xs
xsm
sm
md
lg

ดับเบิลยูทีโอเตือนแนวโน้มการกีดกันการค้า

เผยแพร่:   โดย: กุสตาโว แคปเดวิลา

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์www.atimes.com)

WTO highlights protectionist concern
By Gustavo Capdevila
23/07/2009

องค์การการค้าโลกออกรายงานประจำปีที่มีลักษณะผิดปกติยิ่ง นั่นคือไม่มีการให้ประมาณการการค้าของปีหน้า แต่พุ่งโฟกัสไปสู่ปัญหาการใช้มาตรการกีดกันการค้า ในการนี้ ดับเบิลยูทีโอให้คำอธิบายบอกว่าในตอนที่วางโครงของรายงานและมีการตัดสินใจเลือกหัวข้อนี้ขึ้นมาเป็นประเด็นหลักนั้น ยังไม่มีความคิดอยู่ในใจเลยว่าโลกจะต้องมาเผชิญกับอะไรต่ออะไรที่เกิดขึ้นมาในทุกวันนี้

เจนีวา – โฟกัสหลักของรายงานประจำปีขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ซึ่งเน้นเรื่องสมดุลยภาพระหว่างความจำเป็นที่จะต้องปกป้องผลผลิตของชาติ กับผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจที่เกิดจากมาตรการปกป้องดังกล่าวภายในยุคสมัยที่เกิดวิกฤต เป็นประเด็นที่เลือกกันไว้ตั้งแต่ก่อนที่เศรษฐกิจโลกจะเกิดการอ่อนยวบดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน และพอมาถึงวันนี้ มันกลับเป็นประเด็นที่เหมาะอย่างยิ่งกับบริบทโลกที่ดำเนินอยู่จริง

อาเลคันโดร คารา (Alejandro Jara) นักการทูตจากประเทศชิลี ผู้เป็นหนึ่งในสี่รองผู้อำนวยการใหญ่ดับเบิลยูทีโอ บอกว่าประเด็นที่เลือกมาใช้ในรายงานชิ้นนี้ ทำกันไว้เนิ่นนานกว่าหนึ่งปี และเป็นประเด็นที่ “เกินความคาดหมาย” เพราะ “ในตอนนั้นเราแทบจะไม่มีไอเดียกันเลยว่าเราจะต้องมาเผชิญกับอะไรต่ออะไรที่เกิดขึ้นมาในทุกวันนี้”

นอกจากนั้น รายงานประจำปีของดับเบิลยูทีโอเที่ยวนี้มีความแตกต่างจากฉบับก่อนๆ กล่าวคือไม่มีการทำประมาณการปริมาณการค้าที่น่าจะเกิดขึ้นในปี 2010

นับจากที่วิกฤตการเงินระเบิดขึ้น ฝ่ายเลขาธิการของดับเบิลยูทีโอทุ่มเทอย่างหนักเพื่อต้านทานกระแสการกีดกันการค้า โดยเร่งสร้างหลักประกันว่านานาชาติสมาชิกดับเบิลยูทีโอ 153 ประเทศจะยังให้การสนับสนุนแก่การค้าเสรีของโลก พร้อมกับติดตามแนวโน้มการนำมาตรการกีดกันการค้าเข้าไปใช้

ในการนี้ ปรากฏว่าในที่ประชุมสุดยอด ณ กรุงลอนดอนเมื่อเดือนเมษายน กลุ่มจี 20 ที่เป็นเวทีชุมนุมประเทศเศรษฐกิจใหญ่ๆ อันดับต้นๆ ของโลก ได้ให้คำมั่นว่าจะแจ้งดับเบิลยูทีโอเมื่อพบเห็นมาตรการกีดกันการค้า พร้อมกับเรียกร้องให้ดับเบิลยูทีโอกับหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ คอยสอดส่องและรายงานหากพบการใช้มาตรการกีดกันการค้าเพื่อเป็นอุปสรรคกีดขวางการค้าเสรีของโลก

