xs
xsm
sm
md
lg

ไขปัญหา “หนี้นอกระบบ”

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต


ถาม : หนี้เป็นดัชนีวัดความจนได้ จริงหรือไม่?

คนมีหนี้มากคือคนที่จนมาก คนมีหนี้น้อยคือคนที่ไม่จน ใช่ไหม ?

ตอบ : จริงบางส่วน แต่ไม่จริงทั้งหมด

ต้องเข้าใจว่า “หนี้” มีหลายแบบ หลักๆ คือ หนี้เพื่อการบริโภค กับหนี้เพื่อการลงทุน

หนี้เพื่อการบริโภค หมายความว่า การกู้ยืมเงิน หรือการติดหนี้ เพื่อแลกกับการบริโภคสินค้าหรือบริการใดๆ เช่น จับจ่ายใช้สอยข้าวของเครื่องใช้ ไม่ว่าจะโดยการซื้อเงินผ่อน หรือกู้เงินมาซื้อ เป็นต้น

มีคนเข้าใจเพียงว่า ถ้ารายจ่ายมากกว่ารายได้ ที่เหลือก็เท่ากับหนี้สิน แต่จริงๆ แล้ว คนจนจริงๆ ประเภทที่หาเช้ากินค่ำ หากินวันต่อวัน ไร้ที่ดินทำกิน ไร้ทรัพย์สิน เมื่อเกิดช่องว่างว่ารายได้เข้ามาไม่ทันรายจ่าย คนแบบนี้จะกู้ยืมไม่ได้มาก เพราะผู้ให้กู้จะระมัดระวังว่าหนี้จะสูญ ถ้าไม่ใช้หนี้ก็ไม่รู้จะไปเรียกเอาทรัพย์สินอะไรมาชดใช้ทดแทน มีความเสี่ยงสูง

คนจนจริงๆ จนมากๆ จึงกลับกลายเป็นว่า มีโอกาสเป็นหนี้ได้น้อย ที่เขาให้กู้ก็เพียงเพื่อประทังชีวิตบางครั้งคราวในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น

หนี้อีกอย่าง คือ หนี้เพื่อการลงทุน หมายถึงการเป็นหนี้เพื่อเอาเงินไปลงทุนในกิจกรรมที่คาดหวังผลรายได้กลับมาในอนาคต ในการจะให้กู้ คนที่ให้กู้ก็จะมองว่า ผู้กู้มีศักยภาพหรือมีโอกาสที่จะหาเงินกลับมาใช้คืนได้หรือไม่ กิจการที่ไปลงทุนมีโอกาสประสบความสำเร็จ มีแผนธุรกิจการตลาด ผลกำไร คู่แข่ง ช่องทางรายได้ การบริหารจัดการเป็นอย่างไร ตลอดจนมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพื่อลดความเสี่ยงของผู้ให้กู้มากน้อยแค่ไหน

จะเห็นว่า คนที่มีโอกาส มีฐานะดี มีช่องทาง มีข้อมูลข่าวสาร จะมีโอกาสเป็นหนี้ได้มากกว่า

ดังจะเห็นได้ว่า คนที่กู้เงินมาลงทุนโครงการใหญ่ๆ นั้น มีแต่คนมีฐานะดีทั้งสิ้น


ถาม : นายทุนเงินกู้นอกระบบ เป็นพวกหน้าเลือดทุกคนหรือ? เวลาจะปล่อยกู้ พวกเขามีวิธีคิดอย่างไร?

