xs
xsm
sm
md
lg

จีนยืนหยัดต้านสหรัฐฯอ้าง “ปรับสมดุลการค้าโลก” เพื่อชิงตลาด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขณะที่สหรัฐฯกำลังออกมาพูดจาเรียกร้องเรื่องการปรับความสมดุลในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของทั่วโลกกันเสียใหม่ จีนก็มองว่านี่คือความพยายามฉาบหน้าซึ่งอำพรางวาระซ่อนเร้นของลัทธิกีดกันการค้าเอาไว้ ถึงแม้ปักกิ่งดูจะเห็นพ้องด้วยว่า การที่ตนเองจะก้าวผงาดขึ้นมาในฐานะมหาอำนาจรายใหม่ของโลกได้นั้น ย่อมจะต้องยอมจ่ายยอมเสียอะไรออกไปเป็นการตอบแทน แต่จีนก็รู้สึกขุ่นเคืองและพร้อมตั้งป้อมสู้ เมื่อมีข้อเสนอแนะออกมาว่า สิ่งหนึ่งที่ปักกิ่งจำเป็นต้องยินยอมก็คือ การปล่อยให้ค่าเงินหยวนปรับแข็งค่าอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น อันจะทำให้ฐานะความเป็นผู้ส่งออกทรงอิทธิพลของตนต้องทรุดโทรมลงไป

การประชุมที่เป็นข่าวเอิกเกริกเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งการประชุมระดับผู้นำกลุ่มจี 20 ที่นครพิสต์เบิร์ก, สหรัฐอเมริกา และการประชุมประจำปีของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(ไอเอ็มเอฟ) ณ นครอิสตันบุล, ตุรกี ในสัปดาห์นี้ ได้กลายเป็นเวทีสำหรับให้สหรัฐฯและจีนออกมาพูดจาตอบโต้กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าพวกเขามีความแตกต่างกันถึงขนาดไหน ในเรื่องระเบียบวาระต่างๆ เพื่อช่วยประคับประคองการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้ยืนยาวต่อไป

เป็นความจริงที่ว่า ในการประชุมซัมมิตเมืองพิตส์เบิร์กเมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา พวกประเทศร่ำรวยและประเทศเศรษฐกิจเติบโตรวดเร็วทั้งหลายของโลก ได้ร่วมกันให้คำมั่นว่า จะขบคิดพิจารณานโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ของพวกเขาเสียใหม่ และจะลดทอนความไม่สมดุลระหว่างพวกชาติผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างจีนและญี่ปุ่น กับพวกประเทศที่ต้องกู้หนี้ยืมสินรุงรังอย่างสหรัฐฯ ซึ่งมีฐานะเป็นผู้บริโภคชั้นนำของโลกมานมนานแล้ว

ทว่าเสียงเรียกร้องของประธานาธิบดีบารัค โอบามา แห่งสหรัฐฯ ให้จีนลดทอนการพึ่งพาการส่งออก และหันไปส่งเสริมสนับสนุนการใช้จ่ายของผู้บริโภคให้มากขึ้นนั้น ก็ทำให้พวกผู้เชี่ยวชาญได้กลิ่นและมองเห็นวาระซ่อนเร้นที่ดูเหมือนจะปกปิดอำพรางเอาไว้

“วอชิงตันกำลังพูดจาเรื่อง decoupling (แนวคิดที่ว่าพวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่สามารถและสมควรที่จะเจริญเติบโตไปได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องพึ่งพาการส่งออกไปยังพวกประเทศอุตสาหกรรมก้าวหน้า อย่างเช่น สหรัฐฯ -ผู้แปล) และการปรับสมดุลของเศรษฐกิจโลกกันเสียใหม่ ทว่าสภาพลักษณะที่แท้จริงของความพยายามร้องป่าวเหล่านี้ ก็คือการที่สหรัฐฯกำลังมุ่งที่จะช่วงชิงตลาดนั่นเอง” เฉินเฟิงอิง (Chen Fengying) ผู้เชี่ยวชาญประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจโลก ของสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศร่วมสมัยแห่งประเทศจีน อันเป็นหน่วยงานศึกษาวิจัยที่คอยให้คำแนะนำแก่รัฐบาลจีน บอกกับหนังสือพิมพ์ไชน่า ไทมส์

