xs
xsm
sm
md
lg

ไทยต้องตื่นตัวกับการเปิดเขตการลงทุนเสรีอาเซียน เริ่มจากอินโดนีเซีย...แหล่งรองรับการค้าและการลงทุน

เผยแพร่:   โดย: พรรณี เช็งสุทธา

การประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ไทยเป็นเจ้าภาพเมื่อเดือนตุลาคม 2552 ได้ผ่านไปแล้ว และอาเซียนจะทำการเปิดเขตการค้าเสรีอย่างสมบูรณ์แบบ รวมถึงเขตการลงทุนเสรีของอาเซียนก็เริ่มจะมีผลบังคับใช้เช่นกัน

สำหรับนักธุรกิจไทย การเปิดเขตการลงทุนเสรีจะส่งผลดีต่อไทยเป็นอย่างมาก ในการเข้าไปเปิดตลาดและทำธุรกิจในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน โดยสิทธิพิเศษและมาตรการต่างๆ ของประเทศเพื่อนบ้าน จะเอื้อต่อการทำธุรกิจและการลงทุนของไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น ไทยจึงจำเป็นต้องตื่นตัว รับรู้โอกาส และลู่ทางเหล่านี้อย่างใกล้ชิด

เริ่มจากประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้น้อยที่สุดในกลุ่มอาเซียน และมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับสองในเอเชียรองจากจีนในปี 2552 ทั้งนี้ เพราะเศรษฐกิจอินโดนีเซียพึ่งพิงการส่งออกเพียงร้อยละ 30 - 40 เท่านั้น เนื่องจากมีจำนวนประชากรถึง 250 ล้านคน ทำให้สินค้าที่ผลิตได้ ใช้เพื่อการบริโภคในประเทศเป็นหลัก

ธนาคารกลางของอินโดนีเซียประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ที่ร้อยละ 4.3 ซึ่งสูงกว่าที่ประมาณการไว้เดิมที่ร้อยละ 3.5 - 4 และคาดว่าในปีหน้าเศรษฐกิจจะเติบโตที่ร้อยละ 5.5 อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศ G20 ที่เป็นประเทศกำลังพัฒนา เนื่องมาจากการเป็นแหล่งผลิตน้ำมันแห่งหนึ่งของโลกและมีการส่งออกเป็นสำคัญ อีกทั้งเป็นตลาดใหญ่และมีภาวะเศรษฐกิจที่ดี

เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ร.ท.อัครสิทธิ์ อมาตยกุล กล่าวว่า ประธานาธิบดีของอินโดนีเซียเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ เห็นได้จากการได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่สอง ซึ่งในสมัยที่แล้ว ไม่มีการต่อต้านจากประชาชน ทั้งนี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้ตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากเล็งเห็นถึงปัญหาการขาดแคลนสาธารณูปโภคที่มีส่วนในการผลักดันให้เกิดการลงทุนในเรื่องอื่นๆ ตามมา

ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ การก่อสร้างสาธารณูปโภค เช่น พลังงาน ท่าเรือ ไฟฟ้า ถนน สนามบิน อุตสาหกรรมเกษตร และพลังงาน โดยหลายเมืองในอินโดนีเซีย ต้องการหาผู้ลงทุน ซึ่งเป็นโอกาสที่คนไทยสามารถเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ เช่น ที่เมืองปาเล็มบัง ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของเกาะสุมาตรา ต้องการส่งเสริมให้เป็นเมืองท่องเที่ยว จึงมีความต้องการสร้างโรงแรม ภัตตาคารและกิจการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวอื่นๆ

ท่านทูตกล่าวเสริมว่า ไทยมีโอกาสอีกมากในอินโดนีเซีย ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างไทยและอินโดนีเซียที่ดำเนินมาอย่างช้านาน บริษัทไทยบางบริษัทเข้าไปสร้างชื่อเสียงที่ดี เช่น บ้านปู นอกจากนี้กิจการด้านการรักษาพยาบาลก็เป็นโอกาสที่ดี เนื่องจากอินโดนีเซียมีประชากรเป็นจำนวนมาก แม้ส่วนใหญ่จะยากจน แต่มีกลุ่มที่มีกำลังซื้อมากถึงร้อยละ 10 -15 ซึ่งมีศักยภาพพร้อมที่จะจับจ่ายใช้สอยสินค้าและสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จะเห็นได้จากศูนย์การค้ากลางกรุงจาการ์ตาที่มีอยู่หลายแห่ง ล้วนขายสินค้าแบรนด์เนมดังๆ รวมถึงมีการก่อสร้างอาคารที่อยู่อาศัยเป็นตึกสูงหลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นอพาร์ตเมนต์สำหรับผู้มีรายได้สูง

