xs
xsm
sm
md
lg

เขื่อนยักษ์ “สามผา” ของจีนกำลัง“ล้าสมัย”

เผยแพร่:   โดย: อันโตอาเนตา เบซโลวา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China’s Three Gorges Dam comes of age
By Antoaneta Bezlova
03/11/2009

สิบห้าปีผ่านไปนับตั้งแต่เริ่มต้นการก่อสร้าง และสิ้นค่าใช้จ่ายมหาศาลระหว่าง 8,000 ล้าน ถึง 27,000 ล้านดอลลาร์ ในเร็ววันนี้ระดับน้ำในอ่างเก็บกักน้ำยักษ์หลัง “เขื่อนสามผา” บนแม่น้ำแยงซีเกียง ก็จะเพิ่มถึงระดับสูงสุดขั้นสุดท้ายนั่นคือที่ 175 เมตร อย่างไรก็ดี พวกเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกลับไม่คิดที่จะจัดการเฉลิมฉลองอย่างเอิกเกริกอะไรนัก เนื่องจากเวลานี้ประเทศจีนกำลังหันไปเสาะแสวงหา “พลังงานหมุนเวียน” รูปแบบใหม่ๆ ทำให้เขื่อนแห่งนี้กลายเป็นอนุสาวรีย์แห่งความทะเยอทะยานที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว

ปักกิ่ง – สิบห้าปีหลังจากดินระเบิดคำรามกัมปนาทขึ้นทำลายความสงบสันติของบริเวณ “สามผา” (ซานเสีย) อันน่าตื่นตาตื่นใจของประเทศจีนเป็นครั้งแรก มาถึงตอนนี้การก่อสร้าง “เขื่อนสามผา” (ซานเสียต้าป้า Three Gorges Dam) ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจแห่งความก้าวหน้าทางด้านวิศวกรรมของจีน ก็กำลังใกล้ที่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ทว่าเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่ระงมกึกก้องออกมาประดุจการระดมยิงด้วยปืนใหญ่ ต่อเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในโลกและใช้ต้นทุนสูงที่สุดในประวัติศาสตร์แห่งนี้ ก็ยังไม่มีทีท่าจะยุติจางคลายไปเลย

เพียงอีกไม่กี่วันข้างหน้า ระดับน้ำในอ่างเก็บน้ำยักษ์ที่เกิดจากการผันน้ำและกั้นแม่น้ำแยงซีของเขื่อนสามผา ก็จะไต่ระดับขึ้นไปถึงความสูงขั้นสุดท้าย นั่นคือที่ 175 เมตร ทว่าพร้อมๆ กับทุกๆ เมตรของปริมาณน้ำที่ไหลลงสู่อภิมหาชามอ่างคอนกรีตแห่งนี้ กระแสคัดค้านภายในประเทศก็กลับเพิ่มทวีขึ้น และเสียงของนักวิพากษ์วิจารณ์ระหว่างประเทศก็ดังอึงคนึงยิ่งขึ้นด้วย

ไม่เหมือน 12 ปีก่อน เมื่อตอนที่ปักกิ่งจัดการเฉลิมฉลองอย่างประณีตบรรจง เนื่องในวาระที่น้ำของแม่น้ำแยงซีไหลเบนไปสู่จุดที่จะเป็นเขื่อนยักษ์ในอนาคต สำหรับครั้งนี้พวกเจ้าหน้าที่และวิศวกรพากันระลึกถึงวาระที่เขื่อนแห่งนี้เสร็จสิ้นสมบูรณ์กันอย่างเงียบๆ แทบจะสังเกตไม่เห็น

ภายในประเทศ พวกเขากำลังเผชิญกับการถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า การผันน้ำเติมเข้าไปในเขื่อน กำลังทำให้ภาวะภัยแล้งในแถบสามเหลี่ยมปากแม่น้ำยิ่งรุนแรงขึ้นไปอีก ส่วนภายนอกประเทศ ที่จีนพยายามหาทางส่งออกแบบจำลองการพัฒนาแบบ “สามผา” ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศด้วยการสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ๆ เฉกเช่นเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดยักษ์เช่นนี้ พวกวิศวกรจีนก็ต้องประสบกับแรงคัดค้านในประเทศต่างๆ ทั้งนี้นักการทูตจีนกำลังได้เห็นระลอกคลื่นแห่งความไม่พอใจที่ซัดสาดสูงขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ปักกิ่งพยายามขยาย “การทูตไฟฟ้าพลังน้ำ” ไปทั่วเอเชียและแอฟริกา

