xs
xsm
sm
md
lg

ไทยรุกฆาตเขมร-ทุบหม้อข้าว"ฮุนเซน-แม้ว"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน/เอเอฟพี/เดอะการ์เดียน -ไทยรุกฆาตเขมร สั่งยกเลิกเอ็มโอยู เขตทับซ้อนทะเลไทย-กัมพูชาที่เป็นแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทุบหม้อข้าวคู่หูทรราช "ทักษิณ-ฮุนเซน" ด้าน"มาร์ค"ย้ำไทยอดกลั้นมานานแล้ว สั่งกต.พิจารณาปรับความสัมพันธ์ ใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ลั่นจากญี่ปุ่น “เขมรก่อเองต้องแก้เอง” ส่วน“กษิต”ย้ำ ไม่ยอมแม้ยกเลิกตั้งแม้ว ย้ำสัปดาห์หน้าได้ฤกษ์ถอดยศ “นช.ทักษิณ”!

วานนี้(6 พ.ย.) นายกษิต ภิรมย์ รมว.ต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากประเทศญี่ปุ่นในขณะปฏิบัติภารกิจร่วมประชุมผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นครั้งที่ 1 ณ กรุงโตเกียว ระว่างวันที่ 5-7 พ.ย.นี้ว่า จากกรณีที่รัฐบาลไทยได้ประกาศท่าทีทบทวนพันธกรณีต่างๆที่ทำกับฝ่ายกัมพูชาในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้กระทรวงการต่างประเทศได้ทบทวนไปหนึ่งเรื่องแล้วคือ เรื่องบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน ฉบับวันที่ 18 มิ.ย.44 ซึ่งทำในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

นายกษิต กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศ ได้พิจารณาถึงที่มาของบันทึกความเข้าใจระหว่างไทย-กัมพูชา ว่าด้วยพื้นที่ไทยและกัมพูชาอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อน บัดนี้สังคมไทยทั้งหมดได้รับทราบว่าพ.ต.ท.ทักษิณได้รับการแต่งตั้งให้เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลกัมพูชา ฉะนั้นกระทรวงการต่างประเทศ ก็ได้มีข้อยุติของการพิจารณา เกี่ยวกับตัวเอ็มโอยูนี้ และจะนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาแจ้งการบอกเลิกเอ็มโอยู ฉบับดังกล่าวกับฝ่ายกัมพูชาในวันที่ 10 พ.ย.นี้ ด้วยเหตุผลดังนี้

1. กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าการที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้งพ.ต.ท.ทักษิณเป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชา ภายใต้บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ เนื่องจากพ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการผลักดันให้รัฐบาลไทยในขณะนั้นจัดทำบันทึกความเข้าใจดังกล่าว

"และพ.ต.ท.ทักษิณรับรู้ท่าทีในการเจรจาของฝ่ายไทย ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงไม่อาจดำเนินการเจรจากับฝ่ายกัมพูชาบนพื้นฐานของบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ได้" นายกษิตกล่าว

2. กระทรวงการต่างประเทศเห็นว่าเรื่องพื้นที่เขตทางทะเลที่ไทยกับกัมพูชาอ้างสิทธิทับซ้อนกัน เป็นเรื่องสำคัญยิ่งต่อผลประโยชน์ของชาติ โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่กว่า 2.6 หมื่นตร.กม. และมีศักยภาพอย่างยิ่งทางทรัพยากรธรรมชาติอย่างสูง คือก๊าซธรรมชาติ การเจรจาเรื่องนี้จึงมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอย่างกว้างขวาง ดังนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นสมควรให้ดำเนินการเรื่องนี้ โดยจะให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตามแนวทางประชาธิปไตยตามที่ปรากฏในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

