xs
xsm
sm
md
lg

กฤดาภินิหารแห่งพระบรมจักรีวงศ์

เผยแพร่:   โดย: ว.ร. ฤทธาคนี

เกิดเป็นคนไทยนับว่าโชคดีอย่างที่สุด โดยเฉพาะในยุครัตนโกสินทร์ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นยุคหัวเลี้ยวหัวต่อของสองแผ่นดินจากปลายแผ่นดินอยุธยา ซึ่งเป็นจุดเสื่อมโทรมของอาณาจักรไทย ที่คนไทยตั้งแต่พระมหากษัตริย์และขุนนาง ตลอดจนไพร่ฟ้าประชาราษฎร์ขาดหลักธรรม ขาดความสามัคคี และลุ่มหลงในกิเลสจึงอ่อนแอ และในที่สุดก็ถึงจุดจบเมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่กองทัพพม่าใน พ.ศ. 2310 กองทัพพม่าในครั้งนั้นมิได้ดำรงเกียรติยศแห่งกองทัพกษัตริย์ แต่เป็นกองทัพโจรปล้นเมือง เผากรุงเสีย 7 วัน 7 คืน ตั้งกองโจรล่าปล้นทรัพย์สินของแผ่นดิน ทำลายอารยธรรมอยุธยา

แต่ด้วยบุญญาธิการแห่งแผ่นดินไทย พระยาตาก นักรบไทย รวบรวมไพร่พลทั้งไทย – จีน จำนวนประมาณ 500 คน ตีฝ่ากองทัพพม่าที่ล้อมเมืองไว้จากค่ายวัดพิชัยไปทางทิศตะวันออก พม่าตีต่อทัพไทยแต่ก็พ่ายแพ้ ตั้งแต่บ้านโพธิ์สังหารจนถึงบ้านพรานนก ทำให้ชาวบ้านไทยที่หนีทัพกลับเข้าสมทบอีกเป็นจำนวนมาก แต่พม่ายังคงส่งกองทัพย่อยมาปราบปราม แต่ในที่สุด ณ สมรภูมิแม่น้ำปราจีนบุรี พระยาตากก็สามารถทำลายกองทัพพม่าด้วยกองโจรซุ่มโจมตี ทำให้พม่าขยาดไม่กล้าส่งกองทัพออกมาปราบอีกเลย

และผลพวงนี้ทำให้คนไทยต่างออกจากที่ซ่อนมารวบรวมอีกมากมายเป็นกองทัพใหญ่ ทำให้พระยาตากสามารถกู้ชาติได้ที่สมรภูมิโพธิ์สามต้นภายใน 7 เดือน และปราบปรามก๊กต่างๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ปราศจากอุดมการณ์ไทย เพียงแต่ด้วยเพราะอำนาจและเงินทองเท่านั้นเอง และครั้งนั้นได้ฆ่านายทองอิน คนทรยศที่รับจ้างพม่ารักษาค่ายเมืองธนบุรีจนลุถึงปีกุน พ.ศ. 2310 นั้นเอง พระยาตากจึงทำพิธีราชาภิเษกเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสิน ตามที่ประชาชนคนไทยพร้อมใจกันมอบแผ่นดินให้ทรงปกครอง

เมื่อพระเจ้าตากสินยกกองทัพไปกวาดล้างทัพพม่าที่กรุงเก่าราบคาบแล้ว ทอดพระเนตรเห็นกรุงศรีอยุธยาก็ทรงท้อแท้ใจที่จะทำนุบำรุงขึ้นเป็นดังเดิมได้ จึงสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานีแทน และทำศึกทั้งภายในกับพม่า เขมร และลาว

การศึกสงครามอย่างต่อเนื่องหลังจากสร้างกรุงธนบุรีแล้ว พระเจ้าตากสินทรงตรากตรำเรื่องการเมือง การศึก สังคม ที่มีความหวาดระแวง การเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาสินค้าจากต่างประเทศเพราะกำลังการผลิตภายในไม่เพียงพอ ทรัพย์สินในท้องพระคลังย่อมติดลบบ้างเป็นธรรมดา บ้านเมืองระส่ำระสายเพราะอารยธรรมไทยถูกทำลายสิ้น ความขาดแคลนเป็นปัจจัยหนึ่ง พม่ารังควาญ โดยเฉพาะมีแม่ทัพสำคัญชำนาญศึก คือ อะแซหวุ่นกี้ ทำให้พระองค์มีความเครียด ทหารเอกหลายคนก็ต่างทำศึกในต่างแดน จึงเป็นจุดอ่อนทำให้เกิดความวุ่นวายทั้งในพระราชวังและพระนคร ทำให้พระยาสรรค์ถือโอกาสยึดอำนาจ หลังจากเข้ากับพวกกบฏที่ปล้นกรุงเก่าที่พระยาอินทรอภัย เป็นข้าหลวงปกครอง

สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ซึ่งต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช องค์ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขณะทำศึกกับเขมรจำต้องยกทัพกลับกรุงธนบุรี เพื่อปราบกบฏ และยุติความวุ่นวายภายในกรุงธนบุรีในเดือนเมษายน พ.ศ. 2425

ด้วยพระอำนาจบารมีที่ทรงสร้างสมไว้ ก็สามารถปราบกบฏพระยาสรรค์และพวกได้ราบคาบ เมื่อทรงเข้าเฝ้าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งทรงถูกพระยาสรรค์บังคับให้ทรงผนวชที่วัดอรุณราชวราราม ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2324 อันเป็นการสละราชสมบัติ แต่ด้วยเหตุการณ์ก่อนหน้านี้พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงรับคำเพ็ดทูล จนบางกรณีก็รับสั่งให้ทำโทษผู้ถูกกล่าวหาโดยมิได้ไต่สวนอย่างละเอียด แม้กระทั่งครอบครัวของสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก ก็โดนทำโทษด้วย ทำให้มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหลายสำนวน ประกอบกับพระราชหฤทัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินว้าวุ่น ไม่รู้พระองค์ จึงถูกสำเร็จโทษเพื่อตัดปัญหาทั้งปวง

แต่มีความเชื่อหลากหลาย โดยเฉพาะหลวงวิจิตรวาทการได้เขียนตำนานเรื่องใครฆ่าพระเจ้ากรุงธนบุรี แสดงความเห็นว่าพระองค์ไม่ได้ถูกสำเร็จโทษ แต่มีคนยอมตายแทน เพื่อให้พระองค์ได้เล็ดลอดออกจากพระนครไปจำวัดที่เขาขุนพนม นครศรีธรรมราช

แต่ไม่มีพงศาวดารใดให้ความชัดเจนได้ แต่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงไว้ในพระราชโอวาทพระราชทาน เจ้าฟ้าวชิรุณหิศ กล่าวถึงเฉพาะเหตุการณ์ที่รัชกาลที่ 1 ทรงชุบเลี้ยงพระราชโอรสและพระราชธิดาของพระเจ้ากรุงธนบุรีอย่างดีเยี่ยม ยกเว้นแต่ที่ทรงกระด้างกระเดื่องไม่ถวายความจงรักภักดีเท่านั้น ซึ่งเห็นชัดว่าพระองค์ไม่ได้คิดอาฆาตหรือทรงหวังที่จะทำลายราชวงศ์ของพระเจ้ากรุงธนบุรี

ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงปราบดาภิเษกเป็นปฐมบรมกษัตริย์แห่งมหาจักรีวงศ์ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2325 ทรงปรับเปลี่ยนลักษณะการปกครองแบบราชาธิปไตย โดยยึดถือหลักธรรมราชาเป็นยุทธศาสตร์การปกครอง เพราะเทวราชาแบบอยุธยามีจุดอ่อนตรงที่ว่าพระมหากษัตริย์มีอำนาจและวิธีปฏิบัติแบบราชวงศ์เขมรซึ่งขาดธรรมะ จึงทรงย้อนยุคสู่ลักษณะการปกครองแบบกรุงสุโขทัย

โดยทรงนำทางสังคมที่เป็นศาสนา และพระองค์ทรงมีเป้าหมายสำคัญได้แก่การสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ให้เป็นศูนย์กลางของโลกพุทธศาสนา และได้ทรงชักชวนอาณาประชาราษฎร์ให้ตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรม ทรงให้ข้าราชการถือศีล 5 ศีล 8 และศีล 10 และทรงออกกฎทางวินัย ข้าราชการผู้ใดเล่นการพนัน เสพสุรายาเมา จะถูกลงโทษ