ตอบ : คงไม่ใช่ทุกคนที่จะหน้าเลือด แต่เชื่อว่าทุกคนที่ปล่อยกู้ เขาอยากจะได้เงินคืน

พฤติกรรมในการปล่อยกู้ เขาจะพิจารณาหลายอย่าง ดังนี้

๑. ดูโอกาสที่จะได้รับเงินคืน เงินที่กู้ไปจะเอาไปทำอะไร จะลงทุนประสบความสำเร็จแค่ไหน เหมาะสมเพียงใด ดูว่ามีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

๒. ดูพฤติกรรมของผู้กู้ ว่าเป็นคนสำมะเลเทเมา มีวินัยในการดำรงชีวิตแค่ไหน ติดการพนัน ติดผู้หญิง มีเมียหลายคน มีหลักมีฐานในชีวิตแค่ไหน

๓. เรื่องอัตราดอกเบี้ย

คนมักเข้าใจว่า หากมีความเสี่ยงมาก ก็แก้ปัญหาด้วยการตั้งดอกเบี้ยสูงๆ เพื่อจะได้เงินกลับคืนมาชดเชยความเสี่ยง ก็จะคุ้ม ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด

ในความเป็นจริง นายทุนเงินกู้จะทราบดีว่า ยิ่งดอกเบี้ยสูง ยิ่งมีโอกาสถูกเบี้ยวหนี้มาก เพราะคนกู้ไม่รู้จะไปลงทุนทำอะไรให้ได้รับผลตอบแทนกลับมาคุ้มค่าดอกเบี้ย และการที่คนกู้ยอมจ่ายดอกเบี้ยสูงๆ ก็สะท้อนว่า คนกู้อับจนหนทางจริงๆ จึงจำยอมกู้แม้ดอกเบี้ยแพงๆ เพราะฉะนั้น คนกู้แบบนี้ย่อมจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

นายทุนที่ชาญฉลาด จึงไม่ยินดีกับการตั้งดอกเบี้ยสูงๆ เพราะมันจะดึงดูดเอาแต่เฉพาะผู้กู้ที่มีพฤติกรรมความเสี่ยงเข้ามาขอกู้เท่านั้น ทำให้นายทุนมีโอกาสสูญทั้งเงินต้นทั้งดอกเบี้ยไปในที่สุด

นายทุนจึงชอบมากกว่า ที่จะตั้งดอกเบี้ยในระดับที่มีกำไร แต่ไม่สูงเกินไป และมุ่งพิจารณาที่ตัวผู้กู้และกิจกรรมที่จะนำเงินไปใช้มากกว่า

ถาม : แล้วนายทุนเงินกู้โหด ผู้มีอิทธิพล อาศัยอำนาจเถื่อนเอารัดเอาเปรียบ ขูดเลือดขูดเนื้อ ก็มีไม่ใช่หรือ?

ตอบ : มีแน่นอน

นายทุนเงินกู้นอกระบบประเภทนี้ เป็นผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ อาศัยระบบอุปถัมภ์ คุมคน ใช้กำลังคน นักเลง ใช้อาวุธ ใช้ปืนข่มขู่ เอาเปรียบคนที่ไม่มีทางเลือก เพื่อลดความเสี่ยงของตนเองในการปล่อยเงินกู้

นายทุนพวกนี้ จะไม่สนใจว่า คนกู้จะเอาเงินไปใช้ทำอะไร หรือมีพฤติกรรมอย่างไร เพราะคนพวกนี้มั่นใจว่า ตนเองมีกำลัง หรือมีอิทธิพลอำนาจเถื่อนที่จะสามารถไปตามเก็บ บีบบังคับ ข่มขู่คุกคาม เล่นงานผู้กู้ได้อย่างเหี้ยมเกรียม หากไม่จ่ายเงินกู้พร้อมดอกเบี้ยคืน

พวกนี้ จึงมักคิดดอกเบี้ยแพงมหาโหด

ไม่สนใจว่า การคิดดอกแพงจะดึงดูด หรือคัดกรองเอาแต่เฉพาะผู้กู้ที่มีความเสี่ยงสูงๆ ก็เพราะว่าพวกนี้จะใช้อำนาจเถื่อนลดความเสี่ยงของตนเองด้วยวิธีการดังกล่าวนั่นเอง

นอกจากแบบนี้แล้ว ปัจจุบันยังมีนายทุนเงินกู้นอกระบบชั้นเลวอีกประเภท พวกนี้ แม้จะมีอำนาจเถื่อนน้อยกว่าพวกแรก แต่ความชั่วร้ายกลับไม่ต่างกันนัก


