xs
xsm
sm
md
lg

“ม.ล.วัลย์วิภา” แฉ! รัฐบาล “น้องเขยเม้ว” สอดไส้แผนที่เขมร-ไทยจ่อเสียหลายแสนไร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“ม.ล.วัลย์วิภา” พบหลักฐานใหม่ ที่ประชุมสภายุครัฐบาล “สมชาย” ผ่านมติรับรองแผนที่ 1:2 แสน ทำเขตแดนไทย-เขมร หากรัฐบาล “มาร์ค” นำผ่านสภาเท่ากับรับรองใช้แผนที่ฝรั่งเศสที่ไทยเสียเปรียบ อาจเสียพื้นที่หลายแสนไร่ ลั่นล่ารายชื่อถอนมติรัฐสภา 28 ต.ค.51 ขณะที่ “ประพันธ์” ระบุหากข้อตกลง JBC ผ่านสภาฯ เส้นเขตุแดนเปลี่ยนทั้งหมด จ.ศรีสะเกษ เกือบครึ่ง จะตกเป็นของเขมร แนะทางแก้อย่าปล่อยให้ผ่านสภา



คลิกที่นี่ เพื่อฟังรายการ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

รายการ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ทางเอเอสทีวี-ทีวีของประชาชน ช่วงเวลา 20.30-21.30 น.วันที่ 9 ตุลาคม 2552 โดยมี นางสาวสโรชา พรอุดมศักดิ์ ดำเนินรายการ ได้รับเกียรติจาก ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ สถาบันไทยคดีศึกษา แกนนำกลุ่มภาคีเครือข่ายติดตามสถานการณ์กรณีการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร และนายประพันธ์ คูณมี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ร่วมพูดคุยถึง ความผิดปกติของมติสภา เมื่อเดือนตุลาคม ปี 2551

ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวว่า ข้อมูลที่ออกจากรัฐบาล ส่วนมากประชาชนจะเชื่อและให้ความไว้วางใจ เพราะอย่างน้อยก็มีศักดิ์ศรีเป็นตัวแทนประชาชน ซึ่งน่าจะทำเพื่อประเทศ แต่ข้อมูลที่ตนได้มาล่าสุด เมื่อวันศุกร์ ที่ผ่านมา พบเอกสารที่ แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลไทยยอมรับแผนที่ 1:2 แสน เรียบร้อยแล้ว อันจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเขตุแดนระหว่างไทย-กัมพูชา ทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อวันที่ 28 ต.ค.2551 ในขณะนั้นมีการประชุมร่วมสมัยสามัญนิติบัญญัติของ ส.ส. และส.ว. เกี่ยวกับกรอบการเจรจาปักปันเขตุแดน โดยมีการแจกเอกสารประกอบการพิจารณา มีเนื้อหาเกี่ยวกับ 1.มีการตั้งคณะกรรมการจัดทำเขตุแดนร่วม 1.สนธิสัญญาสยาม 1904 2.อนุสัญญา 1907 และ3. แผนที่ที่จัดทำขึ้นระหว่างสยามและอินโดจีน ตรงนี้เท่ากับว่าเรารู้แล้วว่า ต้องใช้เอกสารสามตัวนี้ เป็นหลักในการเจรจาเรื่องเขตุแดน

อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งคณะกรรมการปักปันเขตุแดน จะต้องมีการลงนามรับรอง และก็ได้รับรองโดยผ่านสภา ในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ด้วยคะแนนสียง 409 ต่อ 7 เสียง โดยมีข้อน่าสังเกต ในเอกสารนี้ในข้อ 4 ว่าด้วยข้อกำหนดในการจัดทำเขตแดน มีเอกสารที่แนบเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งมีวรรคหนึ่งระบุให้ แผนที่ที่จะใช้ปักปันเขตุแดนเป็นแผนที่ 1:2 แสน ซึ่งเป็นแผนที่ที่เราคัดค้านมาตลอด เพราะแผนที่ดังกล่าวเป็นแผนที่ที่ฝรั่งเศสทำขึ้น ดังนั้นการที่เรายอมรับ ก็เท่ากับยอมรับแผนที่ 1:2 แสน ที่กัมพูชาใช้อ้างสิทธิอาณาเขตุจนได้จดทะเบียนตัวปราสาทเขาวิหาร

ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวต่อว่า การดำเนินการต่อจากวันที่ 28 ต.ค.51 ได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมไทย-กัมพูชา โดยมีการเจรจากันถึง 3 ครั้ง ต่อมาเมื่อวันที่ 3 ก.ค. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นำข้อตกลงนี้เข้าสภา เพื่อขอความเห็นชอบ ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ม. 190 ที่สำคัญได้บอกว่าให้รัฐสภาผ่านบันทึกข้อตกลงนี้ พร้อมกับแนบร้างข้อตกลงชั่วคราว ยืนยันอีกครั้ง ว่า ให้ใช้แผนที่ 1:2 แสน

ประพันธ์กล่าวเสริมว่า หลังรัฐบาล นายสมชาย ได้เสนอข้อตกลง จนผ่านสภายอมรับแผนที่ 1:2 แสน ดังนั้น หากนายกฯ นำเสนอเร่งให้ผ่านสภา เท่ากับ สภาชุดปัจจุบัน กำลังประทับรับรองการขายชาติ ให้เกิดความสมบูรณ์ขึ้น เข้าเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนมรดกโลก เพราะประเทศคู่เจรจารับรองว่า ความผูกพันระหว่างไทย-กัมพูชา เป็นไปอย่างสงบสุข ทำให้กัมพูชาจะเอาใบรับรองนี้ไปขึ้นทะเบียนแต่เพียงฝ่ายเดียว ได้ในทันที

“วันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา ตนได้เสวนาเรื่องเขาวิหารโดยมีประชาชนเข้าร่วมชุมนุมจำนวนมาก โดยวันนั้นได้มีการร่วมกันลงชื่อคัดค้านไว้ และในวันที่ 12 ต.ค.นี้ เราจะนำรายชื่อไปยื่นต่อนายกฯ และประธานรัฐสภา เพื่อขอให้เพิกถอนมติ ครม.ในวันที่ 28 ต.ค. และยุติ การนำกรอบแถลงการณ์ร่วมเข้าสู่สภา ก่อนที่รัฐบาลจะนำข้อตกลงไทย-กัมพูชา เข้าสู่สภาในวันที่ 14 ต.ค.นี้” ม.ล.วัลย์วิภา กล่าว

นายประพันธ์กล่าวว่า หากร่างข้อตกลงไทย-กัมพูชา ผ่านสภา เท่ากับเรายอมรับแผนที่ 1:2 แสน หรือแผนที่ ที่เขมรใช้อ้างเรื่องเขตุแดน ตรงนี้จะทำให้ เขตุอุทยานทั้งหมด รวมถึงจังหวัดศรีสะเกษ เกือบครึ่ง ตกเป็นของประเทศกัมพูชา ด้วยเหตุนี้เองทำให้กัมพูชา เหิมเกริมอยู่ตลอดเวลาว่าไทยกำลังรุกล้ำพื้นที่เขา

นายประพันธ์กล่าวต่อว่า ตามปกติข้อสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ถ้าหากต้องเสนอเข้าสภาไทย เอกสารทุกอย่างต้องถูกแปลอย่างเป็นทางการมาเป็นภาษาไทยทั้งหมด แต่ตอนที่รัฐสภาประชุม ได้มีเอกสารประกอบการประชุมใบประหน้าเป็นภาษาไทย แต่รายระเอียดข้างในเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ มีเนื้อความที่กำกับไว้ในวงเล็บ ให้ใช้แผนที่ 1:2 แสน อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ที่ทำให้ผ่านสภา ตนไม่ทราบว่าเป็นการจงใจหรือไม่ เพราะขัดแย้งกับที่เคยประกาศว่าไทยใช้เขตุสันปันน้ำ ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวเสริมว่า เหตุผลที่ไม่สมควรยอมรับ เพราะแผนที่ที่จะใช้ปักปันเขตุแดนนั้น ฝรั่งเศส ทำขึ้นแต่เพียงผู้เดียว

นายประพันธ์กล่าวว่า หากรัฐบาลปล่อยให้ผ่านสภา เท่ากับยอมรับข้อกำหนด แผนแม่บท ที่มีมาตั้งแต่ปี 46 ปัญหาก็คือ ไม่ใช่แค่สูญเสียพื้นที่ 4.6 ตร.กม แต่จะรุกคืบเป็นหลายแสนไร่ ดังนั้นประชาชนต้องลุกขึ้นมาต่อต้าน เพราะรัฐบาลเข้าใจในข้อเท็จจริงต่างกัน ปัญหาต่างๆนี้ เป็นมาตั้งแต่สมั้ยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ต่อมารัฐบาลนายสมชาย ก็มาเร่งเรื่องนี้อีก และรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ก็ยังเร่งให้ข้อตกลงนี้ผ่านสภา ทั้งที่นักวิชาการจากหลายฝ่ายก็ออกมายืนยันแล้ว ว่า ข้อตกลงนี้ไทยเสียเปรียบ จนทำให้ประชาชนอดสงสัยไม่ได้ว่า เรื่องนี้ จะต้องมีความเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ ม.ล.วัลย์วิภา กล่าวเสริมว่า สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ แถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ข้อ 13 ระบุว่าต้องตกลงกันให้เรียบร้อยก่อน ถึงจะจัดทำผลประโยชน์ทางทะเล

“แนวทางแก้ไขมีสองทาง คือ 1.ไม่ให้ข้อตกลงผ่านสภา 2.คัดค้านรัฐบาล ต่อศาลฎีกา เหมือนเช่นการคัดค้าน เรื่องแถลงการณ์ร่วม ที่ศาลเคยวินิจฉัยไปแล้ว ให้การลงนามในแถลงการณ์ร่วมดังกล่าวเป็นโมฆะ” นายประพันธ์กล่าว

คำต่อคำ รายการ “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” วันที่ 9 ต.ค.52 ช่วงที่ 1

สโรชา - สวัสดีค่ะ พ่อแม่พี่น้อง ขอต้อนรับเข้าสู่รายการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วันที่ 9 ตุลาคม 2552 ฟังเพลงนี้ทีไร เห็นมิวสิควิดีโอตัวนี้ทีไร ก็อดสะเทือนใจไม่ได้ แต่เมื่อวันที่ 7 ตุลา เราก็ไปกัน พร้อมกัน ไปรำลึกถึงวีรชนของเราที่เสียสละชีวิต เพื่ออุดมการณ์ และเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์

