xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ที่มาของความสามานย์แห่งทุนนิยม

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

โดย...ไสว บุญมา

ทุนนิยมถูกประณามบ่อยขึ้นเพราะยุคนี้โลกมีระบบเศรษฐกิจที่ใช้กันโดยทั่วไปเพียงระบบเดียว การพักชำระหนี้ของกลุ่มดูไบเวิลด์เมื่อสัปดาห์ก่อนมีผู้วิจารณ์ว่ามาจากความสามานย์ของระบบทุนนิยม แต่ผู้ตราทุนนิยมว่าสามานย์ดูจะไม่ค่อยรู้ที่มาที่ไปของระบบทุนนิยมและอะไรทำให้มันชั่วช้าจนเข้าขั้นสามานย์ จึงขอนำประวัติของระบบทุนนิยมมาเล่าคร่าวๆ เพื่อเป็นฐานสำหรับการพิจารณาแบบใช้ทั้งสติและปัญญาว่ามันสามานย์จริงหรือไม่

“ทุนนิยม” หมายถึงระบบสังคมและเศรษฐกิจที่ปัจจัยในการผลิตส่วนใหญ่เป็นของเอกชนซึ่งมุ่งแสวงหากำไรโดยใช้ตลาดเสรีเป็นตัวชี้นำเรื่องการลงทุน การผลิต การจำหน่าย พร้อมทั้งการตั้งราคาสินค้าและบริการ บุคคลและนิติบุคคลมีสิทธิและอิสระที่จะขายที่ดิน แรงงาน สินค้าและบริการโดยผ่านการใช้เงิน ส่วนประกอบต่างๆ ของระบบทุนนิยมมีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาลรวมทั้งในสังคมไทยด้วย

เรื่องนี้มีการยืนยันทางประวัติศาสตร์และจากข้อความในศิลาจารึกที่ว่า “ใครใคร่ค้าช้างค้า ค้าม้าค้า” ส่วนประกอบต่างๆ ได้รับการรวมหลอมให้เป็นแนวคิดทางเศรษฐกิจอย่างเป็นระบบขึ้นในเกาะอังกฤษเมื่อราว 500 ปีที่ผ่านมา เมื่อระบบศักดินาค่อยๆ เสื่อมลงในสังคมตะวันตก หลังจากนั้นระบบทุนนิยมก็แพร่ขยายออกไปในยุโรปและส่วนอื่นของโลก มันเป็นระบบที่สังคมส่วนใหญ่ใช้ในระหว่างการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเริ่มขึ้นเมื่อราว 240 ปีที่แล้ว

ในช่วงเวลาราว 500 ปีที่กล่าวถึงนั้น แนวคิดเรื่องทุนนิยมพัฒนาอยู่ตลอดเวลาและวิวัฒน์มาเป็นระบบที่เรียกกันว่า “เศรษฐกิจแบบผสม” ในปัจจุบัน นั่นคือ สังคมต่างๆ นำส่วนประกอบของระบบเศรษฐกิจหลายระบบมาผสมกันตามที่เห็นว่ามันเหมาะสมกับสังคมของตน โดยเฉพาะการให้รัฐมีบทบาทในการเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบสังคมนิยม ฉะนั้นทุกประเทศจึงมักมีรัฐวิสาหกิจ ส่วนจะมีมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปรัชญาของแต่ละประเทศ ระบบทุนนิยมวิวัฒน์ไปตามแนวคิดของปราชญ์ในเกาะอังกฤษเป็นส่วนใหญ่

ในจำนวนนี้ผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในตอนต้นๆ ได้แก่ อดัม สมิธ ผู้รวมแนวคิดของเขาไว้ในหนังสือชื่อ The Wealth of Nations ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2319 อันเป็นช่วงที่กรุงธนบุรีเป็นราชธานีของไทย แนวคิดของเขาวางอยู่บนฐานของความเชื่อมั่นในการมีประสิทธิภาพของการแบ่งงานกันทำของระบบตลาดเสรีที่นายทุนมีบทบาทสำคัญ ฉะนั้นรัฐควรจะมีบทบาทน้อยที่สุด เรื่องประสิทธิภาพของการแบ่งงานกันทำนี้ กวีเอกสุนทรภู่ซึ่งมีชีวิตอยู่ในยุคนั้นก็ยืนยันไว้ในบทกลอนที่ว่า “รู้อะไรรู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล”

