xs
xsm
sm
md
lg

ฟัน"หมัก-นพดล" ยกพระวิหารให้เขมร เอื้อการเมือง"ฮุนเซน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-ป.ป.ช.มีมติฟัน"สมัคร-นพดล" ผิดทั้งอาญา-ถอดถอน เหตุออกแถลงการ์ร่วมไทย-กัมพูชา หนุนเขมรขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว ส่อเอื้อประโยชน์การเมืองให้"ฮุนเซน"ในการเลือกตั้ง ส่วน"เสธ.หนั่น-ชวรัตน์-สุวิทย์-ประดิษฐ์-ระนองรักษ์" พร้อมอดีตรัฐมนตรี - ขรก.รวม 42 ชีวิตรอด ไม่มีเจตนากระทำความผิด

วานนี้ (29 ก.ย.) ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการและโฆษกป.ป.ช. พร้อมด้วยนายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. ร่วมแถลงมติของที่ประชุมป.ป.ช. ชี้มูลความผิดคดีกล่าวหา ครม.นายสมัคร สุนทรเวช ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีออกมติ ครม.สนับสนุนการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหาร เป็นมรดกโลกของกัมพูชา เพียงฝ่ายเดียวซึ่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เป็นการผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 190

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า คดีนี้ คณะกรรมการป.ป.ช.ได้รวบรวมคำร้องทั้งจากนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และส.ส.จำนวน 141 คน ขอให้ถอดถอนนายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ ออกจากตำแหน่ง คำร้องของ นายพิภพ ธงไชย แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย พร้อมประชาชน 2 หมื่นรายชื่อยื่นถอดถอน ครม.นายสมัคร ออกจากตำแหน่ง คำร้องขอให้ดำเนินคดีอาญากับ ครม.นายสมัคร ทั้งคณะรวม 9 คำร้อง และคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ขอให้ดำเนินคดีอาญากับครม.นายสมัคร รวมผู้ถูกกล่าวหาทั้งสิ้น 44 คน

อย่างไรก็ตามพล.ท.แดน มีชูอรรถ เจ้ากรมแผนที่ทหารซึ่งเสียชีวิตไป ทำให้คดีระงับ ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากการไต่สวนไม่ปรากฏว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังมี ครม.บางคนที่ได้ลาออกพ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ประกอบด้วย นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกฯ นายสุธา ชันแสง รมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ส่วนนายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข และนายวิชาญ มีนชัยนันท์ รมช.สาธารณสุข เพิ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ และอยู่ระหว่างรอเข้างาน ขณะที่มีรัฐมนตรีที่ไม่เข้าประชุม 3 คน และลาประชุม 5 คน จึงเห็นว่าให้คำร้องตกไป

**มติเชือด 6 ต่อ 3
ส่วนการพิจารณาข้อกล่าวหาบุคคลที่เหลือ ซึ่งเป็นนักการเมืองในความผิดทางอาญา ป.ป.ช.เห็นว่ามีความผิด 6 เสียงโดย 1 เสียงเห็นว่าผิดทั้งคณะและไม่มีความผิด 3 เสียง เช่นเดียวกับการถอดถอน ที่มีมติ 6 เสียงโดย 1 เสียงเห็นว่าผิดทั้งคณะ และไม่มีความผิด 3 เสียง ส่วนข้าราชการป.ป.ช.เห็นว่า ไม่มีมูลความผิดให้คำร้องตกไปด้วยมติ 1 ต่อ 8 เสียง

ประเด็นที่คณะกรรมการป.ป.ช. เสียงข้างมากเห็นว่ามีความผิดนั้น สรุปได้ว่าแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา วันที่ 16 มิ.ย.51 นายนพดล ปัทมะ ได้มีหนังสือเสนอให้ครม.ให้ความเห็นชอบร่างแถลงการณ์ร่วม และแผนที่แนบท้าย และให้รมว.ต่างประเทศลงนามในร่างคำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว โดยเสนอว่า เรื่องนี้มีความอ่อนไหวทางการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างยิ่ง หากจะมีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ก็ขอให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้แถลงข่าว

ต่อมาวันที่ 17 มิ.ย. 51 มีการประชุมครม.โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ซึ่งครม.ได้เห็นชอบตามที่นายนพดลเสนอมาและในวันที่ 18 มิ.ย. 51 นายนพดลได้ลงนามในร่างคำแถลงการณ์ดังกล่าว