เราไปกันเยอะจริงๆ ไม่นึกว่าเช้าขนาดนั้น 6 โมงเช้า 7 โมงเช้า เราไปทำบุญตักบาตร และทำพิธีกรรมทางศาสนา หลายศาสนานะคะ และเราได้ร่วมกันฟังสวดของพระสงฆ์ ท่านก็ให้พร เราร่วมกันทำบุญ และร่วมกันอุทิศส่วนกุศลให้กับจิตวิญญาณของวีรชนทั้ง 10 ท่านนะคะ ที่ได้ล่วงลับไป วันนั้นประทับใจมากๆ เพราะว่า จริงๆ แล้วโดยส่วนตัวคิดว่า พี่น้องอาจจะไปกันไม่เยอะ เนื่องจากว่า เช้าและเป็นวันธรรมดาด้วยนะคะ ตรงกับวันพุธ คิดว่าหลายท่านคงจะติดภารกิจต้องไปทำงาน แต่มากันแบบล้นหลามจริงๆ เพราะว่าได้ระลึกถึงวีรชนของเรา ผู้ที่เสียสละแล้วก็ญาติของแต่ละท่านที่มาร่วมกับเราในเช้าวันนั้นเช่นเดียวกัน งานตอนกลางคืนซาบซึ้งไม่แพ้กัน เพราะว่าได้มีการพูดถึงและร้องเพลงร่วมรำลึกถึงวีรชน รวมไปถึงผู้บาดเจ็บ ผู้สูญเสีย และผู้ที่เสียสละอวัยวะ และได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลา 2551 ทั้งตัววีรชนเอง ผู้ที่เสียอวัยวะ รวมถึงญาติพี่น้องของผู้บาดเจ็บด้วย ที่ทุกวันนี้ยังต้องรับผลในสิ่งที่เกิดขึ้นวันที่ 7 ตุลา หลายท่านยังรออยู่ สำหรับความยุติธรรมที่จะต้องเกิดขึ้นในบ้านนี้เมืองนี้ กับเหตุการณ์ที่เกิดวันนั้น กับพี่น้องของเรา ก็ขอบพระคุณทุกท่านที่มาร่วมกับเรา ทั้งในช่วงเช้า ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ช่วงเย็นด้วย และวันเดียวกันนั้น พี่ๆ ของเราที่การบินไทย ในนามพันธมิตรฯรักคุณเท่าฟ้า ได้มีการมอบรายได้จากการจำหน่ายเสื้อการเมืองใหม่ รวมาถึงเสื้อรำลึก 7 ตุลาด้วย เป็นเงินทั้งหมดที่ขายได้ที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ วันนั้น 600,000 บาท ได้มอบผ่านคุณจำลองมา ได้รับเรียบร้อยแล้ว ในนามของพนักงานเอเอสทีวี ขอขอบพระคุณทุกท่าน ที่สนับสนุน และดูแลพวกเราชาวเอเอสทีวีมาตลอด ขอบพระคุณมาก

เราไปดูข่าว ก่อนจะไปดูข่าว แอ้มขอเกริ่นถึงช่วงที่เราจะสนทนาว่า เชื่อว่า พ่อแม่พี่น้องเราเป็นห่วงเรื่องนี้ และคิดว่า เป็นข้อมูลใหม่ ข้อมูลใหม่ที่เราจะนำมาพูดคุยกันวันนี้ เป็นข้อมูลที่เชื่อว่าพี่น้องเองคงไม่เคยได้ยิน เรื่องราวเกี่ยวกับเอกสารมติของสภาเมื่อเดือนตุลาคม 2551 มีบางสิ่งบางอย่างที่ผู้เชี่ยวชาญท่านหนึ่งได้ไปค้นพบแล้วนำมาให้เราในฐานะพันธมิตรฯ แล้วบอกว่ามันมีอะไรผิดปกติหลายอย่าง เราคงจะได้คุยกันในช่วงสนทนาในคืนนี้

แต่ก่อนอื่นขออนุญาตไปดูข่าวความเคลื่อนไหวในเรื่องของการเมือง ช่วงนี้ข่าวความแตกแยก ข่าวความขัดแย้งในพรรคเพื่อไทยค่อนข้างเยอะ เพราะว่าเมื่อเช้านี้มีข่าวว่า คุณเฉลิม อยู่บำรุง ออกมาลาออกจากตำแหน่งประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ตั้งคำถามกัน เอ๊ะเกิดอะไรขึ้น แต่ไม่น่าตกใจอะไรมากนัก เพราะมีความขัดแย้งในเรื่องความคิดเห็นในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคุณเฉลิมออกมาบอกว่า คุณทักษิณมีความเห็นว่า ไม่ควรจะร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ จะไปร่วมทำไมเป็นการซื้อเวลาของพรรคประชาธิปัตย์ ต่างๆ นานา ในที่สุดแล้วไม่ถึง 24 ชั่วโมง วิปฝ่ายค้านออกมาตอบโต้ ขัดแย้งกับสิ่งที่คุณเฉลิมได้แถลงข่าวไป และในที่สุดได้ร่วมประชุมวิป 3 ฝ่าย จนได้ข้อสรุปออกมา คุณเฉลิมคงไม่ค่อยพอใจสักเท่าไหร่ จนกระทั่งนำมาซึ่งข่าวลือต่างๆ นานาว่า ในพรรคเพื่อไทย ณ เวลานี้ เกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง วันนี้นะคะนักข่าวพยายามติดต่อคุณเฉลิมอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีข่าวว่า คุณเฉลิมลาออกจากตำแหน่งประธาน ส.ส.ปรากฏว่า มีคนใกล้ชิดของคุณเฉลิมรับโทรศัพท์ รับโทรศัพท์ไม่พอบอกว่า ตอนนี้ ร.ต.อ.เฉลิมกำลังออกกำลังกายอยู่ แต่ยอมรับนะว่า ลาออกจริง ในส่วนของ ส.ส.มี ส.ส.ออกมายอมรับบอกว่า ช่วงนี้ความขัดแย้งค่อนข้างสูง มีความคิดเห็นที่ต่างกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เรายอมรับนะคะว่า ส.ส.ส่วนใหญ่ของพรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในช่วงนี้ เพราะว่าฟังคุณทักษิณบอก และพูดอย่างชัดเจนว่าควรเล่นเกมการเมืองตามพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อยื้อเวลาในเวลานี้ เพราะฉะนั้น ส.ส.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แต่ทำไมวิปฝ่ายค้านจึงออกมาโต้แย้งคุณเฉลิม และโต้แย้งความเห็นส่วนใหญ่ของพรรค ก็เป็นเรื่องที่ต้องคุยต่อไป เพราะฉะนั้นเชื่อว่า ต้นสัปดาห์หน้า ซักวันอังคาร เห็นตามข่าวอย่างนั้น ก็จะมีการประชุม ส.ส.ในพรรคเพื่อไทย เพื่อที่จะลงมติว่า พรรคเพื่อไทยจะร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร ก็รอดู เพราะว่าความขัดแย้งค่อนข้างสูง

ท่ามกลางความขัดแย้งมีข่าวลือออกมาว่า คุณจาตุรนต์ ฉายแสง จริงๆ แล้ว เป็นตัวการหรือเปล่า ที่ทำให้มีการขัดแย้งเกิดขึ้นในพรรคเพื่อไทย เพราะข่าวบอกว่า คุณจาตุรนต์เป็นคนยุคุณวิทยาว่าจะต้องมีการร่วมแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะว่า ส่วนตัวคุณจาตุรนต์มีความเชื่อว่า จะต้องมีการแก้ช่วงนี้ ถึงแม้จะแก้แค่ประเด็น 2 ประเด็น แค่เรื่องมาตรา 190 หรือเรื่องการแบ่งเขตก็ตาม แค่ประเด็น 2 ประเด็น ยังดีกว่าไม่แก้เลย แต่จริงๆ ส่วนตัวคุณจาตุรนต์ บอกว่า ควรกลับไปถามประชาชนว่า ต้องการแก้ทั้งฉบับหรือไม่ และระหว่างปี 2540 กับฉบับปี 250 นั้น ประชาชนต้องการฉบับไหนมากกว่ากัน นั่นคือความคิดเห็นส่วนตัวของ จาตุรนต์ ก็เลยไม่รู้ว่า คุณจาตุรนต์คือตัวการหรือเปล่า แต่เจ้าตัวก็ออกมาปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นตัวการสร้างความขัดแย้งในพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใดคะ

มาถึงข่าวประชาสัมพันธ์กันสักเล็กน้อยนะคะ ก่อนที่จะไปพัก เราอยากจะเรียนเชิญพ่อแม่พี่น้องคะ เพราะว่าสมาคมคหเศรษฐศาสตร์แห่งประเทศ ในพระบรมราชินูปถัมภ์นะคะ สนับสนุนโดย ASTV จัดกิจกรรมค่ายสุขภาพ สร้างเข็มทิศเพื่อชีวิตคุณภาพ ในระหว่างวันที่ 13-17 ตุลาคมนี้ ณ ริมภูการ์เด้นรีสอร์ท จ.ปราจีนบุรี อร่อยอย่างมีคุณภาพกับเมนูอาหารเพื่อสุขภาพ เรียนรู้การแพทย์ทางเลือก เพื่อชีวิตที่ยืนยาวคะ รักษาสุขภาพด้วยศาสตร์แห่งเท้า ท่องโลกไอทีด้วยวิธีง่ายๆ เคล็ดลับฝึกสมองขจัดปัญหาความจำสั้น และรักษาสุขภาพองค์รวมกับอภัยภูเบศรนะคะ รายได้ทั้งหมดนะคะ หลังหักค่าใช้จ่ายแล้ว มอบให้กับ ASTV คะ ถ้าหากว่าพ่อแม่พี่น้องสนใจจะร่วมกิจกรรมนะคะ โทร.มาที่ 08-6300-4572 นะคะ และเบอร์สุดท้ายค่ะ 08-1801-5173 ขอย้ำอีกสักครั้งนะคะ 08-6300-4572 08-1801-5173 คะ และในวันที่ 11 ตุลาคม คือวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ จะมีการทอดกฐินสามัคคี วัดอ้อน้อย จะเจอกันในเวลา 09.00 น.นะคะ และมีพิธีการพิธีหล่อพระนาคปรก และในเวลา 09.30 น.นะคะ จะมีการแสดงธรรมโดย หลวงปู่พุทธอิสระ 10.00 น.พิธีทอดกฐินสามัคคี ณ วัดอ้อน้อยธรรมอิสระ 11.00 น.ถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์และสามเณร 11.30 น.เป็นการรับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน 13.00 น.เป็นการแสดงธรรมต้นเดือน รับพระและผลิตภัณฑ์หอมจัง จากหลวงปู่ 16.00 น.เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ ในวันที่ 11 ตุลาคม ที่จะถึงนี้ วันอาทิตย์นี้ ไปได้ที่วัดอ้อน้อย จ.นครปฐม

เดี๋ยวเราจะพักกันสักครู่กลับมาอย่างที่เรียนมีเรื่องใหม่ๆ มาพูดคุยกันในประเด็นของเขาพระวิหาร เราจะตั้งคำถาม เราจะพูดคุย และเราจะคุยกันถึงความผิดปกติที่อาจจะเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2550

