xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนยักษ์ “สามผา” ของจีนกำลัง“ล้าสมัย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปักกิ่ง– สิบห้าปีหลังจากดินระเบิดคำรามกัมปนาทขึ้นทำลายความสงบสันติของบริเวณ “สามผา” (ซานเสีย) อันน่าตื่นตาตื่นใจของประเทศจีนเป็นครั้งแรก มาถึงตอนนี้การก่อสร้าง “เขื่อนสามผา” (ซานเสียต้าป้า Three Gorges Dam) ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจแห่งความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมของจีน ก็กำลังใกล้ที่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ทว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ระงมกึกก้องออกมาประดุจการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ ต่อเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกและใช้ต้นทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าจะยุติจางคลายไปเลย

เพียงอีกไม่กี่วันข้างหน้า ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำยักษ์ที่เกิดจากการผันน้ำและกั้นแม่น้ำแยงซีของเขื่อนสามผา ก็จะไต่ระดับขึ้นไปถึงความสูงขั้นสุดท้าย นั่นคือที่ 175 เมตร ทว่าพร้อมๆ กับทุกๆ เมตรของปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่อภิมหาชามอ่างคอนกรีตแห่งนี้ กระแสคัดค้านภายในประเทศก็กลับเพิ่มทวีขึ้น และเสียงของนักวิพากษ์วิจารณ์ระหว่างประเทศก็ดังอึงคนึงยิ่งขึ้นด้วย

ไม่เหมือน 12 ปีก่อน เมื่อตอนที่ปักกิ่งจัดการเฉลิมฉลองอย่างประณีตบรรจง เนื่องในวาระที่น้ำของแม่น้ำแยงซีไหลเบนไปสู่จุดที่จะเป็นเขื่อนยักษ์ในอนาคต สำหรับครั้งนี้พวกเจ้าหน้าที่และวิศวกรพากันระลึกถึงวาระที่เขื่อนแห่งนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์กันอย่างเงียบๆ แทบจะสังเกตไม่เห็น

ภายในประเทศ พวกเขากำลังเผชิญกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า การผันน้ำเติมเข้าไปในเขื่อน กำลังทำให้ภาวะภัยแล้งในแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก ส่วนภายนอกประเทศ ที่จีนพยายามหาทางส่งออกแบบจำลองการพัฒนาแบบ “สามผา” ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยการสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ เฉกเช่นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดยักษ์เช่นนี้ พวกวิศวกรจีนก็ต้องประสบกับแรงคัดค้านในประเทศต่างๆ ทั้งนี้นักการทูตจีนกำลังได้เห็นระลอกคลื่นแห่งความไม่พอใจที่ซัดสาดสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ปักกิ่งพยายามขยาย “การทูตไฟฟ้าพลังน้ำ” ไปทั่วเอเชียและแอฟริกา

กระนั้นก็ตาม เหตุผลหนักแน่นที่สุดที่ทำให้ปักกิ่งต้องบันยะบันยังการจุดพลุดอกไม้ไฟเอาไว้ อาจจะเป็นเพราะว่าเขื่อนสามผากำลังมีสภาพเป็นอนุสาวรีย์แห่งความทะเยอทะยานที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว ในขณะที่จีนกำลังหันไปหา “พลังงานหมุนเวียน” รูปแบบใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ และกระทั่งอวดอ้างความเป็นผู้นำในกระแสคลื่นลูกต่อไปแห่งการพัฒนาสีเขียว เขื่อนยักษ์แห่งนี้จึงเหมือนกลายเป็นการส่งสัญญาณอันสร้างความสับสนว่าแดนมังกรจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไรกันแน่

