เชียงราย – เครือข่ายเหล้าพื้นบ้านเตรียมยื่นหนังสือผ่านผู้ว่าฯเชียงรายพรุ่งนี้ จี้นายกฯ สางปัญหาความเหลื่อมล้ำภาษีเหล้า ทำให้วิสาหกิจชุมชน-ชาวบ้านเสียเปรียบทุนใหญ่ แถมทำให้รัฐเสียหายเกือบ 3 หมื่นล้าน
รายงานข่าวจาก จ.เชียงราย แจ้งว่า เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตสุราพื้นบ้านแห่งประเทศไทยซึ่งมีนางบัวเหลียว ชัยมณี เป็นประธานมีกำหนดจะเข้ายื่นหนังสือต่อนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย เพื่อขอให้เสนอต่อไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 2 เม.ย.นี้ โดยก่อนหน้านี้เครือข่ายมีการประชุมกันและมีมติที่จะไปเคลื่อนไหวที่กรุงเทพฯ แต่เนื่องจากเห็นว่าได้มีการชุมนุมกันทางการเมืองจึงเกรงว่ารัฐบาลจะมีปัญหาหนัก และจะตกเป็นเครื่องมือของบุคคลที่สามจึงได้หันไปยื่นผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดแทน
โดยนางบัวเหลียว เปิดเผยว่า สุรากลั่นพื้นบ้านเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นมานานและในปัจจุบันรัฐธรรมนูญไทย ปี 50 ได้บัญญัติไว้ชัดเจนอยู่หลายมาตรา เช่น มาตรา 84 ที่ระบุว่ารัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ ดังต่อไปนี้ (1) สนับสนุนระบบเศรษฐกิจแบบเสรีและเป็นธรรม....โดยต้องยกเลิกและละเว้นการตรากฎหมายและกฎเกณฑ์ที่ควบคุมธุรกิจซึ่งมีบทบัญญัติที่ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นทางเศรษฐกิจ...(5) กำกับให้การประกอบกิจการมีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม ป้องกันการผูกขาด...(14) ส่งเสริมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรเพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
“ต่อมาได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ม.ค.2546 ให้มีการปรับปรุงภาษีสุรา และมีการปรับลดอัตราภาษีสุราขาว ตามมูลค่าร้อยละ 28 มาเป็นร้อยละ 25 และตามปริมาณจากลิตรละ 100 บาท ลดเหลือ 70 บาท แห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ อย่างไรก็ตาม พบว่ามีการสอดไส้หรือหมกเม็ดในเรื่องของฐานภาษี เพราะหลังจากนั้นกรมสรรพสามิตได้นำเอาฐานภาษีของสุรากลั่นพื้นบ้านไปไปรวมกับสุราขาวของโรงงานใหญ่อ้างว่าเป็นสุราขาวเหมือนกัน ทั้งที่สุราขาวของกลุ่มโรงงานใหญ่ซึ่งมีไม่กี่ตระกูลปัจจุบันมี 12 โรงงาน ใช้วัตถุดิบจากกากน้ำตาลส่วนชาวบ้านใช้วัตถุดิบทางการเกษตร และสมุนไพร”
มีการระบุชื่อสุรากลั่นพื้นบ้านเป็นสุรากลั่นชุมชน เพื่อบังหน้าสำหรับลดภาษีให้กับสุราขาวของกลุ่มนายทุนใหญ่ที่มีส่วนสนับสนุนพรรคการเมือง และถ้าจะขึ้นภาษีสุราขาวเพื่อหารายได้เข้ารัฐแต่ละครั้งก็มักจะอ้างว่าจะทำให้ผู้ประกอบการผลิตสุรากลั่นชุมชนกระทบกระเทือนเดือดร้อน ทั้งๆ ที่ในปี 2546-2550 สุรากลั่นพื้นบ้านมีส่วนแบ่งตลาดเพียง 8% ส่วนสุราขาวมีกว่า 92% ทำให้รัฐเสียประโยชน์จากอัตราภาษีโดยในส่วนของสุรากลั่นชุมชนรัฐเสียหายไป 2,041 ล้านบาท ส่วนของสุราขาวโรงงานใหญ่ รัฐเสียหายไปกว่า 27,468 ล้านบาท
