โดย : หนุ่มลูกทุ่ง
เมื่อก่อนนี้มีชาวต่างชาติขนานนามกรุงเทพฯว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” เพราะมีคูคลองหลายสายในเมือง บรรยากาศคล้ายเมืองเวนิสของประเทศอิตาลี
ปัจจุบันคลองเหล่านั้นบางสายถูกถมเพื่อทำถนนหนทาง คลองสายที่ยังเหลืออยู่ก็น้ำเน่าเสียและไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางการคมนาคมอีกต่อไป เป็นที่น่าเสียดายไม่น้อย ดังเช่น “คลองคูเมืองเดิม” ที่วันนี้ “ชมรมสยามทัศน์” เขาพากลุ่มคนที่สนใจด้านประวัติศาสตร์มาเดินเล่น “ฟื้นความหลัง สองฟากฝั่งคลองคูเมืองเดิมและคลองหลอด” ซึ่งฉันเองก็ขอติดสอยห้อยตามมาทำความรู้จักกับคลองแห่งนี้ด้วย
คลองคูเมืองเดิมนั้น เป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง มีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นแนวป้องกันข้าศึกศัตรูก่อนจะเข้าถึงกำแพงเมือง ในสมัยนั้นเมืองหลวงธนบุรีของเราเป็นเมืองอกแตก มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่ากลางกรุง คลองคูเมืองในสมัยนั้นด้านหนึ่งจึงอยู่ในฝั่งธนบุรี ส่วนอีกด้านหนึ่งอยู่ในฝั่งพระนคร
คลองคูเมืองเดิมทางฝั่งธนบุรีนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯให้ขุดตั้งแต่คลองบางกอกน้อยมาออกคลองบางกอกใหญ่ เรียกชื่อกันเป็น 3 ตอน คือคลองวัดท้ายตลาด คลองบ้านหม้อ และคลองบ้านขมิ้น ส่วนทางฝั่งพระนครมีการขุดคลองตั้งแต่ปากคลองตลาด ไปออกปากคลองโรงไหม บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้าในปัจจุบัน
คลองคูเมืองเดิมที่เราจะมาเดินกันวันนี้เป็นคลองคูเมืองเดิมทางฝั่งพระนคร ซึ่งบางคนมักเข้าใจผิดเรียกคลองทั้งสายนี้ว่า “คลองหลอด” แต่คลองหลอดที่แท้จริงนั้นคือคลองที่ขุดเชื่อมระหว่างคลองคูเมืองเดิมและคลองรอบกรุง (คลองรอบกรุงขุดในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากย้ายเมืองหลวงมาอยู่ฝั่งพระนคร) มีอยู่ด้วยกันสองคลองคือ “คลองหลอดวัดราชนัดดา” และ “คลองหลอดวัดราชบพิธ”
เหตุที่เรียกผิดกันอาจจะเป็นเพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีประกาศแบ่งระยะเรียกชื่อคลองคูเมืองเดิมออกเป็น 3 ตอน คือระหว่างปากคลองบริเวณท่าช้างวังหน้าถึงปากคลองหลอดวัดราชนัดดา ให้เรียก “คลองโรงไหมวังหน้า” จากปากคลองหลอดวัดราชนัดดาถึงปากคลองหลอดวัดราชบพิธ ให้เรียก “คลองหลอด” และจากปากคลองหลอดวัดราชบพิธถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เรียก “คลองตลาด” ต่อมาจึงเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนก็เป็นได้ แต่ในสมัยนี้ได้มีการกำหนดให้เรียก “คลองคูเมืองเดิม” โดยตลอดทั้งสายเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ต่อไป
การที่ฉันได้มาเดินกับริมคลองหลอดกับชมรมสยามทัศน์ในวันนี้ ไม่เพียงแต่จะได้รู้ถึงความเป็นมาของคลอง แต่ยังจะได้เยี่ยมชมสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ริมสองฟากฝั่งคลองอีกด้วย
