xs
xsm
sm
md
lg

มติป.ป.ช.สร้างบรรทัดฐานใหม่ ประชาชนต้องไม่ตายฟรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ฝั่งขวาเจ้าพระยา
โดย โชกุน


เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย ที่ผู้สั่งสลายการชุมนุมของประชาชน โดยวิธีการที่รุนแรง จนมีผู้เสียชีวิต และบาดเจ็บจำนวนมาก ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง

การสังหารประชาชนในอดีต จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516, 6 ตุลาคม 2519, พฤษภาทมิฬ 2535, การสังหารหมู่ในมัสยิดกรือเซะ รือเสาะ จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2547 และการสลายการชุมนุมที่ตากใบ จังหวัดนราธิวาส วันที่ 25 ตุลาคม 2547 ไม่เคยมีสักครั้ง ที่ผู้ออกคำสั่งลั่นไกปืนจะถูก ลงโทษ

อย่างมากก็ถูกตั้งกรรมการสอบสวน ที่มาจากภาครัฐด้วยกัน เพื่อฟอกตัวให้พ้นผิด หรือไม่ก็แค่ถูกย้ายออกจากตำแหน่งหน้าที่เท่านั้น

ประชาชน จึงตายฟรีมาโดยตลอด

มติ 8 ต่อ 1 ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. เมื่อวานนี้ ให้ชี้มูลความผิดทางอาญาผู้สั่งการให้สลายการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้ารัฐสภา เมื่อเช้าวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ว่า

ประชาชน ต้องไม่ตายฟรีอีกต่อไปแล้ว

ผู้ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทั้ง 4 คน สมควรแล้วที่ต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองในวันนั้น

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯหุ่นเชิด น้องเขย นช.ทักษิณ ชินวัตร เห็นพิธีกรรมขึ้นสู่อำนาจของตนเอง สำคัญกว่าชีวิตของประชาชนที่มาชุมนุมปิดทางเข้าสู่รัฐสภา เพื่อไม่ให้มีการประชุมสภา รับฟังการแถลงนโยบายของนายกรัฐมนตรี

นายสมชาย เรียกประชุม ครม.นัดพิเศษในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2552 แล้วมอบหมายให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี สลายการชุมนุม เพื่อเปิดทางให้ ส.ส. และ ส.ว. เข้าสู่รัฐสภา

เช้าวันรุ่งขึ้น นายสมชาย พา ส.ส.พรรคพลังประชาชน เหยียบศพ ฝ่ากองเลือดของประชาชน เข้าไปยืนอ่านนโยบาย ในรัฐสภาอันทรงเกียรติ โดยใช้เวลาไม่ถึงชั่วโมง เป็นความเห็นแก่ตัวอย่างร้ายกาจ นายสมชายไม่ได้ทำหน้าที่ของผู้นำของคนไทย แต่ทำงานรับใช้ในฐานะเขยตระกูลชินวัตร ที่สามารถจะทำได้ทุกอย่าง เพื่อประโยชน์ของพี่เมีย ทั้งๆ ที่มีทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ แต่ก็เลือกใช้ความรุนแรง

พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ และสั่งการให้ตำรวจผลักดันผู้ชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา

ขงเบ้งแห่งกองทัพบกผู้นี้ หลังจากขายพรรคความหวังใหม่ให้ นช.ทักษิณ ก็ยังวนเวียน 'รับจ๊อบ' จาก นช.ทักษิณ เป็นนายหน้าเสนอขาย 'โซ่ข้อกลาง' เพราะยังเวียนว่ายในวังวนของผลประโยชน์ จีงตัดไม่ขาดจากการเมือง สุดท้ายยอมพายเรือให้โจรนั่ง รับเป็นรองนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมชาย

แม้จะพยายามแสดงความรับผิดชอบ ลาออกจากตำแหน่ง ในเช้าวันที่ 7 ตุลาคม แต่มีคนตาย มีคนเจ็บแล้ว จึงไม่อาจหนี พ้นความผิดได้

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่ง ชาติ แม้จะพยายามหลบอยู่หลังลูกน้อง ดันหลังรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.สุรพล ทวนทอง ออกมารับหน้าแทนในทุกเรื่อง แต่มีพยานยืนยันว่า เป็นผู้ออกคำสั่ง ให้สลายการชุมนุม

คนเป็นถึง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีอำนาจสั่งการ เมื่อเกิดเหตุการณ์ถึงขั้นมีผู้บาดเจ็บสาหัส ถึงขั้นขาขาด แขนขาด กลับไม่ทำอะไร ปล่อยให้ลูกน้องทำร้ายประชาชน ตั้งแต่เช้าจดเย็น จึงมีความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และมีความผิดวินัยร้ายแรง

พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้น และเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ มือลั่นไกตัวจริง เห็นประชาชนเป็นศัตรู ต้องฆ่า ต้องเอาชนะให้ได้

นายตำรวจอย่าง พล.ต.อ.พัชรวาท และ พล.ต.ท.สุชาติ คือ กลไกของรัฐตำรวจ ที่ นช.ทักษิณสร้างขึ้นมา ยอมทอดกาย รับใช้ ทำหน้าที่เป็นกลไกในการปราบปรามฝ่ายตรงข้าม ไม่มีสำนึกของผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ หลงเหลืออยู่เลย ไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด

แน่นอนว่า มติ ของ ป.ป.ช. นี้ จะต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า จะทำให้ต่อไปนี้ จะไม่มีใครปฏิบัติหน้าที่ บังคับใช้กฎหมายอีกต่อไปแล้ว เพราะเสี่ยงต่อการถูกลงโทษทางอาญา ถูกไล่ออก จากราชการ แต่การสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมนั้น ไม่ใช่การทำหน้าที่ บังคับใช้กฎหมาย หากแต่เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ทำกับประชาชนราวกับว่าเป็นศัตรู เป็นการกระทำเพื่อรับใช้ฝ่ายการเมือง โดยไม่คำนึงถึงกฎหมาย

ทำไม การสลายการชุมนุมของม็อบเสื้อแดง เมื่อสงกรานต์ โดยกำลังทหาร จึงไม่เกิดความสูญเสียเลือดเนื้อ ทั้งที่พรรคเพื่อไทย พยายามหาศพ เพื่อมาเล่นงานรัฐบาล แต่ก็หาไม่เจอ

มันขึ้นอยู่กับเจตนาของผู้ใช้อำนาจว่า เป็นการกระทำตามหน้าที่ หรือว่า ทำเพราะความโกรธแค้น ชิงชัง ต้องเอากันให้ตายไปข้างหนึ่ง ซึ่งเป็นพฤติกรรมของตำรวจที่รับใช้การเมือง ในยุคก่อนหน้านี้

อาจจะเป็นด้วยเหตุนี้กระมัง ผู้ถูกกล่าวหาอีก 5 คน คือ พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ และ พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จึงไม่ถูกชี้มูลความผิด เนื่องจากทำตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา
กำลังโหลดความคิดเห็น