กระนั้นก็ตาม เหตุผลหนักแน่นที่สุดที่ทำให้ปักกิ่งต้องบันยะบันยังการจุดพลุดอกไม้ไฟเอาไว้ อาจจะเป็นเพราะว่าเขื่อนสามผากำลังมีสภาพเป็นอนุสาวรีย์แห่งความทะเยอทะยานที่ล้าสมัยไปเสียแล้ว ในขณะที่จีนกำลังหันไปหา “พลังงานหมุนเวียน” (renewable energy)รูปแบบใหม่ๆ มากขึ้นเรื่อยๆ และกระทั่งอวดอ้างควาเมป็นผู้นำในกระแสคลื่นลูกต่อไปแห่งการพัฒนาสีเขียว เขื่อนยักษ์แห่งนี้จึงเหมือนกลายเป็นการส่งสัญญาณอันสร้างความสับสนว่าแดนมังกรจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไรกันแน่

“เขื่อนสามผาเป็นแบบจำลองสำหรับใช้กันในอดีต” เป็นความเห็นของปีเตอร์ บอสชาร์ด (Peter Bosshard) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายขององค์การแม่น้ำระหว่างประเทศ (International Rivers)ซึ่งตั้งสำนักงานอยู่ในแคลิฟอร์เนีย และประกาศภารกิจที่จะ “คุ้มครองแม่น้ำและชุมชนที่พึ่งพาอาศัยแม่น้ำ”

“มีวิธีที่ฉลาดกว่าตั้งเยอะในการที่เราจะผลิตไฟฟ้าและบริหารจัดการน้ำท่วม ดีกว่าจะไปสร้างโครงการขนาดยักษ์ๆ ทั้งหลายซึ่งล้าสมัยไปเสียแล้ว” บอสชาร์ดกล่าวต่อ

การสร้างเขื่อนมหึมากั้นแม่น้ำแยงซีเช่นนี้ สามารถสาวย้อนหลังไปได้ว่าเป็นความฝันประการหนึ่งของซุนยัตเซ็น บิดาผู้สถาปนาประเทศจีนสมัยใหม่ด้วยการโค่นล้มราชวงศ์ชิงในปี 1911 ประธานเหมาเจ๋อตงก็เป็นผู้สั่งให้ขุดดินก้อนแรก ๆในโครงการนี้ เพียงแต่ว่าความปั่นป่วนวุ่นวายของการปฏิวัติทางวัฒนธรรม (ปี1966-76) ได้เข้ามาขัดขวางทำให้โครงการต้องหยุดชะงักไป ผู้นำทั้งสองคนนี้ต่างเห็นว่าเขื่อนยักษ์คือหนทางที่จะควบคุมภัยน้ำท่วมที่สร้างภัยพิบัติต่อดินแดนตอนล่างของลุ่มแม่น้ำแยงซีอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งจะเป็นกระดูกสันหลังให้แก่โครงข่ายกระแสไฟฟ้าระดับชาติได้ด้วย

บัดนี้มันไม่ใช่ความฝันอีกต่อไปแล้วแต่คือความเป็นจริง เขื่อนสามผามีศักยภาพที่จะผลิตไฟฟ้าได้ถึง 18,000 เมกะวัตต์ ทว่าในกระบวนการของการก่อสร้างได้ทำให้หมู่บ้าน 1,350 แห่งต้องจมน้ำไป และประชาชน 1.3 ล้านคนต้องอพยพพลัดพรากจากบ้านเรือนที่เคยอยู่อาศัย

มันไม่เพียงเป็นโครงการไฟฟ้าพลังงานที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเท่านั้น หากยังเป็นโครงการที่มีค่าใช้จ่ายแพงที่สุดเท่าที่เคยมีมาอีกด้วย เมื่อตอนที่ได้รับการอนุมัติให้เดินหน้าสร้างได้ในปี 1992 มีการประมาณการเอาไว้ว่าเขื่อนนี้จะต้องใช้เงินลงทุน 57,000 ล้านหยวน (8,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เมื่อเวลาผ่านไป มันก็เพิ่มขึ้นกลายเป็น 27,000 ล้านดอลลาร์ ถ้าถือตามตัวเลขที่รัฐบาลจีนยอมรับ และทะยานไปถึง 88,000 ล้านดอลลาร์ด้วยซ้ำตามการประมาณการของบุคคลภายนอกบางราย

