xs
xsm
sm
md
lg

แผนที่ 1 : 200,000ปีศาจร้ายจากปี 2505 ถึงปี 2552 !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

กรณีพฤติกรรมของรัฐบาลที่อาจทำให้ไทยเสียดินแดนให้กัมพูชานั้น มีข้อมูลใหม่ประเด็นใหม่ที่ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ได้เปิดมาทาง ASTV รายการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อค่ำวันศุกร์ที่ 9 ตุลาคม 2551 และในนสพ. ASTV ผู้จัดการรายวันฉบับเช้าวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม 2551 ที่พาดหัวว่า “แฉรัฐบาลน้องเขยแม้วสอดไส้แผนที่เขมรผ่านสภา” นั้นคนไทยทุกคนต้องรับรู้ร่วมกัน

เพราะถ้าไม่ร่วมกันแก้ไข เราอาจจะเสียดินแดนให้กัมพูชามากกว่าที่คิด
ไม่ใช่แค่ตัวปราสาทพระวิหารที่เสียไปแล้วเมื่อปี 2505 ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของ 4.6 ตารางกิโลเมตรที่วันนี้กัมพูชาสร้างวัดสร้างถนนมีชุมชน และไม่ใช่ทั้งหมดของ 4.6 ตารางกิโลเมตร

แต่อาจจะมากกว่านั้นมหาศาล – ตามแผนที่ฝรั่งเศส 1 : 200,000 ที่เราไม่ยอมรับมาตลอด !

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งกับการรณรงค์ครั้งนี้ ที่ต้องเริ่มต้นให้รัฐสภาลงมติไม่เห็นชอบกับบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (JBC) รวม 3 ฉบับ ที่จะเข้าสู่การประชุมร่วมกันของรัฐสภาภายในไม่ช้าไม่นานนี้

โดยก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 รัฐสภาทำผิดพลาดมาแล้วครั้งหนึ่งด้วยการอนุมติกรอบการเจรจาไทย-กัมพูชาด้วยคะแนนเสียง 409 ต่อ 7 งดออกเสียง 1 และ 406 ต่อ 8 งดออกเสียง 2

แน่นอนครับ – ผมเป็นเสียงหนึ่งใน 7 และ 8 เสียงที่คัดค้านนั้น !

เพื่อนสมาชิกรัฐสภาท่านอื่นที่คัดค้านล้วนเป็นส.ว.ทั้งสิ้น คือ พ.ท.กมล ประจวบเหมาะ, พล.ต.ต.เกริก กัลยาณมิตร, คุณรสนา โตสิตระกูล, คุณวรินทร์ เทียมจรัส, คุณสมชาย แสวงการ, คุณสุรจิต ชิรเวทย์ และท่านอาจารย์มณเฑียร บุญตัน (เฉพาะกรอบหลัง) โดยท่านที่งดออกเสียงทั้ง 2 กรอบคือท่านประธานวุฒิสภาอาจารย์ประสพสุข บุญเดช และคุณหมออนุศักดิ์ คงมาลัยงดออกเสียงเฉพาะกรอบหลัง

ท่านนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะและส.ส.พรรคประชาธิปัตย์โหวต “เห็นด้วย” กับทั้ง 2 กรอบ !! แต่นั่นก็เป็นเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ที่สมาชิกรัฐสภาส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลทั้งหมด

กรอบทั้ง 2 กรอบที่รัฐสภาอนุมติไปเมื่อเกือบ 1 ปีที่แล้วไม่ดีอะไรหรือ ?

นอกเหนือจากประเด็นถอนทหารทั้ง 2 ฝ่ายออกจากบริเวณวัดแก้วสิขาคีรีสะวาราซึ่งเป็นดินแดนไทย อันดูเหมือนดี แต่จะเป็นผลให้ไทยต้องถอนทหาร แต่กัมพูชาแม้ถอนทหารก็ยังมีวัด ชุมชน และทหาร คงอยู่แล้ว ก็คือประเด็นการจัดทำหลักเขตแดนภายใต้สิ่งที่เรียกในกรอบ 1 ว่า “แผนแม่บท...” และในกรอบ 2 ให้เป็นไปตามแนวทางเอกสาร 3 รายการ คือ สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1904, สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 และ....ตรงนี้สำคัญครับ.....

“แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ที่จัดทำขึ้นตามอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1907 กับเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้อนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1907 ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส”

อย่าลืมขีดเส้นใต้ตรงคำว่า “แผนที่” นะ !

