แม้ "บารัค โอบามา" ได้ให้ความหวังชาวโลกร่วมแก้ปัญหาโลกร้อน แต่โนเบลสันติภาพของเขาก็ช่วยอะไรไม่ได้ เพราะการประชุมเจรจาโลกร้อนที่กรุงเทพฯ ล้มเหลวตามคาด ชาติร่ำรวยมีเพียงแค่นอร์เวย์ ที่ตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกลง 40% ภายใน 10 ปี ฟากสหรัฐฯ ยังทำเฉย แต่บอกยากเห็น "จีน-อินเดีย-บราซิล" แสดงความผิดชอบต่อปัญหา ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาแสดงจุดยืน จะไม่ลงนามใดๆ จนกว่าประเทศอุตสาหกรรมจะให้เงินหนุนหมื่นล้านเหรียญ
การเจรจาว่าด้วยโลกร้อน ณ ศูนย์การประชุมสหประชาชาติ องค์การสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ได้ปิดฉากลงอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 9 ต.ค.52 หลังจากตัวแทนจาก 192 ประเทศ เข้าร่วมการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนยาวนานถึง 16 วัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประชุมสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) ก่อนที่จะไปประชุมเจรจาเพื่อหาข้อสรุปครั้งสุดท้ายในเดือน ธ.ค. นี้ ที่กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก
ผลของการประชุมเจรจาครั้งนี้เป็นไปตามความคาดหมายของหลายฝ่าย ที่คาดคะเนกันล่วงหน้าตั้งแต่เริ่มต้นการประชุมแล้วว่าไม่น่าจะได้ข้อสรุปเหมือนเช่นการประชุมครั้งก่อนๆ โดยเมื่อวันที่ 8 ต.ค. ก่อนหน้าปิดการประชุมเพียงหนึ่งวัน อีโว เดอ โบร์ (Yvo De Boer) ประธาน UNFCCC กล่าวกับสำนักข่าวเอพีว่า แทนที่จะร่วมมือกันจัดการกับปัญหาอันน่าวิตกกังวล แต่กลับเกิดความล้มเหลว
เนื่องจากประเทศร่ำรวยเห็นพ้องกันว่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต้องใช้ความพยายามอย่างสูง และต้องให้เงินทุนสนับสนุนประเทศยากจนในการแก้ปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจำนวนหลายหมื่นล้านบาท ทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อกันของทั้งสองฝ่ายเพิ่มมากขึ้น
"สภาพความเป็นจริงที่สุดคือ หากเราไม่เห็นความก้าวหน้าของประเด็นสำคัญทางการเมือง มันก็ยากมากที่ผู้เจรจาจะดำเนินการอย่างต่อเนื่องในหน้าที่ด้วยศรัทธาที่ดี" โบร์ กล่าว
ขณะที่เอเอฟพีระบุคำให้สัมภาษณ์ของโบร์ว่า เมื่อเสร็จสิ้นการเจรจาแล้ว หากเรายังไม่เห็นเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศร่ำรวย และยังไม่มีนัยของการสนับสนุนทางการเงิน ทุกอย่างก็จะจบลงด้วยความล้มเหลว
ด้านไมเคิล กัตยาร์ (Michael Cutajar) ประธานร่วม UNFCCC ว่า ในความรู้สึกของเขาเหมือนว่าลูกบอลอยู่ในสนามของประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อทำให้มันชัดเจนขึ้นกว่าอะไรคือสิ่งที่พวกเขากำลังมองหา
ทางด้านโจนาธาน เปอร์ชิง (Jonathan Pershing) ผู้แทนเจรจาจากสหรัฐฯ บอกว่าเขาคิดว่าลูกบอลอยู่ในสนามของทุกประเทศ ซึ่งเขาย้ำว่าความปารถนาหลักจากประเทศร่ำรวย คืออยากเห็นยักษ์ใหญ่อย่างจีน อินเดีย และบราซิล มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ เคยปฏิเสธการมีส่วนร่วมรับผิดชอบแก้ปัญหาภูมิอากาศตามข้อตกลงในพิธีสารเกียวโต เนื่องจากบางประเทศ อย่างจีนและอินเดีย ได้รับการยกเว้นให้มีส่วนร่วมรับผิดชอบด้วย
