xs
xsm
sm
md
lg

จีนยืนหยัดต้านสหรัฐฯอ้าง“ปรับสมดุลการค้าโลก” เพื่อชิงตลาด

เผยแพร่:   โดย: อันโตอาเนตา เบซโลวา

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

China stands firm against US market scramble
By Antoaneta Bezlova
07/10/2009

จีนไม่ได้คิดที่จะยอมปล่อยให้บทบาทของตนในฐานะที่เป็นโรงงานของโลกต้องเสื่อมสลายลง หรือยินยอมให้สกุลเงินตราของตนแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ ถึงแม้ที่ประชุมซัมมิตของกลุ่มจี 20 ซึ่งจีนเข้าร่วมด้วย มีการประกาศให้คำมั่นที่จะดำเนินการเพื่อลดภาวะไม่สมดุลในการค้าของโลก ทั้งนี้ปักกิ่งเชื่อว่า เสียงเรียกร้องดังกล่าวเหล่านี้ แท้ที่จริงแล้วคือความพยายามของสหรัฐฯที่มุ่งเข้ามาช่วงชิงแย่งตลาด

ปักกิ่ง – ขณะที่สหรัฐฯกำลังออกมาพูดจาเรียกร้องเรื่องการปรับความสมดุลในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลกกันเสียใหม่ จีนก็มองว่านี่คือความพยายามฉาบหน้าซึ่งอำพรางวาระซ่อนเร้นของลัทธิกีดกันการค้าเอาไว้ ถึงแม้ปักกิ่งดูจะเห็นพ้องด้วยว่า การที่ตนเองจะก้าวผงาดขึ้นมาในฐานะมหาอำนาจรายใหม่ของโลกได้นั้น ย่อมจะต้องยอมจ่ายยอมเสียอะไรออกไปเป็นการตอบแทน แต่จีนก็รู้สึกขุ่นเคืองและพร้อมตั้งป้อมสู้ เมื่อมีข้อเสนอแนะออกมาว่า สิ่งหนึ่งที่ปักกิ่งจำเป็นต้องยินยอมก็คือ การปล่อยให้ค่าเงินหยวนปรับแข็งค่าอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น อันจะทำให้ฐานะความเป็นผู้ส่งออกทรงอิทธิพลของตนต้องทรุดโทรมลงไป

การประชุมที่เป็นข่าวเอิกเกริกเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งการประชุมระดับผู้นำกลุ่มจี 20 ที่นครพิสต์เบิร์ก, สหรัฐอเมริกา และการประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ณ นครอิสตันบุล, ตุรกี ในสัปดาห์นี้ ได้กลายเป็นเวทีสำหรับให้สหรัฐฯและจีนออกมาพูดจาตอบโต้กัน ซึ่งก็ช่วยสะท้อนภาพให้ได้เห็นกันว่าพวกเขามีความแตกต่างกันถึงขนาดไหน ในเรื่องเกี่ยวกับระเบียบวาระต่างๆ ที่จะช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้ยืนยาวต่อไป

เป็นความจริงที่ว่า ในการประชุมซัมมิตเมืองพิตส์เบิร์กเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา พวกประเทศร่ำรวยและประเทศเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วทั้งหลายของโลก ได้ร่วมกันให้คำมั่นว่า จะขบคิดพิจารณานโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ของพวกเขาเสียใหม่ และจะลดทอนความไม่สมดุลระหว่างพวกชาติผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างเช่นจีนและญี่ปุ่น กับพวกประเทศที่ต้องกู้หนี้ยืมสินรุงรังอย่างสหรัฐฯ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้บริโภคชั้นนำของโลกมานมนานแล้ว

ทว่าเสียงเรียกร้องของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ให้จีนลดทอนการพึ่งพาการส่งออก และหันไปส่งเสริมสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้มากขึ้นนั้น ก็ทำให้พวกผู้เชี่ยวชาญได้กลิ่นและมองเห็นวาระซ่อนเร้นที่ดูเหมือนจะปกปิดอำพรางเอาไว้

