xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทยาศาสตร์จีนเรียกร้องเงินทุนหนุน‘พลังงานสีเขียว’

เผยแพร่:   โดย: มิตช์ ม็อกซ์ลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Cash call for green power
By Mitch Moxley
05/01/2011

ถึงแม้ประเทศจีนจะมีฐานะเป็นผู้นำของโลกในด้านการผลิตเครื่องกังหันสร้างกระแสไฟฟ้าด้วยพลังลม และในเรื่องการทำแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ทว่าพวกนักวิทยาศาสตร์ในแดนมังกรกลับพากันบ่นพึมว่า รัฐบาลยังให้ความสนับสนุนทางการเงินไม่เพียงพอในเรื่องการวิจัยและพัฒนาซึ่งจำเป็นสำหรับการเป็นผู้สาดส่องแสงสว่างอย่างแท้จริง บนเส้นทางที่จะทำให้พลังงานทดแทนกลายเป็นส่วนประกอบที่ใหญ่โตยิ่งขึ้นในระบบพลังงานไฟฟ้าของทั่วทั้งแดนมังกร

ประเทศจีนมีฐานะเป็นผู้นำของโลกในด้านการผลิตเครื่องกังหันลมสำหรับสร้างกระแสไฟฟ้าด้วยพลังลม และในเรื่องการผลิตแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ขณะเดียวกันพวกนักวิจัยในแดนมังกรก็กำลังทำงานเพื่อหาวิธีการในการผลิตพลังงานหมุนเวียน (renewable energy) ซึ่งมีราคาถูกลงไปอีก มีประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น และเป็นส่วนประกอบที่ใหญ่โตมากขึ้นในระบบพลังงานไฟฟ้าของประเทศ

แต่ถึงแม้จีนสามารถก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วจนกำลังกลายเป็นผู้นำรายหนึ่งของโลกในปริมณฑลของพลังงานทดแทน พวกนักวิจัยก็ยังมองว่ารัฐบาลจำเป็นที่จะต้องลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาให้มากขึ้นอีก ถ้าหากจีนต้องการที่จะเป็นผู้สาดส่องแสงสว่างบนเส้นทางมุ่งไปสู่พลังงานสะอาดในอนาคตอย่างแท้จริง

เจ้า ซิงหง (Zhao Xingzhong) ศาสตราจารย์แห่งคณะฟิสิกส์และเทคโนโลยี (School of Physics and Technology) มหาวิทยาลัยอู่ฮั่น (Wuhan University) กำลังวิจัยเรื่องเซลล์แสงอาทิตย์แบบสีย้อมไวแสง (dye-sensitized solar cells) อันเป็นทางเลือกที่มีต้นทุนต่ำและประสิทธิภาพสูง แทนที่จะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์แบบกึ่งตัวนำโซลิดสเตต (solid-state semiconductor solar cell) ซึ่งกำลังใช้กันอยู่อย่างแพร่หลายในเวลานี้

ศาสตราจารย์เจ้าบอกว่า เห็นได้ชัดเจนว่าเทคโนโลยีทางเลือกนี้มีความเหมาะสมที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในทางปฏิบัติ

“กระบวนการในการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์สีย้อมไวแสง ไม่ได้มีการผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหมายความว่ามันไม่ได้ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม” เจ้าบอกกับสำนักข่าวไอพีเอส “นอกจากนั้นเซลล์แสงอาทิตย์สีย้อมไวแสง ยังมีต้นทุนเพียงแค่หนึ่งในห้าของเซลล์แสงอาทิตย์กึ่งตัวนำแบบเดิมๆ ซึ่งทำมาจากผลึกของซิลิคอน”

แต่ถีงแม้ผลงานของคณะวิจัยของเจ้า จัดว่ามีความโดดเด่นเป็นที่สนใจทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เขาก็ยังบอกว่าได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลจีนน้อยเหลือเกิน เขาชี้ว่าญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้นั้นได้จับมือร่วมกันลงทุนเป็นมูลค่าประมาณ 1,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อทำการวิจัยเทคโนโลยีพลังแสงอาทิตย์รุ่นที่สาม (third-generation solar technology) นับตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ขณะที่ในแดนมังกรนั้น เจ้าบอกว่าในรอบสิบปีที่แล้ว มีโครงการในด้านเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่เป็นของจีนเองเพียงแค่ 5 โครงการ และมีการใช้จ่ายประมาณโครงการละ 4.5 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