เธอย้ำว่า พวกเราสงสัยว่าเหตุใดสุราสีจึงมีการเก็บอัตราภาษีไม่เท่ากัน แต่กับสุรากลั่นพื้นบ้านกลับเสียอัตราภาษีเท่ากับสุราขาวโรงงานใหญ่ จนทำให้ชาวบ้านต้องไปแข่งขันกับสุราขาวโรงงานใหญ่ ซึ่งขัดแย้งกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 84 ส่วนประเภทสุราสี มีการแบ่งประเภท และจัดเก็บอัตราภาษีไม่เท่ากัน ได้แก่
1.กลุ่มสุราผสมอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 50 อัตราภาษีตามปริมาณ 280 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 2.สุราพิเศษประเภทบรั่นดี วิสกี้ อัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 45 อัตราภาษีตาม ปริมาณ 400 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ และ 3.สุราปรุงพิเศษอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 45 อัตราภาษีตามปริมาณ 400 บาทต่อลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์
ขณะที่ประเภทสุราสี อ้างว่ากระบวนการผลิตไม่เหมือนกัน ทั้งๆ ที่ เซี่ยงชุน หงส์ทอง แสงโสม แม่โขง คือเหล้าผลิตจากกากน้ำตาลเหมือนกัน ส่วนสุรากลั่นพื้นบ้านของพวกเรากลับไปตั้งชื่อเป็นสุราขาวหรือสุราชุมชนซึ่งชื่อนี้ขายไม่ได้ ผู้ส่งออกสินค้าไม่ชอบ นักท่องเที่ยวไม่เอา
ดังนั้น ทางเครือข่ายฯ จึงขอให้นายกรัฐมนตรีได้แก้ไขโดยเปลี่ยนชื่อจากสุรากลั่นชุมชนเป็น “สุรากลั่นพื้นบ้าน” และจัดเก็บภาษีถูกกว่าโรงงานใหญ่โดยให้แยกเก็บอัตราภาษีสุรากลั่นพื้นบ้านในอัตราต่ำกว่า 10% หรือเหมาจ่ายขวดละ 10 บาท ให้ขออนุญาตผลิตในนามบุคคลธรรมดาได้ ขอให้รัฐบาลได้เข้มงวดเรื่องปริมาณการผลิต เช่น เดือนละไม่เกิน 10,000 ขวดต่อหนึ่งโรง และควบคุมปริมาณการหมักวัตถุดิบเพื่อป้องกันนายทุนแอบใช้ชื่อสุรากลั่นพื้นบ้าน
ขณะเดียวกัน ช่วยตรวจสอบจับสุราเถื่อนต่างจังหวัดที่ลักลอบนำเข้ามาจำหน่ายในเขตจังหวัด โดยเฉพาะจาก จ.แพร่ ที่ผลิตสุราออกมาทุ่มตลาดโดยใช้การผลิตไม่ถูกตามกฎหมายและทำลายตลาดชาวบ้านทั่วไป นอกจากนี้ ขอให้มีการผ่อนผันการตรวจจับหรือตรวจค้นในโรงงานของผู้ประกอบการสุรากลั่นพื้นบ้านเพราะไม่มีส่วนช่วยเหลือให้ผู้
ทั้งนี้ ขอให้มีการนำเสนอให้กับนายกรัฐมนตรีโดยด่วน จากนั้นให้นายกรัฐมนตรี นำปัญหานี้พูดในรายการโทรทัศน์ในวันอาทิตย์ และขอให้มีการตั้งทีมงานจากนายกรัฐมนตรีโดยตรงเข้าประชุมกับแกนนำชาวบ้านเพื่อรับปัญหาและติดตามผล โดยอย่าโยนลูกกระทรวงการคลังไปดำเนินการแทนเพราะไม่มั่นใจในผลประโยชน์ที่มีกับกระทรวงการคลัง