xs
xsm
sm
md
lg

พท.ป่วนสภาฯ ถก MOU ล่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ปชป.เรียงหน้าโต้ “นพดล”? ยันเอ็มโอยูที่ใช้แผนที่อัตรา 1:200,000 ทำในสมัย “ทักษิณ?” เป็นเหตุให้พื้นที่กลางทะเลที่เป็นของไทยที่มีทั้งก๊าซและน้ำมันกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับกัมพูชา หวังฮุบทั้งก๊าซและน้ำมันจากการตกลงไวกับ “ฮุนเซน” ขณะที่การประชุมร่วมรัฐสภาถกบันถึงการประชุมเจบีซีวุ่นหลังรัฐบาลต้องการให้ประชุมลันหวั่นฝ่ายค้านอภิปรายลามปามในเรื่องละเอียดอ่อน สุดท้ายสภาล่มเหตุองค์ประชุมไม่ครบ

นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าววานนี้ (9 พ.ย.) ว่า นายนพดล ปัทมะ ที่ปรึกษากฎหมาย พ.ต.ท.ทักษิณ ชิสวัตร กล่าวบิดเบือน กรณีกล่าวหาว่า เอ็มโอยู แผนที่สัดส่วน 1:200000 ที่ทำให้พื้นที่บริเวณไหลทวีป ในทะเลกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนจนกลายเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชา ทั้งๆ ที่เป็นของไทย ทำให้ต้องสูญเสียพื้นที่ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันกลางทะเลทำในปี 2543 สมัยนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะข้อเท็จจริงคือ เอ็มโอยูปี 2543 ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องแผนที่ดังกล่าว แต่มาระบุขึ้นในปี 2544 สมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ภายหลังการเป็นรัฐบาล 2 เดือน

โดยมีการหารือ ร่วมไทย-กัมพูชาที่เมืองเสียมเรียบ โดยมีการเพิ่มเติมแผนแม่บทในทีโออาร์ที่ชัดเจน ซึ่งก็การสอดรับและเป็นผลกระทบที่นายนพดล เองถูกศาสรัฐธรรมนูญชี้มูลมาก่อนหน้านี้ จึงอยากถามนายนพดล ว่า ไม่ทราบว่าเป็นความเข้าใจผิดหรือแกล้งโง่ ในเรื่องดังกล่าว ที่ได้กล่าวบิดเบือนข้อเท็จจริง เพราะตอนที่นายนพดล อยุ่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับความไว้วางใจให้เข้าถึงข้อมูลต่างๆ ช่วงเป็นเลขานุการ รมว.ต่างประเทศ สมัยนายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เป็น รมว.ต่างประเทศ จึงอยากถามว่า ข้อมูลที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของชาติ และส่วนรวมเวลานี้ไม่ทราบไปตกอยู่ที่ใด

“ที่คุณนพดล บอกว่าบริเวณเขตไหล่ทวีปที่เป็นพื้นที่ที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชาทางทะเลเริ่มทำสมัยพรรคประชาธิปัตย์ปี 2543 นั้นไม่เป็นความจริง เพราะการประชุมร่วมไทย-กัมพูชา เริ่มในปี 2513 ซึ่งกัมพูชาขีดเส้นเขตแดนทางทะเลทับซ้อนเขตน่านน้ำไทย โดยฝ่ายไทยไม่เคยยอมรับมาตลอด และได้ขีดแนวของประเทศไทยเพื่อแสดงยืนยัน ต่อมามีการพูดคุยเรื่องดังกล่าวกันอีกครั้งในรัฐบาลของ นายบรรหาร ศิลปอาชา จากนั้นในวันที่ 18 มิ.ย. 2544 รัฐบาล พ.ต.ท. ทักษิณ ที่เพิ่มเข้ามาบริหารได้เพียงสองเดือนกลับไปยอมรับเขตแดนที่กัมพูชาเป็นผู้เขียน จนเป็นพื้นที่ทับซ้อนในที่สุด และเป็นที่มาของการสำรวจเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันในพื้นดังกล่าว เพราฉะนั้นจึงชัดเจนว่า การสำรวจหาทรัพยากรทางทะเลเป็นความ พยายามของ พ.ต.ท.ทักษิณโดย พล.อ.เตีย บัน รมว.กลาโหมของกัมพูชาเอง ได้ออกมายอมรับกับสื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะได้รับสัมปทานการสำรวจทางทะเล ควบคู่กับสัมปทานที่เกาะกง เป็นเวลาถึง 99 ปี ซึ่งเป็นผลประโยชน์ส่วนตัวแทบทั้งสิ้น ดังนั้นพรรคประชิปัตย์ อยากให้ทุกฝ่ายรับรู้ข้อเท็จจริงในจุดนี้?“