ดังนั้น ทศพิธราชธรรม ราชจริยานุวัตร และจักรวรรดิวัตร จึงเป็นเครื่องมือในการปกครองของพระมหกษัตริย์ตั้งแต่กรุงรัตนโกสินทร์ และเป็นกลไกที่เป็นเยี่ยมในการแก้ไขปัญหาสังคม ซึ่งขณะนั้นเป็นช่วงล่อแหลมต่อภัยศึกภายนอกและศึกภายใน ที่มีผู้หวังเป็นใหญ่ และไม่นับถือพระองค์ เนื่องจากทรงปราบดาภิเษกจากบุคคลธรรมดา ซึ่งบรรดาราชวงศ์อยุธยาที่หลงเหลืออยู่ไม่ยอมรับ และภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ตกค้างมาจากกรุงธนบุรี ซึ่งไม่มีพลังการผลิต แต่มีการค้าขายกับต่างชาติแล้ว ทำให้ช่องทางการส่งออกสดใส เป็นโอกาสให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ซึ่งทรงให้เริ่มผ่อนคลายระบบการค้าแบบผูกขาด จะผูกขาดเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต้องส่งออก และเพื่อให้คุ้มค่าระวางเรือสำเภาหลวงเท่านั้น นอกนั้นสินค้าอื่นๆ เปิดตัวกันแบบเสรี

หากพิจารณาแล้วจึงพบว่ายุคกรุงรัตนโกสินทร์ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของชาติไทย ที่มีประวัติอันยาวนานกว่า 800 ปี แต่ชนชาติไทยเป็นชนชาติที่มีอายุนับเป็นพันปี เช่นเดียวกับอารยธรรมอื่นๆ และด้วยพลังบุญแห่งปฐมกษัตริย์ที่มีใจเป็นธรรม จนถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงทำนุบำรุงและปฏิรูปพระพุทธศาสนาด้วยการที่ทรงผนวชและสถาปนาธรรมยุตินิกายขึ้น เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระวชิรญาณเถระโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิรูปและฟื้นฟูด้านวัตรปฏิบัติของสงฆ์ ให้มีความถูกต้องและเข้มงวดตามพุทธบัญญัติ ให้พระสงฆ์มีวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด ถูกต้อง ตามพระวินัยปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้องดีงาม ศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างเข้าใจแจ่มแจ้ง อันเป็นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาให้สมบูรณ์ทั้งพระวินัยปิฎก และพระสุตตันตปิฎก

ต่อมาเมื่อทรงเป็นพระมหากษัตริย์แล้ว ก็ทรงใช้ปัญญานำพาคนไทยฝ่าวิกฤตการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก ทรงใช้ปัญญนำในการเจรจาผ่อนปรนกับเซอร์เบาร์ริ่งเพื่อมิให้อังกฤษส่งกองทัพเข้ายึดประเทศ และวิสัยทัศน์ของพระองค์แห่งชาติและพระราชโอรสที่มิได้ทรงแต่งตั้งรัชทายาท แต่กลับให้เสนาบดีและอำมาตย์ทั้งปวงเลือกพระราชโอรสที่เป็นอนาคตของชาติ และบรรดาเสนาอำมาตย์ได้เลือกสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ฯ ขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ไทยแห่งราชวงศ์จักรีวงศ์ที่ 5 ทรงพระปรีชาสามารถอย่างล้ำลึก พระราชกรณียกิจมีนับไม่ถ้วน

แต่บุญหนึ่งที่ยิ่งใหญ่ต่อมนุษยชาติและประชาชนคนไทย คือ การเลิกทาส ซึ่งถือว่าเป็นทานอันใหญ่หลวง เพราะอุปสรรคมีมากมายมหาศาล พระองค์ต้องต่อสู้กับนายทุนทั้งที่เป็นเจ้าและเป็นคหบดี การค้าทาสเป็นผลประโยชน์ของนายทุน ดังนั้น หากไม่ทรงพระปรีชาอย่างล้ำลึกแล้ว พวกนายทุนเหล่านี้ก็จะอาศัยความเสียหายเรื่องแรงงานในการผลิต และปัญหาสังคมเพราะทาสขาดอนาคต ไร้ที่อยู่ ไร้ความรู้ จึงจะเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย แต่พระบาทสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงใช้เวลาในการนี้เพื่อให้สร้างผลกระทบทั้งสองด้านมีน้อยมาก และค่อยเป็นค่อยไป โดยจะใช้เวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2417 แต่ให้มีผลตั้งแต่ พ.ศ. 2411 จนมีพระราชบัญญัติเลิกทาส ร.ศ.124 พ.ศ. 2448 ใช้เวลา 31 ปี