การสร้างเขื่อนมหึมากั้นแม่น้ำแยงซีเช่นนี้ สามารถสาวย้อนหลังไปได้ว่าเป็นความฝันประการหนึ่งของซุนยัตเซ็น บิดาผู้สถาปนาประเทศจีนสมัยใหม่ด้วยการโค่นล้มราชวงศ์ชิงในปี 1911 ประธานเหมาเจ๋อตงก็เป็นผู้สั่งให้ขุดดินก้อนแรก ๆในโครงการนี้ เพียงแต่ว่าความปั่นป่วนวุ่นวายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (ปี1966-76) ได้เข้ามาขัดขวางทำให้โครงการต้องหยุดชะงักไป ผู้นำทั้งสองคนนี้ต่างเห็นว่าเขื่อนยักษ์คือหนทางที่จะควบคุมภัยน้ำท่วมที่สร้างภัยพิบัติต่อดินแดนตอนล่างของลุ่มแม่น้ำแยงซีอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งจะเป็นกระดูกสันหลังให้แก่โครงข่ายกระแสไฟฟ้าระดับชาติได้ด้วย

บัดนี้มันไม่ใช่ความฝันอีกต่อไปแล้วแต่คือความเป็นจริง เขื่อนสามผามีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 18,000 เมกะวัตต์ ทว่าในกระบวนการของการก่อสร้างได้ทำให้หมู่บ้าน 1,350 แห่งต้องจมน้ำไป และประชาชน 1.3 ล้านคนต้องอพยพพลัดพรากจากบ้านเรือนที่เคยอยู่อาศัย

มันไม่เพียงเป็นโครงการไฟฟ้าพลังงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น หากยังเป็นโครงการที่มีค่าใช้จ่ายแพงที่สุดเท่าที่เคยมีมาอีกด้วย เมื่อตอนที่ได้รับการอนุมัติให้เดินหน้าสร้างได้ในปี 1992 มีการประมาณการเอาไว้ว่าเขื่อนนี้จะต้องใช้เงินลงทุน 57,000 ล้านหยวน (8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อเวลาผ่านไป มันก็เพิ่มขึ้นกลายเป็น 27,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าถือตามตัวเลขที่รัฐบาลจีนยอมรับ และทะยานไปถึง 88,000 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำตามการประมาณการของบุคคลภายนอกบางราย

ค่าใช้จ่ายแอบแฝงของเขื่อนแห่งนี้ยังกำลังเริ่มต้นปรากฏออกมาให้เห็นในเวลานี้ การปิดกั้นกระแสน้ำในแม่น้ำได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแยงซีในระดับที่กำลังทำให้พวกโลมาแม่น้ำและปลาสเตอร์เจียนทำท่าจะต้องสูญพันธุ์ การประมงเพื่อการพาณิชย์ในแยงซีและบริเวณนอกปากแม่น้ำในทะเลจีนตะวันออก ก็เสื่อมทรุดอย่างฮวบฮาบ ผลข้างเคียงที่เป็นความหายนะอย่างอื่นๆ ยังมีอาทิ แหล่งน้ำจืดต่างๆ เกิดเป็นมลพิษ, ดินถล่มอย่างรุนแรงที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิต, และความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวก็เพิ่มสูงขึ้น

ในเดือนกันยายน 2007 เจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายคนยอมรับว่า “ถ้าหากไม่ดำเนินมาตรการในทางระวังป้องกันแล้ว ก็อาจจะกลายเป็นภาวะล่มสลายทางสิ่งแวดล้อม”

ปัจจุบันพวกนักการเมืองจีนกำลังหันมาพูดกันถึงเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “ปล่อยไอเสียคาร์บอนให้น้อยๆ” และการพรรณนาความยิ่งใหญ่ของประเทศจีนจากแง่มุมของเขื่อนยักษ์ขนาดมหึมาจึงไม่ใช่เป็นประโยคเด็ดประจำวันอีกต่อไปแล้ว

บัดนี้ประเทศจีนเป็นผู้นำในการผลิตก๊าซเรือนกระจกของโลก และในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็กำลังก้าวเดินไปอย่างคึกคักบนเส้นทางแห่งการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก จีนกำลังวางแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น, กลายเป็นชาติระดับแนวหน้าในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังลมและพลังแสงอาทิตย์, รวมทั้งกำลังเพิ่มประสิทธิผลของการใช้พลังงานในอาคารสร้างใหม่ทั้งหมดอย่างน่าตื่นใจ

(เก็บความและตัดตอนจากเรื่องChina’s Three Gorges Dam comes of age โดย Antoaneta Bezlova แห่งสำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น