xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.เลื่อนชี้มูลความผิดคดี 7 ตุลาเตรียมฟันบิ๊กตำรวจ-อดีตนายกฯจันทร์หน้า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ป.ป.ช. เลื่อน พิจารณาสำนวนคดีสลายผู้ชุมนุม 7 ตุลา แจงเหตุสำนวนหลายร้อยหน้า-ยังไม่สมบูรณ์ เตรียมนำเข้าที่ประชุมชี้มูลความผิดผู้เกี่ยวข้องเรียงตัวทั้ง 2 อดีตนายกฯ - บิ๊กตำรวจ คาดจันทร์หน้ารู้ผล




วันนี้ (1 ก.ย.) การประชุมคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. มีการพิจารณาคดีที่เจ้าหน้าที่ใช้กำลังสลายการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย บริเวณหน้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 และพิจารณาคดีที่คณะรัฐมนตรีในสมัยนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี มีมติร่วมสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก เพราะเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 ที่ไม่ผ่านการลงความเห็นจากรัฐสภาก่อน

ทั้งนี้ นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกกรรมการป้องกันและการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ เปิดเผยเกี่ยวกับการพิจารณาสำนวนคดีการสลายผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม โดยระบุว่า สำนวนจากคดีดังกล่าวมีด้วยกัน 400 กว่าหน้า ทั้งนี้ ทางคณะกรรมการต้องใช้เวลาในการอ่านทั้งหมด ซึ่งมีความเห็นว่าบางส่วนต้องตัดตอน และบางส่วนต้องมีการเพิ่มเติม

ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีความเห็นมอบให้นายปรีชา เลิศกมลมาศ เลขาธิการ ป.ป.ช.ดำเนินการรวบรวมสำนวนและความเห็นเสนอเข้าสู่ที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช.ในวันศุกร์นี้ (4 ก.ย.) และนำเข้าสู่ที่ประชุม ป.ป.ช.อีกครั้งหนึ่งในวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (7 ก.ย.) เพื่อวินิจฉัยชี้มูลความผิดแต่หากยังไม่สมบูรณ์ ก็ต้องไปทำการสอบพยานเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับคดีนี้ มีผู้ถูก ป.ป.ช.ตั้งข้อกล่าวหาว่ามีความผิดจำนวน 9 คน ประกอบด้วย

1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลซึ่งเรียกประชุมครม.นัดพิเศษในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 โดยมอบหมายให้พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นผู้สั่งการและเปิดทางให้ส.ส.และส.ว.เข้าสู่รัฐสภา

2.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรีในความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ฐานเป็นผู้รับผิดชอบเหตุการณ์ และสั่งการให้ตำรวจผลักดันผู้ชุมนุมโดยใช้แก๊สน้ำตา

3.พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ในฐานะผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งรับผิดชอบตามอำนาจหน้าที่ เมื่อเกิดเหตุรุนแรงจนถึงขั้นผู้ชุมนุมบาดเจ็บสาหัส ถึงขนาดขาขาด แขนขาดก็ต้องยับยั้งมิให้เหตุการณ์ลุกลามต่อไป และมีการให้การว่าจากพยานว่า เป็นผู้สั่งการสลายการชุมนุม จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและมีความผิดวินัยร้ายแรง

4.พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผบ.ตร.มีความผิดทางวินัย

5.พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผบช.น.ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ มีความผิดทั้งทางวินัยและอาญา

6.พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รองผบช.น.มีทั้งทางวินัยและทางอาญา

7.พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รองผบช.น.มีความผิดทั้งทางวินัยและทางอาญา

8.พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รองผบช.น. มีทั้งทางวินัยและทางอาญา

สุดท้ายคือ 9. พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผบช.น. มีทั้งทางวินัยและทางอาญา
กำลังโหลดความคิดเห็น