เมื่อโลกเปลี่ยนระบบการปกครองในหลายประเทศ โดยเฉพาะการปฏิวัติในรัสเซีย ทำให้เกิดกระแสการเมืองกระจายไปทั่ว โดยเฉพาะแถบเอเชีย และนักเรียนไทยในยุโรปเกิดลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้น และเกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2471 จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินใน พ.ศ. 2475 ที่คณะราษฎร์ใช้กำลังทหารยึดพระราชอำนาจจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่พระองค์ทรงใช้ขันติ เหตุผล และแนวคิดประชาธิปไตยแก้ไขปัญหาของประเทศ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ทรงหวงและยึดติดกับอำนาจหรือใช้พระราชอำนาจต่อต้านคณะราษฎร์ หรือแม้กระทั่งทรงวางพระองค์เป็นกลางกรณีกบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 ซึ่งคณะทหารหัวเมืองปฏิบัติการเพื่อพระองค์โดยตรง แต่ทรงมิได้สนพระทัยในพระราชอำนาจ แต่สนพระทัยที่คนไทยรบกันเองมากกว่าอย่างอื่น จึงนับว่าเป็นความโชคดีของคนไทยที่ไม่ได้สัมผัสสงครามกลางเมืองเต็มรูปแบบ หากพระมหากษัตริย์ทรงขาดซึ่งทศพิธราชธรรม และหลงพระราชอำนาจ ตรัสเมื่อทรงสละราชบัลลังก์ มีพระราชหัตถเลขาว่า “ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎร์โดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ หรือใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร์”

ต่อมาเกิดชะตากรรมอย่างหนึ่ง เมื่อมีคนโหดลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบันขึ้นครองราชย์ ท่ามกลางความผันแปรของการเมืองประชาธิปไตยแบบไทย ความวุ่นวายทางการเมืองของไทยนั้น มีสาเหตุเป็นอย่างไร ไม่มีใครเคยวิเคราะห์ได้ถูกต้อง แต่พระเจ้าอยู่หัวทรงแก้ไขรากเหง้าปัญหาของชาติ คือ ความยากจน ความด้อยโอกาสของประชาชนของพระองค์มาอย่างต่อเนื่องด้วยหลักวิชาการและด้วยพระเนตรที่กว้างไกล เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี ทรงปฏิบัติเช่นนี้มา 60 ปี ทรงเข้าใจปัญหาการเกษตร ปัญหาสังคมเมือง และปัญหาการศึกษาของคนไทยเป็นอย่างดี และทรงต้องประคับประคองประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องด้วยความแน่วแน่

ทำให้วิกฤตการณ์เมืองไทย เฉพาะวิกฤต 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519 และ 17 พฤษภาคม 2535 ที่คนไทยต้องต่อสู้กันระหว่างอำนาจรัฐกับประชาชน และพระองค์อยู่ข้างประชาชน และด้วยพระบารมีทำให้เหตุการณ์ร้ายแรงยุติลง รวมทั้งสยบภัยการขยายอำนาจของลัทธิคอมมิวนิสต์จากภายนอก ก็ไม่สามารถย่างกรายเข้ามาทำร้ายประชาชนคนไทยได้

เรื่องราวของกฤดาภินิหารของราชวงศ์จักรีนั้น มีมากมายมหาศาล ที่กล่าวมาเพียงเศษธุลีแห่งบารมีกฤดาภินิหารนี้ แต่เป็นการเตือนให้คนไทยได้รับรู้ถึงอำนาจความดี อำนาจความยุติธรรม อำนาจทาน และอำนาจการเสียสละของพระมหากษัตริย์ไทย ทำให้เทวดาทั้งหลายปกป้องรักษาชาติบ้านเมือง และราชวงศ์จักรีอย่างชัดเจน ดังเช่นที่กล่าวไว้แล้ว เพราะไม่เป็นทาสฝรั่ง ไม่รบกันเอง ไม่มีทุ่งสังหารเหมือนในเขมร ไม่มี Boat People ที่ผู้คนอพยพไปเป็นพลเมืองของชาติอื่น และไม่ยากจนแบบไม่มีจะกินเช่นในเอธิโอเปีย หรือไม่มีการรบกันฆ่ากันแบบล้างเผ่าพันธุ์

และด้วยอำนาจบารมีอันบริสุทธิ์ของบุรพกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ขอให้ในหลวงทรงพระเจริญเกษมสำราญ พ้นจากหมู่ภัยทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือโรคาพญาธิ

                 nidd_riddhagni@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น