กระนั้นก็ตาม สมาชิกดับเบิลยูทีโอบางประเทศยังส่งเสียงแย้งว่า ฝ่ายเลขาธิการไม่ได้รับมอบอำนาจให้ติดตามสอดส่องความเคลื่อนไหวในเรื่องการใช้มาตรการกีดกันการค้าของประเทศต่างๆ แม้กระทั่งถ้าจะดำเนินการแบบนอกรูปแบบ ในเวลาเดียวกันก็มีบางประเทศที่ลดน้ำเสียงในการคัดค้านลงมา เนื่องจากพบว่ารายงานต่างๆ ของดับเบิลยูทีโอที่เสนอให้ทราบถึงประเทศที่มีการใช้มาตรการนี้ มีลักษณะเป็นการกล่าวหากันในทางการเมืองน้อยลงมาก

แต่พวกเขาก็ยังตั้งคำถามไปถึงวิธีที่ดับเบิลยูทีโอเขียนตัวรายงาน โดยชี้ไปที่ประเทศขนาดเล็กและประเทศขนาดกลางว่ามีการใช้มาตรการกีดกันการค้า โดยไม่มีการคำถึงถึงว่าประเทศเหล่านี้สามารถสร้างผลกระทบต่อการค้าโลกได้แต่เพียงเล็กน้อย

เสียงวิจารณ์ยังมีไปถึงการที่รายงานของดับเบิลยูทีโอให้ความสำคัญน้อยเหลือเกินแก่เรื่องมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือมาตรการช่วยเหลือภาคเอกชนที่ภาครัฐของหลายประเทศให้แก่แบงก์ขนาดใหญ่ทั้งหลาย บริษัทประกันภัยต่างๆ อีกทั้งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายยักษ์สารพัดค่ายในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

ทั้งนี้ รายงานของดับเบิลยูทีโอซึ่งตั้งหัวข้อรายงานว่า "World Trade Report 2009; Trade Policy Commitments and Contingency Measures" ได้รับการเผยแพร่เมื่อวันพุธที่ 22 กรกฎาคม ในสิงคโปร์และเจนีวา

“เราทราบดีว่าวิกฤตในปัจจุบัน (ซึ่งก็ละม้ายวิกฤตอันใหญ่โตประมาณเดียวกันเมื่อทศวรรษ 1930) มิได้เกิดขึ้นจากนโยบายการค้า” ท่านอาเลคันโดร คารา รองผู้อำนวยการใหญ่ดับเบิลยูทีโอ บอกไว้อย่างนั้น พร้อมกับบอกด้วยว่า “แต่เราก็ทราบดีด้วยว่าในช่วงนั้น นโยบายการค้าแบบกีดกันการค้าก็มีบทบาทมากในทางที่ทำให้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจดำเนินไปในทางลึกและยืดเยื้อ”

“เราได้เห็นการใช้มาตรการการค้าแบบเข้มงวดเพิ่มขึ้น นับตั้งแต่ที่วิกฤตเริ่มต้น ดังนั้น จึงไม่มีพื้นที่เหลือให้เกิดความสบายใจได้เลย ผมไม่คิดว่าเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องกดกริ่งเตือนภัย แต่เราจำเป็นจะต้องหมั่นระแวดระวังและเปิดกว้างแก่กันและกัน”

รายงานของดับเบิลยูทีโอระบุว่า ในเวลาที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลทั้งหลายจะเผชิญกับแรงกดดันให้ใช้มาตรการต่างๆ ที่สามารถคุมเข้มการค้า “และเรื่องนี้มีอันตรายอยู่อย่างแท้จริงในแง่ที่ว่า แรงกดกันดังกล่าว ซึ่งไม่ได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงเพียงพอ อาจขยายตัวขึ้นในระดับอันตราย ... มาตรการฉุกเฉินทั้งหลายสามารถทำหน้าที่เป็นตัวตัดเหตุเภทภัยเพื่อรักษาความปลอดภัยได้ แต่ก็ควรแสดงบทบาทสำคัญในอันที่จะธำรงระบบการค้าหลายฝ่ายเอาไว้ด้วย”