พวกนี้ จะร่วมมือกับทนายความ นักกฎหมายในพื้นที่ หลายแห่งใช้สำนักงานกฎหมายนั่นเองเป็นสถานที่ประกอบกิจการเงินกู้นอกระบบ โดยมีร่างสัญญาเอารัดเอาเปรียบผู้กู้ ทำให้ผู้กู้อยู่ในจุดที่เสียเปรียบในทางกฎหมาย โดยจะมีการให้ผู้กู้เซ็นต์โอนลอยทรัพย์สิน คิดเอาดอกเบี้ยรวมใส่เข้าไปในเงินต้นตั้งแต่แรก เอาโฉนดเป็นหลักประกันบ้าง ทำทุกอย่างรัดกุม

เรียกว่า หากมีการผิดนัดชำระหนี้ขึ้นมา ผู้กู้ไม่มีทางดิ้นหลุด มีแต่จะเสียเปรียบมากขึ้นเรื่อยๆ

จากนั้น เมื่อหนี้ท่วม หรือผู้กู้ไม่มีปัญญาใช้หนี้ นายทุนพวกนี้ก็จะอาศัยความได้เปรียบทางกฎหมายที่ตนเองสร้างไว้ตั้งแต่ต้นนั่นเอง ฟ้องศาล ยึดเอาทรัพย์สินหลักประกัน โดยรู้กันกับเจ้าหน้าที่บังคับคดี ขายทอดตลาดราคาถูก

นายทุนพวกนี้ จะได้ผลประโยชน์ทั้งจากดอกเบี้ยเงินกู้ ได้ทรัพย์สินของผู้กู้ไปด้วย และยังได้ผลประโยชน์อีกรอบตอนขายทอดตลาด โดยให้คนไปซื้อในราคาต่ำ แล้วเอาไปขายต่อ

ถาม : แล้วโครงการของรัฐบาลที่จะให้ ธกส. และธนาคารออมสิน เอาเงินไปซื้อหนี้เงินกู้นอกระบบมาบริหารเอง จะช่วยชาวบ้านได้จริงไหม?

ตอบ : ลำพังขั้นตอนการซื้อหนี้ ก็คงไม่ได้ช่วยมาก เพราะมันก็แค่การเปลี่ยนเจ้าหนี้

จากที่นายทุนเงินกู้นอกระบบเป็นเจ้าหนี้ มาให้ ธกส.หรือออมสินเป็นเจ้าหนี้แทน

แต่ที่ชาวบ้านจะได้ประโยชน์มากกว่า คือ เรื่องอัตราดอกเบี้ย ซึ่งคงจะลดน้อยลงกว่าหนี้นอกระบบเดิม โดยการประนอมหนี้ เจรจาลดดอกเบี้ย ลดเงินต้น ตกลงเงื่อนไขการชำระหนี้กันเสียใหม่

ที่สำคัญ คือ หากไม่มีการให้เทคโนโลยีการจัดการให้ชาวบ้าน ควบคู่ไปกับเงินกู้ด้วย เพื่อเพิ่มความสามารถ เพิ่มโอกาสในการมีรายได้กลับคืนมา ถ้าเช่นนั้น โอกาสในการคืนหนี้ก็คงไม่มากไปกว่าเดิม ธกส.และออมสินก็มีความเสี่ยงว่าหนี้จะสูญอยู่เหมือนกัน

อย่างไรก็ตาม หาก ธกส. หรือรัฐบาลจะดูบทเรียนจากสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่พยายามจะเอาสรรพากร ตำรวจ นายอำเภอ ปปง. เข้ามาข่มขู่นายทุนเงินกู้นอกระบบ เพื่อหวังให้มีการประนอมหนี้ แทบไม่ต่างกับวิธีการของนายทุนเงินกู้นอกระบบชั้นเลว เป็นการกระทำโดยมองกราดว่านายทุนเงินกู้นอกระบบเป็นพวกเลวไปทั้งหมด ทั้งๆ ที่ นายทุนที่ดีก็พอมี อยู่ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งในชุมชนของชาวบ้าน และยังต้องมีความสัมพันธ์ พึ่งพาอาศัยกันต่อไปในระยะยาว