**"แม้ว"เป็นที่ปรึกษาเขมรโยงเอ็มโอยู

ด้าน นายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ กล่าวว่า กล่าวที่นายนพดล บิดเบือนเรื่องเอ็มโอยูที่ระบุว่าทำสมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อแก้ไตัวเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชาเรื่องพื้นที่ทับซ้อน อย่างไรก็ตามแม้จะพูดแก้ตัว แต่การกระทำยืนยันชัดเจนว่าใครได้แสดงตนไปมีผลประโยชน์กับกัมพูชา ใครแสดงตัวไม่น่าไว้วางใจที่จะยืนอยู่ฝ่ายไทยเพราะไปรับเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา

“ประเด็นเรื่องความเป็นมาบันทึกความเข้าใจหรือ เอ็มโอยู นั้นสิ่งที่น่าห่วงคือ การที่ พ.ต.ท.ทักษิณรับเป็นที่ปรึกษารัฐบาลกัมพูชาเช่นนี้ เปรียบเหมือนกับว่า พอจะลงนามในสัญญาสร้างบ้าน พ.ต.ท.ทักษิณ สมัยเป็นรัฐบาลรู้หมดแล้วว่าต้องใช้อิฐ หิน ปูน ทราย ทำหลังคาเท่าไหร่ ตรงนี้เป็นสิ่งที่เรา ไม่ไว้วางใจ ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้รับการแต่งตั้งที่ปรึกษาเศรษฐกิจของกัมพูชาเช่นนี้ก็จะมีปัญหา?”

**ชี้ผลประโยชน์แม้วล้วนๆ

นายอลงกรณ์ กล่าวว่าคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.วิชิต ยาทิพย์ คนสนิทส่วนตัว พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ประธานพรรคเพื่อไทยที่ระบุว่า กลุ่มของ พ.ต.ท.ทักษิณ และพรรคพวก ได้สัมปทานการพัฒนาเกาะกงเป็นเอ็นเตอร์เทรเมนต์ คอมเพล็ก ขณะที่ พล.อ.เตีย บันห์ รมว.กลาโหมกัมพูชา คนสนิท สมเด็จฮุนเซน ก็ยอมรับโครงการที่เกาะกง ซึ่งจะไปโยงกับการที่ไทยไปให้ความช่วยเหลือกัมพูชาในการสร้างถนนสายเกาะกง-สะแลอัมเปิน ซึ่งเป็นเรื่องของผลประโยชน์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งสิ้น?

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นอกจากนี้การที่ พล.อ.เตีย บันห์ ให้สัมภาษณ์ถึงสัมปทานก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันบริเวณไหล่ทวีปซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนระหว่างไทยกับกัมพูชาทางทะเล ซึ่งสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ยอมให้เป็นพื้นที่ทับซ้อนทั้งที่ไทยไม่เคยยอมมาตลอดนั้น พล.อ.เตีย บันห์ ก็ยอมรับว่าอยู่ที่การตัดสินใจของสมเด็จฮุนเซนในการพิจารณา แต่เมื่อถูกถามต่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้สัมไปทานไปหรือยัง พล.อ.เตียบันห์ จึงบอกว่าอยู่ระหว่างการเจรจา นั้นก็แสดงว่ามีมูลความจริงที่ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังจะเจรจาผลประโยชน์ร่วมกันกับสมเด็จฮุนเซน ดังนั้นในฐานะที่เป็นรัฐบาลประเทศไทย ก็ต้องคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลักและใครก็ตามเป็นคนไทยหัวใจเขมร ก็ไว้ใจไม่ได้

