xs
xsm
sm
md
lg

“ผลประโยชน์อันสำคัญที่สุด”ของจีน

เผยแพร่:   โดย: อู่จง

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China cut to the core
By Wu Zhong
18/08/2009

หลังจากเวลาล่วงเลยไปหลายสิบปี ในที่สุดเจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของจีนก็ออกมาประกาศรายการสิ่งที่ถือเป็น “ผลประโยชน์อันสำคัญที่สุด” ของจีน ซึ่งประเทศอื่นๆ จักต้องให้ความเคารพไม่มาล่วงละเมิด ปรากฏว่ากลับมีพวกชาตินิยมจำนวนมากมายดาหน้ากันออกมาตราหน้าเจ้าหน้าที่ผู้นี้ว่าเป็น “คนทรยศ” เนื่องจากในรายการของเขาดูเหมือนกับจัดให้เรื่องการอยู่รอดของคณะผู้นำจีน มีความสำคัญเหนือกว่าเรื่องความครบถ้วนบริบูรณ์แห่งดินแดนของประเทศชาติ อย่างไรก็ตาม พวกนักวิจารณ์เหล่านี้กำลังมองประเด็นผิดพลาดไปอย่างร้ายแรงเสียแล้ว

ฮ่องกง –ตอนที่เจ้าหน้าที่จีนผู้หนึ่งออกมาเรียกร้องเมื่อไม่นานมานี้ ให้ชาติต่างๆ ทั่วโลกเคารพ “ผลประโยชน์อันสำคัญที่สุด” (core interests) ของจีนนั้น เขาอาจจะไม่ได้คาดหมายเลยว่ามันจะนำไปสู่การกล่าวหาว่า คณะผู้นำจีนรู้สึกว่าการอยู่รอดทางการเมืองของพวกเขาเอง มีความสำคัญเหนือกว่าเรื่องความครบถ้วนบริบูรณ์แห่งดินแดนของประเทศชาติ

“การที่จะเกิดความมั่นใจขึ้นมาว่า ความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯจะมีการพัฒนากันอย่างเป็นระยะยาว, มีความแข็งแรงสมบูรณ์, และมีเสถียรภาพนั้น มีเงื่อนไขที่สำคัญอย่างยิ่งยวดประการหนึ่ง นั่นคือ เราจำเป็นที่จะต้องสนับสนุน, เคารพ, และเข้าใจกันและกัน, และจำเป็นต้องธำรงรักษาสิ่งต่างๆ ที่ถือเป็นผลประโยชน์อันสำคัญที่สุดของเรา” ไต้ปิงกว๋อ มนตรีแห่งรัฐ (state councilor) ของจีนกล่าวในช่วงสรุปของ การสนทนาทางยุทธศาสตร์และเศรษฐกิจจีน-สหรัฐฯ (Sino-US Strategic and Economic Dialogue) ครั้งปฐมฤกษ์ในกรุงวอชิงตันเมื่อปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

จากนั้นเขาก็ประกาศรายการสิ่งที่ถือเป็นผลประโยชน์อันสำคัญที่สุดของจีนรวม 3 อย่างโดยเรียงตามลำดับความสำคัญ อย่างแรกคือ การอยู่รอดของ “ระบบในระดับรากฐาน” (fundamental system) ของจีนและความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติ, อย่างที่สอง การพิทักษ์ปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน, และอย่างที่สาม การธำรงให้เศรษฐกิจมีการเจริญเติบโตและสังคมมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

คำแถลงคราวนี้ต้องได้รับการหนุนหลังสนับสนุนจากศูนย์กลางแห่งอำนาจของจีนในจงหนานไห่ อันเป็นเขตกองบัญชาการของพรรคคอมมิวนิสต์และรัฐบาลจีนในกรุงปักกิ่ง อย่างแน่นอน

โจวเอินไหล ผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจีนตั้งแต่ปี 1949 ถึง 1976 ได้กล่าวสรุปหลักการสำคัญประการหนึ่งเอาไว้ว่า “ในทางการทูตแล้วไม่มีอะไรเลยที่สามารถถือเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ” หลักการข้อนี้ยังคงได้รับการปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจากพวกนักการทูตจีน และในฐานะที่เป็นนักการทูตอาชีพ ไต้ย่อมไม่มีทางเลยที่จะละเมิดคติอันสำคัญยิ่งข้อนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคำนึงถึงภูมิหลังของเขา ซึ่งมีฐานะเป็นเสมือนนักมวยระดับเฮฟวีเวตในแวดวงข้าราชการจีน

มนตรีแห่งรัฐของจีนนั้น มีฐานะเทียบเท่ากับรองนายกรัฐมนตรี เป็นตำแหน่งที่สูงกว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวง รวมทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้วย ในฐานะที่เป็นมนตรีแห่งรัฐทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการต่างประเทศ ไต้ซึ่งเวลานี้อายุ 68 ปีจึงเป็นคนในระดับผู้วางนโยบายคนหนึ่ง