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ช่วงที่ 2

สโรชา - กลับเข้าสู่รายการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แม้สปอตโฆษณาสามารถทำให้พิธีกรสมาธิแตกซ่านพอสมควร วันนี้เราจะคุยกันถึงเรื่องราวที่พ่อแม่พี่น้องได้ยินกันมาแล้ว เรื่องราวเขาพระวิหาร คนที่อยู่นอกพันธมิตรฯ ผู้ที่เรียกตัวเองว่า เป็นสายกลาง ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมกับเรา แต่ไม่ได้ต่อต้านเรา เคยถามแอ้มตรงๆ ว่า ทำไมพันธมิตรฯ เล่นเรื่องนี้แรงจัง ทำไมพันธมิตรฯดูเหมือน กัดไม่ปล่อย ทำไมพันธมิตรฯถึงตั้งข้อสังเกต ตั้งคำถาม และวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ต่อเนื่อง แอ้มตอบด้วยความจริงใจค่ะว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ในฐานะประชาชนชาวไทย เราเป็นห่วงมาก และสิ่งที่เราตั้งคำถามนั้นก่อเกิดมาจากความเป็นห่วงอย่างจริงใจว่า เรากำลังทำอะไร ทำในสิ่งที่จำเป็นต้องทำหรือเปล่าในการแก้ปัญหานี้ แน่นอนว่า หลายสิ่งหลายอย่าง ข้อมูลหลายประการที่เรานำมาเสนอใน ASTV เป็นข้อมูลที่เราได้มาและแสดงความเป็นห่วงว่ารัฐบาลทราบหรือไม่ ได้ดำเนินการอย่างไรหรือไม่ เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ และการเจรจาที่หลายๆ ท่านบอกว่า กำลังดำเนินอยู่นั้น จะสายหรือไม่ ถ้าหากว่า 5 ปีจากนี้ไป 10 ปีจากนี้ไป เราหันไปบนดินแดน ไม่ว่าจะเป็น 4.6 ตารางกิโลเมตร จะเป็น 3,000 กว่าไร่ หรือจะเป็นมากกว่านั้น หรือน้อยกว่านั้นก็ตาม มันเป็นพื้นที่ที่ชาวกัมพูชาเข้ามาตั้งรกราก จนไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้ว่า มันเป็นพื้นที่ของเขาไปเรียบร้อยแล้ว เพราะฉะนั้นการที่เรามากระทุ้งเรื่องนี้ ไม่ได้ต้องการจะสร้างความแตกแยก ไม่ได้ต้องการที่จะสร้างความขัดแย้งระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน แต่ในที่สุดแล้ว เราต้องการที่จะรักษาพื้นที่ของประเทศไทย และอธิปไตยของไทย ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และคงไม่สามารถที่จะปฏิเสธได้นะคะว่า ปล่อยๆ มันไปก่อนเถอะ เราเป็นคนไทยเราสามารถที่จะพูดคุยกันได้ อย่างสบายๆ อย่างเข้าอกเข้าใจกัน วันนี้มีเรื่องใหม่จะนำเสนอให้พ่อแม่พี่น้องได้รับทราบกัน เรื่องที่จะกลายเป็นข่าวใหญ่ในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ วันนี้มีแขกรับเชิญทั้ง 2 ท่าน ที่ได้ติดตามเรื่องนี้มา และเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ว่าได้ ในเรื่องราวของข้อตกลงระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย หรือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงกับเรา

ขอต้อนรับผู้เชี่ยวชาญสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์ อีกท่านหนึ่ง จริงๆ คุ้นหน้าคุ้นตาสำหรับชาวเอเอสทีวี ตำแหน่งใหม่ ขออนุญาตใช้ตำแหน่งใหม่ รองหัวหน้าพรรคการเมืองใหม่ คุณประพันธ์ คูณมี ยังไม่ใช้เหรอคะ

ประพันธ์ - ยังครับ ยังใช้ไม่ได้ ยังเป็นแค่กรรมการบริหาร

สโรชา - เป็นแค่กรรมการบริหารหรือคะ ขออภัยนะคะ กรรมการบริหาร ขออนุญาตเริ่มที่ อาจารย์หม่อมก่อนนะคะ เพราะมีรายละเอียดเรื่องเอกสารที่อาจารย์ได้ค้นพบเมื่อไม่นานนี้ และเป็นที่น่าเป็นห่วง อาจารย์ไล่เรียงให้เราทราบซักนิด

ม.ล.วัลย์วิภา - ขอบพระคุณมากคะ ดิฉันพบเอกสารอันนี้ เมื่อวันศุกร์นี้เอง ที่ผ่านมา ด้วยจิตใจที่ขอเรียนตรงๆ ว่า เหมือนว่ากรุงแตกแล้ว พูดตรงๆ คือ มีการยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 ของฝรั่งเศสเรียบร้อยแล้ว ซึ่งความหมายของมันคือ การเปลี่ยนอาณาเขตระหว่างประเทศไทย และกัมพูชา ที่จะเรียนขอเรียนอย่างนี้ว่า เป็นข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่ง ฉันเจียมเนื้อเจียมตัวตลอดเวลา เพราะข้อเท็จจริงหรือการวิเคราะห์การนำเสนอข้อมูลต่อสังคม ต่อสถานะของเรา รู้ดีว่ามันยากเย็นเข็ญใจในการยอมรับนะคะ เพราะว่าข้อเท็จจริงต่างๆ ถ้าออกมาจากทางฝ่ายรัฐบาลแล้ว จะเป็นข้อมูล หรือข้อเท็จจริงที่เป็นทางการนะคะ มีคนเชื่อถือเยอะแยะ แต่ว่าข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่ง หรือชุดที่ 2 ขอเรียนว่า ขอประชาชนชาวไทยช่วยกันพิจารณานะคะ วันนี้ถึงพยายามอย่างยิ่งเลยว่า จะพูดโดยอยู่บนพื้นฐานของเอกสารนะคะ และจะนำเอกสารหลักฐานนั้นมาแสดงนะคะ ต้องขอขอบพระคุณ ASTV เป็นอย่างยิ่ง ที่ให้โอกาสตรงนี้ และพยายามสนับสนุน คือ พยุงผู้ด้อยโอกาส พูดอย่างนี้เลยนะคะมาตลอดเวลา

สโรชา - คือเอกสารที่อาจารย์ได้มาล่าสุดนะคะ เป็นเอกสารที่อาจารย์บอกว่า เป็นข้อเท็จจริงอีกชุดหนึ่ง ใช้คำว่า อีกชุดหนึ่ง เป็นเพราะว่า ไปดูรายละเอียดในเอกสารชุดนี้แล้ว พบสิ่งที่น่าตกใจ เอกสารชุดนี้คืออะไรคะอาจารย์

ม.ล.วัลย์วิภา - เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมปีที่แล้ว 2551 นะคะ วันนั้นเป็นการประชุมร่วมสมัยสามัญนิติบัญญัตินะคะ ประชุมร่วมกันคือ ส.ส. ส.ว.ประชุมด้วยกันเป็นสภาใหญ่นะคะ เราทราบใช่ไหมคะว่า การจะทำสนธิสัญญา

ประพันธ์ - สภานิติบัญญัติ หรือสภาผู้แทนราษฎร กับสภาวุฒิสภา

ม.ล.วัลย์วิภา - คืออันนี้นะคะ ชุดนี้

สโรชา - กรอบการเจรจาสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชา ตลอดแนวในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา และกลไกอื่นๆ ภายใต้กรอบนี้นะคะ การประชุมร่วมกันสมัยสามัญนิติบัญญัติ

ประพันธ์ - สมัยสามัญนิติบัญญัติ

สโรชา - จัดทำโดยกลุ่มงานบริการวิชาการ สำนักวิชาการ

ประพันธ์ - แสดงว่าเป็นการประชุมระหว่าง

สโรชา - สภาผู้แทนฯ

ประพันธ์ - ผู้แทนกับ ส.ว. จะมีความสับสนว่า สมาชิก เป็นการประชุมสมาชิกสภานิติบัญญัติจะทับเกี่ยวกับสมัย พล.อ.สุรยุทธ์ สมัย รสช.ยึดอำนาจ อันนั้นไม่มีการประชุมเรื่องนี้ แต่ถ้าเป็นการประชุมสมัยรัฐบาล คุณสมัคร สุนทรเวช จะมีการประชุมสภานิติบัญญัติร่วมกันหมายถึงว่าระหว่างสภาผู้แทนราษฎรกับวุฒิสภา

ม.ล.วัลย์วิภา - ในวันนั้น ทวนอีกครั้ง 28 ต.ค.51 มีการนำเรื่องนี้ กรอบการเจรจาเข้าสภา วันนั้นมีการแจกเอกสาร

ประพันธ์ - เอกสารประกอบการประชุม

ม.ล.วัลย์วิภา - เอกสารประกอบการพิจารณา 2 ตัวด้วยกัน จะมีอื่นๆ มากกว่านั้นหรือไม่ไม่อาจทราบได้เพราะว่าในที่สุดแล้วเป็นการประชุมลับ แต่จากเอกสาร 2 ตัว ซึ่งมีชื่อว่า จะพิจารณาเรื่องกรอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ปรากฏว่า เนื้อหาเป็นเรื่องของ นี่คือกรอบเจรจา เนื้อหาจะมีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน แล้วตัวนี้มีการเผยแพร่ให้ข้อมูลต่อสาธารณะ 1-2 วันก่อนหน้านี้

สโรชา - ก่อนหน้าที่จะประชุม

ม.ล.วัลย์วิภา - เนื้อหาคือว่า จะมีการตั้งคณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา โดยที่จะมีกรอบหรือมีพื้นฐานของเอกสารดังต่อไปนี้ คือ 1.อนุสัญญาสยามกับฝรั่งเศส 1904 2.สนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส 1907 และ 3.แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานของการปักปันเขตแดน คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามและอินโดจีน

สโรชา - อันนี้คือที่เปิดเผยต่อสาธารณชน 2 วันก่อนที่จะมีการประชุมในวันที่ 28 ต.ค.51

ม.ล.วัลย์วิภา - เรารู้แล้วว่าจะต้องใช้เอกสารอย่างน้อย 3 ตัวนี้เป็นหลักในการเจรจาไปจัดทำหลักเขตแดน ทีนี้ปรากฏว่า ในการจัดทำหลักเขตแดน เมื่อมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมามันจะต้องมีการบอกอำนาจหน้าที่และโครงสร้างของคณะกรรมการ ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ เรียกว่า คณะกรรมการจัดทำหลักเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา มีชื่อย่อว่า JBC ทีนี้ในการที่จะต้องผ่าน หรือรับรองอำนาจหน้าที่ตัวนี้ มันต้องมีข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ และแผนแม่บทสำหรับกรรมการชุดนี้ ปรากฏว่าในบัญชีเอกสารนี้ ก็มีในข้อที่ 4 เป็นภาษาไทย ฉันอยากให้เห็น ทีนี้เราดูในเอกสาร นี่คือ เล่มเอกสารที่ได้รับมา

สโรชา - ข้อ 4 เขียนว่า...

