xs
xsm
sm
md
lg

อุตฯเหล็กอัด“เจ๊วา” คงเอดีอุ้มสหวิริยา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-สมาคมผู้ก่อสร้างงานเหล็กไทย อัด "พรทิวา" คงมาตรการเอดีเหล็กกับ 14 ประเทศต่อไปอีก 5 ปี หวังอุ้มสหวิริยาสตีล ที่เป็นผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายใหญ่ของประเทศ แต่ทำลายผู้ประกอบการรายอื่นเจ๊งยับ เหตุทำให้ต้นทุนเพิ่ม แข่งขันไม่ได้ ทั้งที่สร้างมูลค่าเพิ่มและจ้างงานสูงกว่า

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ก่อสร้างงานเหล็กไทย เปิดเผยว่า สมาคมฯ เตรียมยื่นอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและการอุดหนุน ที่มีนางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน และได้มีการประกาศต่ออายุการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) สินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนและไม่ม้วนที่มีแหล่งกำเนิดจาก 14 ประเทศออกไปอีก 5 ปี หลังศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศได้ยืดเวลาการทำคำร้องอุทธรณ์จากเดิม 30 วันเป็น 60 วัน โดยสมาคมฯ จะขอให้ศาลฯ สั่งคุ้มครองไม่ให้มีการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนจากผู้นำเข้าสินค้าดังกล่าวเพื่อนำมาผลิตเพื่อการส่งออก

ทั้งนี้ จากประกาศดังกล่าวของกระทรวงพาณิชย์เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ได้ทำให้บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ในฐานะผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนและแผ่นรายใหญ่ของไทย ยิ่งมีอำนาจเหนือตลาดและผูกขาดมากยิ่งขึ้น ส่งผลกระทบในวงกว้างต่ออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ต้องใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นวัตถุดิบเพื่อส่งออก ทำให้มีภาระต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นจนไม่สามารถแข่งขันได้

ขณะเดียวกันผู้บริโภคในประเทศเองก็จะต้องบริโภคเหล็กในประเทศราคาที่สูงกว่าตลาดโลกด้วย แม้ว่าประกาศการต่ออายุการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดเหล็กแผ่นรีดร้อนครั้งนี้ ยกเว้นให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องเพื่อผลิตเป็นเหล็กแผ่นรีดเย็นต่อสำหรับใช้ในกลุ่มเหล็กเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้า กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและกลุ่มยานยนต์ ที่ไม่ต้องเสียค่าอากรทุ่มตลาดก็ตาม

แต่ปัจจุบันมีผู้นำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเพื่อนำมาแปรรูปก่อนส่งออกจำนวนมาก ที่ต้องเสียค่าอากรเอดีในการนำเข้ามาตามอัตราที่กำหนดไว้ ขึ้นอยู่กับสินค้าเหล็กมีแหล่งกำเนิดจากบริษัทหรือประเทศใดใน 14 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น แอฟริกาใต้ รัสเซีย คาซัคสถาน อินเดีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน เวเนซูเอลา อาร์เจนตินา ยูเครน แอลจีเรีย อินโดนีเซีย สโลวัก และโรมาเนีย ซึ่งจะต้องถูกเรียกเก็บเอดีในอัตราตั้งแต่ 0-128% ซึ่งแตกต่างจากประกาศมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดฯ เดิมเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ที่ยกเว้นให้ผู้นำเข้าเหล็กเพื่อส่งออกไม่ต้องเสียอากรเอดี

แหล่งข่าวกล่าวว่า ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการที่ใช้วัตถุดิบเหล็กแผ่นรีดร้อนเพื่อส่งออก ได้ซื้อเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศส่วนใหญ่มาแปรรูปเพื่อส่งออก เพราะไม่ต้องการเก็บสต็อกวัตถุดิบจำนวนมาก แต่ก็มีบางส่วนที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากไม่สามารถหาซื้อในประเทศได้ เพราะเป็นเหล็กแผ่นรีดร้อนเกรดพิเศษ หรือบางครั้งเป็นเกรดที่ผู้ผลิตในประเทศไม่ยอมผลิต เพราะความต้องการใช้น้อย ไม่คุ้ม ซึ่งการออกประกาศดังกล่าวข้างต้นจะทำให้ผู้ประกอบการเพื่อส่งออก หรือบางรายรับจ้างผลิตเพื่อส่งออก มีภาระต้นทุนวัตถุดิบสูงขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระให้ผู้ส่งออกอย่างไม่เป็นธรรม สวนทางกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องเร่งผลักดันการส่งออกให้มากขึ้นเพื่อดึงเงินตราต่างประเทศเข้ามา

