xs
xsm
sm
md
lg

ส.ส.ร.50ชี้มาร์คขัดรธน.ถกแก้รธน.กับซากศพ ปชป.ส่อยึกยัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่รัฐสภา วานนี้ (6 ต.ค.) ชมรม ส.ส.ร. 50 นำโดยนาย เสรี สุวรรณภานนท์ อดีตรองประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และประธานชมรม ส.ส.ร.50 น.ต. ประสงค์ สุ่นศิริ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้หารือถึงการดำเนินการ แก้ไขรัฐธรรมนูญของฝ่ายการเมือง
นายเสรี แจ้งต่อที่ประชุมว่า จากการทำหนังสือเพื่อสอบถามไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อขอรับทราบการติดตาม และประเมินผล รวมทั้งข้อเสนอแนะในการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญจากการประชุมของชมรม ส.ส.ร.50 ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ ดังนั้นทางชมรมที่ทำหนังสือทวงถามความคืบหน้าไปยังผู้ตรวจการแผ่นดินอีกครั้ง
อย่างไรก็ตามการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังเป็นที่ถกเถียงจากทุกฝ่ายว่าจะทำประชามติในขั้นตอนไหน ทำให้หลักการทำประชามติเสียไป เพราะถ้าไม่เป็นที่ยอมรับก็ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะไปถามประชาชน และแค่การลงชื่อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของส.ส. ,ส.ว. ก็ยังมีปัญหาว่าจะมีใครกล้าลงชื่อหรือไม่ เพราะองค์กรต่างๆ ที่อยู่ข้างนอกเตรียมยื่นถอดถอนอยู่แล้ว

ชี้มาร์คทำผิดรธน.ถกแกนนำพรรคร่วม
ด้านนาย เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ส.ร. กล่าวว่า จากการพบปะระหว่างนายกรัฐมนตรีและเจ้าของพรรคร่วมรัฐบาลตัวจริงที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองที่ได้ไปรวมตัวกันที่บ้านพิษณุโลก เมื่อวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา มีการตกลงกันเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งตรงนี้เข้าข่ายกระทำความผิด รัฐธรรมนูญ ม. 122 ชัดเจน ที่ห้าม ส.ส. , ส.ว. ต้องไม่กระทำการอยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือความคอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต และเพื่อประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ขัดกันแห่งผลประโยชน์
ดังนั้นหาก ส.ส.ของพรรคการเมืองเหล่านี้ กระทำตามข้อตกลงที่บ้านพิษณุโลก ก็ถือว่าชัดเจนมีเหตุเหตุกระทำผิด เพราะได้ปรากฏภาพตามสื่อต่างๆ ถือว่า ส.ส.เหล่านั้นกระทำภายใต้การครอบงำของเจ้าของพรรคตัวจริงเหล่านี้ เพื่อให้ได้ประโยชน์ในการเลือกตั้งใหม่ และเพื่อให้ผู้กระทำผิดที่ถูกศาลตัดสินได้ลดโทษ หรือพ้นจากการลงโทษ น่าจะเป็นเจตนาที่ไม่บริสุทธิ์ และขอเสนอให้ชมรม ส.ส.ร.50 ดำเนินการกับผู้ตรวจการแผ่นดิน หากยังไม่ยอมให้คำตอบภายใน 15 วัน ทั้งที่รัฐธรรมนูญ ม.244 (3) กำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินต้องดำเนินการ จึงเห็นควรยื่นเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตามประมวลกฎหมายอาญา ม.157

ประสงค์เฉ่งพวกวรนุชคิดแก้รธน.