ระบบทุนนิยมถูกกล่าวหาว่าก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมและจะนำไปสู่การต่อสู้กันระหว่างคนสองชนชั้นคือ ชั้นนายทุนและชั้นกรรมกร จนในที่สุดสังคมจะล่มสลาย คาร์ล มาร์กซ์ เห็นว่าถ้าจะแก้ปัญหานี้ สังคมต้องแทนที่ระบบทุนนิยมด้วยระบบคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับระบบทุนนิยมเข้าไปแทนที่ระบบศักดินา เขารวมแนวคิดของเขาพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อ Communist Manifesto เมื่อปี 2391 ในระบบคอมมิวนิสต์ เอกชนไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของปัจจัยในการผลิตและจำหน่ายสินค้าและบริการ สิ่งเหล่านั้นเป็นของรัฐซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งว่าจะผลิตอะไร อย่างไร มากน้อยแค่ไหนและเพื่อใคร สังคมแรกที่นำระบบนี้มาใช้คือรัสเซียหลังการล้มระบบกษัตริย์เมื่อปี 2460 อันเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้กันของแนวคิด 2 ขั้วใหญ่ที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สงครามเย็น”

ต่อมาระบบทุนนิยมตามแนวคิดในขั้วของอดัม สมิธ ถูกกล่าวหาว่าไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้หมดไปได้ โดยเฉพาะปัญหาเกี่ยวกับการว่างงานและภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ในช่วงหลังปี 2473 จอห์น เมนาร์ด เคนส์ เสนอว่าถ้าจะแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐต้องมีบทบาทมากขึ้น เช่น ลดอัตราดอกเบี้ย ลดภาษีและทำงบประมาณขาดดุล เขารวมแนวคิดของเขาพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ The General Theory of Employment, Interest, and Money ออกมาเมื่อปี 2479

แม้แนวคิดของจอห์น เมนาร์ด เคนส์ จะถูกท้าทายจากปราชญ์ทางเศรษฐศาสตร์อยู่เรื่อยๆ แต่ในปัจจุบันมันเป็นฐานของการบริหารจัดการเศรษฐกิจทั่วโลกยกเว้นในเกาหลีเหนือและคิวบาเท่านั้น เนื่องจากโลกกำลังเผชิญกับปัญหาหนักหนาสาหัส ระบบทุนนิยมจึงถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นเหตุ การกล่าวหาเช่นนี้ไม่ใช่ของใหม่และเป็นไปในแนวของคาร์ล มาร์กซ์ และพรรคพวกซึ่งเสนอทางแก้ไขไว้แล้วอย่างเป็นระบบ

อย่างไรก็ตามผู้นำระบบของเขาไปใช้อย่างจริงจังรวมทั้งประเทศมหาอำนาจ เช่น สหภาพโซเวียตและสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้พิสูจน์แล้วว่ามันไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน ตรงข้ามมันกลับทำให้ปัญหาหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้นจนสหภาพโซเวียตแตกสลายไปเมื่อปี 2534 ส่วนจีนได้เปลี่ยนมาใช้ระบบนายทุนแบบผสมและสามารถพัฒนาเศรษฐกิจได้จนกลายเป็นดาราของโลกอยู่ในปัจจุบัน

ผู้ที่ยังคิดว่าระบบคอมมิวนิสต์จะแก้ปัญหาของโลกได้ต้องไปอยู่ในเกาหลีเหนือและคิวบา บางทีความอดอยากจะทำให้มองเห็นต้นตอของปัญหาใหญ่ซึ่งได้แก่การขาดอิสรภาพ นอกจากนั้นในระหว่างที่ถูกนำไปใช้ ระบบคอมมิวนิสต์ได้แสดงให้เห็นอย่างแจ้งชัดแล้วว่ามันไม่สามารถลบล้างความแตกต่างระหว่างชนชั้นได้ นั่นคือ ประชาชนทั่วไปซึ่งเป็นแรงงานไม่มีอิสรภาพ กับชนชั้นปกครองซึ่งมีอภิสิทธิ์ในเกือบทุกสิ่งทุกอย่างไม่ต่างกับนายทุนที่ร่ำรวยในระบบทุนนิยม