ด้วยเหตุนี้ สถานเอกอัครราชทูตไทย จึงได้จัดทำโครงการต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการทำธุรกิจ การค้าและการลงทุน โดยมีเป้าหมายที่กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อ สถานทูตฯ ได้นำผู้สื่อข่าวจากอินโดนีเซียมาทำข่าวในไทยเพื่อนำไปเผยแพร่ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการท่องเที่ยว และสนับสนุนให้โรงพยาบาลของไทยเข้ามาศึกษาข้อมูลความเป็นไปได้ในการทำธุรกิจ เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าระดับบนไปรักษาในไทย แทนที่จะไปรักษาในสิงคโปร์ ซึ่งไทยมีความพร้อมในเรื่องนี้ และน่าจะใช้ประโยชน์จากนักศึกษาไทยที่จบการศึกษาจากโรงเรียนสอนศาสนาในอินโดนีเซีย เพื่อเป็นล่ามให้แก่ชาวอินโดนีเซียที่ประสงค์จะเข้าไปรักษาพยาบาลในไทย

ในเรื่องของการลงทุน สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่จะให้การส่งเสริมและสนับสนุนบริษัทที่สนใจจะเข้าไปศึกษาโอกาสและลู่ทางการลงทุน ปัจจุบันมีบริษัทไทยหลายรายที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจในอินโดนีเซีย เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ บ้านปู ปูนซิเมนต์ไทย ศรีตรัง เป็นต้น (จากสถิติของหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของอินโดนีเซีย (BKPM) ระหว่างปี 2535-2551 มีบริษัทไทยที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BKPM ทั้งสิ้น 29 โครงการ เป็นมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 107 ล้านเหรียญสหรัฐ) และยังมีอีกหลายกิจการที่เป็นบริษัทขนาดเล็กและขนาดย่อมที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่ส่วนใหญ่ยังเป็นการลงทุนในเขตกรุงจาการ์ตาและจังหวัดใกล้เคียงเป็นหลัก

เนื่องจากผู้บริโภคส่วนใหญ่อยู่ในเขตนี้ แต่จากการสำรวจของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเมื่อเร็วๆ นี้ ปรากฏว่า ศักยภาพของอินโดนีเซีย ยังมีอีกหลายเมือง เช่น ที่สุราบายา (ห่างจากจาการ์ตาไปทางใต้ประมาณ 2 ชั่วโมงโดยเครื่องบิน) หรือบาหลี ที่นอกจากจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแล้ว ยังมีอุตสาหกรรมการผลิตและบริการอีกหลายอย่าง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ การ
รีไซเคิลขยะ การผลิตน้ำดื่มและน้ำเพื่อการอุตสาหกรรม ร้านอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งมีโอกาสที่ไทยจะเข้าไปลงทุนเช่นกัน

ประเทศไทยมีกงสุลกิตติมศักดิ์ประจำอินโดนีเซีย 3 เมือง คือ สุราบายา บาหลี และ
เมดาน ล้วนแต่เป็นเมืองสำคัญ สำหรับที่สุราบายาและบาหลีถือว่าเป็นเรื่องที่หาได้ยาก ที่กงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยจะเป็นผู้หญิง ที่เมืองสุราบายาคือ H.E.Ms. Onny Asri Miryam (มีกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยเพียงไม่กี่คนที่เป็นผู้หญิง และขอยืนยันว่า กงสุลกิตติมศักดิ์คนนี้เป็นคนเก่ง มีบุคลิกภาพที่เหมาะสม และมีความรู้ความสามารถที่จะดำรงตำแหน่งนี้ เธอมีความรักและภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์ให้กับประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง)

สำหรับกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยที่บาหลี คือ คุณพีระพนธ์ ประยูรวงษ์ ก็เป็นเพียง 1 ใน 3 คนของโลกที่เป็นคนไทย ส่วนใหญ่กงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยจะเป็นคนเชื้อชาตินั้นๆ แต่เนื่องจากท่านนี้เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมและมีบุคลิกภาพที่ดี เป็นที่รู้จักและยอมรับของคนทั่วไปในบาหลีและจังหวัดทางตอนใต้ของประเทศ รวมถึงปาปัว ทำให้ท่านดำรงตำแหน่งนี้มาแล้วถึง 6 ปี

