xs
xsm
sm
md
lg

“เหล้าพื้นบ้าน”ขู่งดจ่ายภาษีเดือนนี้โต้รัฐตีขลุมสุราชุมชนเทียบชั้นทุนยักษ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตสุราพื้นบ้านแห่งประเทศไทยกว่า 100 คน เข้ายื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าฯเชียงราย ให้เสนอต่อไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาแยกฐานภาษีของสุรากลั่นที่กลุ่มชาวบ้านผลิต และสุราจากโรงงานใหญ่
เชียงราย - เครือข่ายเหล้าพื้นบ้านบุกยื่นหนังสือผู้ว่าฯ-สรรพสามิต จี้ “มาร์ค”รื้อเกณฑ์ภาษีเหล้าชุมชนใหม่ แยกฐานคิดออกจากเหล้าโรงของทุนใหญ่ ประกาศเมษาฯนี้งดจ่ายภาษีแน่ หากรัฐขึ้นค่าอากรแสตมป์เหล้าชุมชน พร้อมขู่หากโดนจับเรียกระดมพลประท้วง ณ จุดเกิดเหตุทันที เตรียมรวมพลพรรคผู้ผลิตเหล้าพื้นบ้านทั่วเหนือ กดดันหน้าทำเนียบหลังสงกรานต์ต่อ หากข้อเรียกร้องไม่ได้รับการตอบสนอง

วานนี้(2 เม.ย.) กลุ่มชาวบ้านจากเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตสุราพื้นบ้านแห่งประเทศไทย ซึ่งมีนางบัวเหลียว ชัยมณี เป็นประธานจำนวนประมาณ 100 คน ได้ชุมนุมกันที่ศาลากลาง จ.เชียงราย เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องต่อนายสุเมธ แสงนิ่มนวล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงราย ให้เสนอต่อไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาแยกฐานภาษีของสุรากลั่นที่กลุ่มชาวบ้านผลิต และสุราจากโรงงานใหญ่ ซึ่งจะทำให้การเสียภาษีของกลุ่มชาวบ้านถูกลงกว่าโรงงานใหญ่

ชาวบ้านอ้างว่า เป็นเพียงกลุ่มที่มีกำลังการผลิตไม่เกิน 5 แรงม้า 7 แรงคน แต่กลับใช้ต้นทุนสูงกว่าโรงงานใหญ่ที่ไม่จำกัดกำลังการผลิตมาก ทำให้สู้ราคา และทำตลาดไม่ไหว ขณะที่ต้องประสบปัญหาเรื่องภาษีที่ขึ้นลงเหมือนกับของโรงงานใหญ่ด้วย

อย่างไรก็ตาม นายสุเมธ ติดราชการจึงมอบหมายให้ นาย ศเนติ พาจรทิศ ผู้แทน ศูนย์ดำรงค์ธรรม จ.เชียงราย เข้ารับเรื่องแทน ซึ่ง นายศเนติ แจ้งว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องระดับนโยบายจึงจะรับเรื่องเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ดำเนินการตามที่ชาวบ้านแจ้งต่อไป

จากนั้นกลุ่มชาวบ้านได้พากันไปที่สำนักงานสรรพสามิต จ.เชียงราย เพื่อยื่นหนังสือฉบับเดียวกันต่อ นายนิรุทธิ์ งามศิริ สรรพสามิต เขตพื้นที่ จ.เชียงราย เพื่อขอให้นำเสนอไปยังกระทรวงการคลังต่อไป

นางบัวเหลียว กล่าวว่า ปัจจุบันชาวบ้านกำลังประสบปัญหาเรื่องต้นทุนการผลิตอย่างมาก เพราะภาษีสุรากลั่นพื้นบ้านถูกนำไปรวมกับสุรากลั่นของโรงงานใหญ่ ทั้งๆ ที่กรรมวิธีการผลิตและวัตถุดิบที่ใช้ไม่เหมือนกัน โดยของโรงงานใหญ่จะใช้กากน้ำตาลเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนของชาวบ้านใช้ข้าวเป็นหลัก นอกจากนี้ยังมีสมุนไพรต่างๆ ตามภูมิปัญญาดั้งเดิม ซึ่งตรงกับรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้มีการส่งเสริมภูมิปัญญาและแปรรูปพืชผลทางการเกษตร เพื่อยกรายได้ให้แก่ชาวบ้านระดับล่าง

แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมา ชาวบ้านต้องเสียภาษีหรือค่าซื้อแสตมป์ จากกรมสรรพสามิตเฉลี่ยขวดละประมาณ 32 บาท เมื่อบวกกับต้นทุนการผลิตที่อยู่ที่ขวดละประมาณ 18 บาท ก็จะมีต้นทุนรวม 50 บาท ปัจจุบันชาวบ้านจำหน่ายขวดละ 55 บาทหรือบางรายต่ำกว่านี้ เพื่อให้อยู่รอดจนเรียกได้ว่าแทบจะไม่ได้อะไรเลย

ดังนั้น จึงขอให้เปลี่ยนชื่อที่กระทรวงการคลังกำหนดให้เป็น "สุราชุมชน" ซึ่งมีการนำฐานภาษีไปรวมกับสุราขาวของโรงงานขนาดใหญ่เป็น "สุราพื้นบ้าน”แทน จากนั้นแยกฐานภาษีโดยเก็บค่าแสตมป์ขวดละ 10-12 บาท ชาวบ้านก็จะอยู่ได้