3.การเจรจากรอบ เอ็มโอยู 2544 นี้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมาไม่มีผลคืบหน้าเป็นรูปธรรมตามวัตถุประสงค์ของเอ็มโอยู กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นควรให้ทั้งสองประเทศใช้แนวทางการเจรจาอื่นตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้ได้ทางออกที่เป็นธรรมต่อไป

**ดับฝันขุมทรัพย์"แม้ว-ฮุนเซน"

ทั้งนี้ในช่วงที่พ.ต.ท.ทักษิณได้บรรลุข้อตกลงในการเจรจาปัญหาเขตทับซ้อนทางทะเลระหว่างราชอาณาจักรไทย กับราชอาณาจักรกัมพูชา เป็นครั้งแรก โดยได้มีข้อบันทึกความเข้าใจร่วมกัน(เอ็มโอยู) ว่าด้วยการอ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกันเมื่อวันที่ 18 มิ.ย.44 ณ กรุงพนมเปญ ซึ่งลงนามโดย ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รมว.ต่างประเทศของไทยในขณะนั้น กับนายซก อัน รัฐมนตรีอาวุโสของกัมพูชา โดยทั้งสองฝ่ายตกลงจัดตั้งคณะกรรมการร่วมด้านเทคนิคไทย–กัมพูชา และมีการประชุมครั้งแรกในเดือนธ.ค. ปีเดียวกัน โดยแบ่งพื้นที่การเจรจาออกเป็นสองส่วน

ส่วนแรก พื้นที่ทับซ้อนเหนือเส้นละติจูด 11 องศาเหนือขึ้นไป ซึ่งไม่มีข้อขัดแย้งกันให้แบ่งเขตทางทะเลอย่างชัดเจนตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ส่วนที่สอง พื้นที่ทับซ้อนใต้เส้นละติจูด 11 องศาเหนือลงมา ให้เป็นพื้นที่พัฒนาร่วมกัน (Joint Development Area - JDA) รัฐบาลทักษิณ มุ่งมั่นจะเจรจาปักปันเขตแดนในทะเล และตกลงแบ่งปันผลประโยชน์จากการให้สัมปทานขุดเจาะแก๊สและน้ำมันให้เร็วที่สุด แต่การเดินทางไปเยือนกัมพูชาของพ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.49 เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว กลับสะดุดลง เนื่องจากการเจรจาจัดสรรผลประโยชน์ไม่ลงตัว เพราะข้อเสนอสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันได้

กล่าวคือ พื้นที่ส่วนที่อยู่ตรงกลาง ทั้งสองตกลงกันได้ในเบื้องต้น โดยแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้จากการขุดเจาะแก๊สและน้ำมัน ในสัดส่วน 50-50 แต่พื้นที่ทางด้านซ้ายและด้านขวาของพื้นที่ทับซ้อนนั้น ฝ่ายกัมพูชาเสนอให้แบ่งผลประโยชน์ในสัดส่วน 90-10 แต่ฝ่ายไทยเห็นควรแบ่งในสัดส่วน 60-40 และการเจรจาสะดุดหยุดลง เมื่อรัฐบาลทักษิณ ถูกรัฐประหารเมื่อเดือนก.ย. 49 จนถึงบัดนี้การเจรจาตกลงแบ่งปันผลประโยชน์บนพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ

พื้นที่เขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา มีประมาณ 27,960 ตารางกิโลเมตร มีมูลค่าทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญคือ ก๊าซฯ และน้ำมัน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ประมาณการว่ามีปริมาณน้ำมันสำรองมากถึง 2,000 ล้านบาร์เรล และมีปริมาณก๊าซฯ สำรองอีกมากกว่า 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต มูลค่ามากกว่า 5 ล้านล้านบาท ที่ผ่านมารัฐบาลกัมพูชาและรัฐบาลไทย ต่างให้สัมปทานแก่บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานของโลกหลายราย เช่น เชฟรอน, โททาล, ยูโนแคล, บริติช แก๊ส, มิตซุย, กลุ่มปตท. เป็นต้น แต่การสำรวจขุดเจาะยังไม่สามารถดำเนินการได้จนกว่ารัฐบาลทั้งสองชาติจะบรรลุข้อตกลงร่วมกันเสียก่อน