ม.ล.วัลย์วิภา - ข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ และแผนแม่บท สำหรับการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ระหว่างราชอาณาจักรไทยกับราชอาณาจักรกัมพูชา

สโรชา - บัญชีรายการข้อ 4 เขียนอย่างนี้

ม.ล.วัลย์วิภา - เขียนอย่างนี้ และก็มี อันนี้เหมือนเอาเรื่องการประชุมมาให้ดูเลย 1 2 3 4 5 ทีนี้ 4 เป็นภาษาไทย เราลองเปิดไปที่ 4 เอกสาร 4

สโรชา - เอกสารที่แนบ

ม.ล.วัลย์วิภา -เอกสารที่แนบเป็นภาษาอังกฤษ INNEX 6 มันจะประกอบอะไร อันนี้เรายังไม่ทราบ แต่มันประกอบเป็นเรื่องที่ 4 ตามบัญชีเอกสารนะคะ คุณสโรชา ภาษาอังกฤษ

สโรชา - “Maps which are the results of demarcation works of Commissions of Delimitation of Boundary between Indo-China and Siam(Commissions de Delimitation de la Frontiere entre 1' Indo-Chine et le Siam) set up under

the Convention of 1904 and the Treaty of 1907 between Siam and France (hereinafter referred to as “the Map of 1:200,000”), and other documents relating to the application of the Convention of 1904 and the Treaty of 1907 between Siam and France.”

ม.ล.วัลย์วิภา - ซึ่งในเนื้อหาก็บอกว่า แม้จะอยู่บนพื้นฐานของเอกสาร 3 ตัวด้วยกัน คือ 1.อนุสัญญา 1904 2.สนธิสัญญา 1907 และ 3.แผนที่

สโรชา - 1.13

ม.ล.วัลย์วิภา - ดูให้ดีค่ะ แผนที่ เมื่อกี๊ภาษาไทยจะต้องเทียบอีกไหมคะ ภาษาไทย เราลอง

ประพันธ์ - แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลการปักปันเขตแดนนี้เปล่าระหว่างสยามกับอินโดจีน ที่จัดตั้งขึ้นตามอนุสัญญาปี ค.ศ.1904 และสนธิสัญญาฉบับ ค.ศ.1907 กับเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้อนุสัญญาฉบับปี ค.ศ.1904 และสนธิสัญญาฉบับปี ค.ศ.1907 ระหว่างสยามกับฝรั่งเศส

ม.ล.วัลย์วิภา - จบแล้วใช่ไหมคะ ในข้อความนั้น แต่ปรากฏว่าพอเป็นภาษาอังกฤษ คุณสโรชาช่วยอ่านนิด ฉันจะชี้ไปด้วย

ประพันธ์ - พอภาษาอังกฤษมันคนละเรื่องกันเลย

สโรชา -“Maps which are the results of demarcation works of Commissions of Delimitation of Boundary between Indo-China and Siam(Commissions de Delimitation de la Frontiere entre 1' Indo-Chine et le Siam) set up under

the Convention of 1904 and the Treaty of 1907 between Siam and France (hereinafter referred to as “the Map of 1:200,000”), and other documents relating to the application of the Convention of 1904 and the Treaty of 1907 between Siam and France.”

ม.ล.วัลย์วิภา - ถูกต้องเลยคะ จะเห็นเลยคะว่า

สโรชา - วรรคทอง

ม.ล.วัลย์วิภา - วรรคทองคือ นะคะการระบุลงไปเลยว่า แผนที่นั้นคือ 1 ต่อ 2 แสนซึ่งเป็นแผนที่ของฝรั่งเศสนะคะ อันนี้มีผลอย่างยิ่งนะคะ เท่ากับมีผล ถ้าเราจัดทำหลักเขตแดนนะคะ ตามแผนที่นี้ คือเรารับรองแผนที่ของกัมพูชาแล้วนะคะ มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของประเทศ

สโรชา - อันนี้อาจารย์บอกเป็นเอกสารที่ถูกเสนอ ในการประชุมร่วมสมัยสามัญนิติบัญญัติ

ม.ล.วัลย์วิภา - เมื่อปีที่แล้ว

ประพันธ์ - ปี 51 ซึ่งผ่านสภาไปแล้ว

ม.ล.วัลย์วิภา - ผ่านด้วยคะแนนเสียง ขอระบุเลยนะคะ 409 ต่อ 7 เสียง

สโรชา - 409 ต่อ 7 หรอคะ ฝ่ายค้านไปไหน 409 ต่อ 7

ประพันธ์ - ซึ่ง 51 ฝ่ายค้านคือ พรรคประชาธิปัตย์ยังอยู่ในรัฐบาล เพราะว่าคนที่เป็นนายกฯ คือ นายสมัคร สุนทรเวช ใช่ไหม

สโรชา - คุณสมัครเพิ่งออกจากตำแหน่งใช่ไหมคะ คุณสมชาย

ประพันธ์ - เออ คุณสมชาย

ม.ล.วัลย์วิภา - เพราะเห็นว่า ในนี้มีชื่อคุณสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศอยู่นะคะ

สโรชา - นี่เป็นเอกสารที่ได้รับการพิจารณาของสภาร่วมของเรา และผ่านการพิจารณาด้วยมติ 409 ต่อ 7 และไปดูในรายละเอียดในเอกสารคะพี่ประพันธ์ ได้กล่าวถึงแผนที่ 1 ต่อ 2 แสน ซึ่งเป็นสิ่งที่เราถกเถียงกันมาโดยตลอด ว่าเราไม่เคยใช้แผนที่อันนี้ เราไม่เคยอ้างอิงถึงแผนที่อันนี้ พี่ประพันธ์ขออนุญาตก่อนที่จะไปลงรายละเอียดในส่วนอื่นของเอกสาร 1 ต่อ 2 แสนคือ

ประพันธ์ - คือถ้าดูตามที่อาจารย์พูด 1 ต่อ 2 แสน มันหมายความว่า เรายอมรับแผนที่ที่ฝรั่งเศสอ้าง ทำขึ้นกับกัมพูชา ก็คือฝรั่งเศสเป็นเจ้าอาณานิคมกัมพูชา คือแผนที่ตามเส้นแดงๆ

สโรชา - เส้นบนนะคะ

ประพันธ์ - แผนที่ 1:200,000 มันจะกินอาณาเขตเข้าไปตามเส้นสีแดง นั่นหมายความว่า ทั้งปราสาทพระวิหาร เขาทั้งเขา ทั้งหมด ทั้งเขตอุทยานเลยเข้าไปจนถึงเขต จ.ศรีสะเกษ ศรีสะเกษหายเกือบครึ่ง และกินพื้นที่อีกหลายจังหวัด เพราะฉะนั้นถ้าเราไปยอมรับแผนที่ 1 ต่อ 200,000 เท่ากับไปยอมรับอาณาเขตของเขา ซึ่งตรงนี้ ที่ทำให้กัมพูชาและฮุน เซน สามหาวอยู่ตลอดว่า ประเทศไทยคิดจะยึดดินแดนเขา นั่นหมายความว่า เขาคิดว่าบริเวณแถบนี้ทั้งหมด รวมทั้งวัดแก้วสิขาคีรีฯ ตลาดบันไดหิน อะไรทั้งหลาย เป็นของเขาหมด บริเวณผ่านแดนที่เราขึ้นมาตั้งแต่บันไดเป็นของเขาหมด กินไปถึงทั้ง อ.กันทรลักษ์ ทั้งในบางส่วนของศรีสะเกษ

อันนี้แหละ ปัญหาอยู่ที่ว่า การไปยอมรับตามอันนี้ ที่อาจารย์พูด มันจะมีผลต่อการเจรจา และมีผลต่อเขตอธิปไตยและดินแดนของประเทศไทยอย่างไร นี่เป็นกรอบร่างข้อตกลงที่ผ่านสภาในยุคสมัยนั้นไปแล้ว ซึ่งคนไม่รู้เลย ว่า ช่วงปี 2551 28 ตุลา ซึ่งความจริงนี่ก็อยู่ช่วงปลายแล้ว คือ ช่วงนายสมชายแล้ว สมชายก็ไปตอนวันที่ 2 ธันวา ปี 51 เพราะฉะนั้น ช่วงเดือนตุลาอยู่ในช่วงที่อาจยังหาที่ทำงานไม่ได้ อยู่แถวดอนเมืองก็ได้ เพราะเราชุมนุมกันตั้งแต่สิงหา กันยา ตุลา

เพราะฉะนั้น มีพี่น้องพันธมิตรฯ ประชุมกันอยู่ ก็ในช่วงนั้นเกิด 28 ต.ค. ได้ผ่านร่างกรอบเจรจาอันนี้ โดยที่คนไทยไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่า ร่างกรอบเจรจาผ่านมาได้ไง ที่สำคัญคือ 409 ต่อ 7 อันนี้น่าเป็นว่า ฝ่ายค้านก็ยินยอมเห็นชอบ เพราะสภามันมี 480 เพราะวุฒิสภามี 120 เพราะฉะนั้น จะเหลืออยู่ว่าประชาธิปัตย์ 80 เสียง ที่มันหายไป เกือบ 80 เสียง อาจมีบางส่วนไปร่วมยอมรับลงมติ ต้องไปดูรายละเอียดว่า ใครบ้างที่ลงยอมรับข้อมติให้ผ่านกรอบเจรจานี้

สโรชา - อาจารย์เคยสอบถามไปในช่วงนั้น ใช่ไหมคะ ระหว่างก่อนการพิจารณาจะเกิดขึ้น

ม.ล.วัลย์วิภา - ดีเลยค่ะ ที่เตือนตรงนี้ เพราะในส่วนของภาคประชาชน เรา พอเราเห็นเอกสาร ตัวกรอบที่ลงหนังสือพิมพ์ อยู่วันสองวัน พอเราเห็นข้อ 3 ว่าแผนที่ แต่ในภาษาไทยตรงนั้นไม่ได้ระบุเลย 1:200,000 อย่างไรก็ตาม ความกังวลของพวกเรามี และพยายามสอบถาม และพร้อมทำหนังสือค้าน โดยนำเรียนต่อท่านประธานวุฒิสภา ประสพสุข บุญเดช ในนั้นเราให้รายละเอียดเลยว่า ไม่ให้ใช้ ขอให้พิจารณาว่า ไม่ให้ใช้แผนที่อันนี้ เพราะจะมีผลอย่างไรบ้าง และลองสอบถามพรรคประชาธิปัตย์ขณะนั้น ด้วยว่า อยากทราบจริงๆ ว่าตรงนี้ คืออะไร และปรากฏว่า ได้รับคำตอบตรงนั้นว่า ไม่ใช่แผนที่ 1:200,000