“มันเป็นเรื่องลำบากมากที่จะผ่าทางตันให้ออกไปจากคอขวดทางเทคโนโลยีนี้ เนื่องจากอินพุต (ทางการเงิน) ยังไม่เพียงพอ” ศาสตราจารย์เจ้าระบุ

ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา จีนได้กลายเป็นผู้นำของโลกในด้านการผลิตพวกผลิตภัณฑ์ด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน โดยสามารถแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในเรื่องของจำนวนเครื่องกังหันลมและแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ทำออกมาได้ เอิร์สต์ แอนด์ ยัง (Ernst & Young) บริษัทบัญชียักษ์ใหญ่ระดับโลก ยังประกาศสำทับในเดือนกันยายนที่ผ่านมาว่า จีนเป็นสถานที่ยอดเยี่ยมที่สุดในการลงทุนด้านพลังงานทดแทน

บริษัทจีนหลายๆ แห่ง นำโดยบริษัทซันเทค (Suntech) ซึ่งตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ในมณฑลเจียงซู มีความสามารถผลิตแผงเซลล์แสงอาทิตย์เท่ากับประมาณหนึ่งในสี่ของทั่วโลก อีกทั้งกำลังช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดมาได้อย่างรวดเร็วด้วยวิธีการตัดหั่นราคา ซึ่งสามารถทำได้เพราะมีโรงงานขนาดใหญ่ๆ ต้นทุนต่ำๆ นอกจากนั้นในบรรดาแพกเกจมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทางการจีนนำออกมาใช้เมื่อปี 2009 นั้น ก็มีมาตรการให้การอุดหนุนแก่โครงการติดตั้งเซลล์พลังแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ๆ รวมอยู่ด้วย

ในด้านการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังลม พวกบริษัทที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาภายในแดนมังกรเอง สามารถเบียดแย่งส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระยะไม่กี่ปีมานี้ ภายหลังที่รัฐบาลได้ออกข้อกำหนดให้พวกบริษัทต่างชาติต้องมีหุ้นส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้นจาก 40% เป็น 70% (อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นรัฐบาลก็ได้ยกเลิกข้อกำหนดเรื่องหุ้นส่วนท้องถิ่นนี้แล้ว) นอกจากนั้ทางการจีนยังนำเอามาตรการให้ความอุดหนุนรูปแบบใหม่ๆ ตลอดจนแรงจูงใจอื่นๆ มาใช้เพื่อสนับสนุนอุ้มชูพวกบริษัทพลังลมของจีน

เมื่อถึงปี 2009 บริษัทผู้ผลิตเครื่องกังหันลมที่เป็นบริษัทจีนมีจำนวนถึง 67 ราย และส่วนแบ่งตลาดของเหล่าบริษัทต่างชาติก็ตกลงมาเหลือเพียง 37% จากที่เพียงเมื่อ 5 ปีก่อนหน้านั้นยังมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ถึง 70%

แต่ชิ้นส่วนต่างๆ ที่ผลิตโดยบริษัทจีนทั้งหลาย ส่วนใหญ่แล้วอิงอาศัยเทคโนโลยีซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากต่างประเทศ โดยที่ยังไม่ค่อยมีการเน้นหนักให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมในแวดวงพลังงานหมุนเวียน ชนิดที่ต้องคิดค้นขึ้นในแดนมังกรเอง

หวัง เมิ่งเจ (Wang Mengjie) รองผู้อำนวยการสมาคมพลังงานทดแทนแห่งประเทศจีน (China Renewable Energy Society) และในอดีตเคยดำรงตำแหน่งรองประธานของบัณฑิตยสถานทางวิศวกรรมการเกษตรแห่งประเทศจีน (Chinese Academy of Agricultural Engineering) เวลานี้เขากำลังทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมมวลชีวภาพ (biomass industry) เขาชี้ว่าพลังงานชีวมวล (bioenergy)ก็สามารถนำมาใช้ยกระดับมาตรฐานการครองชีพในพื้นที่ชนบทได้ ตัวเขาเองก็กำลังมีส่วนอยู่ในโครงการซึ่งมุ่งจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์อันจำเป็นให้แก่เกษตรกร เพื่อใช้ในการเปลี่ยนพวกขยะของเสียอินทรีย์ (organic waste) ให้กลายเป็นก๊าซชีวภาพที่สะอาด ตลอดจนปุ๋ย