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้มีคำวินิจฉัย 2 ศาล โดยศาลปกครองมีคำวินิจฉัยในคดีหมายเลขดำที่ 984/2551 วันที่ 27 มิ.ย.51 กรณีที่นายสุวัตร อภัยภักดิ์ ฟ้องของให้ศาลปกครองเพิกถอนแถลงการณ์ร่วม และกำหนดมาตรการคุ้มครองชั้วคราว ในคำสั่งดังกล่าวศาลปกครองกลางได้วินิจฉัยว่า แผนที่แนบท้ายที่กัมพูชาจัดทำขึ้นมีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ปราสาทเขาพระวิหารอย่างชัดเจน โดยระบุว่า เป็นพื้นที่ เอ็น 1 ซึ่งอาจถือได้ว่า ประเทศไทยยอมรับเขตแดนรอบพื้นที่ของปราสาทพระวิหารโดยปริยาย

ศาลปกครองกลางยังระบุว่า เครื่องหมายเอ็น 3 ให้มีการจัดเตรียมพื้นที่ดังกล่าวระหว่างรัฐบาลไทยกับกัมพูชา สำหรับการอนุรักษ์ ศาลปกครองกลางเห็นว่า ข้อตกลงดังกล่าว อาจจะมีผลผูกพันประเทศไทย และอาจทำลายน้ำหนักอ้างอิงที่ประเทศไทยยึดถือสันปันน้ำ เป็นเส้นแบ่งเขตแดนโดยตลอด คดีจึงมีมูลว่า การกระทำดังกล่าวอาจทำให้มีความเสียหายต่อประเทศชาติ ประชาชน รวมถึงผู้ฟ้องคดี ให้ได้รับความเสียหาย อันเป็นความเสียหายที่ยากต่อการเยียวยาภายหลัง

ศาลปกครองกลางจึงมีคำสั่งห้ามมิให้ รมว.ต่างประเทศ และครม.ดำเนินการใดๆ ที่เป็นการอ้างหรือใช้ประโยชน์จากมติครม.ที่เห็นชอบกับคำแถลงการณ์ร่วม

สอง คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 เมื่อวันที่ 8 ก.ค.51 ซึ่งได้วินิจฉัยชี้ขาดคำแถลงร่วมไทย-กัมพูชา ว่า เป็นหนังสือที่ต้องได้รับคำเห็นชอบจากรัฐสภาหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้

1. คำแถลงการณ์ร่วมฉบับดังกล่าว เป็นหนังสือสัญญาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 190
2.คำแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว เป็นหนังสือสัญญาที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 หรือไม่

ประเด็นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย 2 ประการ หนึ่ง กรณีเป็นหนังสือสัญญามีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตประเทศหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แม้แถลงการณ์ร่วมฉบับนั้นไม่ปรากฏสาระสำคัญชัดเจนว่า มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาเอกสาร รวมถึงแผนที่แนบท้ายที่จัดทำโดยกัมพูชาเพียงฝ่ายเดียว จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแผนที่ดังกล่าว ได้อ้างถึงพื้นที่ เอ็น 1 เอ็น 2 และเอ็น 3 โดยไม่กำหนดขอบเขตที่ชัดเจนว่าครอบคลุมพื้นที่เท่าใด ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในอาณาเขตของประเทศไทย อันเป็นปัญหาที่ละเอียดอ่อน และอาจทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศในภายภาคหน้าได้

สอง มาตรา 190 วรรคสอง ก็เขียนไว้ว่าหนังสือสัญญาใดๆมีผลกระทบต่อความั่นคงทางเศรษฐกิจ และสังคมอย่างกว้างขวาง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการที่กัมพูชา ขอขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลก มีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นข้อโต้เถียงเรื่องเส้นเขตแดน ทั้งเป็นประเด็นที่มีความแตกต่างด้านสังคม การเมืองมาโดยตลอด การที่รมว.ต่างประเทศ ได้เจรจากับกัมพูชา ก่อนลงนามแถลงการณ์ร่วมดังกล่าว พึงเล็งเห็นได้ว่า หากลงนามแถลงการณ์ร่วมไป อาจก่อให้เกิดการแตกแยกทางความคิด และเกิดวิกฤตความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและกัมพูชา อันมีผลกระทบต่อความมั่นคง และสังคมอย่างกว้างขวาง

