xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปค.ถอนคำสั่งปลด"มานิต"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ ( 30 ก.ย.) องค์คณะศาลปกครองกลาง ที่มีนายอนุพงศ์ สุขเกษม ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง เป็นตุลาการเจ้าของสำนวน มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 647/2550 ลงวันที่ 16 ต.ค.50 ที่ลงโทษปลด พล.ต.ต.มานิต วงษ์สมบูรณ์ อดีตผู้บังคับการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 1 ออกจากราชการ และเพิกถอนคำสั่งของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ ที่สั่งยกอุทธรณ์ของพล.ต.อ.มานิต โดยศาลยังสั่งให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ดำเนินการให้ พล.ต.ต.มานิต กลับเข้ารับราชการ รวมทั้งคืนสิทธิที่พึงได้ตามกฎหมายให้แก่ พล.ต.ต.มานิต ภายใน 45 วัน นับแต่วันที่คดีถึงที่สุด
ทั้งนี้ คำพิพากษาดังกล่าวสืบเนื่องจากหลัง คณะกรรมการป.ป.ช.ได้ชี้มูลว่า พล.ต.ต.มานิต กระทำความผิดทางวินัย และมีพฤติการณ์แสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบของทางราชการ กระทำการอันได้ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงและกระทำการ หรือละเว้นการกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ทางราชการอย่างร้ายแรง ตามมาตรา 79 (2) (5) (6) แห่ง พ.ร.บตำรวจแห่งชาติ 2547 กรณีช่วยผู้กระทำผิดมิต้องได้รับโทษ ในการกระทำการควบคุมหรือจับกุม นายวิชัย เอื้อสิยาพันธุ์ ซึ่งเป็นประชาชนที่ตะโกนต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ส.ค.49 ที่บริเวณศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พลาซ่า จนเป็นเหตุให้มีการทำร้ายร่างกาย นายวิชัย ซึ่งเป็นผู้ถูกควบคุม หรือถูกจับกุม ส่งผลให้ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ และ ผบ.ตร.มีคำสั่งลงโทษปลดออกจากราชการ โดยพล.ต.ต.มานิต ได้ยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลปกครองกลาง
ส่วนเหตุผลที่ศาลมีคำพิพากษาดังกล่าว ระบุว่า ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือการไต่สวนข้อเท็จจริง และการชี้มูลของป.ป.ช. ว่า พล.ต.ต.มานิต กระทำผิดวินัยร้ายแรงได้ดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และพล.ต.ต.มานิต มีพฤติการณ์กระทำผิดวินัยร้ายแรง ตามที่ป.ป.ช. ชี้มูลหรือไม่ ซึ่งจากการที่ศาลได้ตรวจพิจารณา เอกสาร หลักฐาน คำให้การของพยานบุคคล พยานวัตถุ และแผ่นวีดิทัศน์ ซึ่งมีภาพเคลื่อนไหวภาพนิ่ง รวมทั้งภาพถ่ายที่ปรากฏในคดีแล้ว เห็นว่า ขณะที่ พล.ต.ต.มานิตเข้าไปในที่เกิดเหตุ และมีการยื้อยุดเพื่อดึงตัวนายวิชัย เป็นลักษณะการช่วยแยกนายวิชัย ออกมาจากกลุ่มที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ มากกว่า ที่จะเข้าไปจับกุมตัวนายวิชัย
โดยพล.ต.ต.มานิต ได้พยายามตะโกนขอให้ผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ หยุด และพานายวิชัย ไปที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน ซึ่ง พล.ต.ต.มานิต ก็ได้พูดกับกลุ่มคนที่ห้อมล้อมว่า ไม่มีอะไร แต่ที่ต้องนำตัวนายวิชัย ออกไปเพื่อป้องกันไม่ให้มีการตีกัน และนายวิชัย ก็ให้การต่อพนักงานสอบสวนในวันเกิดเหตุว่า ขณะที่ถูกรุม พล.ต.ต.มานิต ซึ่งทราบชื่อในภายหลัง ได้เข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งให้การเพิ่มเติมในเวลาต่อมาว่า ตำรวจไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา หรือจับกุมตัวแต่อย่างใด รวมทั้งได้ยิน พล.ต.ต.มานิต พูดคำว่า “หยุด” ในระหว่างเกิดเหตุ ประกอบกับ พยานบุคคล คือนาง กชชมณฑ์ อรชุนวงค์ ที่ให้การว่า เห็น พล.ต.ต.มานิต ผลักนายวิชัย เข้าไปในกลุ่มสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นการเห็นผ่านกล้องโทรศัพท์ ที่ตัวเองถ่ายภาพ จึงไม่อาจชี้ชัดได้ว่า พล.ต.ต.มานิต มีเจตนาที่จะผลักนายวิชัย เข้าไปหากลุ่มสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อให้มีการรุมทำร้าย เพราะหากมีเจตนาดังกล่าวจริง พล.ต.ต.มานิต ก็ไม่ต้องเข้าไปร่วมอยู่ในเหตุการณ์ เพราะผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณได้ใช้กำลังเข้าไปกระชาก ลากดึงนายวิชัย อยู่แล้ว