พวกผู้เชี่ยวชาญชาวจีนเชื่อว่า สายตาของโอบามากำลังจับจ้องไปที่ การพยายามทำให้การส่งออก กลายเป็นหัวรถจักรอันใหม่สำหรับขับดันเศรษฐกิจสหรัฐฯที่กำลังซวนเซ และคำประกาศของเขาในเรื่องการแก้ปัญหาความไม่สมดุลของทั่วโลกนั้น มีจุดมุ่งหมายอยู่ที่การสกัดกั้นไม่ให้จีนขยายอำนาจอิทธิพลแห่งการส่งออกออกไปอีก

วิกฤตเศรษฐกิจคราวนี้กำลังเร่งความเร็วทำให้จีนก้าวผงาดขึ้นมาในฐานะที่เป็นศูนย์อำนาจศูนย์หนึ่ง และในที่ประชุมนครพิตส์เบิร์ก พวกประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำก็เห็นพ้องด้วยว่า การตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจระดับโลกในอนาคต จะต้องให้พวกผู้เล่นสำคัญๆ ในหมู่ประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ เป็นต้นว่าจีนและอินเดีย ได้เข้ามีส่วนร่วมด้วย

ประธานธนาคารโลก รอเบิร์ต เซลลิก พูดเอาไว้ที่นครอิสตันบุลว่า วิกฤตครั้งนี้ได้ปล่อยม่านปิดฉากยุคสมัยแห่งโลกที่มีขั้วอำนาจขั้วเดียว ที่ปรากฏขึ้นมาภายหลังการล่มสลายของระบอบคอมมิวนิสต์เมื่อ 20 ปีก่อน

แต่ขณะที่เห็นพ้องว่าจะต้องแบ่งปันอำนาจกับพวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ ทางกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ซึ่งมีสหรัฐฯรวมอยู่ด้วย ก็ยังคงพยายามล็อบบี้พวกผู้นำจีนให้แก้ไขสิ่งที่พวกเขาเห็นว่า เป็นสภาพที่การค้าและการลงทุนกำลังไหลเวียนไปทั่วโลกอย่างบิดเบือน และดังนั้นจีนจึงควรยินยอมปล่อยให้เงินหยวนของตนปรับแข็งค่าขึ้นด้วยความรวดเร็วกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม จุดยืนอย่างเป็นทางการของจีนยังคงมีอยู่ว่า อย่าได้มากล่าวโทษประณามนโยบายด้านเงินตราของจีนว่าเป็นตัวการทำให้การไหลเวียนของการค้าเกิดความเอนเอียง และทำให้เศรษฐกิจโลกขาดความสมดุล ระหว่างงานเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 60 ปีแห่งการที่พรรคคอมมิวนิสต์เข้าปกครองประเทศจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นายกรัฐมนตรี เวินเจียเป่า ของจีนบอกกับประเทศชาติและทั่วโลกว่า ปักกิ่งมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสร้างคุณูปการให้แก่การฟื้นตัวของโลก ด้วยการธำรงรักษานโยบายต่างๆ ของตนให้มีความต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ

“ความสมดุลใหม่ในทางเศรษฐกิจคืออะไรกันแน่ เอาเข้าจริงแล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าใครกันเป็นคนพูด” ซุนเหมียวหลิง (Sun Miaoling) นักวิเคราะห์ตลาดการเงินกล่าวแสดงทัศนะ “จากจุดยืนของสหรัฐฯแล้ว มันหมายความว่าการส่งออกและเงินออมของอเมริกาจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งสองอย่าง ส่วนสำหรับปักกิ่งนั้น มันหมายถึงการต้องยกเลิกข้อจำกัดต่างๆ ที่ขัดขวางการส่งออกสินค้าไฮเทคของสหรัฐฯไปยังจีน และขณะเดียวกันก็ต้องเพิ่มการเฝ้าระวังในเรื่องที่กำลังมีการนำเอาประเด็นอะไรต่างๆ มาใช้เพื่อเป็นการกีดกันการค้า”

(เก็บความและตัดตอนจากเรื่อง China stands firm against US market scramble โดย Antoaneta Bezlova แห่ง สำนักข่าวอินเตอร์เพรสเซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น