“คุณนพดล จะออกมี้แจงอย่างไรก็แก้ตัวไม่ได้ เพราะแม้แต่ตัวเองยังเอาตัวไม่รอดเลย กรณีเขาพระวิหาร กุลีกุจอ ลุกลี้ลุกลน ออกแถลงการณ์ร่วม สนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนประสาทเขาวิหารเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียวทั้งทีรัฐสภา และพรรคประชาธิปัตย์ในสมัยนั้นคัดค้าน บอกว่าอย่าทำเช่นนั้น ก็ยังลุกลี้ลุกลนไม่ยอมเข้าสู่การ พิจารณาในรัฐสภา ผมคิดว่าการกระทำสำคัญกว่าการพูด พฤติกรรมในอดีตมันแก้ตัวไมได้ ดังนั้นวันนี้ ผมถึงเตือนให้กลับเนื้อกลับตัวกลับใจ กลับมารักชาติ กลับมา ปกป้องผลประโยชน์ของคนไทย อย่าเห็นชาติอื่นสำคัญกว่า และยืนยันว่ายินดี หาก พ.ต.ท.ทักษิณ หรือนายนพดล จะแปลงสัญชาติก็ยินดี เพราะวันนี้ ก็ไม่ได้ถือพาสปอร์ตไม่ใช่สัญชาติไทยอยู่แล้ว”?

**หลักฐานคือคำสัมภาษณ์ “วิชิต-เตียบันห์?”

ส่วนที่นายนพดล ระบุว่าถ้าพรรคประชาธิปัตย์มีหลักฐานที่พ.ต.ท. ทักษิณ ถือสัมปทาน หรือมีผลประโยชน์กับกัมพูชาก็ให้นำมาเสนอนั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า นั่นคือความเจ้าเล่ห์ของนายนพดล ตนได้แสดงหลักฐานจากคำพูดของ พล.อ.วิชิต และ พล.อ.เตีย บันห์ให้เห็นแล้ว ตนจึงอยากบอกว่าหากสื่อมวลชนไทยเปิดโปงธาตุแท้ ของบุคคลเหล่านี้ ก็ไปหาข้อมูลได้ โดยลองไปถามข้อมูล แฮรอต หรือ ไปค้นรายชื่อ กลุ่มนักลงทุนตะวันออกกลางที่เข้ามาประเทศไทยสมัย พ.ต.ท.ทักษิณเป็นรัฐบาล ที่ตั้งใจจะมาซื้อที่นาของคนไทย แล้วว่าจ้างชาวนาไทยให้เป็นลูกข้างจนถูกชาวนาไทยไล่ตะเพิดไป แล้วคนกลุ่มนี้เข้าไปที่เขมรไปพบกับสมเด็จฮุนเซน ไปตกลงอะไรกันบ้าง

“ผมขอท้าเลยให้เปิดรัฐสภา อภิปรายเรื่องนี้ แล้วจะรู้เช่นเห็นชาติเลยว่าทำไม ผมถึงอยากให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และ นายนพดล แปลงสัญชาติ แล้วคอยปกป้องขัดค้านรัฐบาลไทยไม่ให้ยกเลิกบันทึกความเข้าใจและถามกลับไปว่าทำไมถึงคัดค้านเพราะพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวมีก๊าซและแหล่งน้ำมันมหาศาลจึงมีการหมายปองขุมทรัพย์เหล่านี้โดยหวังประโยชน์ของตังเองจึงไม่เป็นที่ยอมรับของรัฐบาลปัจจุบัน ดังนั้นเมื่อคิดว่ารัฐบาลปัจจุบันไปทุบหม้อข้าว แล้วทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณหรือสมุนทั้งหลาย ต้องอดอยาก ขาดแคลน คัดค้านการยกเลิก ก็จะได้รู้เสียทีว่า สิ่งที่คนเขาสงสัยเป็นจริง”

**วิปท้าฝ่ายค้านอภิปรายจะได้ตีตลบหลัง

นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ประธาน วิปรัฐบาล กล่าวถึงการประชุมร่วมรัฐสภา เรื่องบันทึกการประชุมคณะกรรมการร่วมเขตแดนไทย-กัมพูชา(เจบีซี) 3 ฉบับนั้น วิปรัฐบาลได้หารือกันแล้วเห็นว่าควรที่จะมีการทบทวน และตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อให้ไปศึกษารายละเอียดให้รอบคอบ โดยเฉพาะในเรื่อง เอ็มโอยูปี 2544 ที่เกี่ยวกับผลประโยชน์พื้นที่ทับซ้อนในทะเล จึงขอขยายการพิจารณาจากเดิม 15 วันเป็น 90 วัน