การยกเลิกเอ็มโอยูเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ของรัฐบาลไทย ย่อมส่งผลต่อการให้สัมปทานน้ำมันและก๊าซฯ ดังกล่าว แต่ผลกระทบที่สำคัญคือ ทำให้ผลประโยชน์มหาศาลที่ ฮุนเซน-ทักษิณ วาดหวังไว้จบสิ้นลงไปด้วย

การเจรจาผลประโยชน์เขตทับซ้อนฯ ยังเชื่อมโยงไปถึงการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กันระหว่างทักษิณและฮุนเซน กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกของกัมพูชา เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ วางแผนเข้าพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนบริเวณด้านใต้ห่างจากหน้าผาที่ตั้งปราสาทพระวิหารประมาณ 300 เมตร ขนาดพื้นที่ 20,000 เฮกตาร์ ในรูปแบบเอ็นเทอร์เทนเมนต์คอมเพล็ก

นอกจากนั้นรัฐบาลฮุนเซนยังให้สัมปทานเช่าเกาะกงในระยะยาวเป็นเวลา 99 ปี แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยใช้เม็ดเงินลงทุนกว่า 40,000 ล้านบาท ลงทุนในโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ ทั้งท่าเรือน้ำลึก กาสิโน สนามบินฯลฯ โดยมีรูปแบบการบริหารแบบเขตพิเศษคล้ายกับฮ่องกง

**เตรียมยกเลิกอีกเอ็มโอยูยุคทักษิณ

ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้บริหารประเทศในขณะที่ทำเอ็มโอยู ทำให้ได้รับทราบแนวทางการเจรจา ท่าทีและความลับที่มีอยู่ในขณะนั้น และขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ไปเป็นที่ปรึกษาให้กับกัมพูชาแล้ว อาจมีผลเปลี่ยนแปลงสภาพการณ์อย่างสำคัญ จึงเป็นเหตุให้รัฐบาลต้องยกเลิกเอ็มโอยูดังกล่าว ส่วนเอ็มโอยูอื่นๆ ที่ไทยทำกับกัมพูชา ในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ อนาคตอาจมีการพิจารณายกเลิกอีก

เมื่อถามว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ไปเป็นที่ปรึกษาประเทศอื่นๆ จะต้องพิจารณายกเลิกบันทึกข้อตกลง หรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า ต้องดูความจริงจังว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาระดับไหน มีผลกระทบต่อไทยอย่างไรบ้าง ทั้งนี้เมื่อกระทรวงการต่างประเทศนำเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจาณาของคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบยกเลิกแล้ว จะใช้เวลาในกระบวนการยกเลิกประมาณ 3 เดือนจึงจะมีผล ส่วนการพิจารณาปิดด่านตามชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงพิจารณา กระทรวงการต่างประเทศยังไม่ได้เสนอ

**เรียกทูตกลับทำตามหลักสากล

นายชวนนท์ กล่าวถึงกรณีความสัมพันธ์ว่า เราต้องยืนยันมาตรการ 3 ข้อของเราเหมือนเดิมคือ 1. เรื่องการเรียกทูตกลับมาจากกรุงพนมเปญ ซึ่งได้เดินทางมาถึงประเทศไทยแล้วเมื่อคืนวันที่ 5 พ.ย.ที่ผ่านมา 2. เรื่องการทบทวนพันธกรณี ข้อตกลง ความร่วมมือต่างๆ ซึ่งกระทรวงต่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่ 3. เรื่องเงินช่วยเหลือต่างๆในอนาคต คงต้องมีการทบทวนว่า สถานการณ์ลักษณะนี้เหมาะสมหรือไม่ที่ไทยจะให้การช่วยเหลือกัมพูชา

