xs
xsm
sm
md
lg

การขึ้นภาษีสินค้าจีนจะหวนมาเล่นงานคนอเมริกัน

เผยแพร่:   โดย: จอห์น บราวน์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

Tariffs bill will rebound
By John Browne
24/09/2009

การที่สหรัฐฯตัดสินใจขึ้นภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน อาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ให้เห็นว่าทำเนียบขาวกำลังพิจารณาที่จะใช้การเล่นบทเป็นนักลัทธิกีดกันการค้า ตลอดจนการที่ค่าเงินดอลลาร์กำลังอ่อนตัว มาเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเอง อย่างไรก็ตาม ลงท้ายแล้วคนที่ต้องแบกรับภาระทั้งหลาย ก็จะกลายเป็นชาวอเมริกันนั่นเอง

คณะรัฐบาลบารัค โอบามา เฝ้ารอจนกระทั่งถึงตอนดึกของวันที่ 11 กันยายน จึงค่อยบอกกล่าวอย่างเงียบๆ ต่อชาวอเมริกันว่า ตัดสินใจที่จะขึ้นอัตราภาษีศุลกากรยางรถคุณภาพต่ำที่นำเข้าจากประเทศจีน ความเคลื่อนไหวคราวนี้บังเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วันก่อนหน้าการประชุมกลุ่มจี 20 อันสำคัญยิ่งที่นครพิตส์เบิร์ก ซึ่งเป็นวาระที่จีนน่าที่จะเปิดการรณรงค์อีกครั้งเพื่อผลักดันให้โลกก้าวไปสู่เศรษฐกิจยุคหลังเงินดอลลาร์ ดังนั้น จังหวะเวลาของการประกาศคราวนี้จึงดูจะเลวร้ายหนักข้อเป็นพิเศษ

มันเสมือนเป็นการโบกธงแดงต่อหน้าวัวกระทิง ไม่น่าประหลาดใจเลยที่จีนตอบโต้ทันทีด้วยการพิจารณาที่จะขึ้นอัตราภาษีศุลกากรของตน ที่เรียกเก็บจากชิ้นส่วนรถยนต์และผลิตภัณฑ์การเกษตรของสหรัฐฯ

การกระทำเช่นนี้ของคณะรัฐบาลโอบามา สามารถอธิบายได้ง่ายๆ ว่าเนื่องจากท่านประธานาธิบดีจำเป็นจะต้องเอาอกเอาใจพวกสหภาพแรงงาน ซึ่งได้แสดงบทบาทสำคัญในการทำให้ท่านได้ก้าวขึ้นสู่อำนาจ อย่างไรก็ตาม สมการของเรื่องนี้น่าจะมีความสลับซับซ้อนมากกว่านี้

ถึงแม้จะมีเสียงหัวเราะอย่างพึงพอใจเล็กๆ ของพวกไร้ความคิดที่เชื่อว่าสหรัฐฯจะประสบกับ “การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบที่ไม่ก่อให้เกิดการจ้างงาน” (jobless recovery) แต่การจ้างงานย่อมต้องเป็นกุญแจสำคัญไปสู่เศรษฐกิจที่มีสุขภาพดีอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น นอกจากนั้นมันยังอาจกลายเป็นประเด็นปัญหาทางการเมืองที่สำคัญอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพวกสหภาพแรงงานต่างมีแนวความคิดกันว่า ลัทธิกีดกันการค้า (protectionism) ที่อยู่ในรูปแบบของการสร้างกำแพงต่างๆ ขึ้นมาเพื่อกีดขวางการค้า จะสามารถรักษาตำแหน่งงานให้คงอยู่ภายในประเทศได้

มันดูเหมือนเป็นจริงเป็นจังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่อเมริกาและจีนแท้จริงคือหุ้นส่วนที่กำลังแข่งขันกันในท่ามกลางการต่อสู้ชิงอำนาจทางการเมืองอันละเอียดอ่อนและมีความหมายเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่ว่าต้องมาร่วมมือกันในลักษณะชั่วคราวจากการมีผลประโยชน์ร่วมกันอยู่ นั่นคือ อเมริกันคือผู้บริโภคที่ยิ่งใหญ่ของโลก ส่วนจีนก็เป็นผู้ผลิตที่ยิ่งใหญ่ของโลก

ทว่าผลของความสัมพันธ์เช่นนี้ก็คือ ฐานทางด้านอุตสาหกรรมการผลิตของอเมริกันกำลังผุกร่อนลงอย่างสาหัส และบางทีอาจจะถึงขั้นล้มหายตายจากไปเลย การเสื่อมสูญทางด้านอุตสาหกรรมนี้แหละคือปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คนอเมริกันต้องตกอยู่ในภาวะว่างงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเวลานี้ใกล้จะอยู่ในระดับ 20% แล้ว ถึงแม้ตัวเลขที่ระบุนี้จะคิดเป็นราวๆ สองเท่าตัวของตัวเลขการว่างงานที่มีการเผยแพร่ออกมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 10% แต่มันก็เป็นเครื่องบ่งชี้ภาวะของตลาดแรงงานที่ถูกต้องมากกว่า

