xs
xsm
sm
md
lg

“บัญญัติ” วิเคราะห์ “เพื่อแม้ว” ดึง “บิ๊กจิ๋ว” ร่วมทีมหวังยืมมือ “จปร.7” เดินเกมใต้ดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บัญญัติ บรรทัดฐาน
แกนนำพรรค ปชป.ตบเท้าร่วมประชุมพร้อมเพรียง ขาดแต่ “นิพนธ์” ที่หายหน้าอย่างไร้ร่องรอย ด้าน “น้าหยัด” วิเคราะห์เกม “เพื่อไทย” ดึง “บิ๊กจิ๋ว” เพื่อหวังยืมมือ “จปร.7” เผด็จศึกด้วยแผนใต้ดิน ปลุกซากอีสานเขียวผสมโรงแดงถ่อย ขวางมติพรรคร่วมประชามติหลังสภารับหลักการวาระ 1 หวั่นมัดมือชกประชาชน

วันนี้ (6 ต.ค.) รายงานข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ เปิดเผยว่า ในการประชุม ส.ส.และกรรมการบริหารพรรค ที่มี นายชุมพล กาญจนะ ประธาน ส.ส.เป็นประธานการประชุม และมีแกนนำพรรคคนอื่นๆ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกฯ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่า การประชุมครั้งนี้ไม่มี นายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ แม้ว่าจะลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการนายกฯ แต่ก็ยังดำรงตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ขณะที่ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี ส.ส.สัดส่วน และประธานที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกฯ ที่มีกระแสข่าวว่า จะถูกดันให้เป็นรองนายกฯด้านเศรษฐกิจแทนนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกฯ ที่อาจจะถูกปรับมาเป็นเลขาธิการฯ ไม่ได้เข้าร่วมประชุมด้วย

รายงานข่าวแจ้งว่า ในการประชุมครั้งนี้ นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ได้วิเคราะห์และประเมินสถานการณ์การเมืองให้ที่ประชุมได้รับทราบ โดยหยิบยกผลการประเมินของวอร์รูมพรรค ว่า ขณะนี้มีความพยายามที่จะดิสเครดิต และทำร้ายพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะที่เป็นแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยการหยิบยกเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นโครงการชุมชนพอเพียง รวมถึงปฏิบัติการไทยเข้มแข็งที่เริ่มมีปัญหาเรื่องความไม่ชอบมาพากลในการจัดซื้อครุภัณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข จึงอยากให้รัฐบาล และรัฐมนตรี รวมถึงสมาชิกพรรคทุกคนเร่งทำการเข้าใจกับประชาชนในระหว่างที่สถานการณ์การเมืองรุมเร้าในขณะนี้ และพรรคประชาธิปัตย์ในฐานะที่เคยเป็นฝ่ายค้านและตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น ต้องช่วยกันหยุดพฤติกรรมที่เกิดขึ้น เพราะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันจะเป็นจุดอ่อนที่โค่นล้มรัฐบาลได้ง่าย

นอกจากนี้ นายบัญญัติ ยังวิเคราะห์กรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เข้ามาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ซึ่งไม่ได้ผิดความคาดหมาย เพราะเคยถูกทาบทามมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่การดึง พล.อ.ชวลืต เข้ามาเพื่อต้องการดึงนายทหาร จปร.7 ที่มีความถนัดเรื่องการเคลื่อนไหวใต้ดินเข้ามาเคลื่อนไหวบางสิ่งบางอย่าง และส่วนหนึ่งเป็นการเตรียมพร้อมในพื้นที่อีสาน เพื่อชิงความได้เปรียบ เพราะ พล.อ.ชวลิต ยังขายได้ในอีสาน เพื่อจะทำให้เป็นยุทธศาสตร์อีสานเขียว แดงทั้งแผ่นดิน

รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงสุดท้ายของการประชุม นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง ได้แจ้งให้ที่ประชุมรับทราบเกี่ยวกับมติของพรรคร่วมรัฐบาลที่มีจุดยืนสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 มาตรา ตามข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อปฏิรูปการเมืองและแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเห็นตรงกันว่า จะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทำให้นายบัญญัติได้ลุกขึ้นกล่าวว่าที่ผ่านมาพรรคได้ประกาศจุดยืนมาตลอด ว่า ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อมติจากการหารือของวิป 3 ฝ่าย ร่วมกับนายกฯเห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมการสมานฉันท์ ดังนั้น จึงเห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ควรจะมีการประกาศจุดยืนและแนวทางว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือจะเห็นด้วยเฉพาะบางประเด็น บางมาตราเท่านั้น และประกาศให้สังคมรับทราบ หากจะแพ้เสียงข้างมากในสภาก็ไม่เป็นไร เพราะจุดยืนของพรรคจะต้องเอาประชาชนเป็นที่ตั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ถูกเหมารวมว่าแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อประโยชน์นักการเมืองเอง

รายงานแจ้งว่า นายชวน ได้ลุกขึ้นแสดงความเห็นด้วยกับแนวทางของนายบัญญัติที่พรรคควรจะมีมติ และหาจุดยืนร่วมกันว่าจะทำอย่างไร เพราะพรรคไม่ได้เป็นพรรคที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หยิบยกกรณีที่นายอภิสิทธิ์ได้สอบถามความเห็นไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา ถึงขั้นตอนการทำประชามติ โดยกฤษฎีกามีความเห็นว่าขั้นตอนการทำประชามติจะต้องทำก่อนที่จะมีการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาวาระ 1 จนทำให้ที่ประชุมเห็นด้วยกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เพราะตรงกับจุดยืนของพรรค

ขณะที่ นายบัญญัติ เห็นว่า เป็นแนวทางที่ถูกต้องที่จะต้องมีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนก่อนที่จะมีการเสนอร่างเข้าสู่การพิจารณาของสภา เพราะหากผ่านวาระ 1 ไปแล้วเท่ากับเป็นการมัดมือชกประชาชน ซึ่งที่ประชุมได้ข้อสรุปตรงกันว่าจะมีการนัดประชุมเพื่อกำหนดจุดยืนของพรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งในการประชุม ส.ส.และกรรมการบริหารพรรคในสัปดาห์หน้า และมอบหมายให้ นายชินวรณ์ บุญยเกียรติ ประธานวิปรัฐบาล นำความเห็นของคณะกรรมการกฤษฏีกาฯไปหารือในการประชุมร่วมวิป3ฝ่ายกับสำนักกฎหมาย ของ ส.ว.และ ส.ส.ในวันที่ 8 ต.ค.นี้
กำลังโหลดความคิดเห็น