เมื่อถามว่าปัญหาที่เกิดขึ้นต้องมีประเทศอื่นเข้ามาไกล่เกลี่ยหรือไม่ นายชวนนท์ กล่าวว่า เป็นเรื่องทวิภาคระหว่างไทยกับกัมพูชาเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นคงต้องรอดูสักระยะหนึ่งเพราะเราเพิ่งประกาศมาตรการไป และขณะนี้เรากำลังพิจารณา ทบทวนความตกลงต่างๆ และ ที่เรายกความตกลงต่างๆขึ้นมา ไม่ได้นำมาเป็นข้อต่อรอง แต่เราเห็นว่าเรื่องดังกล่าวท่าทีของสมเด็จฮุนเซนในระยะหลังเปลี่ยนไปกับประเทศไทย โดยเฉพาะการมีท่าทีที่แข็งกร้างต่อเนื่อง ดังนั้นถ้าไม่เป็นเหตุที่มีการเข้าใจผิดในข้อมูลตามธรรมดาแล้วก็อาจจะมีเหตุที่มีความไม่ลงตัว หรือมีความไม่สบายใจในการดำเนินงานของรัฐบาล หรือเป็นเรื่องของผลประโยชน์ใดๆ ก็แล้วแต่ จึงต้องมามองว่า เป็นเรื่องระหว่างความตกลงของไทยและกัมพูชา เราต้องย้อนดูว่าอะไรที่มีปัญหา อะไรที่มีที่มาที่ไปไม่ชอบมาพากล ตรงนี้ต้องกำจัดออกไป เพราะถ้าเรายังค้างเรื่องเหล่านี้ไว้สักวันปัญหาลักษณะนี้ก็จะเกิดขึ้นอีก เพราะถึงวันนี้อะไรที่เป็นประโยชน์ โปร่งใส เราจะผลักดันเดินหน้าเต็มที่ แต่อะไรที่คิดว่ายังไม่ชัดเจนรัฐบาลก็อาจจะชะลอเอาไว้ก่อน

อย่างไรก็ตาม เรื่องผลการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมปักปันเขตแดนไทย-กัมพูชา ที่จะเข้าสู่สภา ในวันที่ 9 พ.ย.นี้ เราจะไม่ชะลอออกไป และที่ตัดสินใจไม่ชะลอเพราะเป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาบริเวณเขตแดน

**"มาร์ค"ย้ำไทยอดกลั้นมามากแล้ว

ในวันเดียวกันนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาาษณ์ภายหลังงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ในระหว่างการร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 1 ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งสมเด็จฮุนเซนนายกรัฐมนตรีกัมพูชาร่วมงานเลี้ยงดังกล่าวด้วยว่า ยืนยันว่าการปรับลดระดับความสัมพันธ์กับกัมพูชาครั้งนี้ เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของไทย และปกป้องกระบวนการยุติธรรมของไทย

" ผมคิดว่ารัฐบาลและคนไทยได้แสดงออกบนความอดทน อดกลั้นพอสมควร เรื่องนี้เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในระดับทวิภาคี ทั้ง 2 ประเทศ ต้องแก้ปัญหากัน แต่ปัญหาไม่ได้เกิดจากรัฐบาลไทย ดังนั้นจึงอยู่ที่กัมพูชา จะต้องไปพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ต้องให้เวลากัมพูชาระยะหนึ่ง เพราะเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้น" นายกรัฐมนตรีกล่าว