ความแตกต่างของตัวเลขเช่นนี้บังเกิดขึ้นจากวิธีการคำนวณที่ต่างกัน กล่าวคือ ตัวเลขการว่างงานอย่างเป็นทางการนั้น จะยกเว้นไม่รวมถึงพวกที่เลิกคิดหางานเต็มเวลาทำไปแล้ว ตลอดจนพวกที่สามารถหางานทำได้แค่งานไม่เต็มเวลา ทั้งนี้ในอดีตไม่ว่าในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression) หรือระยะที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยพร้อมเงินเฟ้อขึ้นสูง (stagflation) ในยุคทศวรรษ 1970 ต่างก็ไม่ได้มีการรวมเอาคนงานผู้ไม่มีโชคเหล่านี้เข้าไว้เป็นผู้ว่างงาน และก็เป็นเคราะห์ร้ายที่การรณรงค์ในลักษณะโฆษณาชวนเชื่อเช่นนี้ ซึ่งมีจุดประสงค์ที่จะซ่อนระดับการว่างงานอันแท้จริงเอาไว้ ยังคงประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลเรื่อยๆ มา

พวกนักวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิกีดกันการค้าแสดงความคิดเห็นเอาไว้อย่างถูกต้องทีเดียวว่า เมื่อเกิดสงครามการค้าขึ้นมา แต่ละฝ่ายก็จะต้องเกิดการตั้งกำแพงขัดขวางการค้าตอบโต้กัน ซึ่งจะกลายเป็นผลลบที่ตัดทอนผลบวกอันอาจบังเกิดขึ้นจากเจตนารมณ์ในการปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมต่างๆ ภายในประเทศ ด้วยเหตุดังกล่าวนี้ พวกเขาจึงมองนโยบายนี้ของคณะรัฐบาลโอบามาว่า เป็นการประจันหน้ากับจีนอย่างงี่เง่า

แต่ต้องระลึกเอาไว้ว่า การขึ้นภาษีศุลกากรครั้งนี้บังเกิดขึ้นในเวลาที่เงินดอลลาร์กำลังอ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง บางทีคณะรัฐบาลโอบามาอาจจะตระหนักความเป็นจริงขึ้นมาว่า กำแพงภาษีที่ทางจีนจะตั้งขึ้นมาเพื่อตอบโต้นั้น สามารถที่จะเอาชนะได้ด้วยความได้เปรียบในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นสืบเนื่องจากการเอื้ออำนวยของค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนตัวลง บางทีนี่เลยทำให้พวกเขามีความมั่นอกมั่นใจที่จะทอดลูกเต๋าลองเสี่ยงดู

การที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนตัวลงทำให้ผลิตภัณฑ์อเมริกันมีความสามารถในการแข่งขันในต่างแดนได้มากขึ้น จึงเป็นการช่วยเหลือการส่งออกสินค้าอเมริกัน นอกจากนั้นเมื่อมองจากมุมมองของคณะรัฐบาลแล้ว การอ่อนค่าของดอลลาร์ยังอาจจะอำนวยประโยชน์อื่นๆ ให้แก่สหรัฐฯ เป็นต้นว่า เป็นการลดมูลค่าแท้จริงของหนี้สิ้นที่อยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯทั้งหมด เนื่องจากเวลานี้อเมริกามีหนี้สินทั้งสิ้นประมาณ 58 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากค่าเงินเกิดอ่อนตัวลงไปสัก 30% ย่อมเท่ากับว่าจำนวนหนี้สิ้นลงลง 17.4 ล้านล้านดอลลาร์ ... ช่างเป็นการประหยัดได้ก้อนมหึมาทีเดียว

มีความเป็นไปได้อย่างมากว่า คณะรัฐบาลโอบามากำลังแสดงท่าทีอย่างเปิดเผยโจ่งแจ้งว่ามุ่งดำเนินโยบายใหม่ที่เป็นกีดกันการค้าเพิ่มมากขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็กลับปกปิดไม่แพร่งพรายว่ากำลังดำเนินนโยบายค่อยๆ ลดค่าเงินดอลลาร์ไปด้วย โดยการกระทำทั้งสองด้านเช่นนี้ก็ด้วยหวังว่า จะสามารถลดภาระหนี้สินต่างประเทศคงค้างของอเมริกา และก็สามารถปกป้องคุ้มครองอุตสาหกรรมการผลิตของคนอเมริกัน

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคุณยอมปล่อยให้สกุลเงินตราของคุณเองตกอยู่ในกองเพลิง คุณนั่นแหละจะเป็นคนแรกที่ถูกไฟไหม้ ยุทธศาสตร์เช่นนี้แม้จะไม่ถึงกับเป็นการฆ่าตัวตายชัดๆ อย่างที่ผู้คนจำนวนมากทึกทักกันก็จริง แต่มันก็ยังละเลยไม่คำนึงถึงเหยื่อรายใหญ่ที่สุดของนโยบายเช่นนี้อยู่ดี ซึ่งก็คือ ชาวอเมริกันโดยเฉลี่ยทั่วไป ขณะที่โอบามาอาจอ้างความได้หน้าได้ตาในการทำให้หนี้สินลดต่ำลงและการส่งออกเพิ่มพูนขึ้น ชาวอเมริกันกลับจะต้องควักกระเป๋าเพิ่มขึ้นในรูปของราคาสินค้าที่สูงขึ้นทุกๆ อย่าง ตั้งแต่ยางรถไปจนถึงนม แถมยังคงไม่มีงานทำ และเงินออมก็หดหายไปอีกด้วย

จอห์น บราวน์ เป็นนักยุทธศาสตร์การตลาดอาวุโส ของ ยูโร แปซิฟิก แคปิตอล เว็บไซต์ http://www.europac.net มีบทวิจารณ์และข่าวการตลาดของยูโร แปซิฟิก แคปิตอล อีกทั้งมีจดหมายข่าวเพื่อการลงทุนทางออนไลน์ที่เปิดให้อ่านฟรี
กำลังโหลดความคิดเห็น