xs
xsm
sm
md
lg

หยิบบันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง สอนนักการเมืองไทย

เผยแพร่:   โดย: อุษณีย์ เอกอุษณีษ์

ผู้เขียนมีความจำเป็นต้องออกตัวว่า มิได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการต่างประเทศมากมายอะไรนักเป็นแต่เพียง ผู้รักสมัครเล่น ที่ชอบฟังและอ่านงานในหมวดหมู่นี้ และวันนี้มีความประสงค์จะหยิบหนังสือเล่มหนึ่ง ที่มีคุณค่าอย่างลึกซึ้ง มาแนะนำสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยได้อ่านหรือพบเห็น ชื่อเรื่อง “บันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง” แปลโดย รองศาสตราจารย์อาทร ฟุ้งธรรมสาร พิมพ์เผยแพร่โดย สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับเครือมติชน เมื่อปี 2549

หนังสือเล่มนี้ ผู้ที่แนะนำให้ผู้เขียนรู้จัก คือ ครูที่สอนระดับปริญญาโท ที่ผู้อ่านเอเอสทีวีผู้จัดการหลายท่าน ก็คงคุ้นเคยดีอยู่แล้ว เพราะท่านก็เขียนงาน เขียนบทความ ลงหนังสือพิมพ์เราอยู่บ่อยๆ นั่นคือ อาจารย์วรศักดิ์ มหัทธโนบล ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษาคนใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยท่านได้แนะนำให้นักศึกษาปริญญาโท ที่เรียนวิชา“มหาอำนาจเอเชีย” ของท่านได้อ่าน

หนังสือดังกล่าวอยู่ในรูปของบันทึกเหตุการณ์ของบุคคลสำคัญ ที่เคยรับตำแหน่งในระดับรองนายกรัฐมนตรี และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน ที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับประวัติศาสตร์ช่วงสำคัญๆ ระหว่างทศวรรษ 1980 - 2000 นามของท่าน คือ เฉียนฉีเชิน ฯพณฯ เฉียนฉีเชินเขียนหนังสือเล่มนี้ ให้มีเนื้อหาที่ออกมาในรูปการบอกเล่าประสบการณ์จริง ผนวกความคิดอ่านของตัวท่านเอง และบุคคลสำคัญ ยกตัวอย่างเช่น เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำจีน ที่ท่านเรียกขานว่า “สหายเติ้ง” ทำให้ผู้อ่านอย่างเราได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก ในการจะหยิบมุมมองนั้นๆ มาใช้เป็นแว่นขยายส่องหา ทางออกและมุมมองใหม่ๆ ให้สังคมการเมืองบ้านเรา

ยกตัวอย่างง่ายๆ แนวคิดของ ฯพณฯ เฉียนฉีเชิน ต่อเรื่องการก้าวลงจากตำแหน่งที่อยู่ในระดับสูงของประเทศ โดย ฯพณฯ เฉียนฉีเชิน กล่าวถึงช่วงเวลาที่ท่านจำต้องก้าวลงจากตำแหน่งการเมือง คือ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2546 ไว้อย่างน่าคิดว่า

“ข้าพเจ้าได้ก้าวลงจากตำแหน่งระดับผู้นำของประเทศ นับแต่นั้นคนหน้าใหม่ก็เข้ามาทำงานแทนที่คนเก่า ซึ่งเป็นไปตามกฎธรรมชาติ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และวิวัฒนาการของสังคม จึงอาจกล่าวได้ว่า การก้าวลงจากตำแหน่งของแกนนำพรรคอาวุโสนั้น โดยการกระทำของตัวมันเองก็ถือเป็นคุณูปการอย่างหนึ่งที่มีต่องานด้านการปฏิวัติ”

(อาทร ฟุ้งธรรมสาร,รศ.ดร. ผู้แปล, บันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง, หน้า 12 )

ช่างแตกต่างกับแนวคิดของนักการเมืองบ้านเรา บางรายอายุอานามก็เข้าขั้นไม้ใกล้ฝั่ง แต่ยังหวังแก้รัฐธรรมนูญปลดล็อกให้ตัวเองกลับมาทำงานการเมือง แสวงหาอำนาจไม่รู้จบ บางรายมีคดีติดตัวกลายเป็นนักโทษที่ต้องเร่ร่อนไม่ต่างจากสัมภเวสี ควรอย่างยิ่งที่จะต้องเอาอายุหลังเกษียณไปหาความสุขอย่างสงบจิต รักษาใจและกายจากโรคร้าย แต่ยังไม่วาย มัวเมาในอำนาจ ทำให้นักโทษชายรายนั้นต้องตะเกียกตะกายหาทาง ลับมาทวงอำนาจอีกครั้ง แลกกับการทำร้ายประเทศก็ยังยินยอมจะทำ

นี่ยังไม่รวมกรณีของนายตำรวจสีรุ้งบางราย ที่ชีวิตบั้นปลายบนเก้าอี้ผู้นำ เหลือสั้นน้อยนิด แต่ก็ยังพยายามเกาะติดเก้าอี้เสียแน่น โดยไม่รู้จักทำใจเสียว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติแม้ไม่มีท่านก็เดินหน้าต่อไปด้วยตัวของมันเองได้ และมีคลื่นลูกใหม่มากมายที่พร้อมจะขึ้นช่วยนำทางองค์กรแห่งนี้