ส่วนที่ พล.ต.ต.มานิตไม่ได้ดำเนินการจับกุม พ.ต.ท.ทักษิณ ในทันที ศาลเห็นว่าการจับกุมย่อมอยู่ในดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ ที่จะดำเนินการ อย่างไรตามสถานการณ์ที่เหมาะสมซึ่งในกรณีที่เกิดเหตุมีการชุลมุนของประชาชน 2 กลุ่ม ที่มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน การที่ พล.ต.ต.มานิต พยายามเข้าไปกันตัวนายวิชัย ซึ่งเป็นตัวต้นเหตุออกจากจุดเกิดเหตุเสียก่อน โดยมิได้จับกุมผู้สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณในทันที จึงมีเหตุผลเพียงพอที่ฟังได้ อีกทั้งนายวิชัย ยังให้การว่าได้รับความช่วยเหลือจาก พล.ต.ต.มานิตกรณีจึงไม่อาจรับฟังว่า พล.ต.ต.มานิต มีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติในการเข้าจับกุมตัวเฉพาะนายวิชัย ที่เป็นผู้ต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ รวมทั้งมีพฤติการณ์ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยไม่เข้าไปช่วยเหลือนายวิชัย ไม่ให้ถูกทำร้าย และไม่จับกุม ผู้ที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ตามที่ถูกกล่าวหา
ส่วนที่มีการกล่าวหาว่า พล.ต.ต.มานิต มีพฤติกรรมเลือกปฏิบัติ ไม่ยึดหลักความเสมอภาคในการใช้กฎหมาย ใช้อำนาหน้าที่ตามอำเภอใจ และใช้ดุลพินิจโดยมิชอบในกรณีให้ดำเนินคดีกับนายวิชัย และ นายฤทธิรงค์ ลิขิตประเสริฐกูล ซึ่งตะโกนต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ ในข้อหาส่งเสียงกระทำการอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควรในที่สาธารณะ อันเป็นการรังแกข่มเหงผู้อื่น หรือทำให้ผู้อื่นได้รับความอับอาย ตามมาตรา 370 และ 397 แห่งประมวลกฎหมายอาญานั้น จากข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า พล.ต.ต.มานิต ได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายมงคล บุญเต็ม ที่ยอมรับว่า เป็นพวกที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ และตะโกนว่า “ทักษิณ สู้ๆ” ซึ่งต่อมาในวันที่ 28 ส.ค.49 พล.ต.ต. มานิตได้เข้าแจ้งความ ขอให้ดำเนินคดี กับบุคคลในภาพที่ขอมาจากสื่อมวลชนที่ตะโกนว่านายวิชัยว่า “มึงเป็นใคร มึงถึงไปไล่เขา” ด้วยเสียงอันดังหลายครั้ง ในข้อหาเดียวกัน
ดังนั้นการที่ พล.ต.ต.มานิต ที่เป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ดังกล่าว ตัดสินใจแจ้งความดำเนินคดีกับนายวิชัย และพวก จึงเป็นการกระทำที่สมควรแก่สถานการณ์ในขณะนั้น และไม่ถือว่าพล.ต.ต.มานิต มีพฤติการณ์เลือกปฏิบัติ ในการใช้กฎหมายและใช้ดุลพินิจมิชอบตามที่ถูกกล่าวหา
"พิจารณาจากพฤติการณ์ดังกล่าวเห็นว่า การกระทำของ พล.ต.ต.มานิต ไม่ได้เป็นการละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการ อันไม่มีเหตุอันสมควร เป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง หรือมีพฤติกรรมอันแสดงถึงความจงใจไม่ปฏิบัติตามระเบียบทางราชการ กระทำการอันได้ชื่อประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันเป็นการกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงตามนัย มาตรา 79 (2) (5) (6) แห่ง พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 2547 ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด ดังนั้นการที่ ผบ.ตร. มีคำสั่ง สตช. ลงโทษทางวินัย ปลดออกจากราชการและ คณะกรรมการข้าราชการตำรวจมีมติยกคำอุทธรณ์ของ พล.ต.ต.มานิต จึงมิชอบด้วยกฎหมาย"
กำลังโหลดความคิดเห็น