ส่วนมาร์ติน คอร์ (Martin Khor) ผู้อำนวยการเซาท์เซ็นเตอร์ (South Center) นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ มีความเห็นว่า หากไม่มีการแก้ไขการแบ่งสรรปันส่วนความรับผิดชอบ สามารถคาดการณ์ได้เลยว่า ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหลังการประชุมที่โคเปนเฮเกนจะไม่สดใสอย่างแน่นอน ทั้งในด้านความพยายามแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเสมอภาคทางสังคม
นอกจากนั้น องค์กรทางด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ดับเบิลยูดับเบิลยูเอฟ (World Wildlife Fund: WWF) และกรีนพีซ (Greenpesce) ยังได้วิพากษ์วิจารณ์สหรัฐฯ สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และแคนาดา ถึงความล้มเหลวในการยินยอมเป็นส่วนสำคัญในข้อตกลงใหม่ของการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ
"เราไม่สามารถปล่อยเวลาให้เสียไปโดยขาดอำนาจทางการเมืองอีกแล้ว ความกังวลของพวกเราคือการปราศจากความชัดเจนทางการเมืองจากตัวการหลักที่ก่อปัญหา เช่น เงินทุน และเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการประชุมครั้งถัดไปที่จะเกิดขึ้นในบาร์เซโลนาก็จะเป็นการเจรจาอีกครั้งที่ปราศจากความก้าวหน้าทางการเมืองอย่างที่เราต้องการ" คิม คาร์สเทนเซน จาก WWF กล่าว
ด้านแอนโตนิโอ ฮิล (Antonio Hill) ที่ปรึกษาอาวุโสด้านภูมิอากาศของออกซแฟม (Oxfam) กล่าวว่า การขาดนโยบายทางการเมืองมาอย่างต่อเนื่องมักจะมาจากผู้นำของประเทศร่ำรวย ซึ่งหมายความว่าประเทศเหล่านั้นไม่มีความเคลื่อนไหวใดๆต่อเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สามารถช่วยปกป้องประชากรที่ยากจนที่สุดของโลกได้
"ผู้คนจำนวนหลายล้านกำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง เพาะปลูกไม่ได้ผลผลิต ต่อจากนั้นผู้สูญเสียที่แท้จริงจะเป็นสหรัฐฯ แคนาดา สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย หากยังเป็นผู้ถ่วงการเจรจาอยู่อย่างนี้เรื่อยไป" ฮิล กล่าวแสดงความเห็น
อย่างไรก็ดี ในจำนวนกลุ่มประเทศร่ำรวย มีเพียงนอร์เวย์ประเทศเดียวที่ประกาศชัดเจน ในเวทีการประชุมเจรจาว่าด้วยโลกร้อนที่กรุงเทพฯ ว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 40% ภายในปี 2563 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากความรับผิดชอบที่มีอยู่เดิมคือ 30%
ส่วนกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกในอัตราส่วนที่ต้องรับผิดชอบ แต่ปฏิเสธการรวมเป้าหมาย และอยากเห็นประเทศอุตสาหกรรมแสดงความพยายมลดก๊าซเรือนกระจกมากกว่านี้
อีกทั้ง กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะไม่ยินยอมลงนามในข้อตกลงใดๆ จนกว่าประเทศอุตสาหกรรมจะให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้การช่วยเหลือทางการเงินเป็นจำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 340,000 ล้านบาท)
ทั้งนี้ UNFCCC จะจัดการประชุมเจรจาว่าด้วยโลกร้อนขึ้นอีกครั้งในเดือน พ.ย. ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน ก่อนที่จะประชุมใหญ่ในช่วงสิ้นปี เพื่อหาข้อสรุปของการเจรจาเพื่อจัดทำข้อตกลงในการลดก๊าซเรือนกระจกหลังปี 2555 ที่พิธีสารเกียวโตได้หมดอายุลงแล้ว.