ในทางภูมิหลังส่วนตัว ไต้เป็นบุตรเขยของหวงเจิ้น ผู้เคยดำรงตำแหน่งรองรัฐมนตรีต่างประเทศและรัฐมนตรีว่าการวัฒนธรรม ไต้ยังเป็นคนสนิทใกล้ชิดในด้านกิจการต่างประเทศของประธานาธิบดีหูจิ่นเทา ตอนที่มีการประชุมระดับผู้นำของกลุ่ม 8 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี8) ที่เมืองลากวีลา ประเทศอิตาลีในเดือนกรกฎาคม ซึ่งผู้นำจีนได้รับเชิญให้เข้าร่วมด้วย แล้วหูจำเป็นต้องกลับประเทศอย่างกะทันหันเนื่องจากเกิดความรุนแรงขึ้นในซินเจียง ไต้ก็คือผู้ที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่เข้าประชุมแทนเขา

พิจารณาจากความสำคัญภายในประเทศของเขาแล้ว การแถลงของไต้คราวนี้ ซึ่งสื่อมวลชนตะวันตกจำนวนมากละเลยไม่ให้ความสำคัญนั้น กลับเรียกความสนใจและเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในทันทีจากพวกชาตินิยม หลายๆ คนทีเดียวรู้สึกโกรธกริ้วไต้ จากการที่เขาเรียงลำดับรายการผลประโยชน์สำคัญที่สุดของจีน โดยดูเหมือนถือเรื่องการอยู่รอดของ “ระบบในระดับรากฐาน” –ซึ่งในจีนจะเข้าใจกันทันทีว่าหมายถึงระบบการเมืองและระบบสังคมในปัจจุบัน ว่าอยู่เหนือกว่าประเด็นเรื่องอธิปไตยและความครบถ้วนบริบูรณ์แห่งดินแดนของประเทศชาติ

“คำพูดของเขาอธิบายให้เห็นถึงหลักการพื้นฐานของกลุ่มผลประโยชน์ ‘ผู้ยิ่งใหญ่’ ของพวกเรา” บล็อกเกอร์ผู้หนึ่งเขียนเอาไว้ในเว็บไซต์ sina.com.cn “เพื่อปกป้องระบบที่รับใช้ผลประโยชน์ของกลุ่มนี้เอง ดินแดนของประเทศเราก็สามารถตัดเฉือนออกไปได้ อธิปไตยก็สามารถตัดขายออกไปได้ ... “ระบบในระดับรากฐาน” จะสามารถหยิบยกขึ้นมาอ้างว่ามีความสำคัญเทียบเทียมกับอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนได้อย่างไร? ระบบหนึ่งๆ จะมีค่าให้ธำรงรักษาไว้ก็ต่อเมื่อมันเป็นที่ยอมรับของประชาชนเท่านั้น” บล็อกเกอร์รายนี้กล่าว

ในการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ มีบางคนถึงขั้นประทับตราไต้ว่าเป็น “คนทรยศต่อประเทศชาติ” โดยเปรียบเทียบเขาว่าเหมือนกับ หลี่หงจาง นายทหารและขุนนางคนสำคัญที่ครองตำแหน่งใหญ่ในช่วงปี 1871 – 1895 อันเป็นช่วงปลายราชวงศ์ชิง เขาเป็นผู้ลงนามในสนธิสัญญาหลายๆ ฉบับเมื่อปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการยอมจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามตลอดจนยกดินแดนให้แก่พวกมหาอำนาจที่มารุกรานจีน เป็นต้นว่า อังกฤษ และญี่ปุ่น

“จากคำพูดของเขา (ไต้) ความปลอดภัยและความมั่นคงของระบอบปกครองนี้คือ ‘ผลประโยชน์อันสำคัญที่สุด’ เป็นอันดับหนึ่ง ขณะที่เรื่องบูรณภาพแห่งดินแดนกลายเป็นอันดับสอง นี่แสดงให้เห็นตัวตนที่แท้จริงของเขาว่าเป็นคนทรยศต่อประเทศชาติ” เป็นข้อความที่ถูกโพสต์เอาไว้ในเว็บไซต์ Netseas.com “ถ้าไต้ปิงกว๋อพูดอย่างนั้นออกมาจริงๆ เขาก็เลวเสียยิ่งกว่าหลี่หงจาง”

ปฏิกิริยาทางออนไลน์ยังมีที่เป็นการเหน็บแนมถากถางอย่างเจ็บแสบ “ไต้ปิงกว๋อเป็นคนที่ซื่อสัตย์และเขาพูดออกมาอย่างซื่อตรง” บล็อกเกอร์คนหนึ่งเขียนเอาไว้เช่นนี้ “แน่นอนทีเดียว ผลประโยชน์และความมั่นคงของกลุ่ม ‘ที่สำคัญที่สุด’ ก็ต้องยกให้อยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่างอยู่แล้ว”

“พูดอีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นจะต้องอยู่ในอำนาจต่อไป” บล็อกเกอร์อีกรายหนึ่งกล่าว