นอกจากโอกาสที่ไทยจะทำธุรกิจกับกลุ่มผู้มีกำลังซื้อในระดับบนแล้ว จากการสอบถามบริษัทไทยในอินโดนีเซีย ได้ทราบว่าสินค้าอะไรก็ตามที่จับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยหรือปานกลาง ก็มีโอกาสสูงเช่นกัน ดังจะเห็นได้ว่า บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ที่เข้าไปทำธุรกิจในหลายกิจการ รวมทั้งการผลิตกระเบื้องเซรามิกปูพื้นและผนังโดยมุ่งที่ตลาดล่างซึ่งขายดีมาก โรงงานผลิตวันละสามกะ ทำทุกวันไม่เว้นวันหยุด แม้ในภาวะที่เศรษฐกิจทั่วโลกย่ำแย่ แต่ก็ไม่ได้รับกระทบ

โอกาสการลงทุนของไทยในอินโดนีเซีย จากการสำรวจและหารือกับหลายองค์กรของอินโดนีเซียและบริษัทไทย สรุปได้ว่า อุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค เฟอร์นิเจอร์ พลังงาน (จากการหารือกับนิคมอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งในกรุงจาการ์ตา ทราบว่ากำลังเปิดประมูลโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดกลางในนิคมอุตสาหกรรม) อาคารที่พักอาศัยสำหรับผู้มีรายได้ปานกลางทั้งในและนอกนิคมอุตสาหกรรม บ้านจัดสรร ชิ้นส่วนยานยนต์ และรถจักรยานยนต์ (ปีที่แล้ว รถจักรยานยนต์ในอินโดนีเซียขายได้ประมาณ 1 ล้านคัน) เหมืองแร่ (อินโดนีเซียมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย ทั้งถ่านหินที่มีคุณภาพสูง ทองแดง ทองคำ นิกเกิล) เป็นต้น
เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพและเอื้ออำนวยต่อการลงทุนของต่างชาติ รัฐบาลอินโดนีเซียได้พยายามปรับปรุงกฎระเบียบต่างๆ เช่น ในขณะนี้มีความพยายามที่จะปรับปรุงกฎหมายแรงงานเพื่อความเท่าเทียมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ในอดีตกฎหมายแรงงานเอื้อประโยชน์ให้กับลูกจ้างเป็นอย่างมาก) กฎหมายการส่งเสริมการลงทุนซึ่งได้มีการปรับปรุงคือ Law of the Republic of Indonesia Number 25 Year 2007 Regarding Capital Investment ประกาศเป็นกฎหมายเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2550 เพื่อควบคุมดูแลกิจกรรมการลงทุนในอินโดนีเซีย และปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนในอินโดนีเซีย

กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดหลักการและวัตถุประสงค์การลงทุน นโยบายการลงทุนพื้นฐาน ประเภทของธุรกิจและทำเลที่ตั้ง การปฏิบัติต่อการลงทุน แรงงาน ภาคธุรกิจ การพัฒนาการลงทุน ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ การดำเนินการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษและการระงับข้อพิพาท

หน่วยงานส่งเสริมการลงทุนของอินโดนีเซียภายใต้กฎหมายการลงทุน คือ Investment Coordinating Board (BKPM) มีประธาน ซึ่งได้รับการแต่งตั้งและขึ้นตรงกับประธานาธิบดี มีอำนาจหน้าที่ในการประสานดำเนินการตามนโยบายการลงทุน การพัฒนาตามแนวทางการลงทุนของอินโดนีเซีย และแสวงหาส่งเสริมศักยภาพ รวมทั้งโอกาสการลงทุนในประเทศ

เอกอัครราชทูตไทยได้ฝากข้อแนะนำสำหรับผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียว่า อินโดนีเซียมีศักยภาพสูงที่จะรองรับการลงทุนจากไทยได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องหาผู้ร่วมทุนที่ดี ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ส่วนบุคคล (Personal contact) ต้องศึกษาข้อมูลให้ละเอียดรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน และควรจะมีที่ปรึกษาด้านการลงทุนหรือทนาย

ท่านกงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยที่บาหลีฝากความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเรียนรู้วัฒนธรรมของอินโดนีเซียที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเข้ามาทำธุรกิจว่า วัฒนธรรมของอินโดนีเซียคล้ายกับของไทยที่ถือเรื่องศีรษะเป็นสำคัญ ศักดิ์ศรีเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้น เวลาจะตำหนิคนอินโดนีเซีย อย่าตำหนิต่อหน้า และการสอนงานต้องสอนทีละเรื่อง

หากท่านกำลังเลือกแหล่งลงทุนใกล้บ้าน ลองพิจารณาอินโดนีเซียดูบ้างก็จะดี

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น