื่อเลื่อนให้ พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง แต่ ก.ตร.ไม่เห็นด้วยทำให้ พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ต้องอยู่ในตำแหน่งรักษาราชการรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางไปอีก 1 ปี ก่อนที่จะได้เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลางตัวจริง จนกระทั่งนายสุเทพ พยายามอีกครั้งด้วยการทำหนัวสือเวียนถึง ก.ตร.เพื่อยกเว้นกฎดังกล่าว ซึ่งหาก ก.ตร.ส่วนใหญ่เห็นด้วยก็จะส่งผลให้ พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ ได้นั่งในตำแหน่งดังกล่าวสมใจ