ตามข้อมูลของกระทรวงเกษตร บ่อก๊าซชีวภาพในพื้นที่ชนบทของจีนได้เพิ่มจำนวนขึ้นจนมีกว่า 35 ล้านบ่อในตอนสิ้นปี 2009 แต่ละปีบ่อเหล่านี้จะสามารถผลิตก๊าซได้ 12,400 ล้านลูกบาศก์เมตร ในระยะไม่กี่ปีหลังมานี้ รัฐบาลได้เพิ่มการสนับสนุนทางด้านการเงินแก่บ่อก๊าซชีวภาพ โดยมาอยู่ในระดับ 5,000 ล้านหยวน (755 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) ในปี 2009 หลังจากที่เฉลี่ยแล้วอยู่ในระดับ 2,500 ล้านหยวน เมื่อปี 2006 และ 2007

แต่ถึงแม้มีการลงทุนมีการสนับสนุนดังกล่าวนี้ หวังก็บอกว่าอุตสาหกรรมมวลชีวภาพของจีนยังคงเผชิญอุปสรรคความลำบากทางเทคโนโลยี

“ในด้านเทคโนโลยีน้ำมันไบโอดีเซล พวกประเทศตะวันตกอย่างเช่นสหรัฐฯและเยอรมนีคือผู้นำของโลก ขณะที่จีนยังคงอยู่ในขั้นทารกเท่านั้น” หวังกล่าว “ในเวลานี้จีนยังไม่ได้มีระเบียบกฎเกณฑ์หรือมีนโยบายอันชัดเจนแน่นอนในเรื่องพลังงานมวลชีวภาพ ภายใต้สภาพการณ์ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นไปไม่ได้เลยที่พวกวิสาหกิจซึ่งเกี่ยวข้องจะสามารถพัฒนาให้ไกลไปกว่านี้”

พวกนักวิพากษ์วิจารณ์ระบุว่า ความสนใจของจีนในเรื่องเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน โดยเนื้อหาสาระแล้วเอาแต่มุ่งมองเรื่องโอกาสทางธุรกิจ (สิ่งที่จีนผลิตได้ส่วนใหญ่จะถูกส่งออกไปขายต่างประเทศ) นอกจากนั้นในกรณีที่เป็นเทคโนโลยีราคาแพงขึ้นมา จีนก็มีความสนใจน้อยลงไปที่จะนำเอามาประยุกต์ใช้ภายใประเทศ

ประเทศจีนยังไม่สามารถไล่ตามทันสหรัฐฯในเรื่องของการผลิตพลังงานหมุนเวียน แดนมังกรนั้นเป็นผู้บริโภคถ่านหินรายใหญ่ที่สุดในโลก และคาดหมายกันว่าจะเผาผลาญถ่านหินมาตรฐานเป็นจำนวนถึง 4,500 ล้านตันภายในปี 2020 ทั้งนี้ตามตัวเลขที่ออกมาจากสำนักงานพลังงานแห่งชาติ (National Energy Administration)

ขณะที่ถ่านหินจะยังคงเป็นแหล่งที่มาอันสำคัญของสมรรถนะทางด้านพลังงานของจีน โดยจะมีส่วนในการผลิตไฟฟ้าของแดนมังกรคิดเป็นปริมาณราวๆสองในสามเมื่อถึงปี 2020 แต่รัฐบาลจีนก็ได้ให้คำมั่นสัญญาที่จะลงทุนเป็นจำนวนหลายพันหลายหมื่นล้านดอลลาร์ ในด้านการพัฒนาการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังลม, แสงอาทิตย์, และนิวเคลียร์ สมัชชาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ (National People's Congress) ซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติสูงสุดของแดนมังกร เวลานี้ได้ออกข้อกำหนดให้พวกบริษัทให้บริการจ่ายกระแสไฟฟ้า ต้องรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียทั้งหลายอย่างเต็มที่ทั้ง 100%

ตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการที่ถูกนำออกเผยแพร่ในเดือนเมษายนที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า ภายในสิ้นปี 2010 แหล่งพลังงานที่มีคาร์บอนต่ำจะมีส่วนในการผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าในประเทศจีนถึงกว่าหนึ่งในสี่ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวซินหวาของทางการจีน ตัวเลขที่เปิดเผยกันในคราวนี้ยังมีอย่างเช่น พลังน้ำ, พลังงานนิวเคลียร์, และพลังงานลมได้รับการคาดหมายว่ามีความสามารถผลิตไฟฟ้าออกมาได้ราว 250 กิกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2010 ขณะที่ถ่านหินสามารถผลิตได้ 700 กิกะวัตต์

สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส
กำลังโหลดความคิดเห็น