xs
xsm
sm
md
lg

แฉรัฐบาล ‘น้องเขยแม้ว’สอดไส้แผนที่เขมรผ่านสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิชาการแฉหลักฐานเอกสาร กต.ประกอบการประชุมสภานิติบัญญัติ 28 ต.ค. 51 สมัยรัฐบาล “น้องเขยแม้ว”แทรกแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ฉบับกัมพูชา ปะหน้าภาษาไทย เนื้อในเป็นอังกฤษ ส.ส.-สว.ยกมือผ่านสภาฉลุยรับรอง 409 ต่อ 7 เสียงยุค ปชป.เป็นฝ่ายค้าน!? ห่วงเป็นหลักฐานมัดรัฐบาลไทยยอมรับแผนที่กัมพูชา เสียพื้นที่อีกมหาศาล เตรียมยื่นหนังสือ “มาร์ค”จี้ยกเลิกมติดังกล่าว

วานนี้(9 ต.ค.) ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำเอกสารสำคัญอันเป็นหลักฐานล่าสุด กรณียกอธิปไตยบริเวณปราสาทเขาพระวิหารให้แก่กัมพูชา โดยหลักฐานชิ้นนี้เป็นเอกสารของกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จัดทำขึ้นเพื่อประกอบการพิจารณาในการประชุมร่วมสมัยสามัญนิติบัญญัติ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2551 ในสมัยที่นายสมพงศ์ อมรวิวัฒน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นเอกสาร

“กรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนว ในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาและกลไกอื่นๆ” ซึ่งเป็นการประชุมร่วมระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) และสมาชิกวุฒิสภา (สว.)

ม.ล.วัลย์วิภา ระบุว่า ที่น่าแปลกใจประการแรก คือใบปะแสดงบัญชีเอกสารประกอบการประชุม 5 ข้อ และหน้า2-3 ซึ่งชี้แจงถึงกรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหารและกรอบการเจรจาด้านการสำรวจและจัดทำกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนว ในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาและกลไกอื่นๆ เขียนชี้แจงด้วยภาษาไทย แต่เมื่อพลิกไปหน้าที่4 ซึ่งเป็นเนื้อในของเอกสารจริง กลับเป็นเอกสารภาษาอังกฤษล้วนๆ โดยไม่มีการแนบเอกสารการแปลข้อความทั้งหมดแต่อย่างใด

ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวต่อไปว่า ในหน้าที่3 ซึ่งเป็นใบปะหน้าชี้แจงถึงเอกสารประกอบของกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนว

ในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชาและกลไกอื่นๆ นั้น ข้อที่ 3 ระบุเอาไว้ว่า “แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาฉบับปีค.ศ.1904 และสนธิสัญญาฉบับปีค.ศ.1907 กับเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้อนุสัญญาฉบับปี ค.ศ.1904 และสนธิสัญญาฉบับปีค.ศ.1907 ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส”

“ตรงนี้ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ เพราะประเด็นเรื่องแผนที่เป็นข้อขัดแย้งหลัก และห่วงว่ามันจะเป็นฉบับสัดส่วน 1 ต่อ 200,000 ซึ่งเมื่อเข้าไปดูเนื้อในที่เป็นภาษาอังกฤษ ก็พบว่ามีการระบุชัดถึงแผนที่ฉบับ 1 ต่อ 200,000 จริงๆ”

นักวิชาการสถาบันไทยคดีศึกษา กล่าวอีกว่า มีการระบุอยู่ในข้อ1.1.3 ในข้อความว่า “Maps which are the results of demarcation works of Commissions of Delimitation of Boundary between Indo-China and Siam(Commissions de Delimitation de la Frontiere entre 1' Indo-Chine et le Siam) set up under
the Convention of 1904 and the Treaty of 1907 between Siam and France (hereinafter referred to as “the Map of 1:200,000”), and other documents relating to the application of the Convention of 1904 and the Treaty of 1907 between Siam and France.”

ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวถึงผลการประชุมในครั้งนั้นว่า มติที่ประชุมรับรองกรอบการเจรจาดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 409 เสียงต่อ 7 เสียง ทั้งที่ ณ ช่วงเวลานั้น พรรคประชาธิปัตย์เป็นผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งจากคะแนนเสียงที่ลงมติ แสดงให้เห็นว่า ทางพรรคฝ่ายค้านเอง ก็ลงมติเห็นชอบผ่านให้กรอบเจรจาเจ้าปัญหานี้ด้วย

“ซึ่งนั่นแปลว่าสภานิติบัญญัติไทย ยอมรับการใช้แผนที่แบ่งเส้นเขตแดนไทย-กัมพูชา ฉบับ Annex1 ที่ใช้มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ที่กัมพูชาอยากให้ไทยรับมาตลอด ซึ่งหากใช้รับแผนที่ฉบับนี้จะทำให้ไทยสูญเสียพื้นที่มหาศาล จ.ศรีสะเกษก็จะเหลือแค่ครึ่งเดียว และจะเสียพื้นที่อุทยานแห่งชาติอีกหลายแห่ง ซึ่งที่ผ่านมาเราต่อสู้มาตลอดที่จะไม่รับแผนที่ฉบับนั้น แต่จู่ๆ สภานิติบัญญัติที่ประชาชนมอบอำนาจให้ไปบริหารบ้านเมือง กลับรับแผนที่ฉบับนั้นเสียเฉยๆ ซึ่งทางกัมพูชาก็จะอ้างได้ว่า สภานิติบัญญัติไทยรับแผนที่ฉบับนี้แล้ว เป็นเรื่องที่น่าวิตกกังวลมาก หลักฐานนี้แสดงให้เห็นว่าอาจมีเจตนาสอดไส้หมกเม็ด โดยใช้เอกสารภาษาอังกฤษ เพื่อให้สภานิติบัญญัติไทยรับรองแผนที่ฉบับ 1 ต่อ 200,000 โดยไม่มีเอกสารแปลไทย แนบซึ่ง ส.ส.และ สว.บางส่วนอาจจะไม่ได้อ่าน แต่ก็แปลกใจที่พรรคประชาธิปัตย์ยอมให้ผ่าน คุณอภิสิทธิ์ไม่ได้อ่านเลยหรือ”