**นพดลทำทั้งที่รู้ว่าประเทศเสียหาย
นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ความเห็นในการวินิจฉัยของกรรมการเสียงข้างมาก ต่อกรณีนายนพดล การลงนามในแถลงการณ์ร่วมเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ย่อมเป็นการปฏิบัติหน้าที่ ละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไป คือผู้ถูกกล่าวหามีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือไม่ ความเสียหายที่เกิดขึ้นมี 2 อย่าง

1.ความเสียหายต่อประเทศไทย อาจมีบทเปลี่ยนแปลงโดยคำแถลงการณ์ร่วมที่นายนพดล ลงนาม และ 2. ความเสียหายต่อความมั่นคงประเทศที่ถูกกระทบอย่างกว้างขวางโดยแถลงการณ์ร่วมนี้ หลังศาลรัฐธรรมนูญตีความความมุ่งหมายของมาตรา 190 โดยให้รวมถึงหนังสือสัญญา “ที่อาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต” ของประเทศ เนื่องจากสภาวะที่ศาลเรียกว่า “การสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย” นอกจากนี้นายนพดล ยังดำเนินการลักษณะปิดบังอำพราง ทั้งที่เสนอเรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชา แต่กลับกำชับมิให้หน่วยงานอื่นยกเว้น กต.เป็นผู้แถลงข่าว
"และยังมีพยานหลักฐานแสดงว่า นายนพดล มีมูลเหตุจูงใจอื่นแอบแฝงอยู่ ว่าจะให้ฝ่ายบริหารดำเนินการได้โดยปราศจากากรตรวจสอบของรัฐสภา ที่ประกอบด้วยสมาชิกฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน

นอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นว่า นายนพดล รู้อยู่แล้วถึงความเสียหายที่เกิดจากสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย และผลกระทบทางสังคมที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ มีเจ้าหน้าที่ชี้ให้เห็นถึงผลเสียเรื่องนี้แต่นายนพดลไม่ฟัง จึงมีการวิพากษ์กันอย่างกว้างขวาง โดยนักวิชาการ นักการเมือง ตลอดจนสื่อมวลชน แต่คำวิพากษ์ดังกล่าว กลับถูกนายนพดลตอบโต้อย่างรุนแรง"

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า พยานหลักฐานดังกล่าวมีดังนี้
1. สำนักบันทึกกองเขตแดน กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย ลงวันที่ 20 พ.ค. 51 ที่ให้ความเห็นว่า การขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก ก่อนการเจรจา จะมีผลต่อน้ำหนักต่อรองของฝ่ายไทย 2.สำเนาหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ลงบทความของ ศ.ดร.สมปอง สุจริตกุล 3.สำเนาถอดเทปการประชุมสมช.ครั้งที่ 2/2551 ที่นายนพดล เสนอในที่ประชุมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อ่อนไหวต่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ โดยเฉพาะ จ.ศรีสะเกษ และประเทศกัมพูชา อีกทั้งเรื่องนี้เกี่ยวกับการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชา ที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.ค.51 ทั้งนี้ นายนพดลยังรับทราบคำกล่าวของนายสมัคร ที่ขอให้นำผลประโยชน์ของประเทศมาใช้เป็นเครื่องมือในการหาเสียงของพรรคการเมืองฝ่ายรัฐบาล 4. เทปการออกรายการโทรทัศน์วันที่ 16 มิ.ย.51 ของนายนพดล
5. เทปคำปราศรัยของนายประพันธ์ คูณมี บทเวนทีพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 51 ซึ่งออกอากาศผ่านสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี

"จากสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขตของประเทศไทย และผลกระทบทางสังคมของการลงนามในร่างคำแลงการณ์ร่วม ตลอดจนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการลงนามดังกล่าว ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า นายนพดล กระทำไปโดยรู้อยู่แล้วเป็นอย่างดีในความเสียหาย ดังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ จึงถือว่าในการปฏิบัติหน้าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของนายนพดล กระทำไปเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศไทย และคนไทยทุกคน นายนพลด จึงมีความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 157 "

**"หมัก"ช่วย"ฮุนเซน"หาเสียง
ส่วนกรณีของนายสมัคร ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ต้องทราบดีถึงความอ่อนไหวของประเด็นซึ่งจะทำให้เกิดสภาวะสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบในเรื่องอาณาเขต และวิกฤตการณ์ทางสังคม