อย่างไรก็ตาม พวกบล็อกเกอร์เหล่านี้ดูเหมือนจะเข้าใจไต้ผิดพลาดไปเสียแล้ว สิ่งที่ไต้พูดเป็นเพียงการอธิบายถึง “ผลประโยชน์อันสำคัญที่สุด” ของจีนในแง่ของกิจการต่างประเทศ ไม่ใช่ในแง่กิจการในประเทศ การที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนจะกระทำทุกอย่างเพื่อพิทักษ์รักษาระบอบการปกครองของตนนั้น --นี่คือเรื่องการเมืองภายในประเทศ ไม่ใช่เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รัฐบาลย่อมมีสิทธิที่จะเรียกร้องประเทศอื่นๆ ให้ยอมรับว่า เป็นเรื่องถูกต้องชอบธรรมที่ประเทศนั้นๆ ต้องเคารพในระบบการเมืองของจีน

เมื่อมองจากมุมมองเช่นนี้แล้ว คำแถลงของไต้ก็เป็นเพียงการตีความอีกอย่างหนึ่งของหลักการว่าด้วย “การไม่แทรกแซงกิจการภายใน” และ “การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ” ซึ่งปักกิ่งได้ยืนยันมานานแล้วว่าจะต้องนำมาใช้ปฏิบัติในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

บางทีไต้ถูกพวกนักวิจารณ์คนจีนเข้าใจไปผิดๆ เนื่องจากประเด็นปัญหาอย่างเช่น ไต้หวัน, ทิเบต, และซินเจียง เป็นเรื่องที่กระตุ้นความรู้สึกชาตินิยมของผู้คนในจีนอยู่เป็นประจำ มันเกิดขึ้นบ่อยๆ ครั้งจนกระทั่งประเด็นเรื่องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนได้รับการพิจารณาว่าเป็น “ผลประโยชน์อันสำคัญที่สุด” อันดับสูงสุดของประเทศชาติ

ทว่าในทัศนะของปักกิ่งแล้ว เมื่อจีนมีความเข้มแข็งทั้งทางเศรษฐกิจและการทหารเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ มันก็เป็นเรื่องง่ายดายขึ้นมากที่ประเทศจีนจะต่อสู้กับแทรกแซงแบบ “แข็ง” (hard) อย่างโจ่งแจ้งของพวกต่างประเทศ เป็นการแทรกแซงโจ่งแจ้งในประเด็นปัญหาเรื่องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของจีน (เป็นต้นว่าเรื่องไต้หวัน และทิเบต)

เปรียบเทียบกันแล้ว ปักกิ่งมีความกังวลมากกว่าเมื่อต้องเผชิญกับสิ่งที่จีนถือเป็นการแทรกแซงแบบ “อ่อน” อย่างไม่โจ่งแจ้ง เป็นต้นว่าประเด็นปัญหาจำพวกสิทธิมนุษยชน และกระบวนการสร้างประชาธิปไตย ประเด็นเหล่านี้เองที่ปักกิ่งหวั่นเกรงว่าอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในระบบของจีน เรื่องนี้ช่วยอธิบายว่าทำไมไต้จึงถือเรื่องการธำรงรักษา “ระบบในระดับรากฐาน” และ “ความมั่นคงปลอดภัยแห่งชาติ” ว่าเป็นผลประโยชน์อันสำคัญที่สุด ที่อยู่ในอันดับหนึ่ง

สิ่งที่มีคุณค่าควรนำมาถกเถียงอภิปรายมากกว่าเกี่ยวกับคำแถลงของไต้ ก็คือทำไมคำพูดเช่นนี้จึงถูกเผยแพร่ออกมาในช่วงจังหวะเวลานี้ อาจจะเป็นเพราะว่าในอดีตปักกิ่งจะคอยหลบเลี่ยงไม่ยอมประกาศ “ผลประโยชน์อันสำคัญที่สุด” ของตนออกมาอย่างเปิดเผย เนื่องจากปักกิ่งมองตนเองว่ายังคงต้องเรียนรู้จากพวกประเทศก้าวหน้าในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนา จีนจึงพรักพร้อมที่จะแสดงบทบาทเป็นนักเรียน คอยรับฟังเล็กเชอร์จากพวกประเทศก้าวหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากสหรัฐฯ

ทว่าเวลาได้เปลี่ยนไปแล้ว ด้วยแรงกระหน่ำของวิกฤตการเงินทั่วโลกในปัจจุบัน เวลานี้สหรัฐฯน่าจะมีอะไรที่ต้องขอและต้องรอรับประโยชน์จากจีน มากกว่าที่จีนจะขอและรอรับจากสหรัฐฯเสียแล้ว

จีนที่กำลังก้าวผงาดขึ้นมาและมีความเชื่อมั่นในตนเองเพิ่มมากขึ้น เวลานี้ต้องการแสดงบทบาทเป็นผู้กระทำมากขึ้นในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จีนต้องการที่จะเป็นผู้เล็กเชอร์บ้างในบางครั้ง แทนที่จะคอยแต่รับฟังเล็กเชอร์อย่างที่เคยเป็นมา

อู่จง เป็นบรรณาธิการด้านจีน ของเอเชียไทมส์ออนไลน์
กำลังโหลดความคิดเห็น