เราเริ่มเดินชมคลองกันตั้งแต่บริเวณปากคลองคูเมืองเดิม หรือตรงบริเวณที่เรียกว่า “ปากคลองตลาด” บริเวณนี้ถือเป็นสถานที่ที่มีชีวิตชีวามากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เพราะที่ปากคลองตลาดนี้ถือเป็นตลาดดอกไม้แห่งใหญ่ที่สุด มีดอกไม้นานาชนิดมาวางขายกันที่นี่ ทั้งดอกไม้ไทยๆ อย่างมะลิ รัก พุด ฯลฯ แล้วก็ยังมีดอกไม้จากต่างประเทศราคาแพงที่ร้านจัดดอกไม้จะมาซื้อไปจัดช่อให้ลูกค้ามารับซื้อต่อไป เพียงแค่เดินเข้าไปใกล้ๆตัวตลาดก็จะได้กลิ่นหอมของดอกไม้นานาชนิด ที่นี่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติอีกด้วย
ส่วนอีกด้านหนึ่งของคลองก็เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ “โรงเรียนราชินี” โรงเรียนหลวงสำหรับเด็กหญิงแห่งแรกของไทย โดยผู้พระราชทานทรัพย์ก่อตั้งโรงเรียนคือสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ในโรงเรียนยังมีอาคาร “สุนันทาลัย” อาคารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
ส่วนฝั่งตรงข้ามโรงเรียนราชินี ก็มี “สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง” ซึ่งเดิมเป็นวังหนึ่งในกลุ่มวังท้ายวัดพระเชตุพน 5 วัง ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ เจ้าของวังองค์สุดท้ายสิ้นพระชนม์ไป จึงเปลี่ยนมาเป็นสถานที่ราชการ หรือสถานีตำรวจนครบาลพระราชวังในปัจจุบัน
ในบริเวณนี้เราเห็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมสะพานแรก นั่นก็คือ “สะพานเจริญรัช 31” ขึ้นต้นว่าเจริญ ลงท้ายด้วยตัวเลข ท่านว่าเป็นสะพานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยสะพานนี้เป็นสะพานแรกในชุด “เจริญ” ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 6 สะพานด้วยกัน สะพานเจริญรัช 31 นี้สร้างขึ้นเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 31 พรรษา และยังเป็นปีแรกที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์อีกด้วย
เดินเลียบคลองคูเมืองเดิมก็ยังจะได้เจออีกหลายสะพาน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเป็นมาที่ต่างกัน เช่น “สะพานอุบลรัตน์” ซึ่งเป็นสะพานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงอุทิศพระราชทรัพย์จำนวนหนึ่งเพื่อสร้างสะพานขึ้นเป็นที่ระลึกแด่พระองค์เจ้าอุบลรัตน์นารีนาค พระอรรคชายาเธอในรัชกาลที่ 5 ในโอกาสพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง โดยสร้างแทนสะพานหัวตะเข่เก่าที่ปลายถนนบ้านหม้อ
พูดถึงบ้านหม้อ ในบริเวณริมคลองนี้ก็เป็นที่ตั้งของ “วังบ้านหม้อ” วังเก่าแก่ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ต้นราชสกุลกุญชร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาศิลา วังนี้ถือเป็นวังต้นกรุงรัตนโกสินทร์เพียงวังเดียวที่คงสภาพเดิมไว้มากที่สุด และเป็นวังยุคแรกๆวังเดียวที่ตกทอดมาแก่ทายาทโดยแท้จริง ปัจจุบันก็ยังมีทายาทอาศัยอยู่ภายในวังแห่งนี้
เหตุที่เรียกชื่อวังและบริเวณนี้ว่าบ้านหม้อก็เนื่องจากแต่เดิมเคยเป็นย่านที่มีการปั้นหม้อมาก่อน ปัจจุบันบ้านหม้อเป็นแหล่งขายเครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็คโทรนิคต่างๆ และเป็นย่านที่มีตึกแถวหน้าตาสวยงามซึ่งเป็นตึกแถวในสมัยรัชกาลที่ 4-5