ค่าใช้จ่ายแอบแฝงของเขื่อนแห่งนี้ยังกำลังเริ่มต้นปรากฏออกมาให้เห็นในเวลานี้ การปิดกั้นกระแสน้ำในแม่น้ำได้เปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของแยงซีในระดับที่กำลังทำให้พวกโลมาแม่น้ำและปลาสเตอร์เจียนทำท่าจะต้องสูญพันธุ์ การประมงเพื่อการพาณิชย์ในแยงซีและบริเวณนอกปากแม่น้ำในทะเลจีนตะวันออก ก็เสื่อมทรุดอย่างฮวบฮาบ ผลข้างเคียงที่เป็นความหายนะอย่างอื่นๆ ยังมีอาทิ แหล่งน้ำจืดต่างๆ เกิดเป็นมลพิษ, ดินถล่มอย่างรุนแรงที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิต, และความเสี่ยงที่จะเกิดแผ่นดินไหวก็เพิ่มสูงขึ้น

ในเดือนกันยายน 2007 เจ้าหน้าที่รัฐบาลหลายคนยอมรับว่า “ถ้าหากไม่ดำเนินมาตรการในทางระวังป้องกันแล้ว ก็อาจจะกลายเป็นภาวะล่มสลายทางสิ่งแวดล้อม”

อดีตนายกรัฐมนตรี หลี่เผิง ผู้ร่ำเรียนสำเร็จการศึกษามาจากวิศวกรรมศาสตร์นั่นเอง ที่เป็นพลังขับดันเบื้องหลังโครงการนี้ และก็จะเป็นที่จดจำรำลึกเนื่องจากเขื่อนแห่งนี้ด้วย ในปี 1992 หลี่พยายามอย่างหนักจนประสบความสำเร็จในการกดข่มเสียงคัดค้านต่อโครงการนี้ภายในประเทศจีน และกระทุ้งกดดันจนรัฐสภาอนุมัติให้สร้างเขื่อน พวกผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความพยายามเหล่านี้มีแรงจูงใจจากการที่หลี่ปรารถนาที่จะสร้างมรดกทางการเมืองของตัวเขาขึ้นมาใหม่ ภายหลังการปราบปรามประชาธิปไตยที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเมื่อปี 1989 ซึ่งเขาเป็นผู้กำกับควบคุม

การก่อสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำแยงซี “เป็นเหตุการณ์ที่ไม่เพียงแต่สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ประชาชนเท่านั้น หากยังสาธิตให้เห็นความยิ่งใหญ่แห่งผลสำเร็จของการพัฒนาประเทศจีนอีกด้วย” เขากล่าวเช่นนี้ในปี 1997 ขณะเป็นประธานในพิธีฉลองวาระการผันแม่น้ำไปสู่จุดที่จะสร้างเขื่อน

ทว่าในเวลานี้ พวกนักการเมืองจีนกลับกำลังพูดกันถึงเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “ปล่อยไอเสียคาร์บอนให้น้อยๆ” และการพรรณนาความยิ่งใหญ่ของประเทศจีนจากแง่มุมของเขื่อนยักษ์ขนาดมหึมาจึงไม่ใช่เป็นประโยคเด็ดประจำวันอีกต่อไปแล้ว

บัดนี้ประเทศจีนเป็นผู้นำในการผลิตก๊าซเรือนกระจกของโลก และในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมาก็กำลังก้าวเดินไปอย่างคึกคักบนเส้นทางแห่งการพัฒนาแหล่งพลังงานทางเลือก จีนกำลังวางแผนที่จะสร้างโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์เพิ่มขึ้น, กลายเป็นชาติระดับแนวหน้าในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังลมและพลังแสงอาทิตย์, รวมทั้งกำลังเพิ่มประสิทธิผลของการใช้พลังงานในอาคารสร้างใหม่ทั้งหมดอย่างน่าตื่นใจ

แต่การอภิปรายถกเถียงกันเกี่ยวกับวิธีการที่จะเดินหน้าเพื่อพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำ ก็ยังคงดำเนินอยู่ ถึงแม้วิธีการผลิตไฟฟ้าเช่นนี้จะก่อให้เกิดความขัดแย้งกันอย่างหนัก เนื่องจากมันส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศของแม่น้ำ