และในการคิดดอกเบี้ยจากชาวบ้านต่อไป ธกส. ก็ควรจะเรียนรู้ที่จะไม่เหมือนธนาคารออมสินในโครงการธนาคารประชาชนสมัยรัฐบาลทักษิณ ที่หลอกชาวบ้านว่าดอกเบี้ยร้อยละ ๑ ต่อเดือน ทำให้เข้าใจไปว่าร้อยละ ๑๒ ต่อปี แต่จริงๆ ใช้วิธีคิดดอกเบี้ยแบบ “ลดต้น ไม่ลดดอก” คือ คิดดอกเบี้ยจากเงินต้นเต็มจำนวนตั้งแต่ต้น ต่อมา แม้ผู้กู้จะผ่อนชำระเงินต้นไปแล้ว ก็ไม่นำมาหักเพื่อลดให้ ยังคงคิดดอกเบี้ยจากเงินต้นเต็มจำนวน หรือ Flat Rate ซึ่งปรากฏว่า ดอกเบี้ยที่คิดจากชาวบ้านจริงๆ อยู่ที่เกือบๆ ร้อยละ ๒๔ ต่อปี

ถาม : จุดอ่อนของโครงการที่ต้องระวัง?

ตอบ : อย่างแรก คือ ต้องระวังหนี้ปลอม

โดยสมคบกันทำหนี้เทียมขึ้นมา หวังจะเข้าโครงการนี้โดยเฉพาะ เพื่อกินเงินกู้ ธกส.และออมสิน

และที่ต้องระวังต่อไป คือ หนี้เสีย และหนี้รอบใหม่

ถาม : จะขจัดนายทุนเงินกู้นอกระบบได้หรือไม่?

ตอบ : รัฐจะต้องไม่เข้าใจผิดว่า แค่ทำโครงการนี้จะช่วยตัดนายทุนเงินกู้นอกระบบออกไปจากชีวิตของชาวบ้าน

ในอนาคตต่อไป ชาวบ้านยังต้องพึ่งพาอาศัยเงินกู้นอกระบบอยู่อีกแน่ๆ เพราะชาวบ้านจะใช้วิธี “ผลัดผ้าขาวม้า” คือ ยืมเงินนอกระบบ เพื่อมาชำระเงินกู้ในระบบที่ครบกำหนดชำระ โดยกู้นอกระบบมาระยะสั้นๆ เมื่อชำระในระบบตามกำหนดแล้ว ก็ค่อยกู้เอาในระบบออกมาใช้หนี้นอกระบบอีกรอบ

แบบนี้ไงที่เรียกว่า “ผลัดผ้าขาวม้า”

นอกจากนี้ การที่ชาวบ้านยังต้องเผชิญกับความผันผวนของดินฟ้าอากาศ และความผันผวนของราคาผลผลิต ฯลฯ กระทบต่อรายได้ที่ไม่แน่นอนตามไปด้วย รายได้อาจจะมีการขาดช่วง หรือสูญหายร่อยหรอ ไม่สม่ำเสมอ ไม่เป็นไปตามคาด ก็เป็นสถานการณ์ที่จะทำให้ชาวบ้านต้องวิ่งหาเงินด่วนอยู่ต่อไป

เพราะฉะนั้น สิ่งที่โครงการนี้จะทำได้ และเป็นประโยชน์กับชาวบ้านมากขึ้น คือ ไม่ใช่แค่ซื้อหนี้มาแล้ว ลดดอกเบี้ยให้ชาวบ้านเท่านั้น แต่จะต้องช่วยชาวบ้านในเรื่องการเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ เพิ่มช่องทางที่มีความมั่นคง เพิ่มศักยภาพที่จำเป็นสำหรับชาวบ้าน เช่น ถ้าประกอบกิจการอะไร ก็ควรมีความรู้เรื่องการบริหารจัดการ การตลาด การลดต้นทุนการผลิต การพัฒนาปรับปรุงสินค้าหรือกิจการให้อยู่รอดด้วย เป็นต้น

กำลังโหลดความคิดเห็น