xs
xsm
sm
md
lg

ลัทธิกีดกันการค้าด้วยข้ออ้างเรื่องโลกร้อน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ลัทธิกีดกันการค้าและกีดกันเทคโนโลยีรูปแบบใหม่และอันตราย กำลังปรากฏขึ้นมาให้เห็นอย่างรวดเร็ว ภายใต้หน้ากากของการมุ่งต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนั้น มันยังส่งผลเป็นการวางยาพิษเข้าไปในสายสัมพันธ์เหนือ-ใต้ภายในการเจรจาสองเวทีคือ การเจรจาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเจรจาด้านการค้า

เมื่อเร็วๆ นี้ สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ได้ผ่านร่างพรบ.ที่ให้อำนาจแก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในอันที่จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ตลอดจนภาษีประเภทต่างๆ จากสินค้านำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา ที่สหรัฐฯเห็นว่า ยังไม่ดำเนินการอย่างเพียงพอในอันที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นอกจากนั้น สภาผู้แทนฯ สหรัฐฯ ยังพยายามใช้ลัทธิกีดกันการค้ามาต่อต้านไม่ให้มีการถ่ายโอนเทคโนโลยี โดยผ่านร่างพรบ. 3 ฉบับที่ทางสภาแห่งนี้ได้รับรองไปแล้ว และจะส่งผลให้ผู้แทนการเจรจาของสหรัฐฯ ที่ไปเจรจาหารือในกรอบอนุสัญญาแม่บทของสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UN Framework Convention on Climate Change หรือ UNFCCC)ไม่สามารถทำข้อตกลงใดๆ ในทางที่จะผ่อนปรนกฎระเบียบหรือการบังคับใช้กฎหมายอันเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และขณะนี้มีสัญญาณชี้แล้วว่า ประเทศพัฒนาอื่นๆ รวมทั้งพวกทางยุโรป ก็เตรียมการที่จะใช้ลัทธิกีดกันการค้าที่อิงไปกับประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเช่นเดียวกัน

ด้านประเทศกำลังพัฒนาต่างเริ่มแสดงการคัดค้านความเคลื่อนไหวดังกล่าว ทั้งนี้ ในระหว่างที่รมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ คือนางฮิลลารี คลินตัน เยือนอินเดียเมื่อเร็วๆ นี้นั้น บรรดาผู้นำทางการเมืองของอินเดียออกโรงประท้วงสหรัฐฯ ในกรณีการขู่จะใช้มาตรการเรียกเก็บภาษีศุลกากรจากประเทศที่ไม่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (carbon tarrifs) ด้านกระทรวงพาณิชย์จีนก็ออกมาวิจารณ์ประเด็นการกีดกันการค้าที่แฝงอยู่ในร่างพรบ.ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของสหรัฐฯด้วย

ที่สำคัญที่สุดคือ ประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายผนึกกำลังกันหยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาหารือในระหว่างการเจรจาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งต่างๆ ก่อนที่จะถึงการประชุมที่จะเป็นบทสรุป ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก ในเดือนธันวาคมปีนี้ เป็นต้นว่า ในวันที่ 13 สิงหาคม ที่ผ่านมา กลุ่ม 77 และจีน (Group of 77 countries and China) ออกคำแถลงที่เวทีการเจรจาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ณ เมืองบอนน์ ประเทศเยอรมนี โดยเตือนไม่ให้ประเทศพัฒนาแล้ว หันไปใช้มาตรการจำกัดการค้าแบบที่เป็นการประกาศใช้ฝ่ายเดียว เพราะมันจะเป็นการละเมิดบทบัญญัติต่างๆ ในอนุสัญญาแม่บทว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

อินเดียยังได้เสนอด้วยว่า การประชุมที่กรุงโคเปนเฮเกน (ในระหว่างวันที่ 7-18 ธันวาคม ซึ่งคาดหมายกันว่านานาชาติจะสามารถทำข้อตกลงว่าด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกฉบับใหม่ มาใช้ต่อจากพิธีสารเกียวโตที่จะหมดอายุลงในปี 2012 -ผู้แปล) ควรต้องมีผลออกมาว่า ให้เขียนข้อความให้ชัดเจนเลยว่าประเทศพัฒนาแล้ว "จะไม่ใช้มาตรการฝ่ายเดียวไม่ว่าจะในรูปแบบใดๆ ซึ่งรวมถึงมาตรการในลักษณะการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุน เพื่อเล่นงานสินค้าและบริการที่นำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา โดยอิงเหตุผลในเรื่องการพิทักษ์ปกป้องสภาพภูมิอากาศ และการสร้างเสถียรภาพด้านสภาพภูมิอากาศ"

ในการนี้ อินเดียอ้างถึงบทบัญญัติต่างๆ ในอนุสัญญาแม่บทฯ มากมายหลายข้อที่จะเข้าข่ายว่าถูกละเมิดถ้ามีการนำมาตรการดังกล่าวมาใช้ ความพยายามของอินเดียได้รับการขานรับจากนานาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน อาร์เจนตินา บราซิล สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ซาอุดีอาระเบีย และรวมทั้ง กลุ่ม 77 และจีน ก็ออกคำแถลงในเรื่องนี้ด้วย

ทางด้านการเจรจา (เพื่อจัดทำข้อตกลงการค้าโลกรอบโดฮาภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก -ผู้แปล) ที่นครเจนีวา เหล่านักการทูตของประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก ก็แสดงความวิตกต่อเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยมองเห็นความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ และประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย จะใช้มาตรการข้ออ้างเรื่องสภาพภูมิอากาศ มาเล่นงานขึ้นภาษีศุลกากร ตลอดจนการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ เอากับสินค้านำเข้าจากประเทศกำลังพัฒนา ถึงแม้ การกระทำเช่นนี้จะเข้าข่ายเป็นการใช้ข้อพิจารณาในประเด็นว่าด้วยกระบวนการและวิธีผลิตสินค้าเหล่านั้น ( Process and production method หรือ PPM) ซึ่งยังเป็นประเด็นที่เกิดการถกเถียงขัดแย้งกันอย่างรุนแรงอย่างยากจะหาข้อยุติ

ทั้งนี้การเรียกเก็บภาษีศุลกากรเพิ่มพิเศษ ตลอดจนการเก็บเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ เอากับสินค้านำเข้า โดยใช้ประเด็นพีพีเอ็ม ถูกประเทศกำลังพัฒนาต่อต้านว่าเป็นรูปแบบแอบแฝงของลัทธิกีดกันการค้า มาตั้งแต่เมื่อคราวประชุมองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ปี 1996 โดยที่ว่าประเทศกำลังพัฒนาชี้ไว้ว่ามาตรการเช่นนั้นนับว่าไม่เป็นธรรม เพราะจะส่งผลเป็นการกีดกันสินค้าของประเทศกำลังพัฒนาไม่ให้สามารถเข้าสู่ตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว ดังนั้น มันจึงเป็นเรื่องที่ขัดต่อกฎของดับเบิลยูทีโอ

(เก็บความและตัดตอนจากเรื่อง Climate protectionism on the rise โดย Martin Khor กรรมการบริหารของศูนย์ South Centre ประเด็นปัญหาลัทธิกีดกันการค้าด้วยข้ออ้างเรื่องสภาพภูมิอากาศ ที่นำมาเสนอในข้อเขียนนี้ ยังสามารถอ่านเพิ่มเติมได้จากฉบับพิเศษของจดหมายข่าว South Centre bulletin)
กำลังโหลดความคิดเห็น