ด้านนายอุดม สมประสงค์ สมาชิกเครือข่ายฯ กล่าวว่า ในเดือน เมษายนนี้ พวกเราได้รับแจ้งว่าจะมีการขึ้นอัตราภาษีหรือขายแสตมป์จากขวดละ 32 บาทเป็น 50-55 บาทอีกเพราะรัฐบาลต้องการหารายได้ ทำให้พวกเราเห็นว่าคงไม่สามารถจ่ายให้ได้เพราะจะทำให้ต้นทุนสูงเป็นขวดละ 60-70 บาท คาดว่าจะทำให้ขายไม่ได้แน่นอน และทุกคนต้องประสบปัญหาหนัก

ดังนั้น จึงมีมติกันว่าหากมีการขึ้นอัตราภาษีดังกล่าว พวกเราจะไม่ยอมเสียภาษีแต่จะผลิตและขายกันที่โรงงานเหมือนเดิม หากเจ้าหน้าที่สรรพสามิตไปตรวจสอบก็จะมีการรวมตัวประท้วงกัน ณ สถานที่จับกุมทันที ลักษณะจะกลับไปเหมือนเมื่อราวปี 2546-2547 ที่มีการเรียกร้องกัน

จึงเรียกร้องไม่ให้รัฐบาลรีบแยกฐานภาษีและเก็บจากชาวบ้านขวดละ 10-12 บาท เพราะสุราสีหรือประเภทเบียร์ยังแยกกันชัดเจนและแต่ละยี่ห้อก็เก็บไม่เท่ากัน แต่สงสัยว่าเหตุใดจึงเอาสุรากลั่นพื้นบ้านไปรวมกับสุราขาวของโรงงานใหญ่ ทั้งนี้หากว่ายื่นหนังสือไปแล้วยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนหลังเทศกาลสงกรานต์นี้จะพากันไปชุมนุม เพื่อเรียกร้องที่ทำเนียบรัฐบาลต่อไป

"ปีที่ผ่านมากรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีจากผู้ผลิต และจำหน่ายสุรากลั่นพื้นบ้านเฉพาะในเขต อ.เมือง จ.เชียงราย ได้จำนวนประมาณ 1.3 ล้านบาทจากยอดที่ตั้งเป้าเอาไว้ที่ประมาณ 900,000 บาท จากทั้งหมด 167 โรงงาน แต่หากมีการเพิ่มอัตราภาษีเป็นขวดละ 50-55 บาทชาวบ้านต้องตายแน่ๆ แม้รัฐจะได้รายได้เพิ่มขึ้น" นายอุดมกล่าวและว่า

ขณะนี้เครือข่ายฯ ซึ่งมีสมาชิกอยู่แล้วหลายร้อยคนกำลังอยู่ระหว่างรวบรวมสมาชิกกันใหม่คาดว่าจะมีไม่ต่ำกว่า 1,000 คน เพื่อจะได้รองรับมาตรการหากรัฐบาลขึ้นอัตราภาษีและตรวจจับกันจริง นอกจากนี้จะประสานไปยังจังหวัดต่างๆ ประสานกันเป็นเครือข่ายระดับภาคและประเทศ เพื่อเรียกร้องไปยังรัฐบาลในราวปลายเดือน เมษายนนี้ต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ในการไปยื่นหนังสือที่สำนักงานสรรพสามิต จ.เชียงราย กลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องไม่ให้เจ้าหน้าที่สรรพสามิตเข้างวดตรวจจับสุราในช่วงเดือน เมษายน ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้เพราะเป็นช่วงที่ผู้คนนิยมดื่มสุรา

ทั้งนี้ส่วนใหญ่ยอมรับว่าไม่สามารถผลิตและจำหน่าย ภายใต้อัตราภาษีที่สูงในปัจจุบันได้ จึงมีการลักลอบผลิตและจำหน่ายสุรานอกแสตมป์เพื่อความอยู่รอด ดังนั้นหากเจ้าหน้าที่ตรวจจับอย่างหนักก็จะเดือดร้อนกันอย่างแน่นอน รวมทั้งได้ขอให้มีการเข้มงวดกับเจ้าหน้าที่ที่อาจจะไปกลั่นแกล้งชาวบ้าน -เข้มงวดกับสุราต่างพื้นที่โดยเฉพาะจาก จ.แพร่ จำนวน 2 รายที่คาดว่าจะมีกำลังผลิตเกิน 5 แรงม้า 7 แรงคนตามที่กฎหมายกำหนดที่ได้ส่งสุราเข้าตีตลาดเชียงรายอย่างหนักด้วย

ขณะที่นายนิรุทธิ์ งามศิริ สรรพสามิตเขตพื้นที่ จ.เชียงราย กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเข้าสู่การพิจารณาระดับนโยบายและตามข้อเรียกร้องคงจะต้องแก้ไขกันที่ข้อกฎหมายโดยอาจต้องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้น สำนักงานระดับจังหวัดคงจะนำเสนอไปตามขั้นตอน สำหรับกรณีการขึ้นหรือไม่ขึ้นอัตราภาษีนั้น ในพื้นที่ไม่อาจจะทราบได้ ส่วนเรื่องให้เข้มงวดกับเจ้าหน้าที่นั้นจะดำเนินการอย่างเต็มที่

รายงานข่าวแจ้งว่าช่วงเดียวกันได้มีการร้องเรียนไปยังกรมสรรพสามิต ว่ามีการผลิตสุราเกินกว่ากำลังแรงโรงงานที่กฎหมายกำหนดในพื้นที่ จ.แพร่ ทำให้สรรพสามิตภาคเหนือพร้อมด้วยอุตสาหกรรมจังหวัด และโยธาธิการและผังเมืองเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ จ.แพร่ แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น