xs
xsm
sm
md
lg

ครบรอบ 3 ปีแห่งการรัฐประหาร 2549

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

เป็นเรื่องปกติที่วาระครบของเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลให้มีการเปลี่ยนแปลง จะมีการวิเคราะห์ผลของการเปลี่ยนแปลงนั้นว่าเป็นบวกหรือลบ แต่เรามักจะมองเป็นลักษณะรูปธรรมมากกว่านามธรรม เช่น ผลของการเปลี่ยนแปลงจากการลดค่าเงินบาทมีลักษณะเป็นรูปธรรมมากกว่าการเปลี่ยนแปลงอำนาจการปกครองประเทศซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และมีตัวแปรมากมายที่ทำให้ผลเป็นบวกหรือลบและเป็นการยากมากที่จะวิเคราะห์ให้เห็นเป็นจริงตามวัตถุประสงค์ดั่งเดิมได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงการปกครองเกิดจากความคิดของบุคคลกลุ่มหนึ่งที่มีเหตุผลหลายประการที่ให้ประโยชน์กับหมู่คณะหรือให้กับคนหมู่มากหรือเป็นอัตตาประโยชน์หรือเป็นไปตามความคิดของกลุ่มต้นกำเนิดที่ตายจากไปแล้วตามกาล

ผลวิเคราะห์ก็กลายเป็นบทเรียนที่ขมขื่น และปลิวไปตามกระแสลมแห่งความทรงจำ เช่น กรณีทุ่งสังหารในกัมพูชาเมื่อสมัชชาปฏิวัติเขมรหรือเขมรแดงคิดว่า การล้างสมองประชาชนเขมรที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกอย่างลึกซึ้งแล้วยากที่จะกลับใจเป็นคอมมิวนิสต์เขมรบริสุทธิ์ได้จึงต้องฆ่าทิ้ง เขมรแดงจึงฆ่าประชากรชาติเดียวกันเกือบ 3 ล้านคน

หรือคิดย้อนอดีตไปก่อน ค.ศ. 1917 ปฏิวัติรัสเซีย เมื่อคาร์ล มาร์กซ์ และเฟรดริช แองเกิล ได้ร่วมกันเขียนคัมภีร์ลัทธิคอมมิวนิสต์ขึ้นใน ค.ศ. 1848 ที่ขบวนคิดว่าด้วยชนชั้นที่ไร้การแบ่งแยก เป็นลัทธิความเสมอภาค และสังคมไร้การคุมเข้ม จึงทำให้เกิดหลักการรัฐประชาชนเป็นเจ้าของกิจการ ควบคุมการผลิต และไร้การครอบครองที่ดินของบุคคล ซึ่งครั้งหนึ่ง ฌองชาร์ค รูซโซ ปราชญ์นักสังคมศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ค.ศ. 1712-1778 เขียนหนังสือหลายเล่ม แต่ที่สำคัญที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง The Social Contract หรือสัญญาประชาคม

ความล้มเหลวของลัทธิคอมมิวนิสต์ตามทฤษฎีของมาร์กซ์กับแองเกิลนั้น ไม่ได้อยู่ที่ตัวเนื้อหา แต่ขึ้นอยู่กับจิตใจของคนทั้งสังคมที่จะยอมรับทฤษฎีนั้นหรือไม่ เมื่อสังคมรัสเซียและกลุ่มเครือบริวารคอมมิวนิสต์ของโซเวียตเริ่มไม่ยอมรับวิธีการต่างๆ ที่ถูกประยุกต์ขึ้นตั้งแต่ยุคระบอบสตาลิน และการสู้รบในสงครามเย็นที่มีความซับซ้อนทางการเมืองมากเสริมให้ลัทธิคอมมิวนิสต์เสื่อมเพราะงบประมาณสงครามหุ่นและการแข่งขันสะสมอาวุธที่โซเวียตสู้สหรัฐฯไม่ได้ และเพราะเป็นเรื่องของจิตใจคนที่ต้องการอิสระอยู่ในตัวของมันเอง