“ความจริงแล้วผู้ประกอบการส่งออกเดือดร้อนมาหลายปีแล้วจากมาตรการเรียกเก็บเอดีเหล็กแผ่นรีดร้อน ซึ่งมองว่าไม่ค่อยเป็นธรรมในแง่นโยบายรัฐที่ออกกฎระเบียบเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเดียว แต่กระทบอุตสาหกรรมอื่นๆ จำนวนมาก และยังทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนที่ต้องซื้อสินค้าแพงกว่าราคาตลาดโลก ก็เหมือนกับอุตสาหกรรมน้ำตาลที่ประชาชนกินน้ำตาลแพงกว่าเพื่ออุ้มการส่งออก แต่ครั้งนั้นยังยอมรับได้ เพราะเรานำเข้ามาแล้วส่งออกไม่ต้องมีภาระเอดี แต่ขณะนี้การนำเข้าทุกล็อตต้องจ่ายค่าเอดี ซึ่งไม่ยุติธรรม เสียงผู้ส่งออกอย่างเราก็ไม่ได้ดังเหมือนบางกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น ยานยนต์ ทำให้ถูกมองข้าม และยิ่งทำให้ผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนรายใหญ่ในประเทศมีอำนาจเหนือตลาดทั้งกำลังเงินและกำลังผลิต”แหล่งข่าวกล่าว

นอกจากนี้ หากพิจารณาในแง่การสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้าพบว่า โรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อนของสหวิริยาฯ เป็นโรงงานที่ไม่มีเตาหลอมเศษเหล็ก ทำให้ต้องนำเหล็กแท่ง (สแลป) จากต่างประเทศมารีดเป็นแผ่น สร้างมูลค่าเพิ่มไม่มากเพียง 100 กว่าเหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่อุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นวัตุถดิบเพื่อแปรรูปเหล็กโครงสร้างเพื่อการส่งออก สร้างมูลค่าได้ประมาณตันละ 1,000-1,500 เหรียญสหรัฐ และมีการจ้างงานที่สูงกว่ามาก แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์จะกำหนดราคาควบคุมเหล็กแผ่นรีดร้อนที่หน้าโรงงาน แต่บางครั้งผู้ซื้อในประเทศไม่สามารถซื้อได้ในราคาที่ควบคุม เนื่องจากผู้ผลิตได้ตั้งบริษัทย่อยทำหน้าที่จำหน่ายเหล็กแผ่นให้กับลูกค้าอีกทอดหนึ่ง ซึ่งเป็นราคาที่สูงกว่าราคาควบคุมโดยเฉพาะสินค้าที่คู่แข่งสหวิริยาสตีลฯไม่สามารถผลิตได้

จากประกาศดังกล่าวทำให้อดมองไม่ได้ว่าการพิจารณาของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้มีความโปร่งใสหรือไม่ เนื่องจากการพิจารณาต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อผู้บริโภคและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอื่นๆ จะเห็นได้ว่าขณะนี้ราคาเหล็กแผ่นได้ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาแล้ว 20-30% ในช่วง 2 เดือนนี้ ส่วนหนึ่งมาจากราคาวัตถุดิบที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการเพื่อส่งออกยิ่งมีภาระต้นทุนมากขึ้นเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างจีนที่มีต้นทุนวัตถุดิบต่ำกว่า

ก่อนหน้านี้ สหวิริยาสตีลอินดัสตรี ในฐานะตัวแทนกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อนในประเทศได้ยื่นขอให้มีการพิจารณาทบทวนเพื่อเรียกเก็บค่าอากรตอบโต้การทุ่มตลาดออกไปอีก 5 ปีหลังสิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 26 พ.ค.2551 โดยให้เหตุผลว่า หากยุติการเรียกเก็บเอดีจะทำให้มีการทุ่มตลาดต่อไป ดังนั้น คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและอุดหนุนจึงได้พิจารณาแล้วต่ออายุการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดสินค้าเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนและไม่ม้วนที่มีแหล่งกำเนิดจาก 14 ประเทศต่อไป 5 ปีนับตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา
อนึ่ง คณะกรรมการพิจารณาการทุ่มตลาดและอุดหนุน ได้มีมติให้ใช้มาตรการเอดีเหล็กแผ่นรีดร้อนที่นำเข้ามาจาก 14 ประเทศ ที่มีแหล่งกำเนิดจากญี่ปุ่น 36.25% ของราคาซีไอเอฟ แอฟริกาใต้ 128.11% รัสเซีย 24.20-35.17% คาซัคสถาน 109.25% อินเดีย 26.81-31.92% เกาหลีใต้ 13.96% ไต้หวัน 3.45-25.15% เวเนซูเอลา 78.44% อาร์เจนตินา 37.94-53.09% ยูเครน 30.45-67.69% แอลจีเรีย 33.26% อินโดนีเซีย 24.48% สโลวัก 51.95% โรมาเนีย 27.95% เป็นเวลา 5 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 11 มี.ค.2547 มีประกาศให้เรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาดจาก 14 ประเทศดังกล่าวในอัตราร้อยละ 0 หรือยกเลิกมาตรการเอดีชั่วคราว เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2547 ถึง วันที่ 19 ก.ย.2547 แต่ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินการเอดีตามเดิมแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น