ทั้งนี้ การปรับลดระดับความสัมพันธ์มีกลไกอยู่ ขณะนี้ได้ให้กระทรวงการต่างประเทศเตรียมการไว้แล้ว รัฐบาลจะพิจารณาตามความเหมาะสมว่าเรื่องใดควรเดินช้าหรือเดินเร็ว รัฐบาลไทยยังคงยืนยันว่า จะดำเนินการโดยไม่ให้เกิดปัญหาความรุนแรง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงเข้าใจดี จะไม่ให้กระทบกับผลประโยชน์ของคนไทย ขณะเดียวกันเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ได้ชี้แจงสถานการณ์ให้คนไทยที่ทำธุรกิจในกัมพูชาทราบถึงสถานการณ์แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามว่าหากกัมพูชาไม่ตอบสนอง จะดำเนินการอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลได้แสดงออกในระดับหนึ่งแล้ว และจะพิจารณาตามสถานการณ์ต่อไป ทั้งนี้ การพบกับผู้นำกัมพูชาระหว่างการประชุมผู้นำกลุ่มน้ำโขงครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้เจรจาเรื่องปัญหาที่เกิดขึ้นกับสมเด็จฮุนเซน โดยตรงแต่อย่างใด

**ปัดถกเขมรลั่น“ก่อเองต้องแก้เอง”

เวลา 20.15 น. ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ พร้อมด้วยนายกษิต ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ประเทศไทยในการวีดิโอลิงค์ทางไกล ว่าคิดว่าคงไม่กระทบอย่างที่สิงคโปร์เป็นห่วง เหมือนกับที่สองประเทศได้มาร่วมประชุมกรอบความร่วมมือของญี่ปุ่นกับประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง เราก็ต่างทำหน้าที่กันไป เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของทวิภาคี เพราะฉะนั้นจะแก้ไขปัญหาในกรอบทวิภาคี

เมื่อถามว่า ที่คิดว่าจะแก้ไขปัญหาได้ นายกฯ กล่าวว่า บังเอิญเราไม่ใช่ฝ่ายที่สร้างปัญหา เราก็แสดงท่าทีของเราชัดเจน ผู้ก่อปัญหาก็ต้องเป็นผู้แก้ เมื่อถามว่ากัมพูชาต้องแก้ปัญหาอย่างไร นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า กัมพูชาต้องไปทบทวน และกระทรวงการต่างประเทศก็มีมาตรการต่างๆ ออกมาจะชัดเจนมากขึ้น เมื่อถามต่อว่า ถ้าไม่มีการทบทวนไทยจะมีการตอบโต้ขึ้นเรื่อยๆ นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่วางเป็นหลักไว้ประการแรกไม่ต้องการให้เกิดการกระทบกระทั่งระหว่างชาวไทยกับชาวกัมพูชา ควรจะเป็นเพื่อนบ้านและเป็นมิตรที่ดี ประการที่สองความเดือดร้อนที่จะเกิดขึ้นกับคนของเราจะไม่ให้มีหรือหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด มาตรการที่เราทำ ที่กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการไป ก็จะมุ่งเน้นการแสดงออกในทางการทูตบวกกับประเด็นปัญหา

“ เช่นข้อตกลงใดๆก็ตามในปัจจุบันก็เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากว่าคนเคยอยู่ฝ่ายไทย ปัจจุบันไปอยู่ฝ่ายกัมพูชาแล้ว ซึ่งมีบางเรื่องที่เป็นกรอบการเจรจา ที่เริ่มต้นในสมัยที่อดีตนายกฯเป็นนายกฯของไทย เพราะฉะนั้นก็จะทราบในเรื่องของจุดยืนที่มาข้อมูลของไทย แต่ปัจจุบันกับกลายเป็นที่ปรึกษาของฝ่ายกัมพูชาเสียแล้ว เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้อทบทวนครับ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในการทบทวนข้อตกลงเอ็มโอยู จะมีผลกับข้อกฎหมายหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะดูอย่างรอบคอบเป็นเรื่องที่กระทรวงการต่างประเทศ กรมสนธิสัญญา ก็จะดูด้วยความรอบคอบอยู่แล้ว พูดตามตรงเป็นเรื่องของข้อตกลงที่คนไทยจำนวนหนึ่งไม่สบายใจอยู่แล้ว เมื่อถามต่อว่า การเรียกทูตไทยประจำกรุงพนมเปญกลับจะมีการพิจารณาเรื่องการส่งกลับไปหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่ากระทรวงการต่างประเทศจะเป็นผู้พิจารณา ว่าเราได้ส่งสัญญาณและได้แสดงออกโดยใช้วิธีการตามปกติ ทางการทูตหรือมาตรการทางการทูตบวกกับการที่จะต้องมาแก้ไขปัญหา