เนื่องจากอดัม สมิธ เป็นต้นตำรับของการรวมหลอมสิ่งต่างๆ มาเป็นแนวคิดของเศรษฐกิจระบบทุนนิยม จึงขอย้อนกลับไปดูว่ายังมีอะไรซึ่งคนทั่วไปอาจไม่ค่อยรู้โดยเฉพาะผู้ที่กล่าวหาว่าทุนนิยมนั้นชั่วช้าถึงขั้นสามานย์ ผู้ที่ย้อนไปดูแนวคิดและการปฏิบัติตัวของอดัม สมิธ จะพบ 3 สิ่งที่สำคัญยิ่งคือ

(1) 17 ปีก่อนที่เขาจะเขียนหนังสือเรื่อง The Wealth of Nations เขาได้เขียนหนังสือชื่อ The Theory of Moral Sentiments ขึ้น หนังสือเล่มนี้เป็นกรอบแนวคิดด้านจริยธรรมซึ่งมีความสำคัญยิ่งต่อการทำงานของระบบทุนนิยม (2) อดัม สมิธ วิตกกังวลเรื่องการบูชาเงิน การผูกขาดและการฮั้วกัน เพราะมันจะสร้างความเลวร้ายให้ระบบทุนนิยม และ (3) เขามีความกตัญญูและความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ มีความซื่อตรงและดำเนินชีวิตตามหลักของความพอประมาณซึ่งวิวัฒน์ต่อมาเป็นฐานของแนวเศรษฐกิจเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

หากนำเอาความจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แนวคิดและวิวัฒนาการด้านต่างๆ ดังที่กล่าวถึงมารวมกัน มันคงบ่งชี้อย่างแจ้งชัดว่า ถ้าผู้ใช้ระบบทุนนิยมปฏิบัติไปตามหลักที่อดัม สมิธคิดไว้ ยึดกฎเกณฑ์ของมันอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตัวตามที่เขาเองทำ ระบบทุนนิยมจะไม่ก่อให้เกิดความชั่วร้ายจนได้สมญาว่าเป็นระบบที่สามานย์เลย แต่ความชั่วช้าสามานย์มาจากคน โดยเฉพาะในเมืองไทยจะเห็นว่าคนไทยส่วนใหญ่มักไม่ทำตามกฎเกณฑ์ของสังคมและปฏิบัติตัวในแนวสมถะ เช่น อดัม สมิธ

เรื่องนี้ถ้าจะขยายคงต้องเน้นความชั่วร้ายของชนชั้นปกครองที่ฉ้อฉล มีผลประโยชน์ทับซ้อน และร่วมหัวกันฮั้วกับฝ่ายเอกชนเพื่อปล้นสังคมที่คนส่วนใหญ่ตามพวกเขาไม่ทัน ความชั่วร้ายนั้นมาพัฒนาถึงขั้นสุดยอดในระหว่างที่ นช.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จนถึงกับมีการขนานนามการกระทำความเลวทรามอย่างเป็นระบบของเขาว่า “ระบอบทักษิณ” ระบอบนี้แสนชั่วร้ายและได้แทรกซึมเข้าไปในสังคมไทยจนทั่วทุกหัวระแหงแล้ว ฉะนั้น แม้ นช.ทักษิณ จะตายไป แต่ความชั่วร้ายก็จะยังคงอยู่หากคนไทยยังไม่พยายามช่วยกันกำจัดมันชนิดขุดรากถอนโคน กระบวนการเมืองใหม่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำ ณ วันนี้กระบวนการเมืองใหม่มียุทธการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้นหรือยัง?

โดยสรุป ถ้ากระบวนการเมืองใหม่สามารถกำจัดความชั่วช้าสามานย์ออกจากกมลสันดานของคนไทยบางคนได้โดยเฉพาะของผู้ที่อยู่ในระบอบทักษิณ ระบบทุนนิยมในเมืองไทยจะไม่มีความสามานย์เหลืออยู่ ในทางกลับกันหากคนยังสามานย์ ทุกระบบย่อมสามานย์ซึ่งไม่เว้นแม้กระทั่งศาสนาที่ว่าแสนประเสริฐ เรื่องนี้มีตัวอย่างให้เห็นเป็นประจำแบบตำตาอยู่แล้วมิใช่หรือ?
กำลังโหลดความคิดเห็น