เดินต่อมายัง “สะพานหก” สะพานโบราณคลาสสิค หรือบางคนเรียกสะพานหกแบบวิลันดา ซึ่งเป็นแบบสะพานที่มีในเนเธอร์แลนด์ สามารถยกหกขึ้นหกลงให้เรือผ่านไปมาได้จึงเรียกว่าสะพานหก แต่เดิมมีสะพานหกอยู่มากถึง 6 สะพานทั้งในฝั่งธนบุรีและพระนคร แต่ปัจจุบันหักพักไปหมดแล้ว ส่วนสะพานหกอันนี้ก็เป็นสะพานที่สร้างขึ้นใหม่ตามหลักฐานรูปถ่ายเก่าๆ
เราเดินข้ามสะพานหกมาอีกฟากฝั่งคลอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “สวนสราญรมย์” สวนสาธารณะงดงามซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพระราชอุทยานของพระราชวังสราญรมย์ในอดีต ภายในสวนสราญรมย์ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยของอดีตอยู่หลายแห่ง เช่น อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างไว้ ศาลาเรือนกระจก ตึกโถงชั้นเดียวกรุกระจก มีดาดฟ้าตกแต่งด้วยไม้ฉลุลวดลายวิจิตร เคยใช้เป็นทวีปัญญาสโมสร สโมสรแบบตะวันตกของเจ้านายและข้าราชการชั้นสูง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียน ต้นไม้กทม. นอกจากนั้นก็ยังมีศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง เป็นเก๋งจีนในอดีตเมื่อครั้งสร้างสวน น้ำพุพานโลหะ ศาลากระโจมแตร ฯลฯ ที่สร้างเสน่ห์ให้สวนสวยแห่งนี้
ที่อยู่ติดกันนั้นคือ “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม” วัดประจำรัชกาลที่ 4 ที่พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดธรรมยุติใกล้กับพระบรมมหาราชวัง พระอารามแห่งนี้แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็งดงามด้วยพระวิหารหลวงซึ่งถือเป็นพระอุโบสถด้วย ภายในประดิษฐานพระพุทธสิหังคปฏิมากร ส่วนด้านหลังวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์หินอ่อนทรงลังกาองค์ใหญ่ เมื่อได้กราบพระประธานแล้วจึงถือว่าได้กราบพระเจดีย์ไปในคราวเดียวกัน
ออกจากวัดมาแล้วคราวนี้เราข้ามสะพานกลับไปอีกครั้ง แต่ก็มาสะดุดที่ตรงอนุสาวรีย์หมูตั้งตระหง่านอยู่ใกล้กับตัวสะพาน อนุสาวรีย์นี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อนุสาวรีย์สหชาติ” เป็นอุทกทานที่สร้างขึ้นในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษา พระองค์ทรงพระราชสมภพในปีกุนเช่นเดียวกับผู้สร้างถวายทั้งสามท่าน คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระยาพิพัฒน์โกษา และพระยาราชสงคราม ส่วนสะพานที่เรากำลังจะข้ามนั้นก็เรียกว่า “สะพานปีกุน” ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นก่อนอนุสาวรีย์หมู แต่ไม่ได้พระราชทานชื่อไว้ แต่ต่อมาเมื่อสร้างอนุสาวรีย์หมูขึ้นแล้วจึงเรียกให้สอดคล้องกันว่าสะพานหมู หรือสะพานปีกุนนั่นเอง
ทางฝั่งนี้เป็นที่ตั้งของ “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” พระอารามประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 ความโดดเด่นอยู่ที่พระอุโบสถที่ดูภายนอกก็เป็นพระอุโบสถทรงไทย แต่ภายในงดงามอลังการด้วยศิลปะโกธิคของตะวันตก ที่มีคนกล่าวกันว่ามีลักษณะคล้ายพระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระราชวังแวร์ซาย และนอกจากนั้นที่วัดนี้ยังเป็นที่ตั้งของสุสานหลวง ซึ่งมีอนุสาวรีย์ที่สร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระสรีรังคารแห่งสายพระราชสกุลต่างๆ ซึ่งอนุสาวรีย์เหล่านั้นก็มีรูปทรงที่หลากหลาย มีทั้งแบบไทย แบบฝรั่ง สวยงามไม่น้อย
ถึงตอนนี้ก็เดินมาได้ครึ่งคลองพอดี เราเดินผ่าน “สะพานช้างโรงสี” สะพานชื่อแปลกที่มีที่มาจากการที่แต่เดิมสะพานนี้เป็นสะพานไม้ซุงหนาและใหญ่พอจะให้ช้างข้ามได้ โดยสะพานในลักษณะนี้มีหลายแห่งและจะเรียกว่าสะพานช้าง ส่วนสะพานช้างแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับโรงสีข้าว เราจึงเรียกกันต่อมาว่าสะพานช้างโรงสี แม้ปัจจุบันจะกลายเป็นสะพานปูนคอนกรีตไปแล้วก็ตาม
เราเดินผ่าน “ย่านสามแพร่ง” อันได้แก่ แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ ที่เป็นทั้งแหล่งประวัติศาสตร์ แหล่งของกินอร่อยหลากหลาย และแหล่งขายของใช้เช่นอุปกรณ์เดินป่า เป็นต้น บริเวณนี้ยังมีสะพานในชุด “เจริญ” อีกแห่งหนึ่งคือ “สะพานเจริญศรี 34” สะพานที่ 4 ของสะพานชุดเจริญที่รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 34 พรรษา สะพานนี้ยังอยู่ใกล้กับ “วัดบุรณศิริมาตยาราม” พระอารามหลวงชั้นตรีที่เจ้าพระยาสุธรรมมรตรี (บุญศรี บุรณศิริ) เป็นผู้สร้างในสถานที่ที่เป็นบ้านเกิดของท่านเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาพิพัฒน์โกษาในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เดิมชื่อวัดศิริอำมาตยาราม ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดบุรณศิริมาตยาราม
มาถึงบริเวณนี้เราเริ่มเข้าสู่ถนนที่จอแจแต่มีเสน่ห์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นั่นก็คือ “ถนนราชดำเนิน” เราเดินข้าม “สะพานผ่านพิภพลีลา” สะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมเพื่อเชื่อมถนนราชดำเนินในกับถนนราชดำเนินนอก ได้เดินผ่านสนามหลวง ที่เพิ่งจะมีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเพื่อแสดงพลังความจงรักภักดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านพ้นไป
เมื่อเดินผ่าน “วัดบวรสถานสุทธาวาส” หรือพระแก้ววังหน้า วัดที่อาจไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนักเพราะตั้งอยู่ในเขตของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ หรือวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร ก็แสดงว่าใกล้จะถึงปากคลองคูเมืองเดิมอีกด้านหนึ่งแล้ว บริเวณนี้เคยเรียกว่าคลองโรงไหมวังหน้า เพราะตั้งอยู่ใกล้กับโรงไหมหลวงในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป
และแล้วเราก็มาถึงปากคลองอีกด้านหนึ่งจนได้ บริเวณนี้แต่ก่อนเคยเป็นที่ตั้งของสะพานสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ “สะพานเฉลิมสวรรค์ 58” สะพานชุดเฉลิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 58 พรรษา แต่ปัจจุบันตัวสะพานได้เปลี่ยนไปเป็นถนนลอดใต้สะพานพระปิ่นเกล้าไปแล้ว
และนี่ก็คือเส้นทางเดินเท้าท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งที่ทำให้รู้เรื่องราวของคลองคูเมืองเดิม คลองสายประวัติศาสตร์ที่หลายคนเห็นผ่านตากันไปจนชิน แต่อาจยังไม่รู้ที่มาของคลองสายนี้ก็เป็นได้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์กับชมรมสยามทัศน์ได้ที่ โทร.08-1343-4261
เมื่อก่อนนี้มีชาวต่างชาติขนานนามกรุงเทพฯว่าเป็น “เวนิสตะวันออก” เพราะมีคูคลองหลายสายในเมือง บรรยากาศคล้ายเมืองเวนิสของประเทศอิตาลี
ปัจจุบันคลองเหล่านั้นบางสายถูกถมเพื่อทำถนนหนทาง คลองสายที่ยังเหลืออยู่ก็น้ำเน่าเสียและไม่ได้ใช้ประโยชน์ทางการคมนาคมอีกต่อไป เป็นที่น่าเสียดายไม่น้อย ดังเช่น “คลองคูเมืองเดิม” ที่วันนี้ “ชมรมสยามทัศน์” เขาพากลุ่มคนที่สนใจด้านประวัติศาสตร์มาเดินเล่น “ฟื้นความหลัง สองฟากฝั่งคลองคูเมืองเดิมและคลองหลอด” ซึ่งฉันเองก็ขอติดสอยห้อยตามมาทำความรู้จักกับคลองแห่งนี้ด้วย
คลองคูเมืองเดิมนั้น เป็นคลองที่ขุดขึ้นในสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชตั้งกรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวง มีจุดประสงค์เพื่อให้เป็นแนวป้องกันข้าศึกศัตรูก่อนจะเข้าถึงกำแพงเมือง ในสมัยนั้นเมืองหลวงธนบุรีของเราเป็นเมืองอกแตก มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่ากลางกรุง คลองคูเมืองในสมัยนั้นด้านหนึ่งจึงอยู่ในฝั่งธนบุรี ส่วนอีกด้านหนึ่งอยู่ในฝั่งพระนคร
คลองคูเมืองเดิมทางฝั่งธนบุรีนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดเกล้าฯให้ขุดตั้งแต่คลองบางกอกน้อยมาออกคลองบางกอกใหญ่ เรียกชื่อกันเป็น 3 ตอน คือคลองวัดท้ายตลาด คลองบ้านหม้อ และคลองบ้านขมิ้น ส่วนทางฝั่งพระนครมีการขุดคลองตั้งแต่ปากคลองตลาด ไปออกปากคลองโรงไหม บริเวณใต้สะพานพระปิ่นเกล้าในปัจจุบัน
คลองคูเมืองเดิมที่เราจะมาเดินกันวันนี้เป็นคลองคูเมืองเดิมทางฝั่งพระนคร ซึ่งบางคนมักเข้าใจผิดเรียกคลองทั้งสายนี้ว่า “คลองหลอด” แต่คลองหลอดที่แท้จริงนั้นคือคลองที่ขุดเชื่อมระหว่างคลองคูเมืองเดิมและคลองรอบกรุง (คลองรอบกรุงขุดในสมัยรัชกาลที่ 1 หลังจากย้ายเมืองหลวงมาอยู่ฝั่งพระนคร) มีอยู่ด้วยกันสองคลองคือ “คลองหลอดวัดราชนัดดา” และ “คลองหลอดวัดราชบพิธ”
เหตุที่เรียกผิดกันอาจจะเป็นเพราะในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้มีประกาศแบ่งระยะเรียกชื่อคลองคูเมืองเดิมออกเป็น 3 ตอน คือระหว่างปากคลองบริเวณท่าช้างวังหน้าถึงปากคลองหลอดวัดราชนัดดา ให้เรียก “คลองโรงไหมวังหน้า” จากปากคลองหลอดวัดราชนัดดาถึงปากคลองหลอดวัดราชบพิธ ให้เรียก “คลองหลอด” และจากปากคลองหลอดวัดราชบพิธถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เรียก “คลองตลาด” ต่อมาจึงเกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อนก็เป็นได้ แต่ในสมัยนี้ได้มีการกำหนดให้เรียก “คลองคูเมืองเดิม” โดยตลอดทั้งสายเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ต่อไป
การที่ฉันได้มาเดินกับริมคลองหลอดกับชมรมสยามทัศน์ในวันนี้ ไม่เพียงแต่จะได้รู้ถึงความเป็นมาของคลอง แต่ยังจะได้เยี่ยมชมสิ่งที่น่าสนใจต่างๆ ริมสองฟากฝั่งคลองอีกด้วย
เราเริ่มเดินชมคลองกันตั้งแต่บริเวณปากคลองคูเมืองเดิม หรือตรงบริเวณที่เรียกว่า “ปากคลองตลาด” บริเวณนี้ถือเป็นสถานที่ที่มีชีวิตชีวามากที่สุดแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เพราะที่ปากคลองตลาดนี้ถือเป็นตลาดดอกไม้แห่งใหญ่ที่สุด มีดอกไม้นานาชนิดมาวางขายกันที่นี่ ทั้งดอกไม้ไทยๆ อย่างมะลิ รัก พุด ฯลฯ แล้วก็ยังมีดอกไม้จากต่างประเทศราคาแพงที่ร้านจัดดอกไม้จะมาซื้อไปจัดช่อให้ลูกค้ามารับซื้อต่อไป เพียงแค่เดินเข้าไปใกล้ๆตัวตลาดก็จะได้กลิ่นหอมของดอกไม้นานาชนิด ที่นี่ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติอีกด้วย
ส่วนอีกด้านหนึ่งของคลองก็เป็นสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อีกแห่งหนึ่ง นั่นก็คือ “โรงเรียนราชินี” โรงเรียนหลวงสำหรับเด็กหญิงแห่งแรกของไทย โดยผู้พระราชทานทรัพย์ก่อตั้งโรงเรียนคือสมเด็จพระศรีพัชรินทรา บรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ในโรงเรียนยังมีอาคาร “สุนันทาลัย” อาคารประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมแบบยุโรปที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ในการสิ้นพระชนม์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี
ส่วนฝั่งตรงข้ามโรงเรียนราชินี ก็มี “สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง” ซึ่งเดิมเป็นวังหนึ่งในกลุ่มวังท้ายวัดพระเชตุพน 5 วัง ที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อกรมหมื่นนฤบาลมุขมาตย์ เจ้าของวังองค์สุดท้ายสิ้นพระชนม์ไป จึงเปลี่ยนมาเป็นสถานที่ราชการ หรือสถานีตำรวจนครบาลพระราชวังในปัจจุบัน
ในบริเวณนี้เราเห็นสะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมสะพานแรก นั่นก็คือ “สะพานเจริญรัช 31” ขึ้นต้นว่าเจริญ ลงท้ายด้วยตัวเลข ท่านว่าเป็นสะพานที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6 โดยสะพานนี้เป็นสะพานแรกในชุด “เจริญ” ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 6 สะพานด้วยกัน สะพานเจริญรัช 31 นี้สร้างขึ้นเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 31 พรรษา และยังเป็นปีแรกที่พระองค์เสด็จขึ้นครองราชย์อีกด้วย
เดินเลียบคลองคูเมืองเดิมก็ยังจะได้เจออีกหลายสะพาน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเป็นมาที่ต่างกัน เช่น “สะพานอุบลรัตน์” ซึ่งเป็นสะพานที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงอุทิศพระราชทรัพย์จำนวนหนึ่งเพื่อสร้างสะพานขึ้นเป็นที่ระลึกแด่พระองค์เจ้าอุบลรัตน์นารีนาค พระอรรคชายาเธอในรัชกาลที่ 5 ในโอกาสพระราชทานเพลิงพระศพ ณ พระเมรุท้องสนามหลวง โดยสร้างแทนสะพานหัวตะเข่เก่าที่ปลายถนนบ้านหม้อ
พูดถึงบ้านหม้อ ในบริเวณริมคลองนี้ก็เป็นที่ตั้งของ “วังบ้านหม้อ” วังเก่าแก่ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากุญชร กรมพระพิทักษ์เทเวศร์ ต้นราชสกุลกุญชร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และเจ้าจอมมารดาศิลา วังนี้ถือเป็นวังต้นกรุงรัตนโกสินทร์เพียงวังเดียวที่คงสภาพเดิมไว้มากที่สุด และเป็นวังยุคแรกๆวังเดียวที่ตกทอดมาแก่ทายาทโดยแท้จริง ปัจจุบันก็ยังมีทายาทอาศัยอยู่ภายในวังแห่งนี้
เหตุที่เรียกชื่อวังและบริเวณนี้ว่าบ้านหม้อก็เนื่องจากแต่เดิมเคยเป็นย่านที่มีการปั้นหม้อมาก่อน ปัจจุบันบ้านหม้อเป็นแหล่งขายเครื่องเสียงและเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็คโทรนิคต่างๆ และเป็นย่านที่มีตึกแถวหน้าตาสวยงามซึ่งเป็นตึกแถวในสมัยรัชกาลที่ 4-5
เดินต่อมายัง “สะพานหก” สะพานโบราณคลาสสิค หรือบางคนเรียกสะพานหกแบบวิลันดา ซึ่งเป็นแบบสะพานที่มีในเนเธอร์แลนด์ สามารถยกหกขึ้นหกลงให้เรือผ่านไปมาได้จึงเรียกว่าสะพานหก แต่เดิมมีสะพานหกอยู่มากถึง 6 สะพานทั้งในฝั่งธนบุรีและพระนคร แต่ปัจจุบันหักพักไปหมดแล้ว ส่วนสะพานหกอันนี้ก็เป็นสะพานที่สร้างขึ้นใหม่ตามหลักฐานรูปถ่ายเก่าๆ
เราเดินข้ามสะพานหกมาอีกฟากฝั่งคลอง ซึ่งเป็นที่ตั้งของ “สวนสราญรมย์” สวนสาธารณะงดงามซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นพระราชอุทยานของพระราชวังสราญรมย์ในอดีต ภายในสวนสราญรมย์ปัจจุบันยังคงมีร่องรอยของอดีตอยู่หลายแห่ง เช่น อนุสาวรีย์สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ฯ ที่รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯให้สร้างไว้ ศาลาเรือนกระจก ตึกโถงชั้นเดียวกรุกระจก มีดาดฟ้าตกแต่งด้วยไม้ฉลุลวดลายวิจิตร เคยใช้เป็นทวีปัญญาสโมสร สโมสรแบบตะวันตกของเจ้านายและข้าราชการชั้นสูง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงเรียน ต้นไม้กทม. นอกจากนั้นก็ยังมีศาลเจ้าแม่ตะเคียนทอง เป็นเก๋งจีนในอดีตเมื่อครั้งสร้างสวน น้ำพุพานโลหะ ศาลากระโจมแตร ฯลฯ ที่สร้างเสน่ห์ให้สวนสวยแห่งนี้
ที่อยู่ติดกันนั้นคือ “วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม” วัดประจำรัชกาลที่ 4 ที่พระองค์ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างขึ้นเพื่อเป็นวัดธรรมยุติใกล้กับพระบรมมหาราชวัง พระอารามแห่งนี้แม้จะมีขนาดเล็กแต่ก็งดงามด้วยพระวิหารหลวงซึ่งถือเป็นพระอุโบสถด้วย ภายในประดิษฐานพระพุทธสิหังคปฏิมากร ส่วนด้านหลังวิหารหลวงเป็นที่ประดิษฐานปาสาณเจดีย์ พระเจดีย์หินอ่อนทรงลังกาองค์ใหญ่ เมื่อได้กราบพระประธานแล้วจึงถือว่าได้กราบพระเจดีย์ไปในคราวเดียวกัน
ออกจากวัดมาแล้วคราวนี้เราข้ามสะพานกลับไปอีกครั้ง แต่ก็มาสะดุดที่ตรงอนุสาวรีย์หมูตั้งตระหง่านอยู่ใกล้กับตัวสะพาน อนุสาวรีย์นี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “อนุสาวรีย์สหชาติ” เป็นอุทกทานที่สร้างขึ้นในวโรกาสที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระชนมายุ 50 พรรษา พระองค์ทรงพระราชสมภพในปีกุนเช่นเดียวกับผู้สร้างถวายทั้งสามท่าน คือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระยาพิพัฒน์โกษา และพระยาราชสงคราม ส่วนสะพานที่เรากำลังจะข้ามนั้นก็เรียกว่า “สะพานปีกุน” ที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯให้สร้างขึ้นก่อนอนุสาวรีย์หมู แต่ไม่ได้พระราชทานชื่อไว้ แต่ต่อมาเมื่อสร้างอนุสาวรีย์หมูขึ้นแล้วจึงเรียกให้สอดคล้องกันว่าสะพานหมู หรือสะพานปีกุนนั่นเอง
ทางฝั่งนี้เป็นที่ตั้งของ “วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม” พระอารามประจำรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 7 ความโดดเด่นอยู่ที่พระอุโบสถที่ดูภายนอกก็เป็นพระอุโบสถทรงไทย แต่ภายในงดงามอลังการด้วยศิลปะโกธิคของตะวันตก ที่มีคนกล่าวกันว่ามีลักษณะคล้ายพระที่นั่งแห่งหนึ่งในพระราชวังแวร์ซาย และนอกจากนั้นที่วัดนี้ยังเป็นที่ตั้งของสุสานหลวง ซึ่งมีอนุสาวรีย์ที่สร้างไว้เพื่อประดิษฐานพระสรีรังคารแห่งสายพระราชสกุลต่างๆ ซึ่งอนุสาวรีย์เหล่านั้นก็มีรูปทรงที่หลากหลาย มีทั้งแบบไทย แบบฝรั่ง สวยงามไม่น้อย
ถึงตอนนี้ก็เดินมาได้ครึ่งคลองพอดี เราเดินผ่าน “สะพานช้างโรงสี” สะพานชื่อแปลกที่มีที่มาจากการที่แต่เดิมสะพานนี้เป็นสะพานไม้ซุงหนาและใหญ่พอจะให้ช้างข้ามได้ โดยสะพานในลักษณะนี้มีหลายแห่งและจะเรียกว่าสะพานช้าง ส่วนสะพานช้างแห่งนี้ตั้งอยู่ใกล้กับโรงสีข้าว เราจึงเรียกกันต่อมาว่าสะพานช้างโรงสี แม้ปัจจุบันจะกลายเป็นสะพานปูนคอนกรีตไปแล้วก็ตาม
เราเดินผ่าน “ย่านสามแพร่ง” อันได้แก่ แพร่งภูธร แพร่งนรา และแพร่งสรรพศาสตร์ ที่เป็นทั้งแหล่งประวัติศาสตร์ แหล่งของกินอร่อยหลากหลาย และแหล่งขายของใช้เช่นอุปกรณ์เดินป่า เป็นต้น บริเวณนี้ยังมีสะพานในชุด “เจริญ” อีกแห่งหนึ่งคือ “สะพานเจริญศรี 34” สะพานที่ 4 ของสะพานชุดเจริญที่รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อทรงเจริญพระชนมพรรษา 34 พรรษา สะพานนี้ยังอยู่ใกล้กับ “วัดบุรณศิริมาตยาราม” พระอารามหลวงชั้นตรีที่เจ้าพระยาสุธรรมมรตรี (บุญศรี บุรณศิริ) เป็นผู้สร้างในสถานที่ที่เป็นบ้านเกิดของท่านเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งเป็นพระยาพิพัฒน์โกษาในสมัยรัชกาลที่ 3 แต่เดิมชื่อวัดศิริอำมาตยาราม ต่อมารัชกาลที่ 5 ทรงเปลี่ยนชื่อวัดเป็นวัดบุรณศิริมาตยาราม
มาถึงบริเวณนี้เราเริ่มเข้าสู่ถนนที่จอแจแต่มีเสน่ห์แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ นั่นก็คือ “ถนนราชดำเนิน” เราเดินข้าม “สะพานผ่านพิภพลีลา” สะพานข้ามคลองคูเมืองเดิมเพื่อเชื่อมถนนราชดำเนินในกับถนนราชดำเนินนอก ได้เดินผ่านสนามหลวง ที่เพิ่งจะมีการชุมนุมที่ท้องสนามหลวงเพื่อแสดงพลังความจงรักภักดีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผ่านพ้นไป
เมื่อเดินผ่าน “วัดบวรสถานสุทธาวาส” หรือพระแก้ววังหน้า วัดที่อาจไม่ค่อยมีใครรู้จักมากนักเพราะตั้งอยู่ในเขตของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ หรือวิทยาลัยนาฏศิลป์ที่ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฝั่งพระนคร ก็แสดงว่าใกล้จะถึงปากคลองคูเมืองเดิมอีกด้านหนึ่งแล้ว บริเวณนี้เคยเรียกว่าคลองโรงไหมวังหน้า เพราะตั้งอยู่ใกล้กับโรงไหมหลวงในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอศิลป
และแล้วเราก็มาถึงปากคลองอีกด้านหนึ่งจนได้ บริเวณนี้แต่ก่อนเคยเป็นที่ตั้งของสะพานสำคัญอีกแห่งหนึ่งคือ “สะพานเฉลิมสวรรค์ 58” สะพานชุดเฉลิมที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุ 58 พรรษา แต่ปัจจุบันตัวสะพานได้เปลี่ยนไปเป็นถนนลอดใต้สะพานพระปิ่นเกล้าไปแล้ว
และนี่ก็คือเส้นทางเดินเท้าท่องเที่ยวที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งที่ทำให้รู้เรื่องราวของคลองคูเมืองเดิม คลองสายประวัติศาสตร์ที่หลายคนเห็นผ่านตากันไปจนชิน แต่อาจยังไม่รู้ที่มาของคลองสายนี้ก็เป็นได้
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สอบถามรายละเอียดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์กับชมรมสยามทัศน์ได้ที่ โทร.08-1343-4261