แผนที่ที่ว่านี้ผมเข้าใจว่ามี 11 ระวาง หรือ 11 แผ่น เป็นแผนที่อัตราส่วน 1 : 200,000 ที่ฝรั่งเศสจัดทำขึ้นในปี ค.ศ. 1908 ในระวางหนึ่งที่รู้จักกันต่อมาในชั้นการพิจารณาของศาลโลกระหว่างปี 2502 – 2505 ในนาม “ภาคผนวก 1” หรือ “ANNEX 1” นี่แหละที่มาผนวกเอาปราสาทพระวิหารไปไว้ในดินแดนกัมพูชา อันเป็นผลให้ไทยแพ้คดีเสียปราสาทพระวิหารให้กัมพูชาเพราะหลัก “กฎหมายปิดปาก” เพราะศาลโลกพิจารณาเห็นว่าไทยมีโอกาสที่จะคัดค้านแผนที่ที่ว่านี้ในหลายกรรมหลายวาระแต่ไม่ได้คัดค้าน

ท่านอาจารย์ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์บอกว่าเรายอมรับแผนที่ ANNEX 1 ที่ทำให้เราเจ็บปวดทั้งประเทศมาแล้วในปี 2505 ก่อนหน้านั้นแล้วในแผนแม่บทและ TOR ปี 2546 (2003) สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นเอกสารประอบหมายเลข 4 เป็นภาษาอังกฤษ แจกจ่ายในวันที่ 28 ตุลาคม 2551 โดยในเอกสารนี้ที่ผมยังเก็บไว้ถึงขนาดมีวงเล็บไว้ด้วยว่าแผนที่นี้คืออะไร...เขาวงเล็บไว้ในข้อ 1.1.3 ว่า....

“...hereinafter referred to as the Maps of 1 : 200,000”

จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่แค่เป็นเรื่องของพ.ต.ต.ทักษิณ ชินวัตรที่ทำขึ้นในปี 2546 และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (โดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รมว.ต่างประเทศในขณะนั้น) นำมาเสนอเป็นกรอบเจรจาต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 หรอกครับ

มันเป็นเรื่องของพรรคประชาธิปัตย์ด้วยตั้งแต่ปี 2543 โน่น !

เพราะแผนแม่บทและ TOR ปี 2546 (2003) ที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “Terms of Reference and Master Plan for the Joint Survey and Demarcation of Land Boundary between the Kingdom of Thailand and the Kingdom of Cambodia” ที่มีระบุประโยคเชิงยอมรับ “the Maps of 1 : 200,000” ไม่ได้ลอยลงมาจากฟากฟ้าหรือพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรคิดขึ้นมาเองหรอก

มันมาจากเอกสารชื่อเต็ม “บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก” ที่เรียกย่อ ๆ ว่า MOU ปี 2000 ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ทำกับกัมพูชาในปี 2543 !

เพื่อความเข้าใจง่าย ๆ อยากให้จำเอกสารชิ้นนี้ในนาม MOU 2000 และจำเอกสารปี 2546 ในนาม TOR 2003 เพราะในการต่อสู้กรณีนี้เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีข้อมูลและมีเหตุมีผล

ใน MOU 2000 ที่ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตรขณะดำรงตำแหน่งรมช.ต่างประเทศลงนามร่วมกับนายวาร์ คิม ฮงของกัมพูชาเมื่อปี 2543 นั้นจำไว้ให้แม่นเลยนะครับว่า “ข้อ 1 (ค)” หรือในภาษาอังกฤษก็เป็น “Article 1 (c)” นั่นแหละที่เป็นปัญหาใหญ่

ข้อความในฉบับภาษาไทยก็เป็นข้อความเดียวกับในข้อ 3 ของกรอบที่ 2 ที่รัฐสภาอนุมติไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 เป๊ะ

“แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ที่จัดทำขึ้นตามอนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1907 กับเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้อนุสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1904 และสนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ. 1907 ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส”

มีต่างกันคำเดียวแค่คำว่า “ที่” ที่ใน MOU 2000 ข้อ 1 (ค) ใช้คำว่า “ซึ่ง” เท่านั้น

หันไปดูข้อความในฉบับภาษาอังกฤษ Article 1 (c) ของ MOU 2000 ก็จะพบข้อความที่เหมือนกันเป๊ะกับ TOR 2003 ข้อ 1.1.3 ซึ่งก็เป็นคำแปลมาจากภาษาไทยข้างต้น

แตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ตรงที่ใน TOR 2003 ก่อนประโยค “, and other documents relating to the...” (แปลมาจาก “...กับเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง...”) ทะลึ่งใส่วงเล็บแทรกไว้ให้ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์จับได้...

“...(hereinafter referred to as the Maps of 1 : 200,000)...”

ถ้าเราเห็นว่าการเขียนข้อตกลงกับกัมพูชาในเชิงยอมรับแผนที่ 1 : 200,000 (หรือ ANNEX 1) นี้ผิด ไม่อาจยอมรับได้ มันก็ไม่ได้ผิดแค่รัฐบาลน้องเขยแม้วที่เสนอ 2 กรอบต่อรัฐสภาเมื่อ 28 ตุลาคม 2551 เท่านั้น

แต่มันต้องผิดมาตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2543 ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ยุคท่านชวน หลีกภัย – โดยม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร – ไปทำ MOU 2000 กับกัมพูชาแล้ว !
กำลังโหลดความคิดเห็น