ด้าน น.ต.ประสงค์ กล่าวว่า การทำหน้าที่ของ ส.ส.ร.ไม่ใช่สร้างขึ้นมาแล้วทิ้งเลย โดยไม่รับผิดชอบ กรณีที่ ส.ส.ร.ได้ยื่นหนังสือให้กับผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภา แต่ก็ยังไม่ทำอะไร ซึ่งตนเห็นว่าหากเราให้สติผู้ตรวจฯไปว่าหน้าที่ของผู้ตรวจฯได้ทำอะไรไปบ้างโดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญ หากยังเฉยก็ต้องมีดุดันกันไปบ้าง ทั้งนี้จะรอ 15 วัน ไม่แจ้งกลับมาก็ควรดำเนินการตามที่เห็นสมควร
ส่วน ส.ส. และ ส.ว.ที่กำลังจะเข้าชื่อเสนอแก้รัฐธรรมนูญ เป็นลักษณะของ วรนุส ที่ดิ้นพล่าน เพราะรัฐธรรมนูญนี้เหมือนยาที่ถูกกับโรค ดังนั้นคนพวกนี้จึงต้อง เคลื่อนไหว ส.ส.ร.ไม่ใช่จงอางหวงไข่ แก้รัฐธรรมนูญแก้ได้ แต่ต้องถามว่าแก้อะไร เพื่อใคร แก้เมื่อไหร่ ต้องพิจารณาประกอบกันไป และไม่เพียงเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ เท่านั้น แต่ได้ข่าวว่ามีส.ส.พรรคหนึ่งเข้าชื่อยื่นต่อ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อถอดถอน ป.ป.ช. อยากจะใช้คำว่า เลวระยำ ป.ป.ช.ชุดนี้ทำผลงานหลายเรื่องโดยเฉพาะการชี้มูล 2-3 เรื่องที่ผ่านมา แม้บางเรื่องจะช้าไปบ้าง แต่เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพ บ้านเมืองทุกวันนี้พึ่งพาอะไรไม่ได้ แม้แต่ฝ่ายบริหารหรือนิติบัญญัติ มัวแต่ยุ่งกันแค่ 3-4 เรื่อง แก้รัฐธรรมนูญ คลิปนายกฯ มีเท่านี้ ไม่มีกฎหมายที่เป็นประโยชน์ซักฉบับ วันนี้คนระยำมันครองเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่ประชุมได้ถกเถียงกันถึงบทบาทของเจ้าของพรรคร่วมตัวจริง ซึ่งอดีตส.ส.ร.หลายคนเห็นควรให้ระบุชื่อลงไปในแถลงการณ์ แต่นายเกียรติชัย พงษ์พานิช อดีตส.ส.ร. ท้วงติงว่าขอให้ตั้งสติถึงบทบาทของส.ส.ร. ที่ทำให้ถูกกล่าวหา ว่าเป็นจงอางหวงไข่ทุกวันนี้ ตอนนี้เลยขั้นตอนที่จะพูดเรื่องการแก้ไขใน 6 ประเด็นแล้ว แต่ควรออกมาให้ความรู้แก่ประชาชนใน 6 ประเด็นและวิธีการแก้ว่าจะแก้อย่างไร
น.ต.ประสงค์ตัดบทว่า วันนี้บ้านเมืองขาดคนกล้าหาญ แค่เรื่องระบุชื่อคน พวกนี้หากเรายังไม่กล้า คนพวกนั้นจะได้ใจ เมื่อเป็นข้อเท็จจริงก็ควรระบุไว้ให้ชัด

ส.ส.-ส.ว.แก้รธน.ขัดรธน.ม.122
ผู้สื่อข่าวรายการว่าจากนั้นชมรม ส.ส.ร.50 ได้ออกคำแถลงโดยระบุว่า 1) ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ยังมิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญให้ครบถ้วน เช่น การออก พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ และจัดตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญ แต่กลับสนใจแต่จะแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ของตน และพรรคการเมือง 2) การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ม. 122 โดยมีความพยายามของบุคคลที่ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเจ้าของพรรคตัวจริง ไม่สามารถอาสาทำงาน การเมืองได้เป็นเวลา 5 ปี เช่น นาย บรรหาร ศิลปอาชา นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ นายพินิจ จารุสมบัติ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน และว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี เป็นต้น ได้เข้าประชุมตกลงเนื้อหาและวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 4 ต.ค. โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน บรรดาส.ส.และส.ว. ที่ดำเนินการตามข้อตกลง ดังกล่าว ย่อมแสดงว่าเป็นผู้ที่ตกอยู่ภายใต้อาณัติ มอบหมาย หรือครอบงำ อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ม.122 มีโทษร้ายแรงว่าจงใจกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ละเว้น หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ถึงขั้นถอดถอนและผิดทางอาญา