อนึ่ง นายสมัคร ยังเป็นฝ่ายขอให้นายนพดล ดำเนินการเพื่อช่วยเหลือ นายฮุนเซน ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ก.ค. 51 ซึ่งการนำผลประโยชน์ของประเทศชาติมาใช้เป็นเครื่องมือหาเสียงของพรรคการเมืองต่างประเทศอย่างนี้ หากมองถึงสถานะของนายสมัคร ที่ได้รับความไว้พระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว เห็นได้ว่า เป็นสิ่งที่เหลือเชื่อที่จะมีนักการเมืองไทยคนใดจะมีความคิดเช่นนี้ นายสมัคร จึงมีเจตนาร่วมกระทำผิดกับนายนพดล โดยให้ถอดถอนบุคคลทั้ง 2 ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 270 ด้วย

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาที่เป็นรัฐมนตรี ซึ่งเข้าประชุม ครม. เนื่องจากการดำเนินการของนายนพดล เป็นลักษณะงานวิชาการ และทางเทคนิค การรับรู้ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่างๆที่นายสมัคร และนายนพดลแจ้งต่อที่ประชุม ครม.ในเวลาอันสั้น จึงไม่น่าจะรู้ถึงข้อเท็จจริง ผู้ถูกกล่าวหาเหล่านี้จึงไม่มีเจตนากระทำความผิดร่วมกับนายสมัคร และนายนพดล และให้ยกคำร้องในส่วนของข้าราชการด้วย

**ยันพิจารณาจากข้อมูลหลายฝ่าย
ผู้สื่อข่าวถามว่าผู้ที่ถูกชี้มูลมีโทษอย่างไรบ้าง นายวิชัย วิวิตเสวี กล่าวว่า มีโทษทั้งคดีอาญา และถอดถอน นอกนั้นเห็นว่าให้คำร้องตกไป

สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ ป.ป.ช.จะรับรองมติ แล้วจะนำสำนวนให้กรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คน ลงนาม และจะต้องส่งไปยังประธานวุฒิสภาและอัยการสูงสุด ด้วยในเรื่องของการดำเนินคดีอาญา ส่วนวุฒิสภา จะเป็นเรื่องของการถอดถอน รวมทั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยต้องส่งสำนวนไปทั้งหมด
เมื่อถามว่ามติของป.ป.ช. ยึดหลักของศาลรัฐธรรมนูญ ใช่หรือไม่ นายวิชัย กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญตีความคำว่าหนังสือสัญญาอาจมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เกิดจากภาวะสุ่มเสี่ยงต่อผลกระทบของอาณาเขต ฉะนั้นจึงเป็นหนังสือสัญญาที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต การวินิจฉัยว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 (นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ ) และผู้ถูกกล่าวหาที่ 12 (นายนพดล ปัทมะ รมว.ต่างประเทศ) มีเจตนาหรือไม่ เช่น ว่าผู้ถูกล่าวหาทั้ง 2 รู้สถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงของอาณาเขตแดนไทยหรือไม่ และก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงหรือไม่

นายกล้านรงค์ ตอบในคำถามดังกล่าวว่า เราเอาคำวินิจฉัยของศาลปกครองมาพิจารณาประกอบ ส่วนศาลรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผูกพันกับทุกองค์กร

เมื่อถามว่าการนำหลักฐานมาจากผู้กล่าวหาฝ่ายเดียวใช่หรือไม่ นายวิชัย กล่าวว่า เรานำหลักฐานทั้งของฝ่ายตรงข้าม และฝ่ายเดียวกับนายนพดล โดยเฉพาะหลักฐานจากสภาความมั่นคงแห่งชาติ ที่นายนพดลได้เคยแถลง และฟังคำกล่าวของนายสมัคร กรณีที่ขอนายนพดล ให้ความช่วยเหลือ สมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการเลือกตั้ง

นายกล้านรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เอกสารหลักฐานทั้งหมดเอามาจากกระทรวงการต่างประเทศ สอบปากคำเจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศทั้งหมด และเอาเอกสารที่เกี่ยวข้องมาดู แล้วจึงจะวินิจฉัย เราดูตามการดำเนินการว่ามีขั้นตอนอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น