เวลานี้จีนเป็นผู้นำของโลกในด้านการมีศักยภาพความสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังน้ำ ทั้งนี้เมื่อวัดจากศักยภาพที่มีการก่อสร้างเสร็จสรรพพร้อมใช้งานแล้ว กล่าวคือ มีความสามารถที่จะผลิตได้ 150 กิกะวัตต์ (GW) ทั้งนี้ตามข้อมูลของสมาคมไฟฟ้าพลังน้ำ (International Hydropower Association) ที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงลอนดอน และก็เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังน้ำทั่วโลก รัฐบาลจีนยังมีแผนการที่จะขยายศักยภาพนี้ต่อไปในอนาคตจนถึงระดับ 700 กิกะวัตต์อีกด้วย

แดนมังกรกำลังวางแผนที่จะสร้างเขื่อนมากกว่า 100 แห่ง ในบริเวณตอนกลางและตอนบนของแม่น้ำแยงซี ยิ่งกว่านั้น จีนยังกำลังกระตือรือร้นหาทางส่งออกความเชี่ยวชาญ “สามผา” ไปยังต่างประเทศ โดยกำลังเซ็นสัญญาเพื่อสร้างโครงการไฟฟ้าพลังน้ำขึ้นในประเทศต่างๆ ตั้งแต่กัมพูชาไปจนถึงปากีสถานและไนจีเรีย

พวกผู้สนับสนุนอุตสาหกรรมไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศจีน แสดงท่าทีอย่างเปิดเผยชัดเจนว่าพวกเขาสนับสนุนให้สร้างเขื่อนกันมากขึ้น พานเจียเจิง (Pan Jiazheng) นักอุทกวิทยาแห่งบัณฑิตสถานทางวิศวกรรมศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Engineering) ให้เหตุผลว่า ในประเทศจีนนั้น แหล่งพลังงานหมุนเวียน ซึ่งนำมาพัฒนาในขนาดขอบเขตที่ใหญ่โตได้ ก็มีเพียงพลังน้ำเท่านั้น

“การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำคือหนทางที่เป็นไปได้เพียงหนทางเดียวที่จะช่วยลดทอนการบริโภคถ่านหินของประเทศจีน” พานกล่าว “พวกที่โต้แย้งว่าไฟฟ้าพลังน้ำไม่ใช่เป็นพลังงานสะอาดนั้น จะต้องกลับมาถามตัวเองว่า ในการพัฒนาแบบสะอาดปลอดมลพิษของประเทศจีนนั้น ยังจะมีภารกิจอะไรอีกหรือที่จะเร่งด่วนไปกว่าการหาทางทำให้ลดการใช้ถ่านหินลง”

ในปี 2008 กระแสไฟฟ้าที่ได้จากการเผาถ่านหินตลอดจนน้ำมันเตาเพื่อปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้านั้น คิดเป็นประมาณ 80%ของผลผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศจีน ไฟฟ้าพลังน้ำเป็นผู้ปั่นกระแสไฟฟ้าให้ประเทศราว 16.4% ส่วนพลังงานนิวเคลียร์มีส่วนอยู่ไม่ถึง 2% ขณะที่จีนกำลังวิ่งนำหน้าใครเพื่อนในการเพิ่มศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังลมและพลังแสงอาทิตย์ แต่กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าประเภทเหล่านี้ก็ยังเห็นกันว่ามีต้นทุนสูงเกินไป อีกทั้งไม่เพียงพอที่จะสนองความต้องการบริโภคอย่างไม่รู้อิ่มของประเทศนี้

อย่างไรก็ดี พวกที่วิพากษ์วิจารณ์การขยายโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ก็เสนอข้อโต้แย้งที่ทรงพลังพอๆ กัน

“การที่เชื่อว่าไฟฟ้าพลังน้ำมีคุณค่าเท่ากับพลังงานสีเขียว คือหลักวิทยาศาสตร์แบบครึ่งๆ กลางๆ” เป็นคำกล่าวของเจิ้งอี้เซิง (Zheng Yisheng) ผู้ทำงานวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา ณ บัณฑิตสถานทางสังคมศาสตร์ของจีน (Chinese Academy of Social Sciences) “คุณไม่สามารถมองแม่น้ำในฐานะที่เป็นแหล่งที่จะสร้างพลังงานขึ้นเท่านั้น แล้วเลือกที่จะเพิกเฉยละเลยหน้าที่ทางด้านนิเวศวิทยาของแม่น้ำในฐานะที่เป็นระบบนิเวศ ประชาชนต้องการพลังงานไฟฟ้าก็จริง แต่พวกเขาก็จำเป็นต้องมีสถานที่สำหรับพำนักอาศัยด้วยนะ”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น