“วอชิงตันกำลังพูดจาเรื่อง decoupling (แนวคิดที่ว่าพวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่สามารถและสมควรที่จะเจริญเติบโตไปได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังพวกประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า อย่างเช่น สหรัฐฯ -ผู้แปล) และการปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลกกันเสียใหม่ ทว่าสภาพลักษณะที่แท้จริงของความพยายามร้องป่าวกันเหล่านี้ ก็คือการที่สหรัฐฯกำลังมุ่งที่จะช่วงชิงแย่งตลาดนั่นเอง” เฉินเฟิ่งอิง (Chen Fengying) ผู้เชี่ยวชาญประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจโลก ของสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยแห่งประเทศจีน (China Institute of Contemporary International Relations) อันเป็นหน่วยงานศึกษาวิจัยที่คอยให้คำแนะนำแก่รัฐบาลจีน บอกกับหนังสือพิมพ์ไชน่า ไทมส์

พวกผู้เชี่ยวชาญชาวจีนเชื่อว่า สายตาของโอบามากำลังจับจ้องไปที่ การพยายามทำให้การส่งออก กลายเป็นหัวรถจักรอันใหม่สำหรับขับดันเศรษฐกิจสหรัฐฯที่กำลังซวนเซ และคำประกาศของเขาในเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สมดุลของทั่วโลกนั้น มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสกัดกั้นไม่ให้จีนขยายอำนาจอิทธิพลแห่งการส่งออกออกไปอีก

การที่ผู้ส่งออกชาวจีนได้รับความสนับสนุนอย่างกว้างขวางจากรัฐบาล เมื่อผสมผสานไปกับการใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการแดนมังกร ตลอดจนการที่พวกธนาคารจีนเร่งปล่อยสินเชื่อกู้ยืมกันสูงลิบเป็นประวัติการณ์ เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของบรรดาปัจจัยที่ผลักดันให้เศรษฐกิจจีนสามารถขยายตัวได้ในอัตราเท่ากับปีละ 14% ในช่วงไตรมาสสองของปีนี้ ตรงกันข้ามกับเศรษฐกิจสหรัฐฯที่หดตัวลงด้วยอัตราเท่ากับปีละ 1% ระหว่างเวลาเดียวกันนี้

นโยบายของปักกิ่งที่พยายามประคองค่าสกุลเงินของตนเองเอาไว้ไม่ให้แข็งเกินไป เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งซึ่งทำให้สินค้าส่งออกของแดนมังกรมีความได้เปรียบในการแข่งขันกับสินค้าของประเทศอื่น แต่การที่จีนสนับสนุนผู้ส่งออกของตนอย่างเต็มที่เช่นนี้ ก็นำไปสู่ความตึงเครียดขัดแย้งกับพวกคู่ค้าของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสหรัฐฯ

การพิพาททางการค้าแบบเต็มขั้นระหว่างประเทศทั้งสองได้ปะทุขึ้นมาเมื่อเดือนกันยายน ภายหลังปักกิ่งกล่าวหาวอชิงตันใช้ “ลัทธิกีดกันการค้าชนิดป่าเถื่อน” (rampant protectionism) จากการขึ้นอัตราภาษีศุลกากรอย่างหนักเอากับยางรถนำเข้าจากจีน และขู่ว่าจะใช้มาตรการตอบโต้ต่อสินค้าจำพวกสัตว์ปีกที่และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯบ้าง

จากการลงนามในคำสั่งเก็บภาษีศุลกากรยางรถนำเข้าจากจีนอีก 35% เพิ่มเติมจากอัตรา 4% ซึ่งจัดเก็บอยู่แล้ว ก็เท่ากับว่าโอบามายืนอยู่ข้างพวกสหภาพแรงงานของอเมริกา ซึ่งร้องเรียนว่ามีการนำเข้ายางรถทำในจีนอย่างชนิด “พุ่งพรวด” เป็นเหตุให้คนงานโรงงานสหรัฐฯต้องสูญเสียตำแหน่งงานไป 7,000 ตำแหน่ง

รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ เฉินเต๋อหมิง ของจีนบอกกับสื่อมวลชนว่า การตัดสินใจของโอบามาคราวนี้กำลังเป็นการส่ง “สัญญาณที่ผิดๆ ต่อทั่วโลก” ในจังหวะเวลาที่วอชิงตันกับปักกิ่งควรที่จะหันหน้ามาร่วมมือกันเพื่อรับมือกับวิกฤตทางเศรษฐกิจและการเงินในเวลานี้ ซึ่งเป็นครั้งที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายสิบปี

อันที่จริง วิกฤตเศรษฐกิจคราวนี้เอง กำลังกลายเป็นตัวเร่งทำให้จีนก้าวผงาดพรวดขึ้นมา ในฐานะที่เป็นศูนย์อำนาจศูนย์หนึ่งของโลก และในที่ประชุมนครพิตส์เบิร์ก พวกประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำก็เห็นพ้องด้วยว่า การตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจระดับโลกในอนาคต จะต้องให้พวกผู้เล่นสำคัญๆ ในหมู่ประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ เป็นต้นว่าจีนและอินเดีย ได้เข้ามีส่วนร่วมด้วย

ประธานธนาคารโลก รอเบิร์ต เซลลิก พูดเอาไว้ที่นครอิสตันบุลว่า วิกฤตครั้งนี้ได้ปล่อยม่านปิดฉากยุคสมัยแห่งโลกที่มีขั้วอำนาจขั้วเดียว ที่ปรากฏขึ้นมาภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อ 20 ปีก่อน

ในอนาคตข้างหน้า เซลลิกบอกว่า “เป็นเรื่องแน่นอนที่พวกมหาอำนาจเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่จะต้องมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น, จะต้องมีแหล่งที่มาแห่งความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจจากหลายๆ ขั้วหลายๆ เสาหลัก, จะต้องมีการค้าระหว่างใต้-ใต้ นั่นคือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน เพิ่มมากขึ้น” เขาทำนายด้วยว่า เงินยูโรและเงินหยวนจีนจะเข้าร่วมกับเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในฐานะที่เป็นสกุลเงินตราซึ่งประเทศต่างๆ ใช้เป็นทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ

แต่ขณะที่เห็นพ้องว่าจะต้องแบ่งปันอำนาจกับพวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ ทางกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ซึ่งมีสหรัฐฯรวมอยู่ด้วย ก็ยังคงพยายามล็อบบี้พวกผู้นำจีนให้แก้ไขสิ่งที่พวกเขาเห็นว่า เป็นสภาพที่การค้าและการลงทุนกำลังไหลเวียนไปทั่วโลกอย่างบิดเบือน และดังนั้นจีนจึงควรยินยอมปล่อยให้เงินหยวน (หรือที่มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “เหรินหมินปี้”) ของตนปรับแข็งค่าขึ้นด้วยความรวดเร็วกว่าเดิม

“เราขอต้อนรับการให้คำมั่นอย่างต่อเนื่องของจีน ในเรื่องที่จะเคลื่อนไปสู่อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น ซึ่งในสภาพความเป็นจริงก็ควรนำไปสู่การปรับค่าสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของเงินเหรินหมินปี้ และก็จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการเจริญเติบโตอย่างมีความสมดุลมากขึ้นในประเทศจีนและในเศรษฐกิจโลก” จี7 ระบุในคำแถลงที่เมืองอิสตันบุล ทั้งนี้นอกจากสหรัฐฯแล้ว สมาชิกอื่นๆ ของกลุ่ม จี7 ยังประกอบด้วย ญี่ปุ่น, เยอรมนี,สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, อิตาลี, และแคนาดา

อย่างไรก็ตาม จุดยืนอย่างเป็นทางการของจีนยังคงมีอยู่ว่า อย่าได้มากล่าวโทษประณามนโยบายด้านเงินตราของแดนมังกรว่าเป็นตัวการทำให้การไหลเวียนของการค้าเกิดความเอนเอียง และทำให้เศรษฐกิจโลกขาดความสมดุล ระหว่างงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปีแห่งการที่พรรคคอมมิวนิสต์เข้าปกครองประเทศจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า ของจีนบอกกับประเทศชาติและทั่วโลกว่า ปักกิ่งมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างคุณูปการให้แก่การฟื้นตัวของโลก ด้วยการธำรงรักษานโยบายต่างๆ ของตนให้มีความต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

“ความสมดุลใหม่ในทางเศรษฐกิจคืออะไรกันแน่ เอาเข้าจริงแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าใครกันเป็นคนพูด” ซุนเหมียวหลิง (Sun Miaoling) นักวิเคราะห์ตลาดการเงินกล่าวแสดงทัศนะ “จากจุดยืนของสหรัฐฯแล้ว มันหมายความว่าการส่งออกและเงินออมของอเมริกาจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งสองอย่าง ส่วนสำหรับปักกิ่งนั้น มันหมายถึงการต้องยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่ขัดขวางการส่งออกสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯไปยังจีน แต่ขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังในเรื่องที่กำลังมีการนำเอาประเด็นอะไรต่างๆ มาใช้เพื่อเป็นการกีดกันการค้า”

(สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น