“ผ่าประเด็นร้อน”
แม้จะสามารถเข้าใจว่ายังทำใจไม่ได้กับการชี้มูลความผิดทางอาญา และวินัยร้ายแรง ต่อข้าราชการระดับสูงบางคน โดยเฉพาะกับข้าราชการที่มีอำนาจ มีเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วประเทศอย่างตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ในที่นี้จะแยกพิจารณาเฉพาะ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นหนึ่งในสองข้าราชการตำรวจที่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดอาญาและวินัยร้ายแรงจากกรณีสั่งปราบปรามประชาชนในเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ทำให้มีคนตายและได้รับบาดเจ็บ พิการเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ดี เพื่อให้เห็นภาพและตัวละครครบถ้วนก็ต้องทบทวนรายชื่อกันอีกครั้งว่ามีใครกันบ้างที่ถูกชี้มูลความผิด เริ่มจาก สมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ กระทำความผิดขณะเป็นรองนายกรัฐมนตรี ทั้งสองคนนี้ถูกชี้มูลความผิดด้านอาญา
ขณะที่ข้าราชการระดับสูงอีกสองคน คือ พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ซึ่งทั้งสองคนหลังนอกจากถูกชี้มูลความผิดด้านอาญาแล้วยังถูกชี้มูลความผิดวินัยร้ายแรงเพิ่มเข้าไปอีก ซึ่งตามขั้นตอนคร่าวๆ ก็คือ แม้ว่าทั้งหมดจะต้องเข้าสู่การพิจารณาความผิดจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองก็ตาม
แต่สำหรับ พล.ต.อ.พัชรวาท กับ พล.ต.ท.สุชาติ ในฐานะที่ยังรับราชการอยู่เมื่อมีคำสั่งชี้มูลแล้วโดยมารยาทแล้วต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ทันที เพื่อรอรับโทษซึ่งมีอยู่สองสถาน คือ ปลดออกกับไล่ออกเท่านั้น ถ้าถูกไล่ออกก็จะไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ ซึ่งกว่าที่คำสั่งหรือการพิจารณาจากผู้บังคับบัญชาลงมาก็คือ นายกรัฐมนตรี คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งก็ตาม
หากพิจารณากรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท ที่พอทราบข่าวว่าตนเองถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทั้งทางอาญาและวินัยก็ให้สัมภาษณ์ยืนยันว่าจะปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติต่อไป จะดำรงตำแหน่งไปจนกว่าจะมีคำสั่งออกมาก่อน
ล่าสุด เมื่อเช้าวานนี้ (8 ก.ย.) ก็ยังท่าทีเดิมขณะเดินทางมาปฏิบัติหน้าที่ตามปกรอติที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
อย่างไรก็ดี จากการยืนยันของกรรมการ ป.ป.ช. สมลักษณ์ จัดกระบวนพล ระบุว่าตามมาตรา 55 ของกฎหมาย ป.ป.ช.ข้าราชการคนใดที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดจะต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ในทันที อีกทั้งการเซ็นคำสั่งใดๆก็ตามจากข้าราชการคนนั้นก็จะไม่มีผลทางกฎหมาย พร้อมทั้งกล่าวว่าในกรณีของ พล.ต.อ.พัชรวาท จะต้องมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งจากนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บังคับบัญชาว่าจะให้ปลดออกหรือไล่ออก
แม้ว่าในทางปฏิบัติจะต้องมีระยะเวลาในการส่งคำชี้มูลไปถึงผู้บังคับบัญชา ซึ่งในที่นี้ก็คือ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และกว่านายกฯจะลงนามในคำสั่งลงมาก็อาจต้องมีขั้นตอนบ้างก็ตาม แต่หากพิจารณาจากความเหมาะสมแล้ว ก็ไม่สมควรจะเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกแล้ว
เนื่องจากตำแหน่งดังกล่าวยังมีผล มีส่วนได้เสียกับการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจทั่วประเทศ เพราะยังมีความเป็นไปได้ว่า พล.ต.อ.พัชรวาท อาจอ้างคำสั่งนายกฯหรือคำชี้มูลจาก ป.ป.ช.ที่ยังมาไม่ถึงมือก็ยังปฏิบัติหน้าที่ ยังออกคำสั่งที่เป็นประโยชน์กับตัวเองออกมาอีก
แต่ที่ผ่านมา สำหรับ พล.ต.อ.พัชรวาท และนายตำรวจที่ใกล้ชิดบางรายถูกกล่าวหาในเรื่องการทุจริตอีกหลายกรณี เช่น ทุจริตงบประชาสัมพันธ์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติจำนวน 18 ล้านบาทที่คณะกรรมการสอบสวนในสมัย พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวช เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สรุปว่ามีความผิด หรือล่าสุดยังถูกกล่าวหาในเรื่องความไม่ชอบมาพากลในเรื่องการแต่งตั้งโยกย้ายนายตำรวจระดับนายพล 152 นาย หรือแม้กระทั่ง “โผชุดเล็ก” นับพันตำแหน่ง ที่ว่ากันว่ามีเงินสะพัดนับพันล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ เช่น กรณีที่ลูกสาวสองคนไปมีชื่อเป็นเจ้าของรีสอร์ตหรูย่านบางพลี จ.สมุทรปราการ รวมไปมีชื่อเป็นกรรมการอิสระในบริษัทเซรามิกแห่งหนึ่ง ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวเป็นเจ้าของคอกม้าและรีสอร์ตหรูหราอีกแห่งในอำเภอแก่งคอย จ.สระบุรี
ขณะเดียวกันยังถูก พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ ดำเนินคดีในข้อหาปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบกลั่นแกล้งทำให้เสียหายกรณีกล่าวหาว่าบุกรุกที่สาธารณะ เป็นต้น
จากทุกกรณีดังกล่าวมาทั้งหมดถือว่าไม่สมควรอย่างยิ่งที่ พล.ต.อ.พัชรวาท จะไปปฏิบัติราชการที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะอาจไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานที่ตัวเองถูกกล่าวหาก็เป็นได้ เพราะหากไปเปรียบเทียบกับกรณีของอดีตอธิบดีกรมสรรพากร ศิโรตม์ สวัสดิ์พาณิชย์ ที่เคยถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดวินัยวินัยร้ายแรง รวมไปถึง ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล อดีตปลัดกระทรวงการคลังเมื่อครั้งที่ตั้งแต่งรองอธิบดีกรมสรรพากรโดยมิชอบ โดยทั้งสองคนดังกล่าวไม่ได้มีท่าทีขัดขืน และหยุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที
ขณะเดียวกัน อีกด้านหนึ่งสิ่งที่สังคมกำลังจับตาเป็นอย่างยิ่งก็คือ ท่าทีของนายกฯ อภิสิทธิ์ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร กับ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ เพราะการยืนยันปฏิบัติหน้าที่เสมือนเป็นการจงใจท้าทายรอให้นายกฯมีคำสั่งออกมาก่อน เหมือนกับต้องการวัดใจกลายๆว่าจะ “กล้า” ลงมือเชือดด้วยตัวเองหรือจะใช้วิธียืมมือตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาหาข้อสรุปก่อนออกคำสั่งหรือไม่
ทุกอย่างขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีเป็นสำคัญ!!