3) ส.ส. ส.ว. เหล่านี้เข้าสู่ตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพียง 1 ปีเศษ มุ่งจะแก้รัฐธรรมนูญโดยไม่เคารพมติของประชาชน เสมือนนักกีฬาที่ไม่ยอมรับผลการแข่งขัน แต่ขอทำประชามติใหม่ มีพฤติกรรมไม่ต่างจากผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่ยังทำงานไม่เสร็จ แต่ขอแก้แบบก่อสร้างเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง 4) การแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 6 ประเด็น ไม่ได้ช่วยแก้ไขความขัดแย้งและไม่สร้างความสมานฉันท์ แต่เป็นข้ออ้างเพื่อให้ได้ประโยชน์ในการเลือกตั้งใหม่ และทำให้บุคคลผู้ได้รับโทษพ้นความผิด หรือพ้นโทษไป 5) รัฐบาลมิได้ตั้งใจจะเยียวยาบาดแผลของประชาชนที่สูญเสียจากเหตุการณ์ 7 ตุลาฯ แต่กลับร่วมมือกับนักการเมืองที่เคยมีเจตนา ร่วมทำร้าย 6) ชมรม ส.ส.ร.50 ได้ทำหนังสือถึงผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ผู้ตรวจการแผ่นดินปฏิบัติหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

มาร์คเชื่อนักการเมืองทำตามประชามติ
นาย อภิสิทธิ์ เวชชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ทางประธานวุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับการจัดทำประชามติในวาระแรกว่า ขอทำความเข้าใจว่าการทำประชามติตามรัฐธรรมนูญไม่อาจผูกพันสมาชิกรัฐสภาได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำเมื่อไหร่ เพราะตามรัฐธรรมนูญ สิ่งที่ผูกผันคือ ผูกพัน ครม. ในกรณีที่ครม.ขอให้ทำประชามติ เพื่อให้เป็นข้อยุติในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น ถ้ารัฐบาลบอกว่า ให้นำมาตรานั้นไปทำประชามติว่าจะให้ครม.เสนอแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยให้เป็นการลงมติแบบไม่ใช่ขอคำปรึกษาให้มีข้อยุติ ถ้าประชาชนลงมติ ว่า ไม่ให้แก้รัฐธรรมนูญ ก็ผูกผันเฉพาะ ครม. ไม่อาจไปผูกผันส.ส.หรือส.ว.ได้อยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าถามว่าถ้าไม่ผูกพันรัฐสภาจะมีอะไรเป็นหลักประกันให้ประชาชนว่า ทำประชามติแล้วไม่เสียเปล่า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ตนต้องการคือให้ทุกฝ่าย ตกลงกันโดยเฉพาะในเรื่องที่ว่าจะทำประชามติในขั้นตอนไหน ผลประชามติออกมา คิดว่าจะทำให้ผู้แทนปวงชนชาวไทยทุกฝ่ายแสดงออกถึงความตั้งใจที่จะเคารพมติของประชาชน
เราต้องเชื่อใจกันบ้าง เพราะถ้าเราจะเอาข้อกฎหมายให้มาผูกมัด มันไม่มี ไม่ว่าจะทำอย่างไร มันก็ไม่มี นอกจากจะแก้รัฐธรรมนูญให้มันมี แต่เมื่อเป็นเช่นนี้ สิ่งที่ผมพยายามทำอยู่คือต้องการให้นักการเมืองทุกฝ่ายแสดงออกว่า แม้เป็นอำนาจของรัฐสภาที่จะแก้รัฐธรรมนูญ ก็จะฟังเสียงประชาชน