ในท่ามกลางมาตรการนานาชนิดที่อาจถูกแต่ละรัฐบาลนำไปใช้ในยามที่เผชิญความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจ เราอาจใช้มาตรการป้องกันภัยแบบชั่วคราวเพื่อกันไม่ให้การนำเข้าทวีปริมาณ

กระนั้นก็ตาม คำถามว่าด้วยมาตรการป้องกันภัยเป็นประเด็นถกเถียงสำคัญสืบเนื่องมานานร่วมปีแล้ว นับจากเมื่อสหรัฐฯ ลุกขึ้นมาคัดค้าข้อเรียกร้องของอินเดียที่จะให้มีกลไกดังกล่าวนี้ เพื่อที่จะปกป้องคุ้มครองชีวิตความเป็นอยู่ของชาวนาที่หาอยู่หากินแค่พอยังชีพภายในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย

อันที่จริงแล้ว การเจรจาดับเบิลยูทีโอรอบโดฮาซึ่งเปิดฉากที่กรุงกาตาร์เมื่อปี 2001 ก็ล้มคว่ำไปด้วยประเด็นอันนี้นี่เอง

ส่วนเครื่องมืออื่นๆ ยังมีในเรื่องของมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดไม่ให้สินค้าจากประเทศอื่นหลั่งไหลเข้าท่วมตลาด ณ ระดับราคาที่ต่ำผิดปกติหรือมีราคาถูกอย่างไม่สมด้วยเหตุผล ตลอดจนการเพิ่มพิกัดอัตราภาษีศุลกากรขึ้นไปจนสูงสุดเท่าที่ข้อตกลงการค้าดับเบิลยูทีโอยอมให้ทำได้

รายงานของดับเบิลยูทีโอระบุว่า “เนื่องจากการดำเนินการแบบยืดหยุ่นนั้นมีต้นทุน การดำเนินการด้วยความยับยั้งชั่งใจจึงนับว่าเป็นประโยชน์ การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอย่างเปิดกว้างเพื่อให้ทราบถึงนโยบายต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการค้า เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งภายในสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ฝืดเคือง... การที่ประเทศหนึ่งๆ ประกาศให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับดับเบิลยูทีโอ ได้ทราบถึงมาตรการการค้าที่บังคับใช้ตามความจำเป็นของตน โดยประกาศออกมาให้เร็วและละเอียดครบถ้วน นับว่าจำเป็นมากในอันที่จะช่วยให้มั่นใจได้ว่าการตรวจสอบจะเป็นไปอย่างเหมาะสม”

รายงานฉบับนี้เตือนว่าการขยายตัวของการค้าจะ “ติดลบรุนแรงในปีนี้ แม้การหดตัวดูเหมือนว่าจะเป็นไปอย่างช้าๆ แต่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะเปราะบางทีเดียว ความเสี่ยงที่สถานการณ์จะยังเดินหน้าในทิศทางขาลงทำให้นักเศรษฐศาสตร์ของดับเบิลยูทีโอต้องทบทวนและปรับลดการประมาณการการค้าโลกปี 2009 ลงต่ำยิ่งขึ้น จากการถดถอยในปริมาณการค้าลงมา 9% เป็น 10%”

“สถานการณ์ข้างหน้าจะย่ำแย่มากกว่าที่เป็นในปัจจุบัน” คารากล่าว และทำนายถึงการว่างงานที่เพิ่มมากขึ้นทั่วโลก “แรงกดดันจะเกิดในอนาคตข้างหน้า”

(สำนักข่าวอินเตอร์ เพรส เซอร์วิส)
กำลังโหลดความคิดเห็น