“เรื่องนี้ผมอยากให้ฝ่ายค้านได้อภิปราย ซึ่งรัฐบาลและรัฐมนตรีพร้อมที่จะชี้แจงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรี พร้อมที่จะตอบคำถาม เพราะเรื่องนี้เกี่ยวกับกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ไปเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจรัฐบาลกัมพูชา กับที่ปรึกษาส่วนตัว สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณ รู้ข้อมูลภายในและมีผลประโยชน์ร่วมกับกัมพูชา รัฐบาลจึงต้องรักษาผลประโยชน์ของประเทศ อย่างไรก็ตาม หากฝ่ายค้านยังไม่เคลียร์ก็สามารถตั้งกระทู้ถามสดเรื่องนี้ได้ เพราะรัฐบาลยินดีที่จะชี้แจง ส่วน ส.ว.เชื่อว่าไม่มีปัญหา ซึ่งเชื่อว่าวันนี้พรรคเพื่อไทยจะได้มีความชัดเจนว่าจะเลือกประโยชน์ของชาติหรือประโยชน์ของผม”

**เลิกเอ็มโอยูไม่ต้องผ่านรัฐสภา

ส่วนที่มีข้อสงสัยว่าหากยกเลิกเอ็มโอยูรัฐบาลจะต้องขอความเห็น จากสภาฯ หรือไม่นั้น นายชินวรณ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ไม่จำเป็นเพราะตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้กำหนดให้ขอความเห็นชอบในเรื่องการทำสัญญาเท่านั้น ส่วนการยกเลิกสัญญานั้นไม่ได้มีบทบัญญัติไว้จึงจะส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยต่อไปเพื่อความชัดเจน

ผู้สื่อข่าวถามว่าการยกเลิกเอ็มโอยูจะทำให้มีปัญหาตามมาภายหลังหรือไม่ นายชินวรณ์กล่าวว่า ไม่เป็นปัญหาเพราะสัญญาดังกล่าวเป็นข้อตกลงในทวิภาคีที่ระบุชัดเจนว่าหากฝ่ายใดยกเลิกก็สามารถทำได้ตามอนุสัญญาเวียนนาอีกทั้งการจารณา เรื่องเจบีซีก็ยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาอยู่แล้วจึงไม่มีปัญหา นอกจากนี้รัฐบาลยืนยันว่าเราไม่มุ่งเน้นในเรื่องผลประโยชน์ของคน 2 คนที่มีประโยชน์ร่วมกัน แต่เราจะปฏิบัติทางการทูตเพื่อมุ่งเน้นผลประโยชน์ของคนในชาติ วันนี้การที่รัฐสภา แสดงท่าทีไม่เห็นชอบเจบีซีกับกัมพูชาเป็นการแสดงท่าทีชัดเจนว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยกับรัฐบาล

**”กษิต” ขอประชุมลับบันทึกเจบีซี

วันเดียวกันที่ประชุมประชุมรัฐร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาวาระเรื่องบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ซึ่งประกอบด้วย บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ณ เมืองเสียมราฐ วันที่ 10-12 พ.ย. 2551 บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา ครั้งที่ 4 ณ กรุงเทพฯ วันที่ 3-4 ก.พ. 2552 และ บันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการ เขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญ ณ กรุงพนมเปญ วันที่ 6-7 เม.ย. 2552 ซึ่ง นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ได้เสนอต่อที่ประชุมเพื่อขอให้มีการประชุมลับตามรัฐธรรมนูญ

ขณะที่ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ ส.ว. ต่างแสดงความไม่เห็นด้วยเนื่องจากเห็นว่า เป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนจึงเรียกร้องให้รัฐบาลประชุมเปิดประชุมตามปกติ

นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ขอให้รัฐบาลทบทวนที่จะให้เป็นการประชุมลับ เพราะเรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลเสนอเข้ามาบรรจุในระเบียบวาระมาก่อนหน้านี้แล้ว ดังนั้นควรให้มีการประชุมอย่างเปิดเผย โดยเมื่อมีประเด็นใดที่จะต้องชี้แจง ก็เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องกระทำ