เมื่อถามว่าแต่ทางกัมพูชายังแสดงความแข็งกร้าวโดยการเรียกทูตกลับประเทศ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เวลานี้สถานะก็ต้องดูสถานการณ์ต่อไปอย่างที่ตนเรียนก็คือ ปัญหาทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจากฝ่ายเรา เมื่อถามต่อว่าทราบว่าในการรับประทานอาหารค่ำได้นั่งร่วมโต๊ะกับสมเด็จฮุนเซน มีการทักทายกันหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า บังเอิญนั่งไกลกันแล้วมีแจกันดอกไม้ขวางอยู่

ถามถึงกรณีที่ 40 สว.อยากให้รัฐบาลตอบโต้เขมรหลายประเด็น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อแรกได้ดำเนินการไปแล้วคือเอกอัครราชทูตก่อนเดินทางกลับได้เรียกนักลงทุนมาประชุมเพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์และให้คำแนะนำ ส่วนเรื่องมรดกโลกเป็นเรื่องที่ทำต่อเนื่องอยู่แล้วและการที่เราประสบความสำเร็จในการเข้าไปเป็นกรรมการมรดกโลกคงจะช่วยให้เรามีความสามารถในการติดตามความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องในเรื่องประสาทพระวิหารได้ง่ายขึ้นและสามารถสะท้อนความเห็นไปยังคณะกรรมการมากขึ้น ส่วนการยกเลิกข้อตกลงต่างๆนั้นยังไม่เห็นและไม่รู้ว่าหมายถึงบันทึกตัวไหน แต่ที่เราจำเป็นต้องดูในปัจจุบันคือบันทึกที่เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนขึ้นในแง่สถานะของอดีตนายกฯ

**“กษิต” ไม่ยอมแม้ยกเลิกตั้งแม้ว

นายกษิต กล่าวตอบคำถามการตอบโต้อย่างอื่นว่า ปัญหามันอยู่ที่ฝ่ายกัมพูชาตามที่นายกฯว่าไว้ว่าการที่เขาได้แต่งตั้งอดีตนายกฯเป็นที่ปรึกษามีผลกระทบโดยตรงต่อความเป็นไปในการเมืองไทยต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกัมพูชา เราได้แสดงออกไปสองเรื่องว่าเราไม่พอใจกับพฤติกรรมอันนี้ ภาระทั่งหมดอยู่ที่ฝ่ายเขาต้องพิจารณาให้ดีว่าเขาจะทำอะไรต่อไป และยืนยันว่ามาตรการที่ดำเนินการถูกต้อง ไม่ทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ประเด็นคืออย่าห่วงทางฝ่ายเรา ประเด็นคือต้องดูพฤติกรรมของฝ่ายกัมพูชาว่าเขาได้ทำอะไร เราถึงได้ทำอย่างนี้

เมื่อถามว่า จะมีมาตรการปิดพรหมแดนหรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ไม่ใช่ คงถามอย่างนั้นไม่ได้ ต้องถามว่าที่เขาได้แต่งตั้งคุณทักษิณเป็นที่ปรึกษาไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยและสังคมไทยอยากให้รัฐบาลชุดนี้ทำอะไรเราก็ได้ทำไปสองอย่าง

