xs
xsm
sm
md
lg

ส.ว.ค้านขอสภาเลิก MOU จี้ยุติแถลงการณ์ นช.แม้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “คำนูณ” ค้านส่งรัฐสภาลงมติยกเลิกเอ็มโอยูพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ระบุ ครม.สั่งเลิกได้ทันทีตาม ม.190 ขณะเดียวกันแนะยกเลิกแถลงการณ์ร่วม “นช.แม้ว-ฮุนเซน”? ปี 44 ที่ยอมรับพันธกรณีตามเอ็มโอยู ด้าน ตุลาการศาล รธน.ชี้รัฐบาลไม่มีสิทธิยกเลิกเอ็มโอยู เหตุไม่มีฝ่ายใดทำผิดเงื่อนไข พร้อมตั้งท่าไม่รับตีความ อ้างไม่มีคามขัดแย้งข้อกฎหมาย และศาลรธน.ไม่ใช่ที่ปรึกษาใครที่จะให้ตีความพร่ำเพรื่อ

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่คณะรัฐมนตรี มีมติ ให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทย และกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน พ.ศ.2544 (เอ็มโอยู 2544) โดยรัฐบาลเตรียมนำเข้าสู่การพิจารณาองรัฐสภาเพื่อขออนุมัติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ม. 190 ว่า ตนคิดว่าถ้ารัฐบาลจะนำเรื่องเอ็มโอยูเข้าสู่การพิจารณาของสภา ไม่น่าจะถูกต้อง ตามความเข้าใจของตนนั้น รัฐบาลสามารถประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการในทันทีได้เลย แล้วแจ้งให้รัฐบาลกัมพูชาทราบ ไม่ต้องนำเข้ามาขออนุมัติจากรัฐสภา เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ม. 190 ระบุเฉพาะกรณีที่จะไปทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศเท่านั้นที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่ได้ระบุกรณีที่จะยกเลิก

“มาตรา 190 วรรคสอง ระบุถึงประเภทของหนังสือสัญญาประเภทที่เข้าข่าย ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่วนวรรคสามระบุว่าก่อนดำเนินการ ต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ รวมทั้งให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน และวรรคสี่ระบุถึงการให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดของสัญญาและกำหนดให้รัฐบาลเยียวยาผลกระทบต่อประชาชน ไม่มีวรรคใดที่ระบุถึงการยกเลิกหนังสือสัญญาเลย”

นายคำนูณกล่าวว่า รัฐบาลควรชี้แจงให้ชัดเจนว่า จะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันมีการใช้รัฐธรรมนูญ ม.190 อย่างผิดเจตนารมณ์ ตนเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้ประสงค์ให้นำหนังสือสัญญาทุกประเภทเข้ามาขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา และเสนอกรอบการเจรจาก่อน แต่ทุกวันนี้รัฐบาลเสนอเกือบทุกเรื่องเข้ามา ซึ่งเป็นเพราะการไม่กล้าตัดสินใจ และไม่เร่งรัดเสนอร่างกฎหมายลูกของมาตรา 190 นี้ตามบทบังคับในวรรคห้า

“กรณีนี้ไม่ใช่ไปทำสัญญาใหม่แต่ประการใด แต่เป็นการยกเลิกสัญญาเก่า ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นฐาน คืออดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่ทำสัญญาย้ายข้างไปอยู่กับประเทศคู่สัญญา กัมพูชาผู้ได้ประโยชน์ เขาก็อ้างมาแล้วว่าไทยไม่มีสิทธิยกเลิก แต่ไทยเราก็เห็นว่าการยกเลิกสามารถทำได้ เนื่องจากมีกฎหมายอนุสัญญากรุงเวียนนา 2512 ข้อ 54-56 รองรับในการให้สิทธิยกเลิกฝ่ายเดียว หากเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน หรือคู่กรณีมีผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐบาลจึงควรดำเนินการยกเลิกทันที ไม่ต้องรอนำเข้ารัฐสภาอีก”

นอกจากการยกเลิกเอ็มโอยู 2544 ดังกล่าวแล้ว นายคำนูณ ยังเสนอว่ารัฐบาลว่าจะต้องประกาศยกเลิกแถลงการณ์ร่วม (จอยต์คอมมิวนิเก) ที่ลงนามโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับสมเด็จ ฮุนเซน ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544 พร้อมกันไปด้วย เพราะเป็นการไปตกลงยอมรับพันธะตามบันทึกความเข้าใจ 2544

