“ส.ว.คำนูณ” ค้านส่งสภาชี้ขาดเลิกเอ็มโอยูพื้นที่ทับซ้อนไทย-เขมร ระบุ ครม.สั่งยกเลิกได้ทันที ไม่จำเป็นต้องผ่านสภา ตามมาตรา 190 ที่กำหนดไว้เฉพาะกรณีจะไปทำสัญญาใหม่ พร้อมจี้ยกเลิกแถงการณ์ร่วม “ทักษิณ-ฮุนเซน” 18 มิ.ย.44 ที่ยอมรับพันธกรณีตามเอ็มโอยู.
นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวถึงการที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวานนี้ (10 พ.ย.) ว่าจะยกเลิกบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน พ.ศ.2544 (เอ็มโอยู 2544) แต่กระบวนการยังไม่สิ้นสุด จะต้องเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาก่อนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 190 นั้น น่าจะไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง เพราะตามความเข้าใจของตนนั้นรัฐบาลสามารถประกาศยกเลิกอย่างเป็นทางการในทันทีได้เลยแล้วแจ้งให้รัฐบาลกัมพูชาทราบ ไม่ต้องนำเข้ามาขออนุมัติจากรัฐสภา เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 190 ระบุเฉพาะกรณีที่จะไปทำหนังสือสัญญากับต่างประเทศเท่านั้นที่จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ไม่ได้ระบุกรณีที่จะยกเลิก
“มาตรา 190 วรรคสอง ระบุถึงประเภทของหนังสือสัญญาประเภทที่เข้าข่ายต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ส่วนวรรคสามระบุว่าก่อนดำเนินการ ต้องเสนอกรอบการเจรจาต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ รวมทั้งให้ข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนก่อน และวรรคสี่ระบุถึงการให้ประชาชนเข้าถึงรายละเอียดของสัญญาและกำหนดให้รัฐบาลเยียวยาผลกระทบต่อประชาชน ไม่มีวรรคใดที่ระบุถึงการยกเลิกหนังสือสัญญาเลย”
นายคำนูณกล่าวว่า รัฐบาลควรชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรในเรื่องนี้ เพราะปัจจุบันมีการใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 อย่างผิดเจตนารมณ์ ตนเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญไม่ได้มีประสงค์ให้นำหนังสือสัญญาทุกประเภทเข้ามาขอความเห็นชอบต่อรัฐสภา และเสนอกรอบการเจรจาก่อน แต่ทุกวันนี้รัฐบาลเสนอเกือบทุกเรื่องเข้ามา ซึ่งเป็นเพราะการไม่ตัดสินใจ และไม่เร่งรัดเสนอร่างกฎหมายลูกของมาตรา 190 นี้ตามบทบังคับในวรรคห้า
“กรณีนี้ไม่ใช่ไปทำสัญญาใหม่แต่ประการใด แต่เป็นการยกเลิกสัญญาเก่าที่เกิดการเปลี่ยนแปลงพื้นฐาน คืออดีตนายกรัฐมนตรีไทยที่ทำสัญญาย้ายข้างไปอยู่กับประเทศคู่สัญญา กัมพูชาผู้ได้ประโยชน์เขาก็อ้างมาแล้วว่าไทยไม่มีสิทธิยกเลิก แต่ไทยเราก็เห็นว่าการยกเลิกสามารถทำได้ เนื่องจากมีกฎหมายอนุสัญญากรุงเวียนนา 2512 ข้อ 54-56 รองรับในการให้สิทธิยกเลิกฝ่ายเดียว หากเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน หรือคู่กรณีมีผลประโยชน์ทับซ้อน รัฐบาลจึงควรดำเนินการยกเลิกทันที ไม่ต้องรอนำเข้ารัฐสภาอีก”
นอกจากการยกเลิกเอ็มโอยู 2544 ดังกล่าวแล้ว นายคำนูณยังเสนอว่ารัฐบาลจะต้องประกาศยกเลิกแถลงการณ์ร่วม (จอยต์คอมมิวนิเก) ที่ลงนามโดย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กับสมเด็จฯ ฮุนเซน ฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2544 พร้อมกันไปด้วย เพราะเป็นการไปตกลงยอมรับพันธะตามบันทึกความเข้าใจ 2544
“จอยต์คอมมิวนิเกฉบับนี้ อดีตนายกฯ ทักษิณลงนามขณะไปเยือนกรุงพนมเปญในช่วงเดียวกับที่ทำเอ็มโอยู 2544 หากจะยกเลิกต้องยกเลิกทั้ง 2 อย่างพร้อมกันไป มิเช่นนั้นอาจเกิดปัญหาในอนาคตได้”