สโรชา - ได้รับคำตอบจากใครคะ ฝ่ายค้าน ณ เวลานั้นหรือว่า

ม.ล.วัลย์วิภา - ฝ่ายค้าน ณ เวลานั้น ผู้ประสานพรรคคนหนึ่ง

สโรชา - ได้ตอบว่า ทราบแล้ว ถึงความเป็นห่วง และยืนยันว่าไม่ใช่ 1:200,000 แน่ๆ

ม.ล.วัลย์วิภา - เลยทำให้พวกเรา นิ่งนอนใจมา ต้องเรียนอย่างนี้เลย นึกว่า บ้านเมืองของเราคงอยู่ในมือผู้รู้ และจะดูแลประเทศชาติได้ ให้ข้อมูลอีกนิดว่า กรอบที่ผ่าน ที่บอกว่า แผนแม่บทตัวนี้ ภาษาอังกฤษตัวนี้ อันนี้ทำขึ้นสมัย 2546 ที่บรรจุแผนที่ 1:200,000

สโรชา - ร่างตัวนี้ TOR ตัวนี้

ม.ล.วัลย์วิภา - ตัวนี้ทำเมื่อปี 2546 และนำมาใช้ในตอนนี้

ประพันธ์ - เรานำมาใช้ปี 51 46 ก็คุณทักษิณเป็นนายกฯ เพื่อท่านผู้ชมจะได้ไม่สับสน จะได้เข้าใจ ผมอยากจะขยายความนิดหนึ่งว่า แสดงว่าในตอนที่เสนอเอกสารนี้เข้าที่ประชุมเขาเสนอใบปะหน้าเป็นภาษาไทย แต่จริงๆ แล้วคำภาษาไทยในข้อที่ 3 ที่อาจารย์พูดถึง แผนที่ที่จัดทำขึ้นตามผลงานการปักปันเขตแดนของคณะกรรมการปักปันเขตแดน แต่ว่าคณะกรรมการปักปันเขตแดนยุคสมัยนั้น มันเป็นระหว่างสยามกับอินโดจีน ก็คือเป็นเรื่องการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับประเทศล่าอาณานิคม คือ ฝรั่งเศส ที่จัดทำขึ้นตามอนุสัญญาที่ว่านี้ ทีนี้ผมเข้าใจว่า แผนที่ 1:200,000 คือเขาทำขึ้นมาตามสัญญานี้แล้วแต่บังเอิญเขาไม่ได้เขียนไว้เป็นภาษาไทยในวงเล็บ

สโรชา - คือว่าภาษาไทยที่ปะหน้ากับภาษาอังกฤษที่อยู่ในรายละเอียดด้านในไม่ตรงกัน

ประพันธ์ - ไม่ใช่ไม่ตรงกัน มันไม่ตรงกันอยู่แล้ว แต่ว่าภาษาอังกฤษเขาเลยไปขยายความว่า แผนที่ที่เขาจัดทำขึ้นในยุคสมัยนั้นเพื่อจะปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน ก็คือแผนที่ 1:200,000 ไปวงเล็บขยายความไว้อยู่ในภาคภาษาอังกฤษ แล้วบรรดา ส.ส.ไทยอาจจะไม่ได้อ่านเอกสารที่แนบมาว่า ที่เขาหมายถึงแผนที่อันนี้ มันหมายถึงอันนั้นหรือเปล่า แต่ว่าคนที่ทำมาเป็นฝ่ายรัฐบาลขณะนั้น คงรู้อยู่แล้วแผนที่อันนี้ แต่ฝ่ายค้านที่ไม่เห็นด้วย ถ้าไม่เห็นด้วยจริงก็ต้องรู้ว่า 1:200,000 หมายถึงกินพื้นที่เข้าไปอย่างที่ชี้ให้ดูตามแผนที่ เพราะฉะนั้นตรงนี้ผมคิดว่า การไปยอมรับแผนที่ตามอนุสัญญาอันนี้ ระหว่างเรากับอินโดจีนในยุคสมัยนั้น ว่าโดยข้อเท็จจริงแล้วมันไม่อาจจะไปยอมรับข้อ 3 นี้ได้เลยทั้งข้อ ไม่ใช่เราไปยอมรับ ทั้งข้อมันเป็นการปักปันในลักษณะประเทศเจ้าอาณานิคม มันอยากจะขีดเอาตรงไหนก็ได้นะครับ ซึ่งขณะนั้นการจัดทำแผนที่มันลักษณะใช้อำนาจของประเทศมหาอำนาจ ที่เข้ามารุกรานในภูมิภาค อินโดจีนนี่หมายถึงว่า ฝรั่งเศสปกครองทั้งกัมพูชา ลาว เวียดนามใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ มันจึงเป็นกรอบเจรจาที่มันไม่ควรจะผ่านการยอมรับในสภาตั้งแต่ปีนั้นแล้ว

สโรชา - งั้นเรียนถามในเรื่องโดยทั่วไป พี่ประพันธ์เคยเห็นไหมประเภทใบปะหน้าเป็นภาษาไทย แต่ว่าเมื่อเปิดไส้เข้าข้างใน และเป็นภาษาอังกฤษ คือจริงๆ แล้วพ่อแม่พี่น้องถ้ามองดูเข้ามาใกล้ๆ จะเห็นว่า มันไม่ใช่ภาษาอังกฤษแบบธรรมดา มันเป็นภาษาอังกฤษกฎหมาย

ประพันธ์ - มันเป็นภาษากฎหมาย

สโรชา - เพราะฉะนั้นคือ จะเรียนถามพี่ประพันธ์ว่า มันเป็นการปฏิบัติโดยทั่วไปรึเปล่า ต่อการที่ใบปะหน้าเป็นภาษาไทย และรายละเอียดด้านในเป็นภาษาอังกฤษ โดยไม่มีคำแปล

ประพันธ์ - คือจะไม่ใช่อย่างนี้โดยเด็ดขาด ถ้าหากว่า จะต้องเสนอเข้าสู่สภาไทยนะครับ เอกสารสัญญาจะต้องถูกแปลเป็นภาษาไทยทั้งหมดนะครับ เพราะว่าเพื่อให้รัฐสภาไทย ได้พิจารณากรณีจะผ่านอนุสัญญา หรือให้สัตยาบันในเรื่องใด เพราะว่าคำภาษาอังกฤษทั้งหมดจะต้องถูกแปลมาโดยถูกต้อง จากกองการแปลของกระทรวงต่างประเทศ หรืออะไรก็แล้วแต่ ที่เป็นที่ยอมรับของภาครัฐ เพื่อให้ ส.ส. ส.ว.ทุกคน ซึ่งแม้จะมีความรู้ภาษาอังกฤษ เขาต้องให้แปลมาเป็นทางการ ศาลก็เหมือนกัน ศาลต้องยอมรับเป็นภาษาไทย เพราะศาลไทยต้องพิจารณาคดีเป็นภาษาไทย แม้ว่า ส.ส.บางคนเขาอาจจะอ่านภาษาอังกฤษได้ก็ตาม แต่ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะเข้าใจหมด เพราะฉะนั้นต้องถือบรรทัดฐานว่า ถ้าเป็นเอกสารเป็นภาษาอังกฤษ และเป็นข้อสนธิสัญญา และเป็นข้อกำหนดแบบนี้ จะต้องแปลมาเป็นภาษาไทย ไม่ใช่เขียนใบปะหน้ามา 5 ข้อ และที่เหลือเป็นภาษาอังกฤษหมด และเสนอมาให้รัฐสภาไทยพิจารณาอันนี้ใช้ไม่ได้ แล้วรายละเอียดในภาษาอังกฤษมันจะไม่เหมือนกัน อันนั้นเป็นข้อเท็จจริงที่จะผูกพันระหว่างประเทศด้วย เขาไม่ได้มาผูกพันตามข้อที่เรามาอธิบายเป็นภาษาไทย

ม.ล.วัลย์วิภา - ขอเพิ่มอีกนิดนึงนะคะ ในฐานะที่เป็นนักประวัติศาสตร์ ที่คุณประพันธ์พูดเมื่อกี้ที่บอกว่า ข้อ 3 แผนที่ที่จัดทำขึ้น เราอธิบายว่า เราไม่ยอมรับข้อ 3 ให้รายละเอียดอีกนิดถึงเหตุผลที่ว่า ไม่ควรยอมรับเพราะข้อเท็จจริงแล้ว แผนที่ที่จัดทำขึ้น อันนี้ โดยกรรมการปักปันเขตแดนฝรั่งเศส ขอให้คณะกรรมการปักปันเขตแดนผสม คือฝรั่งเศสทำแต่ผู้เดียว ต้องระบุตรงนี้ให้ชัดเจนก่อน เพื่อจะได้ไม่เข้าใจผิดว่า เป็นกรรมการ 2 ฝ่ายมาร่วมกัน และจัดทำให้เกิดแผนที่ 1 ต่อ 200,000

สโรชา - แต่ทั้งหมดที่เรานั่งคุยทั้งหมดผ่านสภาไปแล้ว

ม.ล.วัลย์วิภา - ที่เราต้องมานั่งพูดกันอีก เพราะว่า มันมีผลดำเนินต่อมา เพราะว่า ปัญหาเขตแดนไทยกับกัมพูชายังไม่รู้จบ ขณะนี้ เราทราบว่า มีเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกปราสาทพระวิหาร เราทราบว่า พื้นที่ 4.6 เป็นพื้นที่ที่มีกฎหมายระหว่าง 2 ประเทศ ข้อตกลง ที่จะมีการพัฒนาที่ดินร่วมกัน แต่ที่อยากจะพูดคือ การดำเนินการต่อจาก 28 ต.ค. 51 เขาก็ดำเนินการโดยเคร่งครัดว่า ตั้งกรรมการเจบีซีขึ้นมา เน้นเรื่องการเจรจาเพื่อสันติ และปรากฏว่า มีการเจรจากันมา 3 ครั้ง เพราะมีบันทึกการประชุม และเมื่อวันที่ 2 ก.ค. ท่านนายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้นำเรื่องนี้ บันทึกการประชุมคณะกรรมการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา เสนอเข้าสภา เสนอบันทึกการประชุมรวม 3 ฉบับ มาเพื่อขอได้โปรดนำเสนอรัฐสภา พิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป

มันเป็นบันทึกการประชุมตั้งแต่ 10 -12 พฤศจิกา ครั้งหนึ่ง 3-4 ก.พ. 52 ครั้งหนึ่ง และ 6-7 เม.ย. ครั้งหนึ่ง แต่ที่สำคัญ บอกว่า ให้รัฐสภาผ่านบันทึกการประชุมอันนี้ แต่ในบันทึกการประชุมมีการแนบร่างข้อตกลงชั่วคราวขึ้นมา ซึ่งอันนี้ เคยมาพูดในรายการนี้ หลายครั้ง ที่พยายามชำแหละร่างข้อตกลงนี้ว่า ถ้าผ่านเมื่อไรคือการรับรองการเสียดินแดนอย่างถูกกฎหมายทันที ที่สำคัญ ถึงเราจะไม่จำแนกข้อ 1. เช่นการไม่ให้คงกำลังทหารในพื้นที่วัดแก้ว หรือ 4.6 อะไรก็แล้วแต่ ผลบังคับของร่างข้อตกลงนี้ ผลสำเร็จของข้อตกลงนี้ เราเอาแค่ข้อนี้ ก็ยืนยันอีกครั้ง คือจะมีการยืนยันว่า ให้จัดดำเนินการตาม ทีโออาร์ หรือ แผนแม่บท ปี 46