“ตราบใดที่ความสัมพันธ์หรือเงื่อนไขที่กัมพูขามีกับคุณทักษิณยังอยู่นั้นเขาต้องพิจารณาว่าที่เราได้ทำไปสองเรื่องนั้นเพียงพอที่เขาจะได้ทบทวนและตัดสินใจใหม่หรือยัง ถ้าเผื่อยังจะมีมาตรการอื่นๆเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆและทุกสิ่งทุกอย่างต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย ขั้นตอนและเป็นความเห็นพร้อมต้องกันในรัฐบาล”นายกษิต กล่าว

**ย้ำต้องไม่ให้คน 2 ฝ่ายเดือดร้อน

เมื่อถามว่า หมายความว่าหากกัมพูชายกเลิกการแต่งตั้ง ดร.ทักษิณ ไทยจะยกเลิกมาตรการตอบโต้หรือไม่ นายกษิต กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้นมันต้องดูความสัมพันธ์อื่นๆด้วย มันไม่ใช่แค่เลิกอย่างเดียว ความเข้าอกเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นไปอย่าลืมว่าที่สมเด็จฮุนเซนได้พูดเมื่อครั้งมาประขุมอาเซียนซัมมิท ได้มีคำถามและข้อสงสัยที่ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการยุติธรรมของไทยซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยและรัฐบาลรับไม่ได้ ว่าเขามีข้อสงสัยที่มาดุหมิ่นดูแคลนเกี่ยวกับความซื่อสัตย์สุจริตความเที่ยวตรงของระบบกระบวนการยุติธรรมของเราไมได้ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่อถามว่ามาตรการนี้ยังจะคงอยู่ต่อไปหรือไม นายกษิต กล่าวว่า ไม่มีอะไรเป็นขาวเป็นดำ เป็นวิวัฒนาการดูไปตามขั้นตอน หากถามล่วงหน้าก็ตอบไม่ได้ เราได้เตรียมการไว้และจะตอบสนองไปตามเหตุการณ์ ต้องฟังเสียงปรานเป็นหลักด้วยอากงให้ทำมากน้อยแค่ไหน หรือข้อยุติเป็นที่พึงพอใจหรือกัมพูขาทำเป็นที่พึงพอใจเราก็ปรับความสัมพันธ์สู่ภาวะปกติคืบหน้ากันได้มีเรื่องอื่นที่ต้องทำหลายสิบเรื่อง

**"เทือก"กร้าวปิดชายแดนหากไม่สำนึก

นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า จริงๆแล้วเรื่องนี้ตนได้รับมอบหมายให้ไปชี้แจงให้ สมเด็จฮุนเซน เข้าใจมาตั้งแต่ต้นแล้วว่า ดร.ทักษิณหนีคดีอาญา ที่ผ่านกระบวนการพิจารณาของศาลยุติธรรมไทย เมื่อเขมรแสดงท่าทีอย่างนี้ ก็ถือว่าก้าวล่วงเรื่องภายในของไทย จำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องตอบโต้ทางการทูต นายกรัฐมนตรีไม่ได้มีความประสงค์ที่จะทำให้ความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านต้องมีปัญหา

ขณะที่สถานทูตไทยในกัมพูชาคิดว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลกัมพูชาจะต้องดูแล จริงๆ ทั้งหมดเป็นเรื่องของ ดร.ทักษิณ ที่คิดที่จะใช้รัฐบาลกัมพูชา ใช้ประเทศกัมพูชา เป็นฐานปฏิบัติการในทางการเมือง ตรงนี้คิดว่าพ.ต.ท.ทักษิณ ควรจะรู้จักที่จะพูดจาบอกกล่าวให้รัฐบาลกัมพูชา ช่วยดูแลกิจการ ทรัพย์สินของคนไทยหรือสถานทูตไทยในกัมพูชา ส่วนการปิดด่านตามแนวชายแดน ต้องระดับไหนถึงจะสั่งปิดนายสุเทพ กล่าวว่า ดูท่าที ถ้ากัมพูชาแข็งกร้าวโต้ตอบมาในลักษณะไม่ประนีประนอม ระดับความสัมพันธ์ของสองประเทศก็ต้องลดลงไปเรื่อย อาจต้องถึงขั้นปิดด่านแนวชายแดน อะไรก็ว่าไป และ เราก็จะไม่เปิดศึก