นอกจากนี้ มล.วัลย์วิภาให้ข้อสังเกตว่า ในหน้าที่ 2 ที่ชี้แจงถึงประเด็นกรอบการเจรจาข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา เกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนบริเวณเขาพระวิหาร ในข้อ 2.4 ระบุว่า “ให้ JBC กำหนดพื้นที่ที่จะทำให้อยู่ในสภาพพร้อมสำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนภายใต้แผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของ JBC และทำให้พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในสภาพพร้อมก่อนที่ชุดสำรวจร่วมจะเริ่มงาน”นั้น มีการพูดถึงแผนแม่บทหรือ TOR ที่ถูกร่างขึ้นในปี พ.ศ.2546 ซึ่งเป็นปีที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดความเคลือบแคลงถึงความโปร่งใสของ TOR ฉบับนี้ และหากจัดทำหลักเขตแดนภายใต้แผนแม่บทดังกล่าว ตนเองในฐานะที่เป็นนักวิชาการก็อดเป็นห่วงกลัวว่าประเทศไทยจะเสียเปรียบ หรือเสียดินแดนไป

“เราต้องการให้ยกเลิกมติเมื่อ 28 ตุลาคม 2551 และไม่ให้นำข้อตกลงนี้เข้าสภา เพราะมีข่าวว่าจะมีการนำผลการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา สมัยวิสามัญเสนอสภาเร็วๆ นี้ โดยเราจะไปยื่นหนังสือคัดค้านในวันที่ 12 ต.ค. ต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาล และจะนำไปยื่นที่รัฐสภาอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งท้ายหนังสือคัดค้านจะมีรายชื่อประชาชนผู้ร่วมคัดค้านอีก 700-800 รายชื่อ”

สำหรับหนังสือร้องเรียนที่จะยื่นต่อนายกรัฐมนตรี เนื้อหาระบุว่า “...รัฐสภาไทยได้มีมติเห็นชอบ “กรอบการเจรจาสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้” ด้วยคะแนน 409 : 7 เสียง เรียบร้อยแล้วตั้งแต่มีการประชุมร่วมกันสมัยสามัญนิติบัญญัติเมื่อ 28 ตุลาคม 2551

ภายใต้กรอบนั้น มีการกำหนดแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ JBC ซึ่งปรากฏเป็นเอกสารภาษาอังกฤษในชื่อ Terms of Reference and Master Plan for the Demarcation of Land Boundary between-Thailand-Cambodia มีการระบุไว้ชัดเจนในเอกสารให้ใช้แผนที่ 1:200,000 (hereinafter referred to as “the Maps of 1:200,000”)

แผนที่ดังกล่าวซึ่งทำโดยฝรั่งเศสฝ่ายเดียวมีเส้นเขตแดนที่ผิดพลาดและไม่ตรงกับบทบัญญัติสนธิสัญญา จึงไม่สมควรที่ไทยจะยอมรับข้อผิดพลาดอันอาจนำมาซึ่งการเสียดินแดนเป็นข้อผูกพัน แต่ดำเนินการเรื่องแก้ปัญหาพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหาร และชายแดนไทย-กัมพูชาโดยมิได้มีการโต้แย้งหรือทักท้วงแต่ประการใด

และเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2552 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้นำบันทึกการประชุม JBC ใหม่ที่ได้ดำเนินการหลังจากนั้น 3 ฉบับ และร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ฉบับวันที่ 6 เมษายน 2552 ณ กรุงพนมเปญ เสนอรัฐสภาเพื่อพิจารณาเห็นชอบตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 วรรค 2

ร่างข้อตกลงฉบับนี้ใช้พื้นฐานการดำเนินการจากแผนที่ 1:200,000 นับเป็นเรื่องร้ายแรงที่สุดของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติไทยในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ แม้จะใช้มติข้างมาก แต่ก็มิได้สอดคล้องกับประชามติตามเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จึงเป็นการใช้อำนาจแทนประชาชนโดยมิชอบ

เพราะฉะนั้น ประชาชนจึงมีความเห็นร่วมกันให้เสนอความจริงเรื่องนี้สู่สาธารณะอย่างกว้างขวาง และนำเสนอรัฐบาลและรัฐสภาเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างเร่งด่วน โดยยกเลิกเพิกถอนมติรัฐสภา วันที่ 28 ตุลาคม 2551 และการกระทำใดๆ ที่มีการยอมรับแผนที่ฝรั่งเศส 1:200,000 ทั้งก่อนหน้านี้

และภายหลัง ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ขอให้ยุติการนำร่างข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา จากผลการประชุมเจรจาของ JBC หลังวันที่ 28 ตุลาคม 2551 เข้าประชุมสภาร่วมโดยเด็ดขาด รวมทั้งตรวจสอบการทำงานของกระทรวงการต่างประเทศ และ JBC ฝ่ายไทย เพื่อมิให้มีการดำเนินการใดๆ อันจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพระราชอาณาเขตประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น