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวยอมรับว่าการนำบันทึก เจบีซี เข้ามาให้รัฐสภาเห็นชอบและต้องขอให้มีการประชุมลับ ไม่เหมือนกรณี การอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องการขออนุมัติเรื่องดังกล่าวต่อรัฐสภา เพื่อเป็นเครื่องมือให้รัฐบาลสามารถเจรจากับต่างประเทศได้ ซึ่งในภาวะสถานการณ์ ที่ไม่ปกติเช่นนี้ หากมีการอภิปรายและพาดพิงออกไป อาจจะมีการตีความผิดพลาด และเกิดปัญหาต่อการเจรจาตามกรอบดังกล่าวได้ แต่ถ้าสมาชิกพรรคฝ่ายค้านให้การยืนยันว่าจะอภิปรายเฉพาะในกรอบโดยไม่นำสถานการณ์ปัจจุบันเข้ามาเกี่ยวข้อง ตนก็พร้อมจะมีการเปิดอภิปรายตามปกติ ไม่มีปัญหาอะไร

**สภาล่มเหตุไม่ครบองค์ประชุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น ส.ส.ฝ่ายค้านได้สลับลุกขึ้นอภิปรายแสดงความ ไม่เห็นด้วย ที่นายกฯ จะให้เป็นการประชุมลับ ทำให้นายชัย วินิจฉัยว่าเรื่องนี้ ต้องเป็นการประชุมลับ แต่ ส.ส.ในซีกพรรคฝ่ายค้านไม่เห็นด้วยจนทำให้การประชุมสภาวุ่นวายและเกิดการประท้วงอย่างหนัก จนในที่สุดนายชัยได้สั่งให้พักการประชุม 5 นาที และเรียกวิปทั้ง 3 ฝ่าย และนายกฯ ไปหารือเพื่อหาข้อสรุป

จากนั้นเมื่อเปิดประชุมอีกครั้ง ฝ่ายค้าน ยังยืนยันเจตนารมย์เช่นเดิม ที่ต้องการ ให้มีการเปิดประชุมแบบเปิดเผย รวมทั้งเรียกร้องชี้แจงในเรื่องการดำเนินการ ทางการทูตกับกัมพูชา นายกฯต้องตอบให้ชัดว่าอยู่ในระดับไหน

ด้านนายอภิสิทธิ์ ชี้แจงว่า รัฐบาลยืนยันว่า สิ่งที่รัฐบาลได้ดำเนินการ ทางการทูตไปกับกัมพูชา 3 ข้อ ได้ตัดสินใจเพื่อปกป้องประโยชน์ประเทศและประชาชน และตามแนวทางทางการทูตที่เป็นที่ยอมรับของสากล และยืนยันว่า ทุกก้าวที่จะดำเนินการต่อไป จะทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้น นายชัย ได้ตรวจสอบองค์ประชุม ก่อนที่จะให้สมาชิกมีมติเห็นชอบให้ถอนเรื่องดังกล่าวออกไปก่อนตามที่นายกฯร้องขอหรือไม่ ปรากฏว่ามีสมาชิกแสดงตนเพียง 298 คน ไม่ครบองค์ประชุมที่กึ่งหนึ่งจำนวน 312 คน จากสมาชิกรัฐสภา 624 คน ทำให้นายชัย เลื่อนให้นับองค์ประชุมใหม่ในวันที่ 10 พ.ย. และสั่งปิดประชุมทันทีเวลา 17.00 น.

นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า การประชุมร่วมรัฐสภา ถ้าฝ่ายค้านยืนยันจะพูดเฉพาะกรอบที่เจบีซีเสนอก็ไม่ต้องประชุมลับ เมื่อฝ่ายค้านไม่รับประกันก็จะเกิดปัญหา หากไปอภิปรายถึงเรื่องความลับทางทหาร และการดำเนินการเกี่ยวกับท่าทีของไทยต่อกัมพูชา หากรัฐบาลไม่ตอบก็หาว่าปิด แต่ถ้าตอบก็กลายเป็นเรื่องสาธารณะประเทศชาติก้จะเสียหาย อีกฝ่ายก็รู้หมดว่าเราจะทำอย่างไรต่อไป มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น