ผู้สื่อข่าวถามว่าที่ผ่านมาประชาชนไม่สามารถวางใจการตัดสินใจของนักการเมืองได้ จึงทำให้เกิดปัญหายาวนานต่อเนื่อง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่เราเปิดโอกาสให้ประชาชนได้แสดงออกอย่างชัดเจนที่สุดว่าต้องการอะไร และตนรับรองได้ในส่วนของรัฐบาลว่าเราเคารพมติของประชาชนแน่นอน เมื่อถาม อีกว่าจะเขียนผูกพันเอาไว้เพื่อให้ประชาชนมั่นใจในการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถ้าจะเขียนผูกผันก็ต้องไปแก้รัฐธรรมนูญก่อนอีกรอบ ซึ่งตนคิดว่าคงจะยุ่งยากพอสมควร เช่น ต้องไปแก้มาตรา 291 หรือมาตรา 165
ต่อข้อถามว่าสุดท้ายกลายเป็นเล่ห์ทางการเมืองอีกรอบในการหลอกประชาชนหรือเปล่า นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อ๋อ !ถ้าหลอกประชาชนก็อยู่กันยาก

ปชป.ยังไม่สรุปหนุนแก้รธน.หรือไม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ วานนี้ (6 ต.ค.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ และ เลขาธิการพรรค ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับมติพรรคร่วมรัฐบาลที่มีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 มาตรา ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ลุกขึ้นกล่าวว่าที่ผ่านมาพรรคได้ประกาศจุดยืนมาตลอดว่าไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูย แต่เมื่อมติจากการหารือของวิป3 ฝ่าย ร่วมกับนายกรัฐมนตรีที่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ ดังนั้นจึงเห็นว่าพรรคประชาธิปัตย์ควรจะมีการประกาศจุดยืนและแนวทางว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือจะเห็นด้วยเฉพาะบางประเด็น บางมาตราเท่านั้น และประกาศให้สังคมรับทราบ หากจะแพ้เสียงข้างมากในสภาก็ไม่เป็นไร เพราะจุดยืนของพรรคจะต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้งเพื่อป้องกันไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกเหมารวมว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อประโยชน์นักการเมืองเอง
ขณะที่นายชวนได้ลุกขึ้นแสดงความเห็นด้วยกับแนวทางของนายบัญญัติ ที่พรรคควรจะมีมติและหาจุดยืนร่วมกันว่าจะทำอย่างไร เพราะพรรคไม่ได้เป็นพรรค ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้หยิบยกกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ ได้สอบถามความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฏีกา ถึงขั้นตอนการทำประชามติ โดยกฤษฏีกามีความเห็นว่าขั้นตอนการทำประชามติจะต้องทำก่อนที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาวาระ1 จนทำให้ที่ประชุมเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกา เพราะตรงกับจุดยืนของพรรค
นายบัญญัติ กล่าวเสริมว่าเป็นแนวทางที่ถูกต้องที่จะต้องมีการสอบ ถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะมีการเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เพราะหากผ่านวาระ1 ไปแล้วเท่ากับเป็นการมัดมือชกประชาชน ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปตรงกันว่าจะมีการนัดประชุมเพื่อกำหนดจุดยืนของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในการประชุมส.ส. และกรรมการบริหารพรรคในสัปดาห์หน้า และมอบหมายให้นายชินวรณ์ บุญเกียรติ ประธานวิปรัฐบาลนำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกาฯไปหารือในการประชุมร่วมวิป3ฝ่ายกับสำนักกฏหมาย ของส.ว. และส.ส.ในวันที่8 ต.ค. นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น