สโรชา - คือย้อนกลับไปที่ทีโออาร์ ฉบับที่ระบุ 1:200,000

ม.ล.วัลย์วิภา - ยืนยันเลยคะ เท่ากับยืนยันอีกครั้งที่จะใช้แผนที่ 1:200,000 พูดง่ายๆ เลย คิดว่า เรื่องนี้ท่านนายกฯจะนำเสนอ นำเข้าแล้วตั้งแต่ 2 ก.ค. และทางรัฐสภาจัดวาระการประชุมที่เราทราบคือ 28 ส.ค.ที่ผ่านมา และประชาชนถึงไปร้องขับไงคะ พวกเราไปร้องขับ ทั้งที่ตอนนั้นยังไม่เห็นว่า มีการรับรองแผนที่ 1:200,000 แล้ว ร้องขับมาครั้ง ก็มีการเลื่อน แต่เป็นการประชุมลับ เลื่อนมาเป็นวันที่ 2 ก.ย. 2552 และเราก็ร้องขับอีก ก็เลื่อนจากวันที่ 2 ก.ย. 52 เป็น ยังไม่ทราบเมื่อไร แต่มีกระแสมาว่า จะเป็นวันที่ 14 ต.ค.นี้

ประพันธ์ - เรียนอาจารย์นิดหนึ่ง เพื่อจะเข้าใจตรงกัน และผมคิดว่า ผู้ชมจะได้เข้าใจตรงกันว่า ที่อาจารย์พูดถึงว่า ที่รัฐบาลท่านนายกฯอภิสิทธิ์ ได้เสนอเรื่องนี้เข้าสภาฯ เพื่อส่งให้เข้าสภาฯตั้งแต่วันที่ 2 ก.ค. 2552 เพื่อให้ประชุมรัฐสภาร่วมกัน 2 ฝ่าย เพื่อพิจารณาร่วมกันอนุมัติกรอบความตกลงอันนี้ มันมีปัญหาตรงนี้ เพื่อจะทำให้เกิดความชัดเจนคือ เมื่อสักครู่ ตอนแรกอาจารย์พูดให้เห็นว่า เมื่อวันที่ 28 ต.ค. 51 รัฐสภาสมัยนายสมชาย นายสมพงษ์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เสนอร่างกรอบข้อตกลงการเจรจาเข้าสภา แล้วผ่านสภาไปแล้ว 409 ต่อ 7 ตาม TOR 2546 ที่ว่าไปยอมรับแผนที่ 1:200,000 ซึ่งการผ่านอันนี้มาแล้ว เท่ากับว่า รัฐบาลนายสมชายกับนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ไปทำความตกลง อันเป็นการขายชาติก็ว่าได้ ขายอธิปไตยของประเทศก็ว่าได้ เท่ากับคุณไปยอมรับว่า เขมรมีสิทธิสภาพอาณาเขต และมีดินแดนกินเข้าไปถึงตามที่ผมชี้ให้ดูสีแดงๆ นี่ใช่ไหม ซึ่งความตกลงตามกรอบที่ไปเสนอสภาเมื่อ 28 ตุลาคม มันคือแผนแม่บทข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมปี 2546 ค.ศ.2003 ซึ่ง ค.ศ.2003 มาถูกรับรองโดยสภาเมื่อ 28 ต.ค. 21 ใช่ไหมครับ เพราะฉะนั้นข้อนี่ที่เป็นร่างข้อตกลง ที่รัฐบาลนายกฯ อภิสิทธิ์จะเสนอไปให้สภาพิจารณา ที่เสนอไว้เมื่อวันที่ 2 ถ้าเรื่องนี้ผ่านสภา และสภายอมรับตามแผนตามร่างข้อตกลง และกรอบการเจรจาที่รัฐบาลคุณอภิสิทธิ์เสนอเข้าไป เท่ากับสภาชุดปัจจุบันนี้ที่มีนายกฯอภิสิทธิ์ ไม่ใช่ตอกย้ำ ประทับรับรองการขายชาติ ขายอธิปไตยให้มันสมบูรณ์ และให้มีความชอบตามกฎหมาย เพื่อจะได้ไปทำความตกลงกับคู่ภาคีคือ รัฐบาลกัมพูชาต่อไป จึงมาขออนุมัติตามมาตรา 190 ตามรัฐธรรมนูญ ที่นี้ที่อาจารย์พูดว่า ทำไม่ต้องไปขัดขวางต้องไปยื่นคำร้อง เพื่อไม่ให้มีการรับรองกรอบข้อตกลงการเจรจานี้

สโรชา - เพื่อไม่ให้ประทับตรา

ประพันธ์ - เพราะกรอบการเจรจาอันนี้มันคือ กรอบการเจรจาที่จะทำให้ประเทศชาติ สูญเสียดินแดน และสูญเสียอธิปไตยของประเทศ และเท่ากับคุณไปรับรองข้อกำหนดแม่บท และแผนแม่บท และข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ในการสำรวจ และจัดทำหลักเขตแดนทางบก ตามข้อตกลงที่ไปยอมรับแผนที่ของ 1:200,000

สโรชา - จริงๆ แล้วเราจะบอกว่า มันเป็นกรอบข้อตกลงก็ผิดนะคะ เพราะจริงๆ มันยิ่งกว่านั้น คือมันเป็นข้อตกลงชั่วคราว เป็นข้อตกลงชั่วคราวเลยแหละ

ประพันธ์ - ใช่ตอนนี้มันกลายเป็นข้อตกลงชั่วคราว หมายถึงว่า ขณะนี้เราไปตกลงกับเขาอย่างนี้มาแล้ว ที่ตกลงชั่วคราว แต่มันจะเป็นข้อตกลงที่สมบูรณ์ ถ้าการประชุมรัฐสภาให้ความรับรองอันนี้ มันจะเป็นข้อตกลงที่สมบูรณ์ที่สามารถลงนามกันได้เลย เห็นไหมสรุปง่ายๆ คือว่า ถ้ารัฐสภาประชุมกัน ไม่ว่าจะเข้าวันที่ 14 ต.ค. หรือเข้าวันไหน ถ้ารัฐสภานี้ไปให้ความรับรองร่างข้อตกลงอันนี้ โดยรัฐสภาเมื่อใด มันก็ไม่ต่างอะไรกับกรณี รถดับเพลิง เขาชงกันมา เขากินกันมา มาถึงรัฐบาลมาถึงผู้ว่าฯ อภิรักษ์ ไปยอมเปิด เลตเตอร์เครดิตออฟเครดิต จ่ายเงิน สมบูรณ์เลย สัญญานั้นสมบูรณ์เลย การโกงรถดับเพลิงสมบูรณ์เลย อันนี้เหมือนกัน รัฐบาลทักษิณ รัฐบาลนายสมัคร สมชาย ชงเรื่องนี้ผ่านสภาเมื่อวันที่ 28 ต.ค. 51 เพื่อให้ยอมรับกรอบข้อตกลงการเจรจาอันนี้ต่อเนื่องมาจนกระทั่งมีการไปตกลงกันแล้วไปทำร่างข้อตกลงมาเรียบร้อยแล้ว ที่เป็นร่างข้อตกลงชั่วคราว เรียบร้อย มาเสนอให้รัฐบาลยุคนายกฯ อภิสิทธิ์ เสนอเข้าสภา ถ้านายกฯ อภิสิทธิ์ และสมาชิกสภา วุฒิสภา ผ่านกรอบข้อตกลงอันนี้ มันก็เหมือนไปประทับตราการขายชาติให้มีความสมบูรณ์ขึ้น ชัดเจนไหมว่า อันนี้ปัญหาก็คือว่ามันเป็นเรื่องร้ายแรงมากถ้ารัฐบาลไม่ได้ตระหนัก หรือสภาไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ว่า ตัวเองกำลังจะทำอะไรกับประเทศ เพราะ ทำไมเราถึงมาพูดเรื่องปราสาทพระวิหาร มันไม่ใช่เรื่องเก่า มันเป็นเรื่องมหาภารตะกาพย์ก็จริง แต่ยิ่งพูดยิ่งทำให้เห็นถึงพฤติกรรมของคนที่เป็นนักการเมือง ที่ไม่เอาใจใส่กับเรื่องปัญหาเขตแดนอธิปไตย ศักด์ศรีของประเทศตัวเองเลย แล้วกำลังจะกลายเป็นว่า ถ้ารัฐบาลนี้หรือสภาไปทำเรื่องนี้ขึ้นมาตูม คำว่าขายชาติจะติดหน้าผากคนที่อนุมัติและให้ความเห็นชอบเรื่องนี้ไปตลอดชีวิต จนตาย

สโรชา - ถึงแม้ว่าต้นตอจะไปอยู่ที่อื่นก็ตาม จะเป็นคนอื่นก็ตาม

ประพันธ์ - คนอื่นทำมาก็ตาม แต่ถ้าคุณไปผ่านความเห็นชอบและอนุมัติเรื่องนี้เมื่อใด หน้าผากคุณจะติดคำว่า คนขายชาติ ผมถึงบอกว่า เป็นเรื่องที่วันนี้อาจารย์ถึงร้อนใจอยากจะมาพูดมาคุยเรื่องนี้ให้คนไทยได้รู้ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เราคุยให้เฉพาะพี่น้องพันธมิตรฯ ฟัง ไม่ใช่ มันเป็นเรื่องของคนไทยทั้งประเทศ ถ้าคนไทยทั้งประเทศจะฟังก็ฟัง ถ้าไม่ฟังก็ช่วยไม่ได้ว่า พวกคุณกำลังนอนหลับไม่รู้นอนคู้ไม่เห็นว่าแผ่นดินไทยกำลังจะสูญเสีย มันไม่ใช่ 4.6 ตารางกิโลเมตรแล้วนะ มันไม่ใช่ 3,000 ไร่แล้วนะ นี่มันเป็นแสนๆ ไร่ เป็นหลายหมื่นกิโลเมตร