ประชากรในปกครองของลัทธิคอมมิวนิสต์ประยุกต์จึงปฏิเสธการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ และกลับมาใช้ชีวิตอิสระตามปรารถนาของตนภายใต้กฎหมายที่มีวิวัฒนาการจากอาณาจักรโรมันหรือกฎหมายแบบ Common Law ตั้งแต่พระเจ้าวิลเลียมผู้พิชิต ค.ศ. 1066 ในอังกฤษ หรือแบบไทยๆ ยุคพ่อขุนรามคำแหงคือ “ใครใคร่ค้าม้าค้า ใครใคร่ค้าช้างค้า” การผลิตจึงขึ้นอยู่กับความพอใจของประชาชนที่เป็นไปตามกลไกตลาดและวินัยของผู้ผลิตและผู้ซื้อ

ที่กล่าวมานี้เพียงแต่จะเปรียบเทียบว่า 3 ปีแห่งการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 นั้น มีผลอะไรกับชาติบ้านเมือง แต่เราน่าจะปรับประโยคเสียใหม่ว่า “ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้วอะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย” ก็อาจจะเห็นด้านความสว่างที่ตรงข้ามกับทักษิณและสาวก

จากหนังสือปกขาวของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งต่อมาแปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ที่ออกมาเพื่อชี้แจงสาเหตุของการก่อรัฐประหารที่มีหลักสำคัญอยู่ที่การทุจริต เอาเปรียบจากผลประโยชน์ทับซ้อน การใช้อำนาจในทางมิชอบ การละเมิดจริยธรรมและคุณธรรมของผู้นำประเทศ การแทรกแซงระบบการตรวจสอบทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ ข้อผิดพลาดเชิงนโยบายที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการบ่อนทำลายความสามัคคีของคนในชาติ ที่เกิดจากการกระทำของทักษิณ

แต่สิ่งที่คนไทยทั้งหลายไม่พอใจมากที่สุดคือ การที่ทักษิณในฐานะผู้นำแสดงความขาดความจงรักภักดี และมีการล่วงเกินพระราชอำนาจในกรณีการโยกย้ายนายทหาร ซึ่งเป็นพระราชอำนาจโดยนิติปกครองตามประเพณีปฏิบัติที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พระมหากษัตริย์ทรงมีฐานะเป็น “จอมทัพ” แต่ทักษิณพูดว่า “หากได้นำบัญชีรายชื่อทหารกราบบังคมทูลเองแล้ว คงจะไม่มีปัญหาอะไร คงเป็นไปตามรายชื่อที่นายกรัฐมนตรีนำกราบบังคมทูล” แต่นายกรัฐมนตรีเป็นคนรับพระราชโองการเท่านั้น และเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยแล้วจึงถือเป็นเช่นนั้น

แม้กระทั่ง พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ยังพูดว่า “เมื่อนายกรัฐมนตรีลงนามในบัญชีรายชื่อนายทหารแล้ว ใครจะกล้าเปลี่ยน” ซึ่งพิจารณาได้หลายแง่คิดซึ่งพล.อ.ชัยสิทธิ์ อาจจะมองว่า “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษที่ขัดแย้งกับทักษิณ อาจจะแทรกแซง แต่โดยมารยาทแล้วในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก ท่านย่อมรู้ดีว่า อะไรควร อะไรไม่ควร และประธานองคมนตรีไม่มีหน้าที่เปลี่ยนแปลง แต่อาจจะปรึกษาผู้เกี่ยวข้อง หากนายทหารคนใดคนหนึ่งมีประวัติไม่เหมาะสม ก็ไม่สมควรที่จะได้รับตำแหน่งที่สำคัญ และผู้บัญชาการเหล่าทัพจะต้องชี้แจงให้ทราบเหตุผลการนำเสนอ เพราะในปี 2548 นั้น มีตำแหน่งหนึ่งมีปัญหาเรื่องทุจริต จึงมีการต่อต้านขอให้มีการทบทวนใหม่ และมีองค์กรอิสระเคลื่อนไหวต่อต้านให้ข้อมูลกับ พธม.ทำให้ขอบเขตการต่อต้านขยายตัวมากขึ้น

แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่าการทุจริตก็คือระบอบทักษิณต่างหาก เพราะว่าหากไม่มีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แล้ว ระบอบนี้จะขยายผล ขยายขอบเขต และฝังรากลึก นิยามคำว่า ระบอบทักษิณนั้นถูกบัญญัติขึ้นโดย รศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ เป็นอาจารย์รัฐศาสตร์หลายสถาบัน ทั้งในและต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยคอร์แนลแห่งสหรัฐอเมริกา และได้รับรางวัลมากมายโดยให้หลักระบอบทักษิณว่าเป็นระบอบอาญาสิทธิ์ทุนนิยมจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 2 ประการคือ 1. มีลักษณะสมบูรณาญาสิทธิทุนในแง่การใช้อำนาจการเมือง 2. มีหัวหน้าฝ่ายบริหารทางการเมืองของชนชั้นนายทุน

ส่วนอาจารย์แก้วสรร อติโพธิ ให้นิยามไว้ 4 ประการคือ 1. ยักยอกรัฐธรรมนูญ ยึดครองประชาธิปไตย การแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้มีความสอดคล้องกับการดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวพันหรือมีผลประโยชน์แอบแฝงเพื่อหมู่คณะของตนเอง และหมู่คณะนี้แบ่งปันผลประโยชน์ให้ 2. หลงใหลทุนนิยมใหม่จนลืมประเทศชาติ สร้างกระแสระบบทุนนิยมโดยลืมความเป็นรากเหง้าความเป็นไทย 3. ปัญหาการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวงจำนวนมากมายไม่ได้แก้ไข ทำธุรกิจแอบแฝง ไม่รักษาสัญญาประชาคม (Social Contract) เมื่อหาเสียงเลือกตั้งให้กับพรรคไทยรักไทย 4. ทำให้ชาติบ้านเมืองสิ้นความสงบสุข เป็นตัวการในการสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในประเทศชาติ

และสาเหตุการที่นำสู่การสร้างระบอบทักษิณมีประมาณ 17 ประการ เช่น ต้องการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะ ปตท. และ กฟผ.ซึ่งจะได้หุ้นฟรีเรียกว่าหุ้นผู้มีอุปการคุณ การแก้สัมปทานไอทีวี การขายหุ้นบริษัท ชินคอร์ป โดยไม่ต้องเสียภาษี โดยขณะที่ชินคอร์ปเป็นเจ้าของสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ ดาวเทียมไทยคม ไอทีวี และสายการบินแอร์เอเชีย สัมปทานเหล่านี้เป็นผลประโยชน์ทั้งทางทุนทรัพย์ และความมั่นคงของชาติทั้งสิ้น การใช้อำนาจรัฐและเงินตราแทรกแซง และคุกคามสื่อ

และที่สำคัญสำนวนอุบาทว์ “ความผิดพลาดโดยสุจริต” การปากว่าตาขยิบ กรณีฆ่าตัดตอนคนค้ายาเสพติดซึ่งพัวพันกับคนของรัฐจึงถูกฆ่าปิดปาก แต่ทักษิณไม่ห้ามปรามปล่อยให้มีการฆ่าตัดตอน 2,500 ศพ การรับรู้กรณีทนายสมชายถูกอุ้ม แต่ไม่ใช้ความเด็ดขาด ทั้งๆ ที่เป็นตำรวจเก่าและมีอำนาจเต็มที่ในการจัดการจนเป็นบาดแผลของทักษิณในฐานะผู้รับผิดชอบตำรวจ

และนี่เป็นเรื่องที่ต้องคิดว่า หากไม่มีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 อะไรจะเกิดขึ้นกับพฤติกรรมอุบาทว์เหล่านี้ของทักษิณ ประเทศชาติจะถูกสูบเลือดเนื้อไปอีกเท่าไร ฐานอำนาจของทักษิณจะกว้างใหญ่แข็งแกร่งจนสร้างอำนาจต่อรอง อำนาจข่มขู่ และขจัดหลักความสมดุลเชิงรัฐศาสตร์ (Check and Balance) ได้กว้างขวางเพียงไร เมื่อคิดแล้วขนหัวลุก เราคงต้องเป็นทาสระบอบทักษิณอย่างแน่นอน แล้วใครจะยอม
กำลังโหลดความคิดเห็น