“จอยต์คอมมิวนิเกฉบับนี้ อดีตนายกฯ ทักษิณลงนามขณะไปเยือนกรุงพนมเปญในช่วงเดียวกับที่ทำเอ็มโอยู 2544 หากจะยกเลิกต้องยกเลิกทั้ง 2 อย่างพร้อมกันไป มิเช่นนั้นอาจเกิดปัญหาในอนาคตได้"

ด้านนายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าโดยส่วนตัวเห็น ว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะไปยกเลิกสัญญาหรือข้อตกลงใดๆ เพราะปกติการทำร่างสัญญา เพื่อประโยชน์ใดๆ จะต้องมีการตกลงเงื่อนไขกันว่าถ้าอีกฝ่ายทำผิดเงื่อนไขที่ตกลงกัน อีกฝ่ายจึงจะยกเลิกได้ ดังนั้น การที่รัฐบาลดำเนินการเหมือนเป็นการยกเลิกฝ่ายเดียว

ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าหนังสือบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะถือเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่จะเข้าข่ายรัฐธรรมนูญ ม.190 ที่จะต้องผ่านความเห็นชอบ จากสภาฯ และจะให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด่นั้น นายวสันต์ กล่าวว่า กรณีที่เกิดขึ้น ไม่มีความขัดแย้งในข้อกฎหมาย จึงไม่น่าเป็นเหตุที่จะนำเรื่องดังกล่าวมาสู่ศาลรัฐธรรมนูญได้ และไม่น่าจะนำเรื่องเข้าหารือเพราะศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่ที่ปรึกษาของใคร คงไม่รับตีความให้ใครพร่ำเพรือ การตีความต้องมีขั้นตอน

นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า การยกเลิกเอ็มโอยู ปี 2544 ต้องดูว่าเข้าเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ ม. 190 ที่ระบุว่าหนังสือสัญญาใด มีบทบาทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทย มีสิทธิอธิปไตยหรือมีผลให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยหรือไม่ ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากสภาก่อน ดังนั้น การที่รัฐบาลไทยจะยกเลิกเอ็มโอยูฝ่ายเดียว และเอ็มโอยูที่จะยกเลิกเป็นเรื่องที่ 2 ประเทศเคยลงนามมาก่อน ก็ต้องดูในเอ็มโอยูฉบับดังกล่าวว่าการจะยกเลิกเอ็มโอยูจะต้องทำอย่างไร และมีเงื่อนไขใดในการยกเลิก หรือต้องบอกล่วงหน้าก่อนหากจะยกเลิกในกี่เดือนหรือกี่ปี เพราะเอ็มโอยูจะบอกเงื่อนไข ในตัวมันเองอยู่แล้ว ถ้าไม่มีเงื่อนไขก็จะยกเลิกไปในทันทีไม่ได้ นอกจากจะเป็นการยินยอมพร้อมใจของสองประเทศ แต่ถ้าสนธิสัญญาประการใดมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ปฏิบัติตามแล้วสนธิสัญญาดังกล่าวก็บังคับใช้ไม่ได้อยู่แล้ว ซึ่งทำให้เป็นหมันไปโดยปริยาย

“ถ้ารัฐบาลจะส่งให้รัฐสภาพิจารณาเพื่อความรอบคอบก็เป็นความเห็นของรัฐบาลที่ไม่ต้องการให้เกิดปัญหา เพราะเรื่องนี้รัฐบาลก็มีเสียงส่วนใหญ่ในสภาอยู่แล้ว ไม่น่าจะมีปัญหาหากจะยกเลิก อีกทั้งหากสภาจะส่งเอ็มโอยูฉบับดังกล่าวมาให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจะส่งมาได้เมื่อรัฐสภาเกิดข้อสงสัย หรือประธานแห่งสภานั้นๆ จะรับคำร้องเพื่อส่งความเห็นของสมาชิกแห่งสภาให้ศาลวินิจฉัย ซึ่งศาลจะต้องตีความ ก่อนว่าเอ็มโอยูนี้เข้าเกณฑ์ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ เพื่อจะขอยกเลิกได้หรือไม่”
กำลังโหลดความคิดเห็น