สโรชา - เป็นจังหวัดๆ เลยนะคะ

ประพันธ์ - ถ้ายอมรับตามข้อกำหนดอันนี้ ยอมรับตามแผนที่อันนี้

ม.ล.วัลย์วิภา - เท่ากับเส้นเขตแดนระหว่างไทย-กัมพูชาทั้งหมด

ประพันธ์ - จะเปลี่ยนแปลงทั้งหมด

สโรชา - คือหัวขวานเปลี่ยนไปนะคะ

ม.ล.วัลย์วิภา - แผนที่ประเทศไทย

สโรชา - เดี๋ยวเราพักกันสักครู่นะคะพ่อแม่พี่น้อง กลับมาต้องมาคุยกันถึงประเด็นหลักๆ อีกหลายประเด็น อย่างเช่นว่า รัฐบาลชุดนี้ทราบหรือไม่ถึงเรื่องเหล่านี้ ข้อมูลเหล่านี้เป็นที่รับทราบของคนในรัฐบาลชุดนี้หรือไม่ และที่หลายท่านคงจะถามอยู่ในใจ ณ เวลานี้ ก็คือว่า สิ่งที่อาจารย์นำมาวันนี้ เอกสารทั้งหมดที่พูดคุยกัน ผ่านสภาไปแล้วเมื่อปี 51 เท่ากับว่า สมมุติวันหนึ่งที่เรากำลังถกเถียงกับกัมพูชาว่า เอ๊ะของใครอะไรอย่างไร แล้วกัมพูชาหยิบเอกสารปี 51 มา เป็นมติรัฐสภาของไทย 409 ต่อ 7 ขึ้นมาแล้วบอกว่า You ดู 1:200,000 ที่ You เซ็นๆ กันมาแสดงว่า I เป็นฝ่ายถูก สิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นหรือไม่ แล้วเราในฐานะประชาชนชาวไทยสามารถทำอะไรได้หรือไม่ อีกสักครู่กลับมาคุยกันต่อค่ะ

พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ช่วงที่ 3

สโรชา - กลับเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เหลือเวลาอีกประมาณ 15 นาที ไปกันเร็วสักนิดหนึ่งนะคะ เพราะว่ามีข้อมูลเพิ่มเติมในร่างข้อตกลงชั่วคราวที่ดูไม่ค่อยชอบมาพากลเท่าไหร่ พี่ประพันธ์คะ

ประพันธ์ - คือถ้าเป็นไปตามร่างข้อตกลงนี้ แล้วรัฐบาลปล่อยให้ หรือสภาผ่านข้อตกลงอันนี้แล้วไปลงนามตามนี้ ก็จะมีผลต่ออธิปไตยของประเทศแน่นอน และมีผลเปลี่ยนแปลงสภาพสิทธิอาณาเขตของประเทศ แต่ว่าผู้ลงนาม ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตอยู่แล้วว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของเรา ตามร่างข้อตกลงนี้ที่เสนอเข้าไปในสภา จึงพิมพ์ตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ หรือว่าถ้าถึงวันนั้นที่เตรียมจะไปลงนาม ท่านอาจจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองนายกฯ เพื่อให้เทียบเท่า นายฮอร์ นัม ฮง ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีต่างประเทศ หรือไม่

แต่อย่างนี้ก็ไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่ที่สำคัญก็คือว่า ร่างข้อตกลงนี้เท่ากับว่าไปยอมรับข้อกำหนด แผนแม่บท อำนาจหน้าที่ในการสำรวจและจัดทำหลักเขตทางบกร่วมตามข้อตกลงที่มีมาแต่ปี 46 และมาปี 51 ก็ผ่านสภามาในสมัยนายสมชาย นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีต่างประเทศ แล้วมาถึงรัฐบาลสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ทำตามแนวนี้เขาต่อไปอีก เพราะฉะนั้นปัญหาก็คือว่า มันจะมีผลต่อเขตแดนและอธิปไตยของประเทศถึงขนาดที่เรียกได้ว่า มันไม่ใช่เราสูญเสียแค่ 4.6 ตารางกิโลเมตร ไม่ใช่ 3,000 ไร่โดยประมาณแล้ว มันเป็นหลายร้อยหลายพันตารางกิโลเมตร และหลายแสนไร่

เพราะฉะนั้นอันนี้ ถ้ารัฐบาลและสภาผ่านร่างข้อตกลงอันนี้ มันพูดเป็นอย่างอื่นไม่ได้ เท่ากับขายชาติขายแผ่นดิน แล้วจะเป็นตราบาป ตราประทับติดตาติดหน้าผากรัฐบาลและ ส.ส.ทุกคนที่ร่วมกันผ่านอันนี้ เพราะฉะนั้นปัญหาก็คือว่า เราจะปล่อยให้เรื่องอย่างนี้ผ่านไปไม่ได้ ผมคิดว่าประชาชนที่รักชาติ หรือรักบ้านเมือง และรักหวงแหนอำนาจอธิปไตยและดินแดนของตนเอง จะต้องลุกขึ้นมาปกป้องแล้ว เพราะว่ารัฐบาลดูเหมือนจะมีความเข้าใจที่ตรงกันข้ามกับประชาชนในเรื่องนี้ ผมคิดว่าวันหนึ่งนายกรัฐมนตรีก็ดี หรือท่านรัฐมนตรีต่างประเทศก็ดี คงจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมาดีเบต หรือมาตอบโต้ มาชี้แจงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้หรือเปล่า หรือมันไม่ได้เป็นอย่างนี้เพราะอะไร เพราะถ้าหากว่ามันไม่เคลียร์ ไม่ทำให้เกิดความเข้าใจที่กระจ่างสำหรับประชาชน ประเด็นอื่นแถบเป็นเรื่องเล็กเลย อันนี้จะเป็นประเด็นใหญ่มาก และดีไม่ดี อันนี้มันแค่บริเวณแถบนี้เอง แปลว่า ถ้าตกลงตามร่างข้อตกลงนี้ มันไปนู่นเลย ไปเสื้อแดงนู่นเลย ซึ่งอันนี้ หลักเขตนี่มันจะไปนู่น เพราะฉะนั้น แน่นอน ท่านอาจบอกว่า ตอนนี้เรายังไม่เสียดินแดน มันก็พอฟังได้ เพราะยังไม่ผ่านร่างข้อตกลงอันนี้ แต่ว่า มันไปทำร่างข้อตกลงกันไว้แล้ว โดยร่างที่พนมเปญด้วย เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2552 ไปยกร่างข้อตกลงนี้มาแล้ว และไปทำความตกลงกันมาด้วยว่า ทั้ง 2 ฝ่ายจะต้องรีบมาเร่งผลักดัน เพื่อให้ร่างข้อตกลงผ่านความเห็นชอบ ตามรัฐธรรมนูญประเทศตน

เพราะฉะนั้นถ้าเป็นอย่างนี้ มันถึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะต้อง ผมคิดว่า เดินหน้าไม่ได้ ถ้าเดินหน้าต้องอธิบายประชาชนได้ว่า ร่างข้อตกลงอันนี้ มันจะมีผลกระทบต่ออำนาจทิศใดของประเทศหรือไม่

สโรชา -อาจารย์คะ จริงๆ มันมีผลต่อเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลกด้วย

ม.ล.วัลย์วิภา - ใช่ค่ะ เพราะอย่างนี้ ว่า มันมีเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนมรดกโลกว่า ถ้าเป็นสมบัติ หรือมรดกที่มันอยู่ระหว่างข้อพิพาท จะต้องมีใบเสร็จ คือข้อตกลงระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย ให้เห็นว่า มันมีความสงบสุข เพราะฉะนั้น นี่สำคัญ ในเรื่องการขึ้นทะเบียนมรดกโลก

สโรชา - ถ้าสมมติว่าเราผ่านสภา ผ่านร่างข้อตกลงนี้ ทางฝ่ายกัมพูชาเขาเอาใบเสร็จไปยื่นทันทีเลย ให้ยูเนสโกว่า เราตกลงกันได้แล้ว นี่คือใบเสร็จที่เราเจรจากัน เราตกลง และสงบแล้ว เพราะฉะนั้น การขึ้นเป็นมรดกโลกของเขาสำเร็จ สมบูรณ์แบบ

ม.ล.วัลย์วิภา - คือภายใน กำหนดไว้ไหม ว่า ภายในกุมภาพันธ์ 2009 และเขามีได้กับได้ ได้ขึ้นทะเบียนมรดกโลก ได้อาณาเขต

ประพันธ์ - คือขณะนี้มันเป็นปี 2009 ถ้าเกิดต้องทำให้เสร็จภายในปี 2009 ปีหน้าซึ่งเป็นปีที่กัมพูชาต้องเสนอแผนการบูรณะพัฒนาพื้นที่บริเวณนี้ ซึ่งหากบริเวณพื้นที่นั้นมีข้อตกลงร่วมและไทยยินยอมตามนี้แล้ว กัมพูชาก็มีสิทธิ์ มีอำนาจที่จะเข้าไปดำเนินการเหมือนเป็นอาณาเขตของดินแดนตัวเอง ยิ่งทำให้สะดวกต่อการขึ้นทะเบียนมรดกโลก แต่ปัญหานี้ เราพิจารณาเฉพาะเรื่องข้อตกลงนี้โดยลำพัง มันไม่ได้ เพราะอะไร มันแปลกใจ ทำไมรัฐบาลทักษิณ ก็ไปทำมาอย่างนี้ รัฐบาลสมชาย สมัคร ก็มาเร่งรีบ แม้มีเวลาอยู่ 2-3 เดือน ก็มุ่งจะทำเรื่องนี้ ทำไมตั้งใจเรื่องนี้ ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญ เรื่องที่รอได้ มาถึงรัฐบาลอภิสิทธิ์ ทำไมต้องมารับไม้ ทำเรื่องนี้ต่อไป คนก็สงสัยว่า ทำไมรัฐบาลเจรจาและทำข้อตกลงลเรื่องนี้ ในลักษณะที่ใครดูแล้ว นักกฎหมาย หรือนักเจรจาทางการเมืองระหว่างประเทศมาดูแล้ว ก็ดูว่าไทยเสียเปรียบ แล้วทำไมยินยอม คนจึงสงสัยว่าเรื่องการเจรจาปราสาทพระวิหารและดินแดนแถบนี้ มันคงไม่ได้ผูกเฉพาะเรื่องนี้แน่นอน

เพราะฉะนั้น ที่ไปที่มา อย่างที่คุณสนธิพูดหลายครั้ง เรื่องนี้ มันมีความเชื่อมโยงกับผลประโยชน์ทางทะเล ที่ว่าจะมีแหล่งน้ำมัน ซึ่งขณะนี้ข้อเท็จจริง เป็นที่ยอมรับแล้วว่า มีแน่นอน จำนวนปริมาณมหาศาล และบริษัทที่จะได้เข้าไปลงทุน และสำรวจ หนึ่งในนั้นมีบริษัท ปตท.อยู่ด้วย และบริษัทต่างชาติ ถามว่า บริษัท ปตท. ใครถือหุ้น นักการเมืองกลุ่มไหนถือหุ้น และจะได้ผลประโยชน์จากตรงนั้น ทีนี้ ถ้าสองส่วนมาเชื่อมโยงกัน แล้วกลายเป็นว่า เอาอำนาจอธิปไตยของส่วนนี้ ไปขาย ไปแลกกับผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจ หรือกลุ่มทุน มันมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ เพราะฉะนั้น ตรงนี้ คิดว่าเป็นปัญหาใหญ่