ส่วนต้องเลิกคบสมเด็จฮุนเซนไหม นายสุเทพ กล่าวว่า ยังไม่เลิกคบ ตนต้องทำตัวเป็นสะพานไปเรื่อยๆ ส่วนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ออกมาระบุว่า รัฐบาลไทยตอบโต้เกินจริง เห็นว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ควรจะเอาประเทศชาติมาเป็นของเล่นสำหรับการช่วงชิงอำนาจ

**สิงคโปร์เป็นห่วงปัญหาไทย-เขมร

ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตสิงคโปร์ ประจำประเทศไทย ได้ส่งแถลงการณ์มายังกระทรวงการต่างประเทศ โดยระบุว่าโฆษกกระทรวงการต่างประเทศสิงคโปร์ แสดงความห่วงกังวลต่อกรณีมาตรการตอบโต้ทางการทูตของรัฐบาลไทยและกัมพูชา มีใจความว่า สิงคโปร์มีความรู้สึกห่วงกังวลต่อความสัมพันธ์ของไทย-กัมพูชาที่จะส่งผลกระทบโดยร่วมของอาเซียน โดยหวังว่ามิตรประเทศที่ดีของเราทั้งสองประเทศ จะคำนึงผลประโยชน์ของอาเซียนเป็นสำคัญ และหวังว่าทั้งสองจะหาทางแก้ข้อขัดแย้งด้วยจิตวิญญาณบนพื้นฐานของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี

**ชายแดนปกติ-ฑูตเขมรนั่งรถออก

สำหรับบรรยากาศบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาทั่วไป เช่น บนเขาพระวิหาร ด่านช่องสะงำ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ด่านผ่านแดนถาวรช่องจอม-โอร์เสม็ด ต.ด่าน อ.กาบเชิง หรือบริเวณตลาดช่องจอม ต.ด่าน อ.กาบเชิง จ.สุรินทร์ ด่านพรมแดนอรัญประเทศ จุดผ่านแดนถาวรบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว หรือจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็กที่ ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด พบว่า การค้าขายและการท่องเที่ยวเป็นไปอย่างปกติ ขณะที่นักพนันชาวไทย เดินทางผ่านเข้า-ออกไปยังบ่อนการพนันฝั่งปอยเปตน้อยลง ส่วนทหารทั้ง 2 ฝ่ายยังคงตรึงกำลังตามแนวชายแดนเหมือนเดิม

ด้านนายศานิตย์ นาคสุขศรี ผวจ.สระแก้ว เดินทางมายังหน้าด่านพรมแดนอรัญประเทศ จ.สระแก้ว เพื่อติดตามสถานการณ์ชายแดน และรอส่งเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทย ที่จะเดินทางกลับประเทศผ่านด่านพรมแดนอรัญประเทศ มีรายงานข่าวมีรถติดป้ายสถานฑูตวิ่งผ่านโดยผู้ว่าสระแก้วเป็นผู้ส่ง

**สัปดาห์หน้าได้ฤกษ์ถอดยศ “นช.ทักษิณ”!

พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงความคืบหน้าเพื่อยื่นเรื่องพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณว่า ทาง สตช.ได้รับหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และได้ส่งเรื่องให้สำนักงานกำลังพลเพื่อดำเนินการรวบรวมเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนและระเบียบการถอดยศ สำหรับการรวบรวมเอกสารต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งเนื่องจากเอกสารเป็นเก่าประมาณ 5-6 ปีแล้ว ระบบราชการก็ล่าช้า แต่จะพยายามให้รวดเร็วที่สุด คาดว่าจะเสร็จภายในเร็วนี้ๆ เพื่อส่งเรื่องให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในสัปดาห์
กำลังโหลดความคิดเห็น