เนื้อหาในหนังสือบางตอนยังอ้างถึงคำแนะนำของ เติ้งเสี่ยวผิง ผู้นำของจีนที่บอกกล่าวกับ ฯพณฯ เฉียนฉีเชิน ในช่วงดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ โดยผู้นำเติ้งเป็นบุคคลที่มีความคิดรอบคอบลึกซึ้ง ท่านมักจะเตือนให้ระมัดระวังท่าทีเป็นพิเศษ เมื่อต้องไปแสดงสัมพันธ์ฉันมิตรประเทศกับประเทศอื่นๆ อาทิ การพบกับโซเวียตหลังจีน - โซเวียตพยายามจะกลับมาเปิดสัมพันธ์การทูตอีกครั้ง หลังสองประเทศขัดแย้งและมีความสัมพันธ์ที่เลวร้ายต่อกันยาวนานตลอดช่วงทศวรรษ 1950 -1980 ประโยคที่เติ้งเสี่ยวผิง แนะนำ ฯพณฯ เฉียนฉีเชิน ใช้คำพูดเพียงสั้นๆว่า

“พิธีต้อนรับควรให้มีพอเหมาะ กล่าวคือ เมื่อพบกันก็ แค่จับมือไม่โอบกอด หรือที่ความในภาษาจีนออกเสียงว่า จื่อ ว่อ โส่ว, ปู้ ยง เป้า หกคำที่มีความหมายลึกซึ้งมาก เพราะมิใช่เพียงพิธีเรียบง่ายเท่านั้น หากยังเป็นการสะท้อนถึงลักษณะความสัมพันธ์ และเป็นการบอกสภาพการณ์ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองประเทศในอนาคตอีกด้วย

(อาทร ฟุ้งธรรมสาร,รศ.ดร. ผู้แปล, บันทึกการทูตจีน 10 เรื่อง, หน้า89)

หากย้อนกลับไปได้ คงมีคนจำนวนไม่น้อยอยากจะยกประโยคนี้ไปกล่าวเตือนนายกรัฐมนตรี คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวันที่ท่านโอบกอดนายเนวิน ชิดชอบ แกนนำพรรคภูมิใจไทย ในครั้งที่การหารือจัดตั้งรัฐบาลประสบความสำเร็จ แม้ความเป็นจริงจะมิอาจหลีกเลี่ยงได้ว่า พรรคประชาธิปัตย์จำต้องอาศัยเสียงจากพรรคร่วมรัฐบาล เพื่อแลกกับการเป็นรัฐบาล แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า มันเป็นการร่วมมือที่ต่างฝ่ายต่างได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งนั้น ไม่มีใครเป็นหนี้บุญคุณใครแม้แต่น้อย และแม้จะต้องร่วมงาน แต่ก็ไม่มีความจำเป็นต้องร่วมอุดมการณ์ หรือเห็นร่วมหากการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

ท่าทีของจีนมหาอำนาจเอเชียที่ถูกบอกเล่าผ่านปากคำของเสนาบดีด้านการต่างประเทศของพญามังกร ชี้ว่า จีนให้ความสำคัญอีกประการ ถึงเรื่องการแสดงท่าทีเป็นอย่างมาก เมื่อเห็นว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ไม่ชอบ หรือจะเป็นการละเมิดกรอบหรืออุดมการณ์ที่จีนวางไว้ การแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยหรือประท้วง ถือเป็นเรื่องที่ต้องกระทำโดยทันทีมิเช่นนั้น อาจจะถูกอนุมานเอาไว้ว่า จีนไม่ปฏิเสธการกระทำดังกล่าว หรืออาจจะถูกรวบรัดเอาว่า เป็นการเซย์เยส หรือสนับสนุนอยู่นัยทีด้วย

แต่สำหรับท่าทีทางการทูตของจีน ที่ผู้เขียนได้รับฟังมา และชื่นชอบที่สุด คือตอนที่อาจารย์วรศักดิ์ ท่านเล่าให้ฟังในชั้นเรียนถึงเหตุการณ์การเดินทางเยือนจีน ของประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน ในค.ศ. 1972 ซึ่งเวลานั้นสหรัฐฯ ต้องการยืมมือจีนเข้าไปจัดการปัญหาสงครามเวียดนาม – กัมพูชา ที่สหรัฐฯ จัดการไม่ได้ และติดหล่มสงครามอยู่ที่นั่นจนมีทหารตายเป็นจำนวนมาก

ฉากการสัมผัสมือครั้งประวัติศาสตร์วันนั้น เล่ากันว่า ประธานาธิบดีนิกสัน แห่งแดนอินทรี ส่งนายเฮนรี่ คิสซิงเจอร์ มาเจรจาในทางลับเพื่อกรุยทางไว้แล้ว และเมื่อถึงวันที่เครื่องบินของผู้นำสหรัฐฯ ลงจอดที่กรุงปักกิ่งได้ภาพของ ริชาร์ด นิกสัน ที่รีบร้อนยื่นมือออกมา หมายจะขอสัมผัสกับผู้นำจีน ทั้งที่เท้ายังก้าวไม่พ้นบันไดเครื่องบินช่วยการันตี และตอกย้ำศักดิ์ศรีความยิ่งใหญ่ของพญามังกรอย่างจีนเสียเหลือเกิน ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่ได้รับจากงานเขียนของ ฯพณฯ เฉียนฉีเชินอีกหลายเรื่อง ไว้วันหน้าจะเล่าให้ฟังต่อแล้วกันนะคะ...
กำลังโหลดความคิดเห็น