ม.ล.วัลย์วิภา - เพิ่มนิดนึง มันมีบางอย่าง 2544 ระหว่างคุณทักษิณ กับสมเด็จฮุน เซน ในข้อ 13 ระบุเลยว่า ต้องมีการจัดทำเขตแดนทางบกให้เรียบร้อยก่อน ถึงจะเจรจาทางทะเล และยิ่งกว่านั้น มีรายงานจากอนุกรรมาธิการฝ่ายเทคนิค ระบุเลยว่า ต้องจัดการเรื่องที่ค้างคาให้เสร็จก่อน ถึงจะจัดทำทางทะเล คิดว่า อันนี้ สอดคล้องกันอย่างสมควร

ประพันธ์ - เพราะฉะนั้น พวกเราจึงเหมือนพวกกาลิเลโอ เห็นโลกกลมก่อนคนอื่น

สโรชา - ทั้งที่คนบอก แบนๆ

ประพันธ์ - พี่น้อง ที่ชมรายการ ว่า ทำไมคนพวกนี้ ถึงพูดแต่เรื่องนี้ เพราะเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ทำให้ชาติบ้านเมืองพินาศ หายนะ และเสียอธิปไตย เสียดินแดน เสียเกียรติภูมิ และศักดิ์ศรีอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน

สโรชา - ขออนุญาตเรียนถามอาจารย์คะว่า ข้อมูลเหล่านี้ ความเป็นห่วงเหล่านี้ อาจารย์ได้เรียนถามไปยังกระทรวงการต่างประเทศ ไปยังรัฐบาลชุดปัจจุบันหรือยัง

ม.ล.วัลย์วิภา - ตลอดเวลาที่ได้สงสัย และตรวจสอบตั้งแต่คุณนพดลตลอดมาเลย ได้พบกับท่านนายกฯ ขอพบและขอชี้แจงต่อท่านนะคะ ได้พบจริงๆ 1 ครั้ง และมีการยื่นหนังสืออะไรอีก 2 ครั้ง ท่านรัฐมนตรีต่างประเทศท่านกษิตนะคะ ได้พบ 2 ครั้ง แต่ว่าได้มีการยื่นหนังสืออะไรรวมเป็น 3 ครั้งนะคะ คิดว่าข้อมูลทั้งหมดที่นำมาเสนอรัฐบาลรู้แน่นอนนะคะ เราเองเราอ่านอย่างรู้นะคะ รัฐบาลเองมีข้อมูลมากกว่านี้อีกด้วยซ้ำนะคะ แต่ว่าเข้าใจว่า วันนี้เราชัดเจนนะคะว่า เป็นเพราะเขายอมรับ 1:200,000 และดำเนินการไปตามนั้นแล้วนะคะ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราลุกขึ้นมาเตือน ลุกขึ้นมาเสนอแนะลุกขึ้นมาให้เหตุผลต่างๆ มันเหมือนกับว่า คุณไม่ได้อยู่ในระบบของฉัน ฉันต้องพยายามที่จะดิสเครดิต หรือทำลายความเชื่อมั่นของคุณนะคะ กล่าวหาเราในทางต่างๆ

สโรชา - พี่ประพันธ์คะ ทางกฎหมายในฐานะที่เป็นประชาชนชาวไทย เรามีสิทธิ์ที่จะท้วงติง หรือเรามีสิทธิ์ที่จะยกเลิก หรือทำให้การตกลง หรือมติสภา ไม่ว่าจะเป็นปี 51 หรือเขาจะผ่านในอนาคตอันใกล้นี้เป็นโมฆะไปได้ไหม

ประพันธ์ - ผมคิดว่า มันมี 2 ทางนะครับ ทางที่ 1 โดยวิถีทางรัฐสภา ถ้าเกิดว่ารัฐบาลได้รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และเข้าใจและเรื่องนี้ ทำให้ร่างข้อตกลงอันนี้ไม่ผ่านการเห็นชอบของสภา ก็จะไม่มีผลผูกมัดประชาชนไทยทั้งประเทศ 2. แต่ถ้าหากว่าฟังอย่างนี้แล้ว แล้วประชาชนทักท้วงและเห็นว่าการกระทำอันนี้มันจะนำไปสู่คำว่า ขายชาติ คุณขายชาติ ขายแผ่นดิน ขายอธิปไตย แล้วคุณยังดื้อดันที่จะทำต่อไปทั้งๆ ที่ประชาชนให้เหตุผล ให้ข้อเท็จจริงแล้ว ผมคิดว่าประชาชนสามารถเข้าชื่อรวมตัวกันเพื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือศาลปกครองได้ หรือ ส.ว.ก็อาจจะเข้าชื่อ หรือ ส.ส.รวมกันเข้าชื่อ เพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ขณะนี้รัฐบาลโดยเฉพาะนายกฯ และคณะรัฐบาล กำลังกระทำผิดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญ และปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และกำลังจะทำให้เกิดการขายชาติ ขายอธิปไตยของประเทศ ผมคิดว่าสามารถจะยื่นคำร้องต่อศาล เพื่อให้พิจารณาเรื่องนี้เป็นการด่วน และให้มีการไต่สวนคุ้มครองชั่วคราว เพื่อไม่ให้มีการดำเนินการนำเอากรอบข้อตกลงนี้ผ่านสภาเพื่อไปทำความตกลงกับประเทศกัมพูชาได้ เหมือนเช่นที่เราเคยคัดค้านเรื่องจอยช์คอมมิเนเก ท้ายที่สุดแล้วศาลปกครองก็คุ้มครองชั่วคราว และห้ามเอาไปตกลงไปผูกพันกับประเทศ และท้ายที่สุด ป.ป.ช.ก็ชี้มูลแล้วว่า นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีที่ไปทำเรื่องนี้ ทำความผิดกฎหมาย เพราะฉะนั้นเราจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ ก็จะเป็นทางหนึ่งที่จะช่วยกันปกป้องดินแดน ปกป้องอธิปไตยของเรา ถ้าหากว่ารัฐบาลยังเดินอย่างนี้ต่อไป เราก็ต้องใช้ช่องทางตามกฎหมายได้

ม.ล.วัลย์วิภา - ในส่วนของภาคประชาชนที่ทำอยู่ ข้อแนะนำของคุณประพันธ์มีประโยชน์มาก แต่ที่เราทำอยู่ขณะนี้ เมื่อวันที่ 8 ที่ผ่านมา เรามีการแถลงข่าวและแจ้งเรื่องนี้ต่อสื่อสาธารณะ แล้วก็พี่น้องทั้งหมด เราได้ลงชื่อร่วมกัน เพราะเราคิดว่าวันที่ 14 ต.ค.จะมีการนำเรื่องนี้เข้าสภา เราก็เลยคิดว่า อย่างเร็วที่สุดที่เราทำได้ คือวันที่ 12 วันจันทร์นี้ 10.00 น. เราจะไปยื่นหนังสือรวมทั้งมีผู้ลงนาม ประชาชนทั้งหลายเท่าที่ทำได้ในขณะนี้ ไปยื่นให้นายกฯ แล้วในเวลาเดียวกันก็ไปยื่นประธานรัฐสภาด้วย เพราะเราคิดว่าทั้ง 2 ฝ่ายใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชนได้เลย โดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนะคะ และขอเรายื่นเลยคะว่า ขอให้มีการ 1.เพิกถอนมติของ 28 ตุลาคม 51นะคะ 2.ยุติหรือเลิกที่จะไม่นำการเจรจาชั่วคราว 6 เมษาฯ ที่พึงเป็นเข้าสู่สภาอีกต่อไป พร้อมกับขอให้พิจารณาเลยนะคะว่า การดำเนินการใดๆ ตั้งแต่ 28 ตุลาฯ 51 มา ทั้งก่อนหน้าและล่วงหน้าไปจนถึง 2546

สโรชา - ย้อนกลับไปถึง 2546 เลย

ม.ล.วัลย์วิภา - และอาจจะไปถึง 43 อีกนะคะ ตรงนั้นขอให้ยุติ และได้ทบทวนพิจารณาโดยเฉพาะอย่างยิ่งนะคะ เรื่องเจบีซี กับเรื่องของการเจรจาต่างๆ บทบาทของเจบีซีทั้งหลาย เพราะโครงสร้างของ JBC กระทรวงต่างประเทศนำนะคะ สภาความมั่นคงทหารอะไรต่ออะไร อยู่ใต้ตรงนี้หมดเลย เพราะฉะนั้นตรงนี้ต้องมาดูกันใหม่คะ

สโรชา - ค่ะนี้ก็เป็นความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนรนะคะ ที่เราร่วมกันช่วยกันตรวจสอบ และนำเสนอข้อสังเกตคำถาม และเอกสารที่อาจารย์ได้รวบรวมมาในวันนี้ คำถามที่เกิดว่า มีการระบุถึงแผนที่ 1:200,000 มีการระบุถึงทีโออาร์ปี 46 อย่างต่อเนื่อง ในข้อตกแต่ละฉบับ ตั้งแต่ปี 51 เป็นต้นมา จนกระทั่งฉบับที่เป็นการร่างข้อตกลงที่กำลังเข้าสู่สภาในอีกไม่ช้านี้ ล้วนแล้วแต่เป็นความเป็นห่วงที่เรามี แน่นอนว่า เราไม่ได้พูดถึง 4.6 ตารางกิโลเมตร 3,000 กว่าไร่ กลายเป็นเรื่องเล็กไปทันที เมื่อเราพูดถึง 1:200,000 ที่จะทำให้เราเสียจังหวัดเป็นจังหวัดไป เราทำให้เส้นพรมแดนของประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน นี่คือคำถามที่ภาคประชาชนตั้งขึ้นมา เป็นหน้าที่ของรัฐแล้วแหละคะ ที่จะตอบว่า ท่านจะชี้แจงอย่างไร ข้อเท็จจริงเป็นไปตามนี้หรือไม่ และถ้าหากเป็นไปตามนี้ ท่านจะดำเนินการอย่างไรต่อ วันนี้ขอบพระคุณทั้ง 2 ท่านที่มาร่วมรายการ

ม.ล.วัลย์วิภา - ขอบคุณคะ

สโรชา - ขอบพระคุณที่ติดตามนะคะ กลับมาพบกันใหม่ในวันศุกร์หน้า สำหรับวันนี้สวัสดีค่ะ
ม.ล.วัลย์วิภา จรูญโรจน์
นายประพันธ์ คูณมี
สโรชา พรอุดมศักดิ์
เอกสารประกอบการเจรจาสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกไทย-กัมพูชาตลอดแนว ซึ่งยอมรับแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 และจะทำให้ไทยเสียพื้นที่นับแสนไร่
กำลังโหลดความคิดเห็น