“ทองตะนาว” ถือเป็นชื่อแบรนด์ที่ไม่ได้บ่งบอกถึงความเป็นผลิตภัณฑ์ของธูปหอม สักเท่าไหร่นัก แต่ชื่อแบรนด์บางครั้งก็ไม่สำคัญเท่ากับคุณภาพสินค้า และความใส่ใจในสุขภาพผู้บริโภค ซึ่งธูปหอมทองตะนาว ถือเป็นผู้ประกอบการที่ไม่ผลิตสินค้าไหลไปตามกระแส แต่ยังศึกษาข้อมูลในส่วนของธูปมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อรู้ว่าสินค้าที่ผลิตอยู่นั้น ควันธูปมีสารที่สามารถก่อมะเร็งในร่างกายมนุษย์ก็รีบปรับตัวหาวัตถุดิบจากธรรมชาติมาทดแทน ช่วงชิงตลาดได้ก่อนเจ้าอื่น
อาจารย์ลำไพ ทองตะนาว เจ้าของผลิตภัณฑ์ธูปหอมทองตะนาว จ.อุทัยธานี เล่าว่า จากเดิมตนเองได้ทำธูปมาหลายปี ซึ่งเป็นธูปธรรมดาทั่วไปที่มาขายตามท้องตลาดที่ทำมาจากขี้เลื่อย แต่เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการวิจัยออกมาจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ว่าควันธูปเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นอันตรายต่อผู้ที่สูดดมเข้าไปทำให้อาจารย์ลำไพ ซึ่งไม่ต้องการผลิตสินค้าที่ทำอันตรายต่อร่างกายลูกค้าอยู่แล้ว จึงคิดปรับเปลี่ยน โดยใช้ดอกไม้ ที่จากเดิมนำมาทำเป็นตัวสร้างกลิ่นหอมให้กับธูป เช่น มะลิ กุหลาบ โดยสั่งซื้อที่จังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นแหล่งปลูกขนาดใหญ่ ที่จัดส่งให้กับปากคลองตลาด มาลองทำเป็นธูปหอมอโรม่าแทน
“จากเดิมที่เราใช้ขี้เลื่อยมาทำเป็นธูป ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นวัสดุที่มาจากธรรมชาติมาขึ้น เช่นดอกไม้นานาชนิด โดยจะแยกทำเป็น 2 ส่วน คือ ขั้นตอนแรกจะนำดอกไม้เช่น ดอกมะลิ กระดังงา กุหลาบ มาอบและสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย ส่วนดอกไม้ที่เหลือก็นำไปตากแดดให้แห้ง และบดแบบหยาบ พร้อมกับนำมาผสมกับน้ำมันคลุกเคล้าให้เข้ากัน แล้วนำแกนธูปมาจุ่มลงไปเพื่อทำเป็นธูป ในขณะที่น้ำมันหอมระเหยที่สกัดมาได้จากดอกไม้ ก็นำมาคลุกกับซังข้าวโพดประมาณ 4 ครั้ง แล้วนำมาทดสอบกลิ่นมาให้ตรงตามคุณภาพที่ตั้งไว้ แต่หากกลิ่นยังออกมาไม่มาก เราจะมีสเปรย์สำหรับฉีดกลิ่นแต่ละชนิดลงไป ซึ่งก็มาจากธรรมชาติล้วนๆ ส่วนสีที่นำมาทำเป็นธูปก็มาจากสีผสมอาหาร”
ปัจจุบันธูปหอมทองตะนาวได้ออกแบบมาเป็น 7 สี 7 กลิ่น ซึ่งล้วนมาจากดอกไม้ไทยล้วนๆ ได้แก่ กระดังงา มะลิ กุหลาบ กล้วยไม้ จำปี ดอกบัว และดอกแก้ว ส่วนก็แบ่งออกเป็น 7 สีเช่นกัน โดยทางอาจารย์ลำไพ ยึดตำราภูมิชาติเป็นหลัก หวังเจาะกลุ่มลูกค้าที่นิยมไหว้พระจากสีธูปตามวันเกิดตนเอง คือ คนที่เกิดวันอาทิตย์ ธูปสีแดง ใช้กลิ่นดอกแก้ว, วันจันทร์ สีเหลือง กลิ่นดอกกระดังงา, วันอังคาร สีชมพู กลิ่นดอกกุหลาบ (ขายดีที่สุด คนนิยมนำไหว้รัชกาลที่ 5) , วันพุธ สีเขียว กลิ่นดอกจำปีหรือจำปา, วันพฤหัสบดี สีส้ม กลิ่นดอกบัวสาย, วันศุกร์ สีฟ้า กลิ่นดอกมะลิ และวันเสาร์ สีม่วง กลิ่นดอกกล้วยไม้ เป็นต้น
ส่วนในกระบวนการผลิต อาจารย์ลำไพ บอกว่า จะเป็นการกระจายงานตามบ้าน เพื่อกระจายรายได้ให้ทั่วถึงในหมู่บ้าน รวมถึงนักเรียนมัธยมที่ต้องการหารายได้พิเศษ ซึ่งปัจจุบันก็มีนักเรียนมาผลิตธูปให้เช่นกัน ซึ่งจะแบ่งเป็นกลุ่มโดยมีการจัดตั้งหัวหน้ากลุ่มสำหรับตรวจสอบคุณภาพสินค้า ก่อนจัดส่งให้กับอาจารย์ลำไพ โดยรายได้จะคิดเป็นกิโลกรัม คือ ธูปแบบก้านยาว (1 ก.ก. มีประมาณ 900 ก้าน) 8 บาท/ก.ก. และธูปก้านสั้น (1 ก.ก. มีประมาณ 1,800 ก้าน) 10 บาท/ก.ก. โดยมีกำลังการผลิตอยู่ที่ประมาณ 200 กิโลกรัม/คน ซึ่งขณะนี้หลายคนได้ยึดเป็นรายได้หลักไปแล้ว
นอกจากนี้ธูปหอมทองตะนาวยังเจาะตลาดต่างประเทศอีกด้วย โดยมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 40% และขายในไทยอีก 60% โดยตลาดหลักในต่างประเทศอยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส อิตาลี มาเลเซีย (นิยมใช้ธูปดำในการบูชาพระศิวะ) ในส่วนของเทียนหอมอโรม่า ทางร้านก็ผลิตด้วยโดยใช้วัตถุดิบให้ความหอมตัวเดียวกันคือดอกไม้แห้ง ที่เน้นการออกแบบเป็นชุดของขวัญ ซึ่งผลิตภัณฑ์นี้เป็นเหมือนการต่อยอดสินค้าประเภทธูป เพราะเมื่อผลิตธูปขึ้นมาได้ การที่จะจัดเป็นชุดของขวัญจำเป็นต้องมีเทียนควบคู่กันไปด้วย เพื่อความสวยงาม และความลงตัวที่สมบูรณ์แบบ
เป็นระยะเวลานานกว่า 16 ปี ที่อาจารย์ลำไพ ผลิตธูปที่เน้นคุณภาพ ทำให้รัฐบาลเล็งเห็นถึงความตั้งใจ โดยล่าสุดในปี 2547 ธูปหอมทองตะนาวได้รับรางวัล PM Award (Prime Minister Award) ในส่วนของสินค้าโอทอปอีกด้วย ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ธูปหอมทองตะนาวมีจำหน่ายที่จตุจักรพลาซ่า โซน C , ห้างจังซีลอน จ.ภูเก็ต และร้านเอสดี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เป